คางาโนะกวาดตามองชั้นหนังสือที่บ้านเกิด หนังสือที่เรียงรายกันอยู่ล้วนเป็นฝีมือของเขาเองทั้งสิ้น ผู้เป็นแม่คอยสะสมผลงานของลูกชายไว้อย่างครบถ้วนไล่มาตั้งแต่เล่มแรกจนเล่มล่าสุด
ครั้งหนึ่งคางาโนะเคยถูกผู้อาวุโสแถวบ้านถามว่าตนเขียนนิยายแนวไหน “ผมเขียนเกี่ยวกับว่า คนเรามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร” โดยที่เจ้าตัวจำกัดความไว้แกน ๆ ว่าเป็น “นิยายพื้นฐานชีวิตมั้งครับ”
“เขียนเรื่องยิ่งใหญ่อลังการเชียวนะ” (...เราก็คิดเหมือนกันเลย)
ชายอายุหลักห้าผู้โดดเดี่ยวคนนี้เป็นนักเขียนที่ได้รับการยอมรับจากนักวิจารณ์ว่าเป็นผู้ประพันธ์ที่สามารถใช้นวนิยายตีแผ่ด้านมืดของมนุษย์ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม สัจธรรมดาร์ก ๆ ที่ว่าแผ่ออกมาให้เห็นตั้งแต่ความอึมครึมของหีบห่อ นอกจากงานสองเล่มแรกที่ปกสีเหลืองอ่อนและสีขาว มองปกที่ส่วนใหญ่หลังจากนั้นมาก็มีแต่สีเทา ดำ กรมท่า แล้วก็พอจะรับรสได้ล่วงหน้าว่าเนื้อหาภายในคงขมใช่เล่น
นอกจากงานอันเข้มข้นจนเป็นที่ประทับใจของนักอ่านแล้ว ชีวิตด้านอื่น ๆ ของเขาก็ยังขรึมไปในทางเดียวกัน ไม่คลาดไปจากภาพ “นักเขียนผู้ลุ่มลึก” ที่เราเดากันเท่าไหร่
คางาโนะเป็นชายวัยคล้อยจากกลางคนผู้อยู่อย่างสันโดษในบ้านหลังกว้าง เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการสร้างงานเขียนโดยแทบไม่ออกไปผูกมิตรกับใครที่ไหน อย่าเข้าใจผิดว่าเคโงะเป็นพวกต่อต้านสังคมอะไรขนาดนั้นนะ แรก ๆ เขาก็กังวลว่าการไม่สุงสิงกับใครเลยอาจจะกลายเป็นปัญหาอยู่เหมือนกัน แต่หลังจากอาศัยในชุมชนเดิมมาเป็นสิบ ๆ ปีก็ได้พบว่าการใช้ชีวิตนิ่ง ๆ แทบไม่ขยับไปไหนทำให้เขากลืนไปกับพื้นหลังได้แบบไม่สร้างเรื่อง สำหรับการงานที่ต้องสะท้อนชีวิตคนนั้น... เขาซึมซับความเป็นมนุษย์ผ่านตัวหนังสือและอินเทอร์เน็ตก็เพียงพอแล้ว
“การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นสักหนึ่งนาทีมีประโยชน์มากกว่าการอ่านหนังสือร้อยเล่มเป็นสิบเท่า!”
ชายหนุ่มที่แสดงความเห็นออกมาแบบตรง ๆ คนนี้เขาชื่อโทโมะ อายุยี่สิบห้าปี เป็นลูกชายของลุงนักเขียนผู้โดดเดี่ยวคนที่เล่าถึงไปเมื่อย่อหน้าที่แล้ว
...ทั้งที่เป็นพ่อลูกกันแท้ ๆ แต่มุมมองต่อการเข้าสังคมกลับแตกต่างห่างกันไกลระดับสิบคูณร้อย
ก็ต้องต่างกันแหงอยู่แล้วแหละ เพราะพ่อลูกคู่นี้ไม่เคยพบหน้ากันมาตั้งยี่สิบห้าปี นั่นหมายความว่า คางาโนะไม่เคยเจอโทโมะมาก่อนเลยตั้งแต่แรกเกิด
กิจกรรมสัมพันธ์ต่อกันของทั้งคู่มีเพียงการส่งค่าเลี้ยงดูไปให้ และรูปถ่ายจำนวนสองร้อยสี่สิบเอ็ดใบตลอดยี่สิบปีของเด็กชายที่ผู้เป็นแม่ส่งไปรษณีย์กลับมาเป็นสัญลักษณ์แทนใบเสร็จว่าได้รับเงินแล้วทุกเดือน
เมื่อโทโมะบรรลุนิติภาวะ คางาโนะก็สิ้นสุดหน้าที่การจ่ายค่าเลี้ยงดู ไม่มีการอัพเดทการเติบโตผ่านภาพนิ่งอีก เท่ากับขาดการติดต่อกันไปโดยสมบูรณ์ แล้วจู่ ๆ ทำไมชายหนุ่มที่เหลือแค่ความไหล่ลู่และไฝสองเม็ดที่เรียงกันบนแก้มซ้ายเหมือนกันกับลุงนักเขียนถึงมาปรากฏตัวอยู่ที่หน้าบ้านเงียบสงบหลังนี้ได้?
จริงอยู่ที่มีเรื่องโหดร้ายและเรื่องเศร้าเกิดขึ้นมากมาย
แต่ เซโอะ ไมโกะ เชื่อว่า “ในชีวิตจริงมีคนใจดีอยู่มากกว่าคนชั่วร้าย หากมีคนถ่ายทอดเรื่องราวแบบนี้ออกมาบ้างก็น่าจะดี”
เธอจึงเขียนให้คางาโนะได้พบกับโทโมะหลังจากเวลาล่วงเลยไปกว่าครึ่งชีวิต
นอกจากชื่อเรื่องที่ใบ้ไว้ให้ว่า ชีวิตของตัวละครมันจะยังไม่ถึงตอนจบง่าย ๆ ปกของนิยายเล่มนี้ยังเป็นภาพวาดพาสเทล อย่างกับตั้งใจจะใส่เฉดอ่อนโยนลงไปให้ชั้นผลงานทึม ๆ ของคางาโนะ
_______________________________________________________________
สามารถอ่านคำโปรยและตัวอย่างของหนังสือ
คลิก >> “นิยายเรื่องหนึ่งซึ่งยังไม่ถึงตอนจบ - Waiting for Masterpiece傑作はまだ” ของ เซโอะ ไมโกะ แปลโดย ฉัตรขวัญ อดิศัย
เรื่อง : พัดชา เอนกอายุวัฒน์ // ภาพประกอบ : ณภัค ภูมิชีวิน