“It’s bad, even introverts are here.”
เรานึกถึงข้อความแสบ ๆ คัน ๆ ประโยคนี้ที่ถูกเขียนไว้บนป้ายกระดาษของวัยรุ่นคนหนึ่งเมื่อปีก่อนขึ้นมา เขายืนชูมันอยู่นิ่ง ๆ พอสังเกตเห็นได้ท่ามกลางหมู่คนที่บ้างก็กำลังเดินหาที่เหมาะ ๆ ให้ตัวเอง บ้างก็นั่งลงปักหลักรอฟังปราศรัย
“มันแย่ขนาดที่คนชอบเก็บตัวก็ยังต้องออกมาที่นี่”
ไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นคืออะไร มันต้องย่ำแย่ระดับที่มนุษย์อินโทรเวิร์ต – ที่ไม่ชอบออกไปที่ที่คนเยอะ ๆ นิยมการปลีกวิเวกและอยู่อย่างสงบในที่คนน้อย ๆ ก็ยังต้องมารวมตัวร่วมแสดงออกกับเขาด้วยแล้ว(ว้อย!) ทำให้เห็นถึงระดับความ “เกินทน” ของปัญหาชัดเจนจบได้ในป้ายกระดาษแผ่นเดียว
เราเองก็เป็นคนอินโทรเวิร์ต และเคยเป็นหนึ่งในผู้ประสบภัยที่ทำตัวไม่ถูก เพราะคนเผลอคิดไปว่าในเมื่อทำอาชีพในหมวดบุคคลสาธารณะแล้วจะเข้าสังคมไม่เก่งได้อย่างไร ออกกล้องหรือขึ้นเวทีร้องเพลงก็ดูออกจะมั่นใจ ตอบคำถามทีไรก็พูดจาฉะฉาน แล้วจะมาบอกว่าเป็นคนคุยไม่เก่งเนี่ยนะ
คำจำกัดความตัวเองว่าเป็นคนไม่ค่อยสุงสิงกับใครก็เลยฟังไม่ขึ้น และถูกจัดเข้ากลุ่ม “คนหยิ่ง” ไปอย่างช่วยไม่ได้
แต่ช่วงหลายปีมานี้ ที่เริ่มนิยมแบ่งการจำกัดความวิธีการเข้าสังคมของคนออกเป็น “แบบ introvert และแบบ extrovert” กันขึ้นมาบ้าง ดูเหมือนจะทำให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้นด้วยว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะ “เข้าสังคม” ได้เก่งเท่า ๆ กัน แต่ละคนใช้พลังงานกับการสื่อสารกับมนุษย์ไม่เท่ากัน และคนที่ไม่ได้ดูมีอัธยาศัยเปล่งประกายดึงดูดทุกเพศทุกวัยตลอดเวลานั้นเขาก็ไม่ได้ผิดอะไร
ถึงอย่างนั้น เวลาที่มีคนมาถามว่าแล้วคนอินโทรเวิร์ตนี่เค้าไม่ชอบปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นเลยเหรอ? เราก็ต้องหยุดคิดหาวิธีอธิบายก่อนทุกที มันก็ไม่ใช่ว่าเรารักสันโดษสุดโต่งแบบ “พอทีสังคมและผู้คน ข้าน้อยขอลาไปเข้าป่าคุยกับสิงสาราสัตว์” ขนาดนั้น เราก็ชอบมีบทสนทนาที่ดี มีความสุขกับการได้พบเจอคนที่ทำให้สนุก เพียงแต่เครื่องยนต์ที่ใช้ทำกิจกรรมเหล่านี้มันกินแบตเตอรี่มาก เลยต้องพักชาร์จพลังบ่อยหน่อย
“คนเก็บตัวต้องรวบรวมความกล้าห้าครั้งถึงจะชวนคนอื่นคุยได้ คนชอบเข้าสังคมก็ต้องอดทนอดกลั้นห้าครั้งเพื่อที่จะไม่พูดสุ่มสี่สุ่มห้าออกไป”
คำอธิบายของ นัมอินซุก ที่ถูกคัดมาเป็นคำโปรยให้กับหนังสือของเธอที่ชื่อ “Actually, I'm an Introvert – ที่จริงแล้ว ฉันเป็นคนเก็บตัวนะ” ตวงวัดขนาดออกมาได้ถูกใจเรามากจนขีดเส้นใต้ไว้เลยว่า ชอบ!
ถ้าเปิดหน้าปกสีสันฉูดฉาดแบบผ่าน ๆ ก็อาจจะมองว่านี่เป็นหนังสือแนวจดบันทึกความคิดส่วนตัวของผู้เขียน แต่เรากลับมองว่าการเฝ้าเพียรบริหาร “กล้ามเนื้อสังสรรค์” และอัพเกรด “ปุ่มเข้าสังคม” จนทำให้เธอสามารถออกไปท่องโลกกว้างแล้วเก็บกลับมาถ่ายทอดเรื่องราวและความรู้สึกได้ขนาดนี้ คนอินโทรเวิร์ตด้วยกันเข้าใจดีว่านัมอินซุกคงต้องใช้พลังงานไปมากหลายขุม
ถ้าหากจะลองให้อธิบายว่าคนอินโทรเวิร์ตเป็นคนแบบไหน เราก็อยากจะยื่นหนังสือเล่มนี้ให้ลองอ่าน จากไม่ค่อยเข้าใจก็น่าจะได้เห็นวิธีคิดและจัดการตัวเองของเรามากขึ้น ฝั่งคนชอบเก็บตัวอ่านแล้วก็อาจจะทำให้ได้รู้ว่า กลางปาร์ตี้อึกทึกสุดเหวี่ยงมีคนที่กำลังยืนวุ่นวายใจอยู่ข้างในเหมือนกันกับเราด้วยแฮะ! แต่นัมอินซุกก็ไม่ได้จะเขียนเข้าข้างแต่คนแนวเดียวกันนะ เธอยังเข้าใจไปถึงเหล่าเอ็กซ์โทรเวิร์ตที่เติมพลังชีวิตด้วยการพบปะผู้คนอีกด้วย เรียกว่าสบายใจกับสิ่งแวดล้อมแบบไหนก็อ่านได้หมด
และเราก็แอบหวังแหละว่าถ้าหากเราแบ่งเวลาและแรงมาทำความเข้าใจกันมากขึ้นสักหน่อย ต่อไปคนอินโทรเวิร์ตน่าจะมีพื้นที่ในสังคมที่สบายมากขึ้นอีกนิด จะไม่ต้องชาร์จพลังเก็บเอาไว้แล้วเอามาใช้แสดงสิทธิ์ออกเสียงจนหมดก๊อกอยู่แบบนี้
เข้าไปอ่านคำโปรยของหนังสือและประวัติของ นัมอินซุก ผู้เขียน คลิก >> “사실, 내성적인 사람입니다 Actually, I'm an Introvert – ที่จริงแล้ว ฉันเป็นคนเก็บตัวนะ”
เรื่อง : พัดชา เอนกอายุวัฒน์ / ภาพประกอบ : ณภัค ภูมิชีวิน