“ถ้าหากช่วงนี้มีความรู้สึกอ่อนไหวมากขึ้นก็อย่าเพิ่งตกใจนะครับ นอกจากการลดยาแล้ว การออกกำลังกายมันกระตุ้นให้เรารับความรู้สึกได้ไวขึ้นด้วย แต่ถ้าหากเช็คตัวเองแล้วคิดว่าผิดปกติเกินไปก็ลัดคิวมาหาหมอก่อนได้เลย”
คุณหมอกำชับกับเราก่อนจะหันไปกรอกเอกสารสั่งยาต้านเศร้าที่ลดขนาดลงอีกหน่อย เราเข้าสู่ช่วงปรับยาเพื่อรักษาโรคซึมเศร้ามาได้สองเดือนแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ตบหลังตบไหล่ชมตัวเองที่หมุนกิจวัตรชีวิตกลับมาจนหยุดยานอนหลับได้ในที่สุด (พยายามได้ดีมาก!)
ถึงแม้จะยังคงต้องพบแพทย์เป็นประจำไปอีกเรื่อย ๆ แต่ในกรณีของเราที่ใช้เวลาไม่ถึงสองปีในการรักษาก่อนเข้าช่วงลดยาเมื่อเทียบกับคนอื่นแล้วก็ถือว่าเป็นเคสที่...ฟื้นได้ไวแล้ว
เราคิดเลือกใช้อยู่หลายคำ จะบอกว่าเป็นเคสที่ไม่ยากเหรอ สำหรับเรามันไม่ง่าย เป็นเคสที่ไม่รุนแรง ก็ไม่ตรงความรู้สึกอีก เมื่อมองตามประวัติการรักษาที่เป็นไปตามลำดับมันก็ดูเหมือนจะ “ราบรื่น” ดี ต่างกับตัวเรา ณ ขณะนั้นที่ตกอยู่ก้นหลุม ถ้าหากพยายามอธิบายให้ใกล้เคียงก็คงจะรู้สึกเหมือนจมอยู่กลางทะเลที่ทั้งมืดและลึกจนแทบไม่เห็นแสงจากเหนือน้ำ หนักหน่วง อึดอัด สาหัส...
“ไม่มีทางที่ผมจะถ่ายทอดประสบการณ์นี้ผ่านถ้อยคำได้ เพราะมันช่างเหนือบรรยาย ...คำพูดดูจะไร้แก่นสารเมื่อเปรียบเทียบกับความเจ็บปวดที่ผมต้องเผชิญ”
เราเองก็คงไม่สามารถรับรู้ความลึกของบาดแผลฉกรรจ์ที่แมตต์ เฮกผ่านมาได้เช่นกัน แต่เราก็เห็นด้วยกับเขาอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเวลาที่พิจารณาน้ำหนักข้างในแล้วเกิดความคิดแทรกขึ้นมาว่า ขนาดตัวเราเองยังต้องพยายามทำความเข้าใจ แล้วจะให้คนอื่นมาเข้าใจเรา... สิ่งที่อยู่ในใจยิ่งหนักอึ้งกว่าเดิม
...แต่ก็มีหนังสือที่ชื่อ “REASONS TO STAY ALIVE – แด่ผู้แหลกสลาย” เกิดขึ้น
เราที่แม้เดินทางเลยโค้งดิ่งลึกกลับมาแล้วก็ยังแหยงถ้าหากจะต้องเปิดแผลของตัวเองออกดู จึงรู้สึกขอบคุณและชื่นชมแมตต์ เฮกผู้เขียนหนังสือเล่มนี้อย่างมาก ที่ไม่เพียงหันกลับมองไปในความมืด แต่ยังหยิบประสบการณ์มาเปิดเผยโดยที่รู้ทั้งรู้ว่ากำลังเอาจิตใจของตนเข้าเสี่ยง
ขอบคุณตัวเองที่ตัดสินใจซื้อหนังสือเล่มนี้กลับมาบ้าน ขอบคุณตัวเองที่ตัดสินใจอ่าน ขอบคุณเรื่องราวและข้อความที่ทำให้เราได้รู้ว่ายังมีใครบนโลกนี้ที่เคยเผชิญความว้าวุ่นภายในคล้ายกัน ขอบคุณหน้าเว้นว่างระหว่างบทที่วางไว้อย่างกับเข้าใจว่าเราต้องการการเว้นวรรคระหว่างทาง ขอบคุณกลิ่นกระดาษและหมึกพิมพ์ที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยของเราเสมอมา
...โรคซึมเศร้าไม่ใช่สิ่งที่ต้องออกมา “ยอมรับว่าเป็น” ไม่ใช่อะไรที่น่าอาย แต่เป็นประสบการณ์หนึ่งของมนุษย์
...โรคซึมเศร้าไม่ได้บอกว่า คุณ เป็นใคร ทว่าเป็นสิ่งที่ เกิดขึ้น กับคุณ ซึ่งบรรเทาได้ด้วยการพูดคุย ผ่านถ้อยคำ การปลอบใจและการสนับสนุน ใช้เวลามากกว่าหนึ่งทศวรรษกว่าผมจะเล่าประสบการณ์นี้ให้ทุกคนฟังได้อย่างเปิดเผยและเป็นกิจจะลักษณะ ไม่นานนักผมก็ค้นพบว่าการพูดคุยนั้นเป็นการบำบัดในตัว ที่ใดมีการพูดคุยกัน ที่นั่นย่อมมีความหวัง”
เพราะรู้สึกว่าแมตต์ เฮกคุยให้เราฟังอย่างตั้งใจ จึงชวนให้เราได้พูดในใจร่วมบทสนทนาไประหว่างทางการอ่านด้วย
“...การอายุครบ 35 36 37 38 39 ซึ่งผมไม่เคยคิดว่าจะมีชีวิตจนอายุเท่านี้”
เราขีดเส้นใต้ประโยคนี้เอาไว้ ก่อนยิ้มให้กับบรรทัดสุดท้ายที่แมตต์เขียน
“ขอบคุณครับ”
สามารถอ่านตัวอย่างหนังสือ คลิก>> “REASONS TO STAY ALIVE – แด่ผู้แหลกสลาย” ของ แมตต์ เฮก แปลโดย ศิริกมล ตาน้อย ได้ทางเวบไซต์ของสำนักพิมพ์ bookscape
นอกจาก REASONS TO STAY ALIVE ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2015 และได้รับการตอบรับดีจนติดอันดับหนังสือขายดีของอังกฤษกว่า 46 สัปดาห์แล้ว แมตต์ เฮกยังมีผลงานที่ได้รับความนิยมอีกหลายเล่มทั้งในรูปแบบนวนิยาย เช่น The Midnight Library – มหัศจรรย์ห้องสมุดเที่ยงคืน, A Boy Called Christmas, How To Stop Time
และ “NOTES ON A NERVOUS PLANET – แด่เธอ บนดาวเคราะห์ช่างกังวล” (ตีพิมพ์ในฉบับภาษาอังกฤษครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 2018) ที่เป็นเหมือนบันทึกเรื่องราวภาคต่อมาในชีวิตของผู้เขียนเอง ก็ถูกแปลเป็นภาษาไทยแล้วเมื่อต้นปีนี้ (พ.ศ. 2565) โดยสำนักพิมพ์ bookscape เช่นกัน
เรื่อง : พัดชา เอนกอายุวัฒน์ // ภาพประกอบ : ณภัค ภูมิชีวิน