จากสถิติปี 2022 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากถึง 54.5 ล้านคน คิดเป็น 77.8% ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี แค่เพียงมีมือถือหรือแท็บเล็ต วิถีชีวิตของคุณก็ผูกติดกับระบบออนไลน์เรียบร้อยแล้ว อีกอย่างวิถีนี้ก็ไม่ได้มีเฉพาะคนรุ่นใหม่อีกต่อไป เดี๋ยวนี้คนวัยเก๋าอย่างอากง อาม่าก็สามารถเข้าถึงโซเชียลมีเดียและระบบอินเตอร์เน็ตได้อย่างกว้างขวาง เช่น การแชตคุยกับเพื่อน ส่งสวัสดีวันจันทร์ให้ลูกหลาน ทำธุรกิจซื้อขายออนไลน์ รวมถึงมีบัญชีอีแบงก์กิ้งของธนาคาร ถือว่าเป็น “ทรัพย์สินดิจิทัล” ที่เจ้าของบัญชีมีสิทธิ์ในการเข้าถึงแต่เพียงผู้เดียว
หากเกิดเรื่องไม่คาดฝัน ข้อมูลต่าง ๆ ที่อยู่ในนั้นไม่ว่าจะเป็นบัญชี Facebook, อีเมล, กระเป๋าเงินดิจิทัล ฯลฯ อาจถูกปิดตายโดยอัตโนมัติ ซึ่งไม่ว่าใครก็ตามก็ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลนั้นได้เพราะเป็นเงื่อนไขการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ให้บริการ ดังนั้นการทำ "พินัยกรรมดิจิทัล" จึงมีความสำคัญพอ ๆ กับทำพินัยกรรมทั่วไปและเป็นเรื่องของทุกคน
พินัยกรรมดิจิทัล คือ คำสั่งครั้งสุดท้ายเพื่อส่งต่อมรดกในรูปแบบดิจิทัลของบุคคลหนึ่ง ที่เกิดขึ้นจากการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและข้อมูลที่สร้างขึ้นในโลกออนไลน์ก่อนเสียชีวิต ซึ่งหมายถึงข้อมูลส่วนตัวที่มีการบันทึกหรืออัปโหลดไว้ในระบบคอมพิวเตอร์และมือถือผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น เอกสารออนไลน์, ภาพถ่าย, คลิป, ภาพยนตร์, ภาพวาด, สกุลเงินคริปโต รวมถึงข้อความการโต้ตอบบนโซเชียลมีเดียกับผู้อื่น ตามกฏหมายเรียกว่า “ทรัพย์สินดิจิทัล” หรือ “ทรัพย์สินส่วนบุคคลที่จับต้องไม่ได้” ตัวอย่างที่น่าจะช่วยให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น ดังนี้
ลองนึกดูว่า หากคุณไม่ได้ทำพินัยกรรมดิจิทัลเอาไว้ ในวันที่คุณไม่อยู่บนโลกใบนี้แล้ว จะไม่มีใครสามารถรู้ (Username) และรหัสผ่าน (Password) ที่ถูกต้องเพื่อเข้าไปจัดการทรัพย์สินดิจิทัลเหล่านี้ได้
เจมส์ นอร์ริส (James Norris) ผู้ก่อตั้งสมาคมมรดกดิจิทัลแห่งสหราชอาณาจักร Digital Legacy Association (DLA) และ The Digital Legacy Conference & DeadSocial เคยกล่าวไว้ว่า ปัจจุบันคนเราใช้เวลาในโลกออนไลน์มากกว่าการนอนเสียอีก และผู้คนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ว่าทรัพย์สินดิจิทัลจะเป็นอย่างไรหลังจากพวกเขาตาย
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในต่างประเทศเริ่มมองเห็นคุณค่าและตื่นตัวที่จะวางแผนทำพินัยกรรมดิจิทัลมากขึ้นแล้ว เช่น เหตุการณ์หนึ่งในอเมริกา มีเด็กชายวัย 15 ปีฆ่าตัวตายโดยไม่ทราบสาเหตุ พ่อแม่ ญาติ และเพื่อน ๆ ของเขาพยายามค้นหาแรงจูงใจจากบัญชี Facebook แต่ไม่สามารถล็อกอินได้เนื่องจากไม่ทราบรหัสผ่าน จนพ่อแม่ของเด็กต้องร้องเรียนต่อศาลเพื่อขอคำสั่งให้บริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มเปิดเผยข้อมูลในบัญชีของผู้ตาย
ผลสุดท้ายทาง Facebook ออกมา “ปฏิเสธ” การเปิดเผยข้อมูล เพราะขัดต่อนโยบายการรักษาความเป็นส่วนตัวของสมาชิก และศาลเห็นว่ากรณีนี้ “อยู่นอกเหนือเขตอำนาจ” เหตุเพราะกฎหมายไม่ครอบคลุมถึงทรัพย์สินในรูปแบบดิจิทัล ดังนั้น การทำพินัยกรรมดิจิทัลไว้แต่เนิ่น ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรทำไว้ก่อนเสียชีวิต
การเตรียมตัวส่งต่อมรดกดิจิทัล ก่อนอื่นมาเรียนรู้กันว่า “การทำพินัยกรรมตามกฏหมาย” ที่ทำแล้วไม่เป็นโมฆะนั้นมีวิธีใดบ้าง โดย สำนักงานกิจการยุติธรรม ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “ พินัยกรรมที่ต้องทำก่อนตาย 6 แบบ ได้แก่
1.พินัยกรรมแบบธรรมดา
2.พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ *เรียบง่ายที่สุด*
3.พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง *เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการให้*
4.พินัยกรรมแบบเอกสารลับ
5.พินัยกรรมแบบทำด้วยวาจา *แบบเร่งด่วน*
การทำพินัยกรรมในกรณีนี้ เกิดขึ้นเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กฎหมายกำหนดได้ เช่น ตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย ช่วงเกิดโรคระบาด หรือสงคราม บุคคลนั้นสามารถทำพินัยกรรมด้วยวาจาได้
6. พินัยกรรมแบบทำตามกฎหมายต่างประเทศ *อยู่ต่างประเทศ*
หากคนไทยที่อยู่ต่างประเทศต้องการทำพินัยกรรม สามารถเลือกทำตามกฎหมายของประเทศที่อาศัยอยู่ หรือจะทำตามกฎหมายไทยก็ได้
ผู้ทำพินัยกรรม ต้องมีคุณสมบัติ 2 ข้อ ได้แก่
พินัยกรรมที่ง่ายและประหยัดเวลาที่สุด คือ พินัยกรรมแบบธรรมดา และแบบเขียนเองทั้งฉบับ ส่วนพินัยกรรมกับเจ้าพนักงานที่อำเภอ หรือสำนักงานเขตนั้นแม้จะมีขั้นตอนมากและเสียค่าธรรมเนียม แต่ก็ถือเป็นพยานที่มีน้ำหนักเวลาขึ้นเบิกความในชั้นศาล
หากพิจารณาตามกฎหมายการทำพินัยกรรมด้วยตัวเองทั้งหมด 6 แบบที่กล่าวมา การอัดคลิปยกทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นการโพสผ่านโซเชียล หรือบันทึกในรูปแบบไฟล์ VDO เก็บไว้ก็ตาม ถือว่า “ไม่มีผลทางกฏหมาย”
1. จดรายการ “ทรัพย์สินดิจิทัล” ในระบบออนไลน์ทั้งหมด ว่ามีอะไรบ้าง
2. บันทึก Username, Password ของเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มที่คุณใช้บริการ
3. บันทึกความตั้งใจว่าคุณต้องการมอบทรัพย์สินดิจิทัลให้ใคร หรือต้องการให้ทำลาย หรือส่งทรัพย์สินดิจิทัลให้บุคคลที่สาม
4.เข้าไป “ตั้งค่า” จัดการมรดกดิจิทัลบนอุปกรณ์ หรือเว็บไซต์ หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีตัวเลือกเกี่ยวกับการจัดการมรดกทางดิจิทัล
❇️iPhone และ Apple Device
ผู้ใช้แอปเปิ้ลที่ต้องการใช้ฟีเจอร์จัดการมรดกดิจิทัลจำเป็นจะต้องอัปเดตเป็น iOS 15.2 หรือใหม่ล่าสุด โดยเข้าไปที่ตั้งค่า > เข้าไปหน้า Apple ID, iCloud+ > รหัสผ่านและความปลอดภัย > ผู้ติดต่อรับมรดก (Legacy Contact)
หลังจากคุณเสียชีวิต คนที่คุณตั้งค่าไว้ให้เป็น “ผู้ติดต่อรับมรดก” ก็สามารถนำ “Legacy Contact Access Key” ที่ได้รับจาก Apple เพื่อเข้าถึงข้อมูลของคุณได้ แต่หากไม่ได้ตั้งค่าเอาไว้ ก็สามารถติดต่อเพื่อขอลบ Apple ID ของผู้ตายได้ หรือหากต้องการเข้าถึงข้อมูลก็ต้องอาศัยคำสั่งศาล ซึ่งแอปเปิ้ลลงรายละเอียดไว้ที่นี่ (คลิก)
❇️ระบบ Android และบัญชีของ Google
อุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android และ บัญชี Google มักมีข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญมาก เช่น ข้อมูลทางการเงิน, บัญชีโซเชียลที่ผูกกับอีเมล และข้อมูลเอกสารที่บันทึกไว้ใน Gmail หรือ Google Drive ในระบบกูเกิลก็มีเครื่องมือจัดการบัญชีที่ไม่ใช้งาน ชื่อว่า “Inactive Account Manager” เครื่องมือนี้จะคอยสังเกตความผิดปกติของการล็อกอินเข้าใช้งาน เพื่อให้แน่ใจว่าคุณยังใช้บัญชี Google อยู่หรือไม่ และคุณสามารถเข้าไปกำหนดเงื่อนไขในการจัดการบัญชีได้ บริการของกูเกิลที่มีฟีเจอร์นี้ ได้แก่ Blogger, Drive, Gmail, Google+, Picasa Web Albums, Google Voice และ YouTube โดยวิธีการตั้งค่าทำได้ดังนี้
โดยกูเกิลส่ง SMS และอีเมลหาคุณ “หลายครั้ง” ก่อนที่จะดำเนินการทั้งหมด
ผู้ใช้เฟซบุ๊กเองก็สามารถตัดสินใจล่วงหน้าได้ว่ายังต้องการให้มีบัญชีอยู่ต่อไป หรือจะให้ลบถาวร หาก Facebook ทราบว่าผู้ใช้เสียชีวิต สามารถเก็บบัญชีผู้ใช้นั้นไว้เป็นอนุสรณ์ หรือไว้เป็นพื้นที่แบ่งปันความทรงจำหลังจากผู้นั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งบัญชีที่ถูกเก็บไว้เป็นอนุสรณ์ยังคงปลอดภัย และถูกป้องกันไม่ให้ผู้อื่นล็อกอินเข้าสู่บัญชีได้
เนื่องจาก Instagram อยู่ภายใต้บริษัทเดียวกันกับ Facebook จึงมีคุณสมบัติและขั้นตอนคล้ายคลึงกัน ซึ่งครอบครัว เพื่อนสนิท หรือญาติ สามารถขอให้ “ลบบัญชี” หรือ “เก็บไว้” ไว้เป็นอนุสรณ์ได้ แต่ Instagram จะมีเงื่อนไขแตกต่างเล็กน้อย โดยต้องส่งรายงานพินัยกรรมดิจิทัลอย่างละเอียด ซึ่งจำเป็นต้องมีหลักฐานเพื่อรับรองการเสียชีวิต บริษัทจึงจะดำเนินการ
เจ้าของบัญชีเท่านั้นที่สามารถปิดบัญชีได้ สามารเข้าไปที่ close the account (คลิก) และเมื่อปิดบัญชีแล้ว ข้อมูลของผู้ตายจะถูกลบออกจากระบบ และไม่มีผู้ใดสามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้อีก
❇️PayPal
ในสัญญาการสมัครสมาชิกบัญชี PayPal ระบุไว้ว่า เจ้าของบัญชีเท่านั้นที่จะปิดบัญชีได้ เว้นแต่ว่าเจ้าของบัญชีถึงแก่กรรม กรณีที่เจ้าของบัญชีเสียชีวิต ผู้ที่มีอำนาจจัดการทรัพย์มรดกจะต้องส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องให้กับ PayPal หากมีคำถามว่าจะปิดบัญชี PayPal ของลูกค้าที่เสียชีวิตได้อย่างไร สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ (คลิก)
แม้ว่า Twitter จะไม่มีนโยบายจดจำบัญชีผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัทได้ประกาศว่าจะลบบัญชีที่ไม่ได้ใช้งานนานเกิน 6 เดือน โดยส่งจะส่งคำเตือนไปทางอีเมลก่อน นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถลบบัญชีได้ด้วยตัวเอง โดย Twitter จะร่วมมือกับผู้สืบทอดมรดก หรือสมาชิกในครอบครัวของผู้ตายทำการปิดบัญชีนั้น
พินัยกรรมดิจิทัล ทำได้เลยไม่ต้องรอ! คนรุ่นใหม่ คนวัยทำงาน คนวัยเก๋าทั้งหลาย หากยังมีลมหายใจและใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ ควรเริ่มวางแผนทำพินัยกรรมดิจิทัลเอาไว้ได้แล้ว วันหนึ่งทรัพย์สินดิจิทัลเหล่านั้นอาจเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวของคุณ หาเวลาว่างสักนิด ทำไว้ก็ไม่เสียหาย เพราะชีวิตนั้นสั้นเกินกว่าคุณจะคาดเดา
ขอบคุณข้อมูล: สำนักงานกิจการยุติธรรม, bangkokbiznews.com, TISCO Advisory