ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
ผู้จัดการวงดนตรี กับเรื่องเล่าที่ยังไม่มีใครรู้
แชร์
ชอบ
ผู้จัดการวงดนตรี กับเรื่องเล่าที่ยังไม่มีใครรู้
28 ส.ค. 65 • 08.00 น. | 1,710 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

เรื่องเล่าหลังเวที จากคนเบื้องหลังนักดนตรี

“แกคือความภูมิใจของห้องเรา” เพื่อนมัธยมพิมพ์ไลน์มาแบบนี้ ลึก ๆ ในใจก็มีความฟูอยู่ไม่น้อย กับการประกอบอาชีพที่หลายคนมองว่าได้สิทธิพิเศษมากมาย ได้อยู่ใกล้ชิดนักดนตรี ศิลปินที่มีคนชื่นชอบ ตำแหน่ง ผู้จัดการศิลปิน สำหรับผู้เขียนที่ได้จับพลัดจับผลูมาทำหน้าที่นี้ ไม่ได้เริ่มต้นจากความใฝ่ฝันแรงกล้า แต่เป็นการเดินทางยาวนานทีละขั้นตอนที่ค่อยสะสมความผูกพัน และยังมีเรื่องเล่าจากด้านหลังเวที ที่ยังไม่เคยบอกใครมาก่อน

เรื่องมันเป็น ยังไงไหนเล่าซิ!

ถ้าอยากทำงานวงการเพลงต้องเรียนอะไร

ที่จริงแล้วการทำงานในสายดนตรี นอกจากอาชีพนักดนตรีแล้ว ยังมีอีกหลายชีวิตที่ทำงานอยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นสายตรงอย่าง โปรดิวซ์เซอร์ คนแต่งเนื้อร้อง ทำนอง เรียบเรียง คนทำงานในห้องบันทึกเสียง และตัวศิลปินเอง ที่ยกตัวอย่างมานั้นคือในส่วนของภาคดนตรี นอกจากนั้นยังมีส่วนสนับสนุนอื่น ๆ ที่ช่วยกันผลักดันศิลปิน และในส่วนนี้แหละ ที่คนธรรมดาซึ่งอาจจะไม่มีพรสวรรค์ทางด้านดนตรีขนาดนั้น แต่มีใจรักที่จะทำงานเกี่ยวกับเสียงเพลง พอจะมีโอกาสได้เอื้อมแตะวงการที่ใฝ่ฝันได้

นอกจากในภาคของดนตรีแล้ว ยังมีส่วนของงานภาพที่ทำให้ทุกคนได้เห็นภาพลักษณ์ต่าง ๆ เคลื่อนไหวโลดแล่น กว่าที่จะเป็นวงดนตรีที่ประสบความสำเร็จสักวง ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ในส่วนของบริษัทใหญ่ จะมีแผนกต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่การคัดเลือก พัฒนาศิลปิน สอนร้อง สอนเต้น ปรับปรุงบุคลิกภาพ ทัศนคติ แม้แต่การไหว้ การพูด การจับไมค์ ยังไม่รวมถึงการวางแผนในการโปรโมท ปล่อยซิงเกิ้ลไหนก่อนหลัง เสื้อผ้าหน้าผม ภาพถ่าย มิวสิกวิดีโอ รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์ในช่องทางต่าง ๆ นี่แค่ยกตัวอย่างแบบรวบรัดภายใน 30 วินาที และไม่ได้การันตีว่าทำทุกอย่างนี้ จะลงเอยด้วยการประสบความสำเร็จทุกวง

แต่สำหรับศิลปินนักร้องที่ทำงานเอง ไม่ได้ผ่านขบวนการซับซ้อนมากมาย ก็ไม่ใช่จะทำให้ไปไม่ถึงฝั่งฝัน บางทีความเรียบง่าย เป็นตัวของตัวเอง ก็อาจจับใจผู้คน นี่อาจเป็นเสน่ห์เร้นลับของวงการเพลง เพราะไม่มีสูตรสำเร็จใดใดในการไปถึงดวงดาว

สายตรง สำหรับคนที่อยากเรียนเกี่ยวกับธุรกิจดนตรี

  • Music Business มหาวิทยาลัยมหิดล
  • Music Entrepreneurship มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
  • วิชาเอกธุรกิจดนตรีและบันเทิง มหาวิทยาลัยศิลปากร

การเรียนคณะที่ใกล้เคียงกับการประกอบอาชีพสนับสนุนนักดนตรี น่าจะเป็นคณะนิเทศศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์ การถ่ายทำ หรือแม้แต่ความถนัดเฉพาะด้านอย่าง แฟชั่นดีไซน์ กราฟิกดีไซน์ ช่างภาพ ผู้ออกแบบท่าเต้น หรือแม้แต่ในคณะบริหารธุรกิจ เพราะมีเรื่องเกี่ยวกับงบประมาณ การบริหารจัดการ คนเรียนบัญชี ก็สามารถทำในส่วนทางด้านการเงิน ซึ่งเป็นส่วนที่ศิลปินอาจจะไม่ถนัดที่สุด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้แต่คนที่ไม่ได้เรียนตรงสายใดใดที่กล่าวมา การก้าวมาอยู่ในวงการเพลงก็ไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้เลย

หลายคนที่รู้จักและทำงานในสายอาชีพนี้ เริ่มจากการเป็นแฟนคลับ

ความนิยมชมชอบสิ่งใดอย่างจริงจัง ก็สามารถพัฒนามาเป็นส่วนหนึ่งและทำงานในสายอาชีพนั้น ๆ ได้ หากมีความมุ่งมั่นตั้งใจ เรียนรู้ แสวงหาและมีคนให้โอกาส ซึ่งเหมือนกับทุกอาชีพในโลกที่ต้องใช้ความพยายาม ความรักในสิ่งใดอย่างแท้จริง อาจจะนำพามาซึ่งสิ่งที่ต้องการในวันหนึ่ง

แฟนคลับคือหนึ่งในพลังงานสำคัญในการสนับสนุนศิลปินอย่างแท้จริง

มีแฟนคลับมากมายที่พอใจจะสนับสนุนศิลปินในแบบของตัวเอง พอใจกับการเป็นผู้ชมและให้กำลังใจในแบบที่ตัวเองทำได้ อยากใกล้ชิดดูแลในแบบของแฟนคลับ มากกว่าที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน ซึ่งนั่นคือกำลังใจอย่างยิ่งใหญ่ของคนในวงการบันเทิง และสำหรับผู้เขียน นี่คืออีกหน่วยงานที่ให้ความสนับสนุนศิลปินอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่เพราะกำลังทรัพย์แต่เป็นกำลังใจมหาศาล เสียงที่แฟนคลับร้องตามเพลง เสียงกรี๊ด เสียงปรบมือ เสียงตะโกนเรียกชื่อ สำหรับตัวศิลปินนักร้องและผู้อยู่เบื้องหลังทุกคน คือเสียงที่ไพเราะที่สุดในโลก

แต่สำหรับบางคน อาจเป็นโชคชะตา

การเข้ามาในวงการเพลงของผู้เขียนเอง กลับไม่ได้มาจากความทะเยอทะยานแบบนั้น แต่อาจจะโชคดีที่ได้เรียนคณะนิเทศศาสตร์ ทำให้ได้รู้จักกับอนาคตศิลปินอยู่หลายคน และได้เริ่มจากการฝึกงานที่ค่ายเพลงรุ่นใหม่ย่านสยามสแควร์ในยุค 90’s โดยการแนะนำจากรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นศิลปินในค่ายนั้นพอดี การเข้าไปฝึกงานที่ค่ายเพลงนี้ คือจุดเริ่มต้นให้รู้จักการทำงานกับศิลปิน ซึ่งล้วนเป็นศิลปินหน้าใหม่เช่นกัน ความเป็นวัยรุ่นที่ชอบฟังเพลงเป็นทุนเดิม และเป็นแฟนคลับของค่ายนี้ ทำให้ทุกช่วงเวลานาทีที่ได้เรียนรู้การทำงานต่าง ๆ เต็มไปด้วยประสบการณ์ล้ำค่า อยู่ดีดี จากคนที่เรียนสาขาภาพยนตร์ ก็ให้ต้องมนต์กับการทำงานในวงการเพลงโดยไม่รู้ตัว

จากค่ายเพลงย่านสยาม อโศก ลาดพร้าว ไปจนถึงย่านเอกมัย ผ่านการทำงานในฐานะเบื้องหลังการทำโปรโมทศิลปินมายาวนาน ในมุมของคนทำงานคือ “งาน” เช่นเดียวกับอาชีพอื่น ๆ ที่ต้องมีวินัย และมีความรับผิดชอบ ร่วมไปกับความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน ร่วมกับต้องมีจิตวิทยาที่ดีในการร่วมงานกับผู้คนหลากหลาย จนถึงวันนี้ที่ผู้เขียน ไม่ได้ทำงานในค่ายเพลงอีกต่อไป แต่ยังมีโอกาสได้ดูแลวงดนตรีวงหนึ่งที่เคยทำงานให้ตอนเป็นครีเอทีฟ จนกลายมาเป็นผู้จัดการวง

โลกเปลี่ยนไว การฟังเพลงของผู้คนก็เปลี่ยนตาม จากยุคเทปมาสู่การฟังเพลงออนไลน์บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ แต่สิ่งที่ไม่มีวันหายไป และไม่มีเทคโนโลยีไหน ๆ จะให้ความรู้สึกได้ดีเท่า การได้เห็นศิลปิน นักร้อง ที่เราชื่นชอบทำการแสดงสดอยู่ตรงหน้า ตัวเป็น ๆ เห็นกับตา ได้ยินกับหู การได้มีส่วนร่วมในบรรยากาศคอนเสิร์ต หรือเฟสติวัล ยังเป็นความโหยหาของนักฟังเพลงมาทุกยุคสมัย

เบื้องหลังการแสดงเหล่านั้น มีการเตรียมงานเกิดขึ้นมากมาย ในส่วนของศิลปิน นักร้อง ที่ไม่ได้สังกัดค่ายไหน เมื่อต้องการติดต่อศิลปิน นักร้อง บางคน บางวง รับงานเองได้เลย และบางวงก็จะมีคนที่ทำหน้าที่รับงานต่าง ๆ ให้ศิลปิน ทั้งจัดการเรื่องราวทั้งหลายเพื่อให้ศิลปินได้ไปทำการแสดงโชว์บนเวทีนั้น ๆ อย่างพร้อมทั้งกายใจ ที่หลาย ๆ คนมักเรียกกันติดปากว่า ผู้จัดการศิลปิน และในค่ายเพลงใหญ่ จะมีแผนกที่ทำหน้าที่นี้คือ AR (ARTIST RELATIONSHIP) หรืออย่างบางค่ายเพลงก็จะมีตำแหน่ง AM ( ARTIST MANAGEMENT ) แล้วแต่โครงสร้างของแต่ละบริษัท

ผู้เขียนขอข้ามเรื่องราวของการทำงานในค่ายเพลงใหญ่ มาสู่การทำงานของศิลปินอิสระ ที่ผู้จัดการวงนั้นทำหน้าที่แทนหลายแผนก และคงต้องขอออกตัวก่อนว่า การทำงานกับศิลปินแต่ละวงนั้น ต่างก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ไม่มีแบบแผนที่แน่นอนตายตัว แม้แต่คำว่าผู้จัดการวง สำหรับบางวงนั้น ไม่ได้ทำหน้าที่แค่เพียงรับสายโทรศัพท์ เช็คคิว และพาศิลปินไปทำการแสดงเท่านั้น ยังมีหน้าที่ในการผลักดัน ส่งเสริม และหาช่องทางต่าง ๆ ในการออกสื่อ การทำธุรกิจต่อยอด เพื่อให้ศิลปิน นักร้องที่ตัวเองดูแลอยู่นั้น ไปถึงจุดที่ดีที่สุดของตัวเอง

ผู้จัดการศิลปิน ทำอะไรบ้าง

ชื่อนี้ ก็เหมือนตำแหน่งหนึ่งในบริษัท เพียงแต่สิ่งที่ต้องทำงานด้วย คือเหล่าศิลปินและคนเบื้องหลังมากมาย รวมถึงประสานงานกับแผนก และองค์กรต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย เพื่อให้การไปทำงานแต่ละครั้งของศิลปิน นักร้องนั้น ๆ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของงานที่จ้างมา และตัวศิลปิน นักร้องเอง ก็จะได้เตรียมตัวทำการแสดงในขอบเขตของงานที่ได้รับมอบหมายอย่างดี เพราะความท้าทายในการทำงานกับศิลปิน นักร้องนั้น คือทั้งหมดต่างเป็นมนุษย์ ที่ใช้ความสามารถของตัวเองในการแสดงออก เป็นทั้งศิลปะและความสุนทรียะที่เกิดจากพลังงานภายใน อารมณ์ ร่วมกับการฝึกฝน

หน้าที่หลัก ๆ ของผู้จัดการศิลปิน

ก่อนรับงาน

รู้ตารางชีวิตของศิลปิน : ผู้จัดการจะต้องรู้ชีวิตโดยทั่วไปของศิลปิน เช่นมีกิจกรรมหรือธุระอะไร ที่จำเป็นจะต้องทำ ถ้าเป็นนักร้องหรือศิลปินเดี่ยว อาจจะไม่ซับซ้อนมากนัก หากเป็นวงดนตรี ก็ต้องรู้ทั้งวง โดยทั่วไป ศิลปินจะแจ้งกับผู้จัดการวงว่าตัวเองมีคิวว่าง หรือคิวส่วนตัวทำอะไรบ้าง เพื่อการพิจารณารับงาน หากตรงกันหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ผู้จัดการก็จะหาวิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้ศิลปินหรือวงนั้น ๆ สามารถรับงานได้

รับและปฏิเสธงาน : ไม่ใช่แค่การรับงานเท่านั้น การปฏิเสธงานก็เช่นเดียวกัน ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ทำให้ศิลปิน นักร้อง ไม่สามารถรับงานนั้น ๆ ได้ ทั้งปัญหาส่วนตัว เวลาที่ไม่ตรงกัน หรือประเภทของงานที่อาจจะไม่เหมาะสม หรือมีการขัดกันในผลประโยชน์ด้านธุรกิจ แต่เมื่อรับงานมาแล้ว ผู้จัดการมีหน้าที่ทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้ศิลปิน ไม่ว่าจะเป็นการทำสัญญา แจ้งสิ่งที่ต้องจัดเตรียม การจ่ายค่าจ้าง และเงื่อนไขต่าง ๆ และต้องพาศิลปิน นักร้อง ไปทำการแสดงตามที่ได้ตกลงกันไว้อย่างครบถ้วน

เช็คความพร้อม : ความพร้อมของศิลปิน นักร้อง ในการทำการแสดง ได้ซ้อมทำการแสดงจนมั่นใจหรือยัง สุขภาพร่างกายเป็นอย่างไร สุขภาพใจดีไหม มีทั้งเคี่ยวเข็ญและปลอบประโลม เพื่อให้พร้อมที่สุดสำหรับทำการแสดง รวมไปถึงความพร้อมของทีมงานไม่ว่าจะเป็นทีม STAFF ซาวน์เอนจิเนียร์ เตรียมการเดินทางต่าง ๆ พร้อมทั้งแจ้งข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ให้ทุกคนได้รับทราบ

ก่อนทำการแสดง

SOUND CHECK : การซาวด์เช็ค คือการเตรียมความพร้อมของเครื่องดนตรีทั้งหมดก่อนทำการแสดง ทดสอบระบบเสียง รวมถึงปรับแต่งให้เสียงออกมาเป็นไปอย่างสไตล์ที่วงต้องการ ผู้จัดการวงมีหน้าที่ในการนำวงดนตรีและส่วนที่เกี่ยวข้อง ไปซาวด์เช็คในเวลาที่งานกำหนด บางวงนักดนตรี นักร้อง ไปซาวด์เช็คด้วยตัวเอง เพื่อทำความคุ้นเคยกับสถานที่ และบางวงก็จะมีช่างเทคนิคของวงไปซาวด์เช็คให้ เพื่อให้วงดนตรีสามารถมาขึ้นเล่นเมื่อถึงเวลาแสดงได้เลย ระหว่างการซาวด์เช็คนี้ ผู้จัดการวงต้องประสานงานกับผู้จัดและสถานที่ และดูให้พร้อมว่า ส่วนพักของศิลปินอยู่ตรงไหน จอดรถตรงไหน ห้องน้ำ อาหาร เรียกว่าไปเตรียมพร้อมและดูลาดเลาทั้งหมดของงาน เพื่อให้เมื่อถึงเวลาทำการแสดงนั้นปลอดภัยและราบลื่น

TIPS : หากเป็นงานเฟสติวัลที่มีการแสดงของหลาย ๆ ศิลปิน วงที่เล่นเป็นลำดับสุดท้าย มักจะเป็นคนที่ได้ซาวด์เช็คก่อน ไล่เรียงลำดับกันไป ส่วนวงที่เล่นเป็นวงแรก จะได้ซาวด์เช็คเป็นวงสุดท้าย

SHOW TIME!!

พาศิลปินไปที่งาน : ผู้จัดการวงดูแลความเรียบร้อยของศิลปิน เสื้อผ้า หน้าผม รวมถึงทีมงานที่เกี่ยวข้องไปถึงสถานที่ทำการแสดง โดยอย่างน้อยต้องล่วงหน้าประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง และจอดรถในที่จัดเตรียมไว้ พาศิลปินเข้างานพร้อมทั้งดูแลการติดริชแบนด์และป้ายคล้องคอ ตามแต่ที่ผู้จัดระบุ

ประสานงานกับทุกฝ่าย : เมื่อไปถึง ต้องแจ้งผู้จัดว่าศิลปินมาถึงเพื่อ STAND BY รอโชว์แล้ว พร้อมทั้งจัดเตรียมอาหารเครื่องดื่มตามที่ได้ตกลงกัน ทั้งนี้ควรให้ศิลปิน นักร้อง ได้ทานอาหารก่อนขึ้นโชว์ไม่ต่ำกว่า 30 นาที เพื่อป้องกันอาการจุกเสียดแน่นท้องก่อนทำการแสดง

เช็คความเรียบร้อยก่อนขึ้นโชว์ : เมื่อใกล้ถึงเวลาโชว์ ผู้จัดการวงจะคอยบอกเวลาเตรียมตัว เพื่อให้ศิลปิน นักร้อง ไปจัดการธุระส่วนตัวให้เสร็จ แจ้งทีมงานให้ประจำตำแหน่ง และเช็คความเรียบร้อยอีกครั้ง

เช็คฟีดแบคต่าง ๆ เมื่อศิลปินขึ้นโชว์ : การแสดงดนตรีโดยประมาณ 1 ชั่วโมง ศิลปินควรจะต้องมีน้ำ หรือเครื่องดื่มตามที่ถนัด ศิลปินบางคนต้องการน้ำเปล่า น้ำเย็น น้ำร้อน เครื่องดื่มเกลือแร่ และเตรียมอุปกรณ์เสริม อย่างผ้าเช็ดหน้า ผ้าเย็น เมื่อเช็คเครื่องดนตรีและพร้อมทำการแสดง ผู้จัดการวงมักจะไปยืนในตำแหน่งต่าง ๆ เพื่อเช็คดูการแสดงที่เกิดขึ้น เครื่องเสียงเป็นอย่างไรบ้าง ผู้ชมสนุกสนานเอ็นจอยกับการรับชมโชว์เช่นไร หากมีปัญหาก็สามารถกระซิบบอกส่วนที่เกี่ยวข้องให้แก้ไข

TIPS : น้ำดื่มของศิลปิน นักร้องในบางครั้งจะมีการแกะฉลากออกก่อน เพราะศิลปินบางท่านอาจจะเป็นพรีเซนเตอร์น้ำดื่ม หรือมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำโฆษณาแฝงอยู่

หากมีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างการแสดง ผู้จัดการวงจะต้องพิจารณาว่าจะดูแลศิลปินอย่างไร บางที่อาจมีเรื่องทะเลาะวิวาท หรือการแสดงออกของผู้ชมที่ก่อให้เกิดอันตรายกับศิลปิน

ดูแลเวลาการแสดง : เพื่อให้การแสดงโชว์เป็นไปตามข้อตกลง ในกรณีที่เป็นงานเฟสติวัลมีหลายวง การแสดงโชว์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอยู่ในเวลาของตัวเอง เพื่อไม่ให้เป็นการล่วงล้ำเวลาของศิลปินอื่น ๆ

FINAL

จบโชว์ แต่หน้าที่ผู้จัดการยังไม่จบ : เมื่อศิลปินนักร้องทำการแสดงจนจบ ผู้จัดการวงจะคอยดูแลเพื่อให้ศิลปินได้พักเหนื่อย ก่อนที่จะพาไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ตามที่ผู้จัดบอกไว้ บางครั้งมีสัมภาษณ์ บางครั้งมีแจกลายเซ็น ถ่ายรูปกับแฟนคลับ หากเป็นการสัมภาษณ์ ผู้จัดการวงจะถามหัวข้อในการสัมภาษณ์ต่าง ๆ เพื่อให้ทางศิลปิน นักร้อง ได้เตรียมตัวตอบ คำถามไหนได้หรือไม่ได้ ต้องแจ้งกันก่อนล่วงหน้า รวมทั้งพาศิลปินและทีมงานกลับที่พัก และกลับบ้านอย่างปลอดภัยครบถ้วน

ทั้งหมดนี้เป็นเป็นประสบการณ์ส่วนตัวในการดูแลศิลปินส่วนของการแสดงโชว์เท่านั้น ยังไม่นับรวมถึงการพาไปงานหรือถ่ายทำต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย และมีสไตล์การทำงานที่แตกต่างกันของการดูแลศิลปินแต่ละวงของผู้จัดการศิลปินแต่ละคน เบื้องหลังการทำงานของศิลปิน นักร้อง มีคนอีกมากมายที่อาจไม่มีใครมองเห็น ทุกคนเป็นหนึ่งในสมาชิกของวง ที่มีความสำคัญและหน้าที่ของตัวเองแตกต่างกัน ทั้งหมดเพื่อผลักดันและสนับสนุนให้ศิลปินและนักร้องได้ทำการแสดงที่ดีที่สุด และเป็นที่ชื่นชอบของผู้คน

เป็นอีกอาชีพที่มีความเหน็ดเหนื่อยไม่แพ้อาชีพอื่น ๆ บางครั้งก็หิ้วของพะรุงพะรังเต็มไปด้วยสิ่งที่ศิลปินต้องใช้ บางครั้งก็เต้นให้กำลังใจอยู่หน้าเวที บางครั้งต้องตีหน้าเข้มเพื่อแหวกแฟนคลับ บางครั้งก็ยิ้มและยกนิ้วให้เพื่อให้รู้ว่าทำดีแล้ว บางครั้งก็อยู่ข้างหลังเงียบ ๆ เพื่อเฝ้ามองศิลปินที่กำลังสู้ตายอยู่บนเวที ตรงที่แสงไฟไม่ได้ส่องเข้ามา ทั้งเอาใจช่วยและภาคภูมิใจ ในความเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองเล็ก ๆ ของความสำเร็จบนเวที

เรื่อง // ภาพประกอบ : ณภัค ภูมิชีวิน

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#วงการเพลง, 
#ศิลปิน, 
#นักร้อง, 
#การจัดคอนเสิร์ต, 
#ผู้จัดการศิลปิน, 
#ผู้จัดการวง, 
#เบื้องหลัง, 
#ทำงานเบื้องหลัง, 
#การจัดการวงดนตรี, 
#เคล็ดลับ, 
#เรื่องเล่า, 
#เรื่องจากประสบการณ์, 
#บทความแนะนำ, 
#บทความน่าอ่าน, 
#ไหนเล่าซิ, 
#ค่ายเพลง, 
#การเลือกคณะเรียน, 
#แนะนำอาชีพ, 
#อาชีพในฝัน, 
#แฟนคลับ, 
#FC, 
#เพลง, 
#ศิลปินที่ชื่นชอบ, 
#ไทยพีบีเอส, 
#ThaiPBS, 
#ALTV, 
#นักเขียน, 
#musicbusiness, 
#ธุรกิจดนตรี, 
#ซาวด์เช็ค, 
#soundcheck, 
#AR, 
#ARTISTRELATIONSHIP, 
#AM, 
#ARTISTMANAGEMENT 
ผู้เขียนบทความ
avatar
ณภัค ภูมิชีวิน
POOMM
เป็นคนคิดอย่างไร เขียนอย่างไร ไม่ใช่คนคิดอย่างไร เขียนอย่างนั้น
ALTV CI
ไหนเล่าซิ !
ไหนเล่าซิ !
ALTV All Around
ผู้เขียนบทความ
avatar
ณภัค ภูมิชีวิน
POOMM
เป็นคนคิดอย่างไร เขียนอย่างไร ไม่ใช่คนคิดอย่างไร เขียนอย่างนั้น
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#วงการเพลง, 
#ศิลปิน, 
#นักร้อง, 
#การจัดคอนเสิร์ต, 
#ผู้จัดการศิลปิน, 
#ผู้จัดการวง, 
#เบื้องหลัง, 
#ทำงานเบื้องหลัง, 
#การจัดการวงดนตรี, 
#เคล็ดลับ, 
#เรื่องเล่า, 
#เรื่องจากประสบการณ์, 
#บทความแนะนำ, 
#บทความน่าอ่าน, 
#ไหนเล่าซิ, 
#ค่ายเพลง, 
#การเลือกคณะเรียน, 
#แนะนำอาชีพ, 
#อาชีพในฝัน, 
#แฟนคลับ, 
#FC, 
#เพลง, 
#ศิลปินที่ชื่นชอบ, 
#ไทยพีบีเอส, 
#ThaiPBS, 
#ALTV, 
#นักเขียน, 
#musicbusiness, 
#ธุรกิจดนตรี, 
#ซาวด์เช็ค, 
#soundcheck, 
#AR, 
#ARTISTRELATIONSHIP, 
#AM, 
#ARTISTMANAGEMENT 
แชร์
ชอบ
ติดตามเรา