ปัจจุบันโลกของเรามีการก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ไอที รวมถึงวิศวกรรมที่มีการพัฒนาเติบโตไปอย่างรวดเร็ว ทำให้สายงานเหล่านี้มีความต้องการอย่างมากในท้องตลาดโลก วันนี้ ALTV ขอพาน้อง ๆ ไปทำความรู้จักสาขาวิชาหนึ่งที่น้อง ๆ หลายคนอาจไม่เคยรู้กับ “เมคคาทรอนิกส์” สู่อาชีพที่สำคัญระดับโลก !

จุดเริ่มต้นของวิชา “เมคคาทรอนิกส์”
ในปี ค.ศ.1970 สาขาวิชาเมคคาทรอนิกส์ เกิดขึ้นครั้งแรกในโลกที่ประเทศญี่ปุ่น โดยเริ่มต้นจาก “Mr.Tetsura Mori” เป็น Senior Engineer ของบริษัท Yaskawa Electric corporation ได้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากการรวมตัวกัน ระหว่างเมคานิกส์ (Mechanic) กับ อิเล็กทรอนิกส์ (Electronics) ซึ่งเป็นการทำงานของระบบกลไก มาผสมผสานกับไฟฟ้า จึงกลายเป็น เมคคาทรอนิกส์ (Mechatronics) โดยมีการยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรสาขาวิชานี้ และได้รับรองอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1973 เป็นต้นมา

เมคคาทรอนิกส์ คืออะไร ?
เป็นอีกหนึ่งวิชาในด้านวิศวกรรมศาสตร์ ประกอบด้วยองค์ความรู้ทั้ง 3 ด้านหลักคือ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมการควบคุมอัตโนมัติ และศาสตร์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อการออกแบบ และสร้างชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์ รวมถึงพัฒนางานในระบบอุตสาหกรรม นอกจากนี้ เมคคาทรอนิกส์ จะพัฒนาศักยภาพของเครื่องจักรกลโรงงาน จำพวกหุ่นยนต์โรงงาน ระบบอัจฉริยะ ให้มีการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยการเรียนนั้นจะเริ่มต้นตั้งแต่ ความรู้พื้นฐานทางด้านวงจรไฟฟ้า การออบแบบวงจรควบคุม การออกแบบเครื่องจักรกลหนักและโครงสร้างของเครื่องจักร และการควบคุมเครื่องจักรกลในโรงงาน เป็นต้น
ค้นหาพรสวรรค์ของตนเอง พาไปสู่อาชีพที่ชอบ
ก่อนที่น้อง ๆ จะตัดสินใจเลือกเรียนสาขาใดสาขาหนึ่งให้ตรงถามความถนัดของตนเอง อยากจะชวนทุกคนได้รู้จักตัวเองผ่านแบบทดสอบค้นหาพรสวรรค์ (StrengthsFinder) ซึ่งวิจัยและพัฒนาขึ้นโดยทีมวิจัยที่เชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนาคน โดยจำแนกพรสวรรค์ออกเป็น 34 คุณสมบัติ ใน 4 กลุ่ม ดังต่อไปนี้

👉บ้านมือ Executing (การปฏิบัติการ)
สำหรับคนที่ถนัดด้านการจัดการ มีความระเอียด รอบคอบ มีวินัย
- ผู้บรรลุเป้าหมาย (Achiever) เป็นคนที่มีความอดทนสูง ถนัดทำงานหนัก มีความสุขกับการได้ทำสิ่งต่างและสร้างสรรค์ผลงานอยู่เสมอ
- นักจัดการ (Arranger) เป็นคนที่มีไหวพริบ มีความสามารถจัดการสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ดี
- ผู้มีความเชื่อ (Belief) มักเป็นคนที่มั่นคงกับสิ่ง ๆ หนึ่ง และมีเป้าหมายในการดำเนินชีวิต
- ผู้มีความยุติธรรม (Consistency) คือคนที่จะปฏิบัติต่อทุกคนบนโลกอย่างเท่าเทียมกัน
- ผู้มีความละเอียดรอบคอบ (Deliberative) เป็นคนที่จริงจังต่อการตัดสินใจ และเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับอุปสรรคอยู่เสมอ
- ผู้มีวินัย (Discipline) เป็นคนที่ชอบในสิ่งที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้อย่างเป็นแบบแผน
- ผู้มีเป้าหมายชัดเจน (Focus) เป็นคนที่กำหนด และติดตามการทำงานจนบรรลุเป้าหมาย คอยประคับประคองให้งานเป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้
- ผู้ที่มีความรับผิดชอบ (Responsibility) คนที่สำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งที่พวกเขารับปากว่าจะทำให้
- นักปรับปรุงแก้ไข (Restorative) มีความชำนาญในการจัดการ และแก้ไขปัญหา พร้อมเรียนรู้และทำความเข้าใจในสิ่งที่ทำผิดพลาด
👉บ้านปาก Influencing (การโน้มน้าว)
เหมาะสำหรับคนที่ชอบพูดคุย สื่อสารเก่ง จูงใจเก่ง
- นักริเริ่มทำงาน (Activator) เป็นคนที่ผันความคิดมาเป็นสิ่งที่ลงมือทำให้เกิดขึ้นได้
- นักบัญชาการ (Command) เป็นผู้ที่ดูมีอำนาจ สามารถควบคุมสถานการณ์ และตัดสินใจเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี
- นักสื่อสาร (Communication) มักแสดงความคิดเห็นออก และผู้ที่นำเสนอความคิดเห็นออกมาได้ดี
- นักแข่งขัน (Competition) เป็นคนที่วัดความก้าวหน้าของตนเอง กับผลงานคนอื่น ๆ
- ผู้สรรหาความเป็นเลิศ (Maximizer) เน้นไปที่จุดแข็งเพื่อผลักดันให้คน ๆ หนึ่ง พยายามเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้กลายเป็นสิ่งที่เยี่ยมยอด
- ผู้มีความเชื่อมั่น (Self-Assurance) จะรู้สึกมั่นใจในความสามารถที่จะควบคุมชีวิตของตนเอง คนเหล่านี้มีเข็มทิศชี้ทางในตัวที่ทำให้มั่นใจว่าการตัดสินใจของตนเองนั้นถูกต้องแล้ว
- ผู้เห็นความสำคัญ (Significance) เป็นคนที่รักอิสระ และต้องการให้ผู้อื่นมองเห็นคุณค่าของตนเอง
- ผู้ชนะใจ (Woo) จะรักความท้าทายในการพบปะผู้คนใหม่ๆ และทำให้คนเหล่านั้นชอบตน พวกเขามีความสุขในการทำความรู้จัก และสร้างเครือข่ายการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น
👉บ้านใจ Relationship Building (การสร้างความสัมพันธ์)
เป็นคนที่มีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น มีมนุษย์สัมพันธ์ดี ปรับตัวได้ง่าย
- ผู้ที่มีความสามารถในการปรับตัว (Adaptability) ชอบทำตัวกลมกลืนตามสถานการณ์ และมักใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน
- ผู้เห็นความเชื่อมโยง (Connectedness) เป็นคนที่มีความเชื่อมั่นว่าทุกสิ่งในโลกนี้มักเกี่ยวข้องกัน และสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุและผลเสมอ
- นักพัฒนา (Developer) เป็นคนที่มองเห็น และช่วยสร้างความสามารถที่ซ่อนอยู่ในตัวของผู้อื่น
- ผู้ที่มีความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) สามารถรับรู้ถึงอารณ์ และความรู้สึกของคนอื่น ๆ ได้ดี
- ผู้สร้างความกลมเกลียว (Harmony) คนกลุ่มนี้ ไม่ชอบการขัดแย้ง และจะพยายามมองหาความคิดเห็นซึ่งเป็นการยอมรับของทุกคน
- ผู้ไม่ทอดทิ้ง (Includer) มักยอมรับในตัวผู้อื่น และเข้าใจถึงความรู้สึกของผู้อื่นอยู่เสมอ
- ผู้เข้าใจความแตกต่าง (Individualization) เป็นคนที่มีพรสวรรค์ในการคิดหาวิธีพาคนที่มีความแตกต่าง หันมาทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ผู้มองโลกในแง่ดี (Positivity) เป็นคนร่าเริง มีพลังบวก และสามารถทำให้ผู้อื่นรู้สึกตื่นเต้นไปกับสิ่งที่จะทำ
- ผู้สร้างสัมพันธ์ (Relator) ชอบความใกล้ชิดสนิทสนมกับคนอื่นๆ และมีความพอใจที่ลึกซึ้งในการทำงานหนักร่วมกับเพื่อนๆ เพื่อบรรลุถึงเป้าหมาย
👉บ้านสมอง Strategic Thinking (การคิดเชิงกลยุทธ์)
เป็นคนที่ชอบวิเคราะห์ ชอบคิด ใฝ่รู้อยู่เสมอ
- นักวิเคราะห์ (Analytical) คนกลุ่มนี้มักมีความสามารถในการมองเห็นสาเหตุทุก ๆ ด้านที่อาจมีผลกระทบต่อสถานการณ์นั้น ๆ
- ผู้คำนึงถึงอดีต (Context) เป็นคนชอบนึกถึงอดีตที่ผ่านมา และเข้าใจเหตุการณ์ในปัจจุบัน โดยศึกษาค้นคว้าถึงประวัติที่มาของสิ่งนั้น
- ผู้มองอนาคต (Futuristic) เป็นคนที่อาศัยอนาคตและสิ่งที่อาจเกิดขึ้นเป็นแรงบันดาลใจ วิสัยทัศน์เกี่ยวกับอนาคตของพวกเขาจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น
- นักคิดสร้างสรรค์ (Ideation) มักเป็นคนที่สนใจไอเดียความคิดในสิ่งที่แตกต่างได้ดี
- นักสะสม (Input) เป็นผู้ที่ฝักใฝ่ในการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และมักจดบันทึกข้อมูลทุกชนิด
- นักคิด (Intellection) คนกลุ่มนี้ชอบครุ่นคิด สนุกกับกิจกรรมที่ใช้สมองและความคิด
- ผู้ใฝ่รู้ (Learner) เป็นคนที่ชอบเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สิ่ง ๆ นั้นดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา
- นักกลยุทธ์ (Strategic) เป็นคนชอบสร้างสรรค์วีธีการอื่น ๆ ที่แตกต่าง และเมื่อเผชิญหน้ากับเหตุการณ์หนึ่ง พวกเขาจะสามารถมองเห็นปัญหาได้อย่างรวดเร็ว
ซึ่งจากผลสำรวจจาก แนะ NOW โพล ที่ได้สำรวจความคิดเห็นจากคนส่วนใหญ่นั้นพบว่า คนที่เรียนสาขาเมคคาทรอนิกส์ได้จะต้องมีลักษณะที่โดดเด่น หรือพรสวรรค์ในกลุ่มบ้านมือ และบ้านสมอง หรือนักปฏิบัติ หรือนักคิด นั่นเอง

เรียนเมคคาทรอนิกส์ จบแล้วทำอะไรได้บ้าง ?
แน่นอนว่าการทำงานในสายงานนี้ มักจะต้องเป็นนักคิด หรือนักปฏับัติ ซึ่งต้องมีหน้าที่ในการวางแผน วิเคราะห์ปัญหา ให้คำแนะนำ และจัดการเกี่ยวกับการสร้าง การประกอบ รวมถึงการควบคุมการทำงานอัตโนมัติของเครื่องจักร และเครื่องมือทั่วไปในโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีตัวอย่างอาชีพที่คนเรียนจบสายนี้ สามารถทำได้ เช่น
- วิศวกรเมคคาทรอนิกส์ (Mechatronics Engineer)
- วิศวกรหุ่นยนต์ (Robotics Engineer)
- วิศวกรออกแบบระบบอัตโนมัติ (Automation System Design Engineer)
- วิศวกรซ่อมบำรุงหุ่นยนต์ (Robot Maintenance Engineer)
- วิศวกรระบบควบคุม (Controls Engineer)
- วิศวกรตรวจสอบคุณภาพ (Quality Engineer)
- วิศวกรฝ่ายขาย (Sale Engineer)
- นักวิจัย (Researcher)
สถาบันในไทยที่เปิดสอนสาขาวิชา เมคคาทรอนิกส์
สำหรับน้อง ๆ ที่มีความฝันอยากจะเข้าศึกษาต่อในสาขาวิชาเมคคาทรอนิกส์ สายงานที่มนุษย์ไม่ต้องเข้าไปควบคุมด้วยตนเองอยู่ตลอดเวลา สามารถเตรียมความพร้อม เพื่อสอบเข้าไปในสถาบันต่าง ๆ ที่เปิดสอนในสาขาวิชาเหล่านี้ ยกตัวอย่างสถาบันในประเทศไทย ได้แก่
- สาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน
- สาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
- หลักสูตรวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์และออโตเมชัน คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- สาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ และระบบการผลิตอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
- สาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- สาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
เมื่อน้อง ๆ ทุกคนค้นหาพรสวรรค์ และความถนัดของตัวเองเจอแล้ว อย่าลืมที่จะคว้าโอกาสในการเรียนรู้ เพื่อสายการเรียนที่ใช่ สู่อาชีพที่ชอบ และตอบโจทย์ให้กับตนเอง รวมถึงความต้องการต่อโลกอนาคต นอกจากนี้ยังสามารถไปทดสอบพรสวรรค์ เพื่อค้นหาความถนัดของตนเองผ่านทางรายการ แนะ NOW ทุกวันอาทิตย์ เวลา 16.00 – 16.30 น. ทาง ALTV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก << (คลิกชมคลิป)
อ้างอิงข้อมูลจาก : Admission Premium, JobsDB by SEEK, Die Casting & Engineering Knowledge Sharing, GotoKnow