สินค้าอะไรที่คุณหยิบบ่อยที่สุดเมื่อเข้าร้านสะดวกซื้อ?
อาจจะเป็นขนมนมเนยยี่ห้อดัง อาจจะเป็นเครื่องดื่มสุดโปรด หรือบางคนก็มีไอเท็มส่วนตัวที่ไม่ได้เป็นของยอดฮิตแต่เข้ามินิมาร์ทเมื่อไหร่ต้องหยิบติดมือมากลับมาด้วยทุกครั้ง
ที่นี้เรามาลองหลับตาแล้วจินตนาการกันหน่อยดีกว่า สมมติว่าคุณกำลังเดินผ่านประตูที่เลื่อนเปิดเข้าไปในมินิมาร์ทแห่งหนึ่ง “ตี๊ดี่~”
“สวัสดีค่า รบกวนคุณลูกค้าสวมหน้ากาก สแกนไทยชนะ และวัดอุณหภูมิก่อนเข้าร้านด้วยนะคะ” ประโยคต้อนรับที่เป็นซิกเนเจอร์ของโลกหลังยุคโควิด-19 ระบาดถูกกล่าวขึ้นทันทีที่คุณก้าวเท้าเข้าไปปะทะกับแอร์เย็น ๆ ภายในร้าน
คุณยกมือขึ้นจ่อเซนเซอร์ที่เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายอย่างไม่ใส่ใจ ก่อนจะเดินผ่านโซนแคชเชียร์ไปสู่บริเวณชั้นวางสินค้า ไม่ว่าของที่คุณซื้อประจำจะเป็นอะไร เราเชื่อว่าขาทั้งสองข้างได้พาคุณเดินไปหยุดอยู่หน้าเชลฟ์นั้นเรียบร้อยแทบจะเป็นอัตโนมัติ
เลี้ยวซ้ายแรกทะลุเข้าไปเปิดประตูกระจกใสหยิบน้ำหวานเย็นเจี๊ยบ หันหลังกลับมาเลือกขนมก๊อบแก๊บสักถุง แล้วเดินย้อนกลับมาที่ตู้แช่ของกินด้านข้าง ใช้เวลาตัดสินใจนิดหน่อยว่าของว่างบ่ายนี้จะเป็นไส้กรอก แซนด์วิชอบร้อน ขนมจีบ หรือซาลาเปาดีนะ ก่อนที่จะเอาชนะตัวเองด้วยการหยิบมะม่วงที่ตัดแต่งไว้พร้อมรับประทานมาแทน (ทำเป็นไม่นับแคลอรีน้ำปลาหวานที่แถมมาให้ในกล่องแล้วกัน)
หลังจากวางของในมือลงบนเคาน์เตอร์แคชเชียร์ คุณก็หันไปรอกดรหัสสมาชิกที่คีย์บอร์ดตัวเลขทางขวามือโดยไม่ต้องให้พนักงานถามซ้ำ คุณปฏิเสธไม่รับถุงพลาสติกพร้อมกับจ่ายเงินแล้วก็หยิบสินค้าที่เลือกมาเก็บลงถุงผ้าใบโปรด และไม่ลืมรับใบเสร็จมาด้วย เผื่อมีคูปองที่เก็บเอาไว้เป็นส่วนลดคราวหลังได้อีก
เราชอบใจคนที่ตั้งชื่อร้านค้าประเภทยี่สิบสี่ชั่วโมงใกล้บ้านคุณว่า “ร้านสะดวกซื้อ” หรือ “convenient store” เพราะอธิบายประโยชน์ในการมีอยู่ของมันได้ชัดเจนสุด ๆ
ภายใต้ความง่ายดายในการใช้บริการนั้นมีวิธีทางการตลาดที่ “คิดมาแล้ว” มากมายซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการจัดวางสินค้า โปรโมชั่นลดราคา รวมถึงคาแรกเตอร์ของร้านสะดวกซื้อที่กลายเป็นเอกลักษณ์ อย่างเช่นของกินบางอย่างที่หาซื้อได้เฉพาะบางร้าน หรือแม้แต่ พี่หมาที่แรก ๆ คงแค่แวะมานอนผึ่งรับแอร์เย็น แต่ฮวงจุ้ยหน้าประตูมันอยู่สุขสบายดีมีมานุดแบ่งไส้กรอกให้กิน จากหมาจรเลยเจอทางสะดวกไปด้วย จนได้ครองตำแหน่งเป็น “หมาหน้าเซเว่น” อยู่คู่กับมินิมาร์ทไทย
แม้วรรณกรรม “KONBINI NINGEN” จะมีฉากหลักเป็นร้านสะดวกซื้อกลางย่านสำนักงานในเมืองใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ไม่ใช่ร้านประจำตรงปากซอย แต่ก็มีบรรยากาศหลายอย่างคล้ายกัน ทั้งชั้นวางสินค้าแน่นเอี้ยด ทั้งกลิ่นอาหาร และเสียงต่าง ๆ ที่จ้อกแจ้กจอแจอยู่ภายในเวลาลูกค้าต่อแถวจ่ายเงินช่วงเวลาเร่งด่วน
เราเดินเข้าไปในโลกสมมติอย่างไม่คิดอะไรเช่นเดียวกับเวลาเดินเข้าร้านค้าแถวบ้าน แต่มุราตะ ซายากะผู้แต่ง ก็บรรยายร้าน Smile Mart สาขาหน้าสถานีรถไฟฮิอิโระโจวออกมาได้สมจริงจนทำให้เราได้เห็นรายละเอียดมากมายที่คนเป็นลูกค้าอย่างเรามักจะมองข้ามไป และทำให้เรารู้สึกว่า “คอนบินิ” – ภาษาญี่ปุ่นที่ย่อมาจากคำว่า convenient store ยิ่งมีคาแรกเตอร์เฉพาะตัวกว่าร้านสะดวกซื้อสัญชาติใด
‘เคโกะ ฟุรุคุระ’ หญิงโสดอายุ 36 ปีตัวละครหลักของเรื่องเองก็ไม่เหมือนใครเช่นกัน เธอบอกว่าเธอเป็นเพียง “ฟันเฟืองหนึ่งของกล่องเรืองแสงขนาดเล็ก” ตั้งแต่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยก็ทำงานเป็นพนักงานพิเศษที่ร้านสะดวกซื้อแห่งเดียวมาตลอด ยังไม่เคยหางานประจำทำ ไม่คิดคบหาใครจริงจัง และไม่มีแผนจะแต่งงาน คนรอบตัวที่โตมาด้วยกันที่เปลี่ยนสถานะไปตามวัยแล้วก็ได้แต่คิดกันไปต่าง ๆ นานา ว่าทำไมกันหนอ... เธอจึงไม่หัดใช้ชีวิตให้เป็นปกติแบบคนอื่นเขาสักที?
ว่ากันตามตรง ไม่ต้องเป็นสังคมญี่ปุ่นหรอก ในสังคมไทยเองเมื่อพูดถึงตำแหน่งพนักงานร้านสะดวกซื้อแล้วก็ไม่ได้ถูกยอมรับว่าเป็นอาชีพหลักที่หาเลี้ยงตัวเองได้จริง ดูจะเป็นงานชั่วคราวเพื่อหารายได้ระหว่างเรียนให้จบหรือก่อนไปหางานอื่นทำมากกว่า (เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปเป็นผู้จัดการร้านได้ก็ยังดี) ไหนจะชั่วโมงทำงานเป็นกะที่ไม่ตรงกับงานอื่นที่เข้า 9 ออก 5 แถมค่าตอบแทนก็น้อยนิดอีกต่างหาก จนถูกตัดสินได้ง่าย ๆ ว่าเป็นงานที่ไม่ได้ดู “มีอนาคต” สักเท่าไหร่
เคโกะจึงถูกมองว่าแปลกแยกเสมอมา แม้แต่ชิราฮะตัวละครชายในเรื่องที่ทั้งตกงานและไม่ได้มีที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่งยังกล้าจะวิจารณ์และมองเธออย่างดูถูก!
แล้วเคโกะที่อาศัยอยู่พาร์ตเมนต์ซอมซ่อ ทำงานเป็นแค่พนักงานพิเศษ กินแต่อาหารง่าย ๆ จากร้านสะดวกซื้อที่ร้าน พอหมดวันก็กลับไปนอนเพื่อตื่นมาเข้ากะในวันรุ่งขึ้นวนไปอย่างนั้น ไม่ยอมหางานหาการเป็นหลักเป็นแหล่งเพื่อจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (หรือไม่ก็จงหาคู่แต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝาอยู่บ้านเลี้ยงลูกไปเสีย จะได้สมกับที่เกิดมาเป็นผู้หญิงหน่อย)
อยากให้คุณลองเดินเข้าไปในร้านสะดวกซื้อแห่งนี้ด้วยกันสักครั้ง ไปหาคำตอบกันว่า
เมื่อเคโกะกล่าว “อิรัชชัยมาเสะ” ด้วยหน้าตายิ้มแย้มแข็งขันตามที่ถูกอบรมมานั้น เธอต้อนรับคุณเข้าไปเพื่อให้บริการที่สะดวกสบายไร้รอยต่อที่สุดเสมอ แล้วเธอได้กล่าวต้อนรับคุณให้เข้าไปตัดสินการใช้ชีวิตของเธอด้วยไหม?
ตกลงว่าเธอไม่ยอมโตเป็นผู้ใหญ่ หรืองานที่เธอเลือกทำนั้นให้ค่าตอบแทนไม่สมกับประโยชน์ในการเป็นฟันเฟืองของสังคมจนถูกมองว่าเป็นแค่หญิงวัยกลางคนที่รับผิดชอบชีวิตตัวเองไม่ได้กันแน่?
“コンビニ人間 – KONBINI NINGEN – มนุษย์ร้านสะดวกซื้อ” วรรณกรรมระดับรางวัลอาคุตะกาวะ (ประจำปี 2016) โดย มุราตะ ซายากะ <<คลิก
เรื่อง : พัดชา เอนกอายุวัฒน์ // ภาพประกอบ : ณภัค ภูมิชีวิน