Masala Chai ชาเครื่องเทศอินเดียที่ไม่ใช่แค่เครื่องดื่ม แต่มันคือรสชาติการเดินทาง
ถ้าใครเคยไปอินเดียหรือเป็นคนที่ตกหลุมรักวัฒนธรรมของประเทศอินเดียแบบหัวปักหัวปำชนิดที่คิดว่าชาติที่แล้วฉันน่าจะเคยเกิดเป็นคนอินเดียมาก่อน คุณก็คงเป็นคนหนึ่งที่น่าจะเคยลิ้มลองรสชาติของ Masala Chai ชาเครื่องเทศในแก้วดิน ที่ชัยวลาห์ (คนขายชา) ต้มขายกันตามรถเข็นข้างทางในอินเดียมาก่อนแล้วแน่ๆ แต่สำหรับคนที่ไม่เคยรู้จักชาประเภทนี้มาก่อนเลย เราจะเล่าให้ฟังค่ะ
Masala Chai ประกอบด้วยคำสองคำ
เมื่อชาถูกนำเข้ามาในประเทศอินเดีย คนอินเดียเรียกคำนี้เพี้ยนมาเรื่อยๆ จนกลายมาเป็น ‘ชัย’ รวมทั้งคนไทยหลายคนยังออกเสียงตามหลักการถอดรูปภาษาเขียนแบบไทย ว่า ‘จัย’
ส่วนคนอินเดียเรียกชาเครื่องเทศด้วยภาษาพื้นถิ่นว่า การัมจัย (Garam Chai) การัม แปลว่าร้อน
วัฒนธรรมการดื่มชาในประเทศอินเดียเริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 18 โดยสมัยนั้นอินเดียตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดินิยมอังกฤษ
จักรวรรดินิยมอังกฤษในเวลานั้นได้ลักลอบนำชาจากประเทศจีนเข้ามาปลูกที่อินเดีย ซึ่งมันเวิร์กมาก เวิร์กถึงขั้นว่าใบชาอินเดียได้เข้าไปอยู่บนเวทีการค้าใบชาโลกแทนที่ใบชาของประเทศจีน ต่อมา จักรวรรดินิยมอังกฤษได้ค้นพบว่าชาที่ปลูกในรัฐอัสสัมของอินเดียเองก็มีคุณภาพเทียบเท่ากับชาจีนที่ถูกนำเข้ามา จักรวรรดินิยมอังกฤษจึงหันมาพัฒนาสายพันธุ์ชาท้องถิ่นโดยไม่ง้อชาจากประเทศจีนอีกต่อไป
จุดประสงค์หลักของการปลูกชาในอินเดียสมัยนั้นก็เพื่อส่งกลับไปขายในประเทศอังกฤษ ชาอินเดียส่วนหนึ่งที่ถูกนำมาจำหน่ายให้กับคนอินเดียภายในประเทศเองก็มีราคาที่สูงมาก คนที่มีปัญญาหาซื้อชามากินจะมีเพียงกลุ่มของลูกคนรวยหรือผู้มีอันจะกินในแถบเมืองโกลกาตาเท่านั้น การดื่มชาสำหรับคนกลุ่มนี้ก็เพื่อโชว์ฐานะ อวดร่ำรวย ประกาศการมีตัวตนในสังคมชั้นสูง
ในปี ค.ศ. 1929 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป ซึ่งประเทศอังกฤษเองก็ได้รับผลกระทบเต็มๆ โดยเฉพาะเรื่องของตลาดการส่งออกใบชา จักรวรรดินิยมอังกฤษเลยหันมาสร้างตลาดชาในอินเดียแทน โดยเปิดร้านขายชาขนาดเล็กไว้ตามสถานีรถไฟของอินเดียอันเป็นพื้นที่ซึ่งรวมประชากรไว้ทุกวรรณะ วัฒนธรรมการดื่มชาที่เคยเป็นที่นิยมเฉพาะในกลุ่มคนรวย จึงค่อยๆ แพร่หลายไปยังกลุ่มชนชั้นกลางและผู้ใช้แรงงาน
ชัยวลาห์หัวหมอเริ่มหาวิธีลดต้นทุนใบชาต่อแก้วด้วยการลดปริมาณใบชาดำลง ใส่นม และเครื่องเทศที่มีคุณสมบัติทางอายุรเวทเข้าไปผสม จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมทุกวันนี้สถานีรถไฟทุกแห่งในอินเดีย ไม่ว่าจะขนาดเล็ก ใหญ่ หรือลับแลแค่ไหน ก็ต้องมีร้านขายชาเครื่องเทศและชัยวลาห์อยู่คู่เสมอ
ชาเครื่องเทศคือสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียม
ภาพประกอบในบทความที่คุณเห็นอยู่ทั้งหมดคือโปรเจกต์ทดลอง ชาเครื่องเทศตำมือ ที่หยิบเอาสีสันของประเทศอินเดียและอารมณ์ความเผ็ดร้อนและความหอมหวานของเครื่องเทศเข้ามาผสม สื่อสารออกมาในรูปแบบของแพ็กเกจจิ้ง
นอกจากการเบลนด์เครื่องเทศ 6 ชนิดด้วยวิธีการตำมือแบบบ้านๆ ตามแบบฉบับที่คนอินเดียทำเพื่อดื่มกันตามบ้านแล้ว รูปลักษณ์ของหีบห่อยังถือเป็นส่วนสำคัญในการสื่อสาร เพราะชาเครื่องเทศไม่ใช่แค่เครื่องดื่ม แต่มันคือประวัติศาสตร์และรสชาติของการการเดินทาง
โจทย์ของโปรเจกต์ทดลองนี้โดยเพจชาติที่แล้วคงเกิดเป็นแขกคือจะทำอย่างไรให้ผู้รับพัสดุได้รู้สึกถึงบุคลิกของประเทศอินเดียตั้งแต่เห็นกล่อง รวมไปถึงการสร้างสรรค์องค์ประกอบของสิ่งพิมพ์ที่บรรจุอยู่ภายในกล่องที่จะทำให้ผู้รับได้เข้าใจถึงวัฒนธรรม สีสัน และความสนุกของการใช้ชีวิตในแบบฉบับของคนอินเดีย