ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
5 ภัยพิบัติสุดแปลกในประวัติศาสตร์ ที่คุณอาจคาดไม่ถึง
แชร์
ชอบ
5 ภัยพิบัติสุดแปลกในประวัติศาสตร์ ที่คุณอาจคาดไม่ถึง
30 พ.ค. 65 • 17.00 น. | 1,306 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

ไฟป่า น้ำท่วม ฝุ่นละออง PM 2.5 ถือเป็นภัยพิบัติที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่รู้หรือไม่ว่าบนโลกเรายังมีภัยพิบัติอีกหลายรูปแบบ ที่ทั้งรุนแรง และ 'แปลก' จนหลายคนอาจไม่เชื่อว่าเคยเกิดขึ้นจริง ในวันนี้ ALTV พาเพื่อน ๆ ย้อนรอยไปทำความรู้จักภัยพิบัติสุดแปลกที่เคยเกิดขึ้นบนโลกของเราไปพร้อมกัน

อุกกาบาตปริศนาที่ทังกัสกา

ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 30 มิ.ย ปี ค.ศ. 1908 หรือ 114 ปีที่แล้ว ช่วงเวลาเช้าตรู่ของประเทศรัสเซีย มีการรายงานเหตุการณ์พบเห็นลูกไฟขนาดใหญ่ตกจากฟากฟ้า บริเวณใกล้กับแม่น้ำ “พอดกาเมนนายา ทังกัสกา” (Podkamennaya Tunguska River) ที่ตั้งอยู่ในแถบไซบีเรีย ส่งผลให้พื้นที่ป่าสนกว่า 500,000 เอเคอร์ ถูกเผาราบเป็นหน้ากลอง แต่เมื่อทีมนักสำรวจลงพื้นที่ค้นหาร่องรอยของวัตถุปริศนาที่คาดว่าเป็น "อุกกาบาต" กลับไม่พบแม้แต่ร่องรอยหลุมใด ๆ เหลือทิ้งไว้เลย

 

ระเบิดครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่  

องค์การนาซา (NASA) คาดว่าแรงระเบิดที่ปล่อยออกมาในเหตุการณ์ดังกล่าว เทียบเท่ากับระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น 1,000 ลูก และด้วยแรงระเบิดเท่านี้ วัตถุน่าจะเป็นชิ้นส่วนอุกกาบาตขนาดเท่าตึก สูง 25 ชั้น เดินทางด้วยความเร็วประมาณ 33,500 ไมล์ (54,000 กม.) ต่อชั่วโมง ซึ่งโชคดีว่าในเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่มีผู้เสียชีวิต หรือผู้บาดเจ็บ เพราะเกิดห่างออกไปจากแหล่งที่อยู่อาศัย

 

การสำรวจเหตุการณ์ทังกัสกาครั้งแรก เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1927 โดย Leonid Kulik นักสำรวจชาวรัสเซีย ซึ่งภาพแรกที่เขาเห็น หลังจากย่างเท้าเข้าสู่พื้นที่ทังกัสกา คือเศษซากของต้นไม้จำนวนมหาศาลถูกเผา ทุกต้นในระยะ 5 ไมล์ มีสภาพเหมือน 'เสาไฟ' เพราะเหลือเพียงลำต้น ราวกับโดนแรงอัดมหาศาลจนกิ่งก้านของมันหลุดออกไป แม้ผลกระทบจะรุนแรงถึงระดับนี้ แต่ทีมสำรวจกลับต้องใช้เวลาถึง 33 ปี ในการหา "จุดตกของวัตถุปริศนา" ที่ก็ต้องเป็นอันล้มเหลวไป เพราะไร้ร่องรอยหลักฐานหลุมอุกกาบาตใด ๆ

 

ทะเลสาปที่หายไปจากแผนที่  

หลังจากการสำรวจของ Kulik ที่ไม่ได้ข้อสรุปใด ต่อมาในปี ค.ศ. 1999 ทีมสำรวจชาวอิตาลี จากมหาวิทยาลัยโบโลญญา (University of Bologna) นำโดย Luca Gasperini ชี้ว่า Kulik อาจพลาดบางอย่างในการสำรวจครั้งนั้นไป นั่นคือ 'ทะเลสาบเชโก (Lake Cheko)' ที่อยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุ ไป 8 กม. ซึ่งก่อนหน้านี้มันไม่ได้ปรากฏอยู่บนแผนที่

 

จากการวัดคลื่นไหวสะเทือนที่ก้นบ่อ พวกเขาสรุปได้ว่า ใต้ทะลเสาปเชโกมีลักษณะเหมือนปล่องภูเขาไฟขนาดใหญ่ และมีตะกอนหนาแน่นอยู่ใต้พื้น ลึกลงไป 10 เมตร มีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็น 'เศษ' ของอุกาบาตที่ถล่มทังกัสกา เช่นเดียวกันกับผลการศึกษาในปี 2013 ที่มีการพบตัวอย่าง หินแร่ 'Lonsdaleite' ที่มักพบในหลุมอุกาบาต แต่ถึงอย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นอุกาบาตจากเหตุการณ์ทังกัสกา หรืออาจมาจากปรากฏการณ์ฝนดาวตกอื่นที่ไม่ได้กี่ยวข้องกัน

 

เมื่อไม่มีใครหาสาเหตุที่แท้จริงได้ เหตการณ์อุกาบาตทังกัสกาได้จัดอยู่ในรายการ Astronomical cold case (คดีที่ปิดไม่ลงทางดาราศาสตร์) ขององค์การนาซา ที่นักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำตอบกันต่อไป อ้างอิง จาก Don Yeomans นักดาราศาสตร์ประจำนาซา กล่าวไว้ว่า "หากคุณต้องคุยกับใครสักคนเกี่ยวกับเรื่องดาวเคราะห์น้อย คุณต้องไม่พลาดคุยเรื่องทังกัสกา" 

ที่มา: ฺBBC

หมอกพิษแห่งกรุงลอนดอน คร่า 12,000 ชีวิต ภายใน 5 วัน 

ควันพิษแห่งกรุงลอนดอน (The Great Smog of London) หรือ “หมอกซุปถั่ว” (Pea-Soupers) คือปรากฏการณ์มลพิษทางอากาศที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์สหราชอาณาจักร ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 12,000 คน ล้มป่วยมากกว่า 1 แสนคน แม้ว่าจะกินระยะเวลาเพียงแค่ 5 วัน เท่านั้น ซึ่งเหตุการณ์นี้โด่งดังถึงขนาดปรากฏอยู่ในนวนิยาย The Sherlock Holmes ของนักเขียนชื่อดัง อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ (Arthur Conan Doyle)

 

ย้อนกลับไปเมื่อ วันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1952 ช่วงต้นฤดูหนาวของประเทศอังกฤษ เป็นปกติเมื่ออากาศหนาวเย็นลง บ้านเรือนและโรงงานทั่วกรุงลอนดอนจะเผาถ่านหินมากขึ้นเพื่อต่อสู้กับความหนาว ซึ่งควันจากถ่านหินที่ปล่อยออกมาได้ผสมเข้ากับควันพิษจาดรถยนต์ที่มีอยู่เดิม ทำให้สภาพอากาศย่ำแย่ลง

 

ในช่วงวันเดียวกันกรุงลอนดอนต้องเผชิญกับ 'ลมแอนติไซโคลน' ที่ทำให้มีความกดอากาศสูงกว่าปกติ ก๊าซเรือนกระจกและควันพิษจากโรงงานไม่สามารถระบายออกสู่ชั้นบรรยากาศได้ และลอยติดอยู่ที่ระดับพื้นดิน กลายเป็นหมอกดำอมเหลืองหนาทึบ ที่ผู้คนจำต้องสูดรับเข้าไปอย่างหลีกหนีไม่ได้

 

เข้าขั้นวิกฤต

เนื่องจากการสูดดมหมอกพิษแทบจะตลอดเวลา ทำให้มีผู้เข้ารักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการหลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบมากขึ้น และด้วยความหนาทึบของมัน ทำให้ทัศนวิสัยย่ำแย่ การให้บริการรถสาธารณะ รถพยาบาลต้องหยุดชะงัก การแสดงกลางแจ้งถูกยกเลิก และอาชญากรรมบนท้องถนนก็เพิ่มขึ้น

แม้ว่าหมอกพิษจะจางหายไปในวันที่ 9 ธันวาคม แต่ก็ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ไปกว่า 4,000 คน และอีก 100,000 คนป่วยที่ต้องล้มป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ

ที่มา: ฺBBC

ทะเลสาบที่คร่า 2,000 ชีวิตในวันเดียว

จะเป็นอย่างไร หากคุณตื่นขึ้นมาในตอนเช้าแล้วพบว่า คนในครอบครัวและเพื่อนบ้านของคุณเสียชีวิตในช่วงเวลาเพียงข้ามคืน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในหมู่บ้าน Subum ประเทศแคเมอรูน ที่ต้องสังเวยชีวิตให้กับ 'ทะเลสาบไนยอส'

 

ย้อนกลับไปช่วงค่ำคืนของ วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2529 ขณะที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้ทะเลสาบไนยอสกำลังนอนหลับ "หมอกสีขาว" ที่คาดว่าเป็น 'ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์' จำนวน 1.6 ล้านตัน ปะทุขึ้นเเหนือผิวน้ำของทะเลสาบไนยอส และแค่เพียง 20 วินาทีเท่าน้้น มันได้ทำให้สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในรัศมี 100 เมตร หมดสติก่อนจะเสียชีวิตลง ตามที่ BBC UK รายงาน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,700 คน ไม่รวมสัตว์เลี้ยงอีกหลายร้อยตัว ผู้เคราะห์ร้ายส่วนใหญ่เสียชีวิตขณะหลับ  

 

การปะทุของภูเขาไฟในรูปแบบ "ก๊าซ "

บริเวณทะเลสาปไนยอส เดิมทีเป็นปล่องภูเขาไฟที่ดับแล้ว ซึ่งมีน้ำไหลเข้ามาท่วมขังในภายหลัง นั่นหมายความว่าลึกลงไปใต้พื้นดินยังคงมีเถ้าภูเขาไฟและหินหนืด (Magma) หลงเหลืออยู่ ซึ่งนักวิทยาศาตร์สันนิษฐานว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากหินหนืดเหล่านั้นได้ซึมผ่านเปลือกโลกโดยอาศัยน้ำใต้ดิน และสะสมอยู่ที่ก้นทะเลสาบ เมื่อถึงจุดที่ก๊าซเข้มข้นเกินไปมันจึงระเบิดออก ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Limnic Eruption ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาก่อนที่ ทะเลสาบโมนูน (Monoun Lake) ที่มีกายภาพเป็นทะเลสาบจากปล่องภูเขาไฟเหมือนกัน

ปีไร้ฤดูร้อน ค.ศ. 1816

ปีไร้ฤดูร้อน (Year Without a Summer) ในปี ค.ศ. 1816 เกิดขึ้นหลังการระเบิดของภูเขาไฟแทมโบรา (Tambora) บนเกาะซุมบาวา ใกล้เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1815 นับเป็นการปะทุของภูเขาไฟที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 90,000 คน

 

อ้างอิงจาก 'แอนดรูว์ ชูเรอร์' นักธรณีศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเอดินบะระ กล่าวไว้ว่า การปะทุของภูเขาไฟแทมโบราในครั้งนี้ ไม่เพียงทำลายล้างเกาะซุมบาวาเท่านั้น แต่ส่งผลให้อุณหภูมิโลกลดลง 1-3 องศาเซลเซียส จากการที่ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จำนวนมหาศาลกระจายเข้าไปไปในชั้นบรรยากาศด้วย

 

สภาพอากาศแปรปรวนสุดขั้วโดยเฉพาะยุโรปกลาง ไปจนถึงอเมริกาเหนือ ตั้งแต่่เดือน มิถุนายน-สิงหาคม ปี ค.ศ. 1816 ที่ควรเป็นฤดูร้อนของยุโรป กลับมีอากาศหนาวเย็นที่สุดในรอบ 250 ปี พืชผลเสียหายเป็นวงกว้าง เกิดความล้มเหลวในการเพาะปลูก ปศุสัตว์ล้มตาย และนำไปสู่วิกฤตภาวะขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่ในซีกโลกเหนือหลายประเทศ

ที่มา: Smithsonian Channel

ทอร์นาโดไฟถล่มคันโต

แผ่นดินไหวที่แห่งคันโต (The Great Kanto) นับเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ด้วยแรงสั่นสะเทือน กว่า 7.9 ริกเตอร์ ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิสูง 40 ฟุต และ 'ทอร์นาโดไฟ' ที่คร่าชีวิตผู้คนไปนับแสน และสูญหายอีกหลายหมื่น 

 

โศกนาฎกรรมเริ่มต้นขึ้นในช่วงกลางวันของ วันที่ 1 กันยายน ปี ค.ศ 1923 เป็นช่วงเวลาที่ผู้คนกำลังเตรียมหุงหาอาหารสำหรับมือเที่ยงของวัน ในตอนนั้นเองที่เกิดเสียงดังราวกับฟ้าผ่า มาพร้อมแรงสั่นสะเทือนระดับรุนแรง ทำให้บ้านเรือน ท่าเรือในบริเวณพื้นที่พังทลาย เกิดเพลิงไหม้กว่า 80 จุด ซึ่งมาจากแก๊ซหุงต้มที่เปิดทิ้งเอาไว้

 

หลังจากนั้นไม่กี่นาที คลื่นยักษ์สึนามิสูง 40 ฟุต ก็เข้าถล่มบ้านเรือนของผู้คน ในขณะเดียวกันกระแสลมแรงทำให้เพลิงไหม้ทวีความรุนแรงกลายเป็น ทอร์นาโดไฟ (Fire tornado) หรือ ไฟหมุน (Fire whirl) เป็นปรากฏการณ์ที่กระแสลมหอบเอาเพลิงไหม้ยกตัวสูงขึ้น ในลักษณะหมุนเป็นเกลียวพายุ ซึ่งในเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดเพลิงไหม้เป็นวงกว้าง และมีผู้เสียชีวิตกว่า 38,000 คน

 

 

แม้ว่าภัยพิบัติจะเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ แต่ประวัติศาสตร์สอนให้เราสามารถเรียนรู้วิธีรับมือได้ อย่างวิธีการเอาตัวรอดจาก 'สึนามิ' ภัยพิบัติทางทะเล ที่เคยสร้างความเสียหายในแถบภาคใต้ของไทยเมื่อ 17 ปีก่อน สามารถรับชมเพิ่มเติม ได้ที่ รายการ สังคมสนุกคิด ตอน เมื่อเจอสึนามิต้องทำอย่างไร <คลิก

 

 

ที่มา: NASA BBC USA Today สำรวจโลก Britannica

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#ภัยพิบัติ, 
#ทังกัสกา, 
#ปีไร้ฤดูร้อน, 
#Yearswithoutsummer, 
#GreatSmogofLondon, 
#pollution, 
#NyosLake, 
#ทะเลสาปไนยอส, 
#อุกาบาตตก, 
#อุบัติเหตุแปลก, 
#เรื่องลึกลับ, 
#ภัยธรรมชาติ, 
#หมอกซุปถั่ว 
ผู้เขียนบทความ
avatar
THANATCHA SUVIBUY
นับถือแมวเป็นศาสนา มีไอดอลเกาหลีเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
ALTV CI
LearnMore
LearnMore
ALTV All Around
ผู้เขียนบทความ
avatar
THANATCHA SUVIBUY
นับถือแมวเป็นศาสนา มีไอดอลเกาหลีเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#ภัยพิบัติ, 
#ทังกัสกา, 
#ปีไร้ฤดูร้อน, 
#Yearswithoutsummer, 
#GreatSmogofLondon, 
#pollution, 
#NyosLake, 
#ทะเลสาปไนยอส, 
#อุกาบาตตก, 
#อุบัติเหตุแปลก, 
#เรื่องลึกลับ, 
#ภัยธรรมชาติ, 
#หมอกซุปถั่ว 
แชร์
ชอบ
ติดตามเรา