หนังอินเดีย Gangubai กำลังเป็นที่ชื่นชอบของหลายคน ทุกคนพูดแทบจะเหมือนกันหมดว่า วิธีการเล่าเรื่องและมุมมองการถ่ายภาพของหนังเรื่องนี้ไม่เหมือนอินเดียในมุมที่พวกเขาเคยรู้จัก
จริง ๆ แล้ว อินเดียมีอีกหลายมุมให้มองค่ะ แค่ตลอดเวลาที่ผ่านมา เวลาพูดถึงอินเดีย คนก็มักจะชอบตอกย้ำในเรื่องที่เป็นแง่ลบ ทั้งที่อินเดียมีอีกตั้งหลายด้านให้ชื่นชม
แปลกไหมว่า เวลามีจุดสีดำ ๆ เต็มหน้ากระดาษ โดยมีจุดสีขาวปะปนอยู่ไม่มาก คนก็มักจะเลือกมองจุดสีดำก่อนเป็นอย่างแรก
มา เข้าเรื่องกันดีกว่า
ในขณะที่เรากำลังเขียนบทความนี้ เราอยู่ที่ประเทศอินเดียค่ะ วันก่อนไปชมนิทรรศการศิลปะที่พิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยแห่งหนึ่งมา ได้เจอกับครอบครัวชาวอินเดียจากเมืองทางใต้ที่น่าสนใจมาก ประกอบด้วยสมาชิกสี่คน พ่อ แม่ และลูกสาวสองคน แฮมซาวัยสิบขวบ และธารา น้องสาวของเธอ
แฮมซาเป็นเด็กที่ชอบเข้าครัวมาก เธอเริ่มหลงใหลในการต้มชาตั้งแต่ 6 ขวบ เธอพบว่าโลกของการเรียนรู้เรื่องชามีอะไรให้เธอศึกษามากมายไม่รู้จบ ทั้งการเบลนด์และเทคนิกการต้มชา จนพอ 9 ขวบ แฮมซามีโอกาสได้ลงเรียนคอร์สออนไลน์กับสถาบันที่ชื่อว่า Galileo โดยคอร์สที่เธอลงเรียนนั้นเน้นการสร้างธุรกิจสำหรับคนทุกเพศทุกวัย
ค่ะ เรากำลังฟังเรื่องของเด็ก 9 ขวบ!
ด้วยความที่โตมาในครอบครัวที่พ่อแม่เลือกให้การศึกษากับลูกสาวทั้งสองในแบบบ้านเรียนหรือโฮมสกูล ซึ่งโดยมาก เด็กกลุ่มนี้มักจะหาตัวเองเจอก่อนเด็กในวัยเดียวกันที่เข้าเรียนตามระบบ
ในขณะเข้าอบรมผ่านคอร์สออนไลน์ แฮมซาค้นพบคำตอบด้วยตัวเองทันทีว่า มันไม่ใช่เรื่องยากเลยกับการแปลงแรงบันดาลใจและความหลงใหลในสิ่งที่ทำให้กลายเป็นธุรกิจที่มีความยูนีกในแบบฉบับของตัวเอง
“เอาล่ะ ฉันจะมีอาชีพเป็นคนออกแบบชา”
แฮมซาวาดมายด์แม็ปของเธอลงบนแผ่นกระดาษ เธอถามตอบตัวเอง อะไรคือแรงบันดาลใจ ศักยภาพที่เธอมีคืออะไร กรอบความสนใจในเรื่องชาของเธอมีอะไรบ้าง
จากกระดาษแผ่นเล็ก ๆ ที่ร่างไว้ เธอค่อย ๆ ค้นคว้าและทดลองเบลนด์ชาสมุนไพรด้วยวัตถุดิบชนิดต่าง ๆ ที่ปลูกไว้หลังบ้าน จนกลายมาเป็นธุรกิจชาสมุนไพรโฮมเมดที่จริงจังมากขึ้นเรื่อย ๆ
ตลอดระยะเวลาในช่วงสามปีตั้งแต่เธอหกขวบ แฮมซาเคยแอบคิดอยู่ตลอดว่า โลกนี้ช่างไม่ยุติธรรมเลย ทำไมชาและกาแฟถึงต้องเป็นของต้องห้ามสำหรับเด็ก จนในช่วงระหว่างการค้นคว้าข้อมูล เธอก็ได้รู้จักกับคำว่าคาเฟอีน
ในที่สุดแฮมซาก็เจอทางออกแล้ว
“ง่ายมากเลย งั้นเราก็ทำชาที่ไม่มีคาเฟอีนให้เด็กอย่างเรากินสิ”
ไม่นานนัก หลังทดลองเบลนด์ชาสมุนไพรผ่านไปได้เกือบปี จนตอนนี้เธออายุสิบขวบแล้ว ชาสมุนไพรชุดแรกของเธอถูกผลิตออกมาจากห้องครัวเล็ก ๆ ของบ้าน ในชื่อของ Home Tea โดยเริ่มทดลองขายให้กับคนใกล้ตัว ทั้งเพื่อนสนิทของพ่อแม่ รวมไปถึงเพื่อนๆ ในวัยเดียวกันที่อยู่แถวบ้าน
Home Tea ซีรีส์แรก มีส่วนผสมของ กะเพรา ยี่หร่า ชบา ตะไคร้ ชะเอม อบเชย เธอกับแม่ร่วมกันออกแบบแพ็กเกจจิ้งและโลโก้ คุมโทนด้วยสีเขียวและสีขาว บรรจุขายในซองถุงคราฟต์สีน้ำตาล ไม่พอเท่านั้น ช่วงนี้แฮมซากำลังยุ่งมาก เธอกำลังเรียนรู้ในการออกแบบเว็บไซด์ Home Tea ด้วยตัวเอง!
ถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่าอะไรทำให้เด็กคนหนึ่งสนใจในเรื่องราวของพืชสมุนไพรได้ขนาดนี้
คำตอบคือพืชสมุนไพรอยู่คู่กับคนอินเดียในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว มันเป็นทั้งอาหารและเป็นยาสามัญประจำบ้าน ดูแลรดน้ำทุกวัน เด็ดมาเพื่อใช้ปรุงอาหารทุกมื้อ
เมื่อเด็กคนหนึ่งใช้ชีวิตอยู่กับพืชสมุนไพรมานานหลายปี ไม่ต่างอะไรกับเด็กทั่วไปที่ไปโรงเรียนแล้วต้องท่อง A ถึง Z กระบวนการเรียนรู้ก็เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ที่เหลือเป็นเรื่องของการนำทักษะมาต่อยอด ซึ่งแฮมซาเลือกที่จะใช้ความรู้เหล่านั้นมาผลิตชาสมุนไพรขาย
“ฉันคิดว่าการศึกษาในแนวทางของโฮมสกูลทำให้ลูกสาวทั้งสองคนของฉันมีอิสระและมีเวลาที่จะค้นหาตัวเอง มีเวลาที่จะได้หมกมุ่นกับสิ่งที่ตัวเองสนใจจริง ๆ มันจำเป็นมากที่เด็ก ๆ ควรจะเติบโตด้วยการเรียนรู้โลกใบนี้อย่างเป็นธรรมชาติตามวัย สำหรับฉัน ระบบการศึกษาในโรงเรียนเหมือนโรงงานผลิตคน ซึ่งโรงงานก็มีหลายรูปแบบที่ต่างกัน ด้วยเหตุผลนี้ฉันเลยตั้งใจตั้งแต่ตอนท้องแล้วว่า ฉันจะให้ลูกเรียนที่บ้านแบบโฮมสกูล ฉันว่าฉันมาถูกทางแล้วนะ”
Ranjani Shettar แม่ของแฮมซา บอกฉันด้วยแววตาเป็นประกาย
สนใจชาสมุนไพรของแฮมซา ให้ติดต่อไปที่อีเมล iwanthometea@gmail.com
เรื่อง : พัทริกา ลิปตพัลลภ // ภาพประกอบ : ณภัค ภูมิชีวิน