เคยติดหนังหรือซีรีส์หนัก ๆ กันไหม
นอกจากจะทำให้เราตื่นค้ำข้ามคืนเพราะสนุกจนละจากหน้าไม่ได้มาเป็นสิบตอนแล้ว เมื่อถึงฉากสำคัญของเรื่องก็อินตามอย่างกับเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ด้วยตัวเอง
ฉากที่นักบู๊ระดับมือพระกาฬก็ยังต้องเหงื่อออกมือ เพราะต้องตัดสินใจเลือกตัดสายไฟให้ถูกเส้นเพื่อจะปลดระเบิดเวลาที่ผู้ก่อการร้ายติดตั้งไว้ในอาคารที่มีตัวประกันเป็นบุคคลสำคัญระดับโลก รวมถึงคนรักของเขาที่ได้รับบาดเจ็บจากการทำงานร่วมกัน ถ้าหากพยุงลงบันไดหนีไฟไปตอนนี้ก็จะสามารถพาเธอออกจากตึกไปได้อย่างปลอดภัยแน่ ๆ แต่คนอย่างเขาจะละจากภารกิจสำคัญอย่างยิ่งยวดนี้ไปได้อย่างไร!?
“ไม่ต้องห่วงฉัน คุณต้องทำให้สำเร็จ!” เธอตะโกนด้วยเสียงเครือความเจ็บจากบาดแผล เขามองหน้าเธอสลับกับตัวเลขสีแดงที่กำลังกระพริบถอยหลังบอกว่าเวลาเหลืออีกไม่มาก 19...18…17...16…
ดนตรีประกอบเร้าให้ทุกวินาทีที่ลดลงยิ่งกดดัน กล้องซูมรับหน้าพระเอกให้เห็นสายตาที่ยังคงลังเล ควรเลือกอย่างไร? ช่วยคนรักที่สำคัญเท่าชีวิต หรือเสี่ยงเลือกปลดระเบิดเวลาเพื่อกอบกู้ให้มวลมนุษยชาติพ้นภัย? ถ้าหากตัดสายไฟผิดเส้นล่ะ เขาอาจจะช่วยใครไม่ได้เลยแม้แต่คนเดียว 15…14…13…12…
เราตอนนี้จากที่นอนปักหลักอยู่ใต้ผ้านวมก็วางขนมในมือ ลุกขึ้นมานั่งหลังตรงจ่ออยู่ตรงหน้าจอเรียบร้อย 11…10…9...
ภาพตัดสลับรัว ๆ ทั้งตัวพระเอก แฟนสาวที่บาดเจ็บ เหล่าตัวประกัน เจ้าหน้าที่ผู้กำลังปฏิบัติงาน ตัวร้ายจอมบงการจากอีกฟากโลก ทีมกู้ภัยและสื่อมวลชนที่เกาะติดสถานการณ์อยู่ภายนอกตึก เสียงไซเรน เสียงรายงานข่าว เสียงวิทยุสื่อสาร เสียงติ๊ด ติ๊ด ติ๊ด ของนาฬิกาที่ส่งสัญญาณว่าเวลาจวนหมดเต็มที สายไฟสีแดง สีน้ำเงิน มือที่กำคีมตัดลวดอยู่แน่น 8…7…6…5…
โอ๊ย ลุ้นจนลืมหายใจแล้วเนี่ย! 4…3…
ตัวเอกก็ตัดสินใจสักทีเซ่! 2…1… จะระเบิดอยู่แล้วโว้ย!!
ช่วงเวลาคอขาดบาดตายถูกไฮไลต์ดึงให้ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมอย่างเต็มที่ จนไม่มีใครสังเกตว่าจริง ๆ ฉากระเบิดเวลาถูกขยี้จนยาวออกไปเป็นหลายนาที
เหตุการณ์ในชีวิตคนเราก็คล้ายกัน บางจังหวะเวลาก็เดินช้าจนต้องยืนเคาะเท้าอย่างเช่นตอนรอคิวเข้าห้องน้ำสาธารณะ แต่บางครั้งเวลาก็ผ่านฉิวอย่างกับติดปีกบินอย่างที่คนเขาชอบพูดกันว่าช่วงเวลาแห่งความสุขมักผ่านไปไวเสมอ
กับโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน มนุษย์ถูกกดดันให้ออกวิ่ง จนทำให้รู้สึกเหมือนว่าฝีเท้าของเหล่าผู้เข้าแข่งขันไปช่วยกันผลักให้โลกหมุนเร็วขึ้นไปอีก
“อนโจ” ที่กำลังอยู่ในช่วงไพรม์ไทม์ทางการศึกษารู้ดีว่าเด็กมัธยมปลายในประเทศเกาหลีต้องมองไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียวเหมือนกับม้าแข่งที่ใส่แผงปิดตาเพื่อบดบังหางตาทั้งสองข้างไว้ แต่เธอไม่อยากเอาแต่ตั้งหน้าตั้งตาเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยไปโดยไม่ตั้งคำถาม
“อย่างน้อยต้องรู้ว่าทำไมต้องวิ่ง การแข่งขันนั้นถึงจะมีความหมาย ไม่ว่าผลจะออกมาแพ้หรือชนะก็ตาม”
แต่สิ่งแวดล้อมและคนรอบตัวย้ำซ้ำว่าอีกไม่เท่าไหร่ก็ใกล้จะเรียนจบแล้ว ให้มุ่งมั่นติวสอบอย่ามัวแต่ทำงานพาร์ตไทม์ เพราะทุกนาทีมีค่า
“ในเมื่อเวลากลายเป็นเงินเป็นทองได้ ถ้าเราขายเวลาเสียเลยล่ะ จะเป็นอย่างไร”
เมื่อกี๊เธอบอกว่าจะขายอะไรนะอนโจ?
“...แล้วเวลาที่เป็นความคิดเชิงนามธรรมก็เข้าใกล้ลักษณะที่เป็นกายภาพมากขึ้น แถมยังสามารถเลือกงานที่ต้องการทำและเพิ่มค่าแรงรายชั่วโมงได้ตามใจชอบอีกด้วย ดีกว่าการทำงานอยู่ที่ใดที่หนึ่งเพื่อรับค่าตอบแทนตามชั่วโมงทำงานเสียอีก แถมยังได้มองโลกในแง่มุมที่หลากหลายขึ้นอีกด้วย”
ด...เดี๋ยวนะอนโจ คนอื่นเพิ่งบอกให้เธอใส่ใจการสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้เยอะ ๆ ไม่ใช่เหรอ
แล้วเจ้าของกิจการคนใหม่ก็ถือกำเนิดขึ้นเช่นนั้นเอง ...เพื่อตามหาแรงบันดาลใจในการออกวิ่ง และเพื่อตามหาความหมายของเวลา
เราติดสอยห้อยตามอนโจไปใช้ชีวิตเด็กมัธยมปลาย และได้แอบไปดูงานใน “ร้านขายเวลา” ได้ทำความรู้จักกับคนรอบตัวไปจนถึงลูกค้าที่มาเสียค่าบริการแลกกับเวลาของอนโจ พร้อมกับตามหาความหมายของ ‘เวลา’ ไปด้วยกัน เผลอไม่เท่าไหร่เราเปิดผ่านสองร้อยกว่าหน้าไปอย่างง่ายดายแบบไม่รู้สึกเลยว่านาน
“ร้านขายเวลา” โดยผู้แต่ง คิมซ็อนย็อง ได้รับรางวัลผลงานวรรณกรรมเยาวชนจากสำนักพิมพ์ Jaeum & Moeum ผู้ผลิตนิตยสารด้านมนุษยศาสตร์สำหรับยุคสมัยถัดไป เนื่องในฉบับปฐมฤกษ์ครบรอบ 1 ปี เมื่อ ค.ศ. 2011 ซึ่งเป็นรางวัลที่ตั้งขึ้นมาเพื่อมองหาผลงานที่จะสามารถพาวรรณกรรมเยาวชนของเกาหลีใต้ให้ก้าวข้ามกรอบเดิมขึ้นไปได้อีกขั้น
สามารถเข้าไปทดลองอ่านตัวอย่างวรรณกรรมเรื่องนี้ได้ทางเว็บไซต์ คลิก >> สำนักพิมพ์อมรินทร์
บทความโดย : พัดชา เอนกอายุวัฒน์ // ภาพประกอบโดย : ณภัค ภูมิชีวิน