ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
ฉันทำอะไรผิด ชีวิตของแมลงสาบ !
แชร์
ชอบ
ฉันทำอะไรผิด ชีวิตของแมลงสาบ !
10 ต.ค. 65 • 15.30 น. | 4,038 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

เคยมีคนพูดว่า หากเกิดนิวเคลียร์ถล่มโลกหรือเกิดวิกฤตภาวะโลกร้อน มีสัตว์ชนิดเดียวที่จะครองโลกต่อไป คือ แมลงสาบ (cockroach) สัตว์ดึกดำบรรพ์ผู้มาก่อนกาลที่สามารถปรับตัวอยู่รอดได้ในทุกสภาวะ แต่กลับไม่ค่อยมีใครต้อนรับเท่าไหร่ อยากรู้ไหมแมลงสาบเกิดมาทำไม? ALTV ขอชวนทุกคนมาเรียนรู้ชีวิตและบทบาทสำคัญของแมลงสาบที่มีต่อมนุษย์และสัตว์ หวังว่าโลกใบนี้จะ “ใจดี” กับพวกมันมากขึ้น

 

🪳แมลงสาบเกิดก่อนไดโนเสาร์

จากการพบ “ซากฟอสซิลแมลงสาบที่เก่าแก่ที่สุด” ในยุคคาร์บอนิเฟอรัส (Carboniferous) ยุคแห่งวิวัฒนาการแมลงและสัตว์เลื้อยคลาน (ราว 354 - 295 ล้านปี) ชี้ให้เห็นว่าบรรพบุรุษของพวกมันถือกำเนิดมาบนโลกก่อนไดโนเสาร์อย่างทีเร็กซ์ ไทรเซราท็อปส์ และมนุษย์หลายเท่า แถมในยุคนั้นยังมีรูปร่างใหญ่กว่าแมลงสาบในยุคปัจจุบันมาก โดยลำตัวยาวประมาณ 6 นิ้ว (ใกล้เคียงกับความยาวของแครอทหนึ่งหัว) ในขณะที่เวอร์ชันใหม่มีความยาวเพียง 2 - 4 เซนติเมตรเท่านั้น

 

🪳ชีวิตสุดทรหดของแมลงสาบ

ปัจจุบันพบแมลงสาบอาศัยอยู่ทั่วโลกมากกว่า 4,000 ชนิด ใน 9,000 สกุล บางสายพันธุ์มีปีก และบางสายพันธุ์ไม่มีปีก จัดว่าเป็น “แมลง” ในกลุ่มเดียวกันกับ “ปลวก” มีวงจรชีวิตที่ “เกิดมาไม่สมบูรณ์” (Incomplete Metamorphosis) คือ ไม่เป็นตัวหนอนและดักแด้ เจริญเติบโตเพียง 3 ระยะ ได้แก่ ไข่ (egg) ตัวอ่อน (nymph) และตัวเต็มวัย (adult)

แมลงสาบมักใช้ปีกใหญ่ ๆ อันบอบบางสำหรับ “การร่อน” โดยจะกระพือปีกร่อนจากที่สูงลงสู่พื้นดินเพื่อหาที่ที่เหมาะสม ส่วน “หนวด”เปรียบเสมือน “เสาอากาศ” ทำหน้าที่ดมกลิ่น ค้นหาอาหาร และช่วยนำทาง ขาทั้ง 6 มี “หนามแหลม” อยู่โดยรอบ ใช้สำหรับเกาะเกี่ยวทุกพื้นผิวได้มั่นคง ไม่ว่าจะพื้นผิวขรุขระ หรือพื้นราบสุดลื่นเพียงใด ที่สำคัญพวกมันเน้น “การวิ่ง” มากกว่าการบินเสียอีก

โดยทั่วไปแมลงสาบดำรงชีวิตอยู่ในป่าฝน หรือป่าดิบชื้นเขตร้อน มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ภายหลังเข้ามาอาศัยอยู่กับมนุษย์จากการติดสอยห้อยตามมากับเรือขนส่งสินค้า กล่องพัสดุ และข้ามทวีปไปขยายพันธุ์ในสหรัฐอเมริกา กลายเป็น “สัตว์สากล” ที่อาศัยอยู่ทุกที่ทั่วโลก

มีไม่กี่สายพันธุ์ที่สามารถพบเห็นบ่อย ๆ ตามบ้านเรือน เช่น ซิงค์ล้างจาน ท่อน้ำ ถังขยะ ถือเป็น “แมลงสาบเจ้าปัญหา” มี 4 สายพันธุ์ ได้แก่

  • แมลงสาบอเมริกัน (American Hose Cockroach) เป็นสายพันธุ์ที่ตัวใหญ่ที่สุด มีแหล่งกำเนิดในทวีปแอฟริกา มีสีน้ำตาลแดง ปีกยาวทั้งตัวผู้และตัวเมีย ชอบอากาศอบอุ่นและชื้น
  • แมลงสาบออสเตรเลีย (Australian Cockroach) มีขนาดเล็กกว่าแมลงสาบอเมริกันเล็กน้อย ลำตัวสีแดงเข้ม บริเวณโคนปีกจะมีแถบสีเหลืองอ่อนข้างละ 1 แถบ มองดูคล้ายสะพายเป้อยู่ ส่วนหัวมีขอบสีซีดหรือสีเหลืองตัดกันอย่างชัดเจน มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา แต่จะพบมากในเขตอบอุ่นและเขตร้อนรวมทั้งประเทศไทย
  • แมลงสาบเยอรมัน (German Cockroach) ลำตัวขนาดเล็ก “มีปีกแต่บินไม่ได้” มักใช้ปีกเพื่อร่อนหนีเวลาถูกคุกคามจากแมลงก่อกวนบางชนิด ชอบพื้นที่อบอุ่น แพ้อากาศหนาวจัด ดังนั้นขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้จึงเป็นพื้นที่ปลอดจากสายพันธุ์นี้
  • แมลงสาบเอเชีย (Asian cockroach) หรือแมลงสาบอาซาฮิไน (Blattella asahinai) ถูกพบครั้งแรกบนเกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น ต่อมาพบมากในประเทศไทย จึงเรียกอีกชื่อว่า “แมลงสาบไทย” ลำตัวมีขนาดเล็กคล้ายแมลงสาบเยอรมันมาก แต่สามารถสังเกตุความแตกต่างได้ง่าย ตรงที่แมลงสาบเอเชียชอบอยู่ในที่แจ้ง สู้แสงธรรมชาติได้ ส่วนแมลงสาบเยอรมันมักอยู่ในที่ร่ม

แมลงส่วนใหญ่มักออกหากินช่วงกลางวัน แต่แมลงสาบนั้นเป็น “สัตว์รัตติกาล” เน้นเคลื่อนไหวมากกว่าการพักผ่อน ชอบออกหาอาหารในเวลากลางคืน เพื่อหลบซ่อนจากการถูกล่า มีงานวิจัยหนึ่งพบว่า แมลงสาบนั้นมีจังหวะชีวิตที่ไม่เหมือนใคร พฤติกรรมการเคลื่อนไหวมีเพียง 3 จังหวะ ได้แก่ เคลื่อนที่ไปมาตลอดเวลา, นิ่งอยู่กับที่ โดยเคลื่อนไหวเพียงแขนขาหรือหนวด และหยุดนิ่งไม่ไหวติง โดยตัวแปรสำคัญที่ทำให้พวกมันค่อย ๆ ช้าลงและหยุดนิ่ง คือ แสงสว่าง

 

🪳7 เรื่องสุดว้าว เจ้าแมลงสาบ “ทำได้”

ธรรมชาติออกแบบแมลงสาบให้ยืดหยุ่นได้อย่างน่าอัศจรรย์ ช่วยให้พวกมันดำรงเผ่าพันธุ์ได้ยาวนาน ถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวเก่งที่สุดในโลกก็ว่าได้ มาดูกันว่าแมลงสาบมีความสามารถพิเศษอะไรบ้างที่ทำให้มนุษย์ต้องทึ่ง!

1.แมลงสาบหัวขาด อยู่ได้เป็นอาทิตย์

Joseph Kunkel จากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์แอมเฮิร์สต์ ผู้ศึกษาการพัฒนาการของแมลงสาบ อธิบายว่า แมลงสาบเป็นสัตว์เลือดเย็นและมีระบบไหลเวียนโลหิตแบบเปิด ซึ่งมีแรงดันโลหิตต่ำกว่ามนุษย์หรือสัตว์ทั่วไป เมื่อถูกตัดหัวจึงไม่มีเลือดกระฉูดเหมือนในหนังสยองขวัญ สงสัยจัง ถ้าไม่มีหัวแล้วจะหายใจทางไหน? ความจริงแล้วพวกมันหายใจผ่าน “เกลียวหรือรูเล็ก ๆ” ข้างลำตัวที่เรียกว่า “Spiracle” ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ อีกทั้งยังใช้พลังงานสะสมในร่างกายเพียงน้อยนิดทำให้สามารถอยู่รอดได้หลายสัปดาห์โดยปราศจากน้ำและอาหาร Kunkel ยังกล่าวอีกว่า “ตราบใดที่ยังไม่มีใครมันจับกิน แมลงสาบจะนั่งเฉย ๆ อยู่เงียบ ๆ เว้นแต่จะติดเชื้อราหรือไวรัส จากนั้นพวกมันก็ตาย”

2.แมลงสาบกลั้นหายใจได้ 40 นาที

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า “แมลงบางชนิด” สามารถกลั้นหายใจได้เป็นนาทีเพื่อช่วยควบคุมการสูญเสียน้ำในร่างกาย แมลงสาบใช้ความสามารถนี้ค่อย ๆ ปรับตัวให้อยู่ใต้น้ำได้นานเกินครึ่งชั่วโมง ด้วยการปิดเกลียวข้างลำตัว เมื่อต้องการออกซิเจนต่ำ

3. แมลงสาบวิ่งได้เร็วถึง 5 กิโลเมตรในชั่วโมง

แม้แมลงสาบจะไม่ใช่แมลงที่วิ่งเร็วที่สุดในโลก แต่ก็เร็วเป็นอันดับ 2 รองจาก “ด้วงเสือ” ของออสเตรเลีย (วิ่งเร็ว 9 กม. /ชม.) การทดลองยังพบอีกว่า แมลงสาบสายพันธุ์ที่วิ่งได้เร็วที่สุด คือ แมลงสาบอเมริกัน โดยใช้ความเร็วรวม 5.5 กิโลเมตรชั่วโมง! ส่งผลให้พวกมันแพร่กระจายไปทุกที่ได้อย่างรวมเร็ว

4. แมลงสาบออกลูกหลานได้ทวีคูณ

ไม่เพียงแต่ “วิ่งเร็ว” เท่านั้นที่แมลงสาบทำได้ พวกมันยังสามารถเพิ่มจำนวนประชากรได้เร็วอีกด้วย แมลงสาบส่วนใหญ่สามารถผลิตลูกหลานได้ 200 ถึง 300 ตัวในปีเดียว และมักซ่อนไข่ไว้ตามซอกหลีบของบ้านเพื่อป้องกันอันตรายจากผู้ล่า

5. แมลงสาบกินได้แทบทุกอย่าง

เรื่องอาหารการกินของแมลงสาบนั้นหลากหลาย มีตั้งแต่ยอดไม้ ผลไม้ดอง นม ขนม เครื่องสำอาง สบู่ ปกหนังสือ เสื้อผ้า วอลเปเปอร์ แม้กระทั่งส่วนผสมในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่าง “ฮอปส์” (hops) และน้ำตาล ซึ่งเป็นอาหารที่แมลงสาบอเมริกันโปรดปราณมาก ฉะนั้นอย่าทิ้งขวดเบียร์เปล่า ๆ ไว้ในบ้านเพราะเป็นการอาจหลอกล่อให้พวกมันออกมา

6. แมลงสาบรักความสะอาด

หลายคนอาจ “ไม่เชื่อ” แต่มันคือเรื่องจริง ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงจาก Exofood Thailand กล่าวว่า “แมลงสาบเป็นสัตว์รักสะอาด สาเหตุที่พวกมันดูสกปรกเป็นเพราะอาศัยอยู่ในท่อ หรืออยู่ในแหล่งที่ไม่สะอาด พวกมันไม่มีทางเลือก” สอดคล้องกับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาสเตต (NC State) ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า แมลงสาบต้องทำความสะอาดตัวเองบ่อย ๆ ตามหนวด ปาก และขา เพื่อให้ประสาทสัมผัสรับรู้สิ่งต่าง ๆ และอันตรายจากนักล่าได้ชัดเจน ซึ่งหากตัวของมันไม่สะอาด แมลงสาบจะใช้ชีวิตอย่างบกพร่อง นอกจากนี้การทำความสะอาดตัวเองยังเป็นการสร้างเสน่ห์เพื่อ “ดึงดูดคู่ครอง” อีกด้วย

7. แมลงสาบทนได้แม้สภาวะโลกร้อน

ว่ากันว่า แมลงสาบทนต่อความร้อนได้สูง 50 องศาเซลเซียส มีงานวิจับพบว่าโลกของเราเมื่อ 10 ล้านปีที่แล้วเคยเกิดวิกฤตสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง (climate change) ในเวลานั้นอุณหภูมิสูงและแล้งจัด แมลงสาบสามารถอยู่รอดมาได้ด้วยการขุดหลุมอาศัยใต้พื้นดิน แสดงให้เห็นว่า พวกมันเคยเอาชนะสภาวะโลกร้อนมาแล้ว และอาจเอาตัวรอดได้อีกในอนาคต

 

🪳เหตุผลที่ (บาง) คน “กลัวแมลงสาบ” มากกว่ายุง

แปลกใจไหม? ทำไมคนเราเห็นยุงแล้วไม่กรีดร้องเหมือนอย่างที่เห็นแมลงสาบ ทั้ง ๆ ที่ยุงนั้นดูดเลือดและทำให้เกิดโรคติดต่อมากมาย เช่น ไข้มาลาเรีย ไข้เหลือง ไข้เลือดออก แมลงสาบเป็นแมลงอันดับ 1 ที่มนุษย์กลัว บางคนถึงขั้นเป็น “โรคกลัวแมลงสาบสุดขีด” (Katsarida phobia) ทำให้เกิดอาการ “ร่างกายหยุดนิ่งชั่วขณะ” เมื่อต้องเผชิญหน้า

 

Jeffrey Lockwood ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ต้นเหตุความกลัวของมนุษย์ที่มีต่อแมลงสาบ เกิดจากการรับรู้ในวัยเด็กที่อาจมีเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจบางอย่างในชีวิต เช่น เห็นแม่กรีดร้องบ่อย ๆ เวลาเจอแมลงสาบ อาการกลัวจึงเริ่มก่อตัวตั้งแต่นั้นมา นั่นก็แสดงว่า “ความกลัวที่ได้ แม่ให้มานี่เอง”

 

ต้องยอมรับว่ารูปร่างหน้าตาของแมลงสาบอาจไม่ได้น่ารักเท่าผีเสื้อหรือแมลงปอ บางคนไม่กลัวแต่ก็ไม่ชอบอยู่ดี ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิทยาศาสตร์สิงคโปร์ (Science Center Singapore) กล่าวในนิทรรศการชื่อ Phobia: The Science of Fear ว่า “รูปลักษณ์ พฤติกรรม และกลิ่นของแมลงสาบกระตุ้นให้คนรู้สึกขยะแขยง” เนื่องจาก “ความกลัว” และ “ความรู้สึกรังเกียจ” เป็นอารมณ์เชิงลบของมนุษย์ที่เกิดขึ้นเวลาเจออันตราย รวมถึงความกลัวที่ว่าพวกมันจะนำเชื้อโรคมาสู่คน ดังนั้นอาจเข้าใจได้ว่า มนุษย์กลัวแมลงสาบเพื่อความอยู่รอด

การกำจัดความกลัวด้วยการฉีดยาฆ่าแมลง บางครั้งอาจทำให้แมลงสาบแค่มึนงง สูญเสียการทรงตัว และดื้อสารเคมีในที่สุด แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาแนะนำว่า การเอาชนะความกลัวที่ดีที่สุดคือ “การบำบัดด้วยการสัมผัส” ฟังดูอาจทำให้คุณช็อก! แต่มีการพิสูจน์แล้วว่าได้ผล

 

🪳ถึงจะโดนเกลียด แต่แมลงสาบก็เป็นประโยชน์ต่อโลก

แม้คนส่วนใหญ่จะรังเกียจแมลงสาบ แต่ก็เป็นประโยชน์ต่อพืชและสัตว์อยู่ไม่น้อย รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนายารักษาโรคและอาหารของมนุษย์ด้วย มาดูกันว่าพวกมันเป็นประโยชน์ต่อโลกด้านใดบ้าง

 

  • เป็นนักรีไซเคิลมืออาชีพ โดยจะกินแทบทุกอย่างทั้งพืชและสัตว์ที่ตายแล้ว รวมถึงมูลสัตว์ระบบย่อยอาหารของแมลงสาบมีแบคทีเรียและโปรโตซัวที่เป็นประโยชน์ ช่วยเปลี่ยนอึให้เป็น “ไนโตรเจน” เพื่อให้พืชดูดซึมได้ง่าย ใช้หล่อเลี้ยงในการเจริญเติบโต

 

  • ป็นนักผสมพันธุ์พืช เมื่อเหล่าแมงสาบเดินผ่านดอกไม้เพื่อหาอาหาร พวกมันก็จะขนส่งละอองเรณูไปด้วยทุกที่ จึงช่วยเพิ่มโอกาสในการการขยายพันธุ์ของพืช

 

  • เป็นอาหารของสัตว์น้อยใหญ่ ไข่และตัวอ่อนของแมลงสาบช่วยต่อชีวิตสัตว์นานาชนิดตามธรรมชาติ เช่น นกหัวขวานแดงที่ใกล้สูญพันธุ์, ตัวต่อกาฝาก, กิ้งก่าทะเลทราย ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงแมลงสาบ เกิดเป็น “ฟาร์มแมลงสาบ” อย่างจริงจังใช้สำหรับเสิร์ฟให้สัตว์ ซึ่งสายพันธุ์ยอดนิยม ได้แก่ แมลงสาบดูเบีย (Dubia Roach), แมลงสาบเรดรันเนอร์ (Turkestan cockroach)

 

  • เป็นยารักษาโรค ร่างกายของแมลงสาบมีสารออกฤทธิ์สมานแผลและสร้างเนื้อเยื่อใหม่ได้อย่างน่าทึ่ง นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนจึงใช้ประโยชน์นี้ด้านการรักษาโรคและซ่อมแซมบาดแผลในร่างกายมนุษย์ การแพทย์สมัยใหม่ใช้สารสกัดจากแมลงสาบเพื่อรักษาแผลในกระเพาะอาหารและแผลในช่องปากมานานกว่า 30 ปี และสารสกัดนี้อาจเป็นความหวังใหม่ในการรักษาอาการผมร่วงได้ในอนาคต

 

  • เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง แมลงสาบอเมริกันได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในวงการความงามในจีน “ผงแมลงสาบบด” ถูกจดสิทธิบัตรว่าเป็นส่วนผสมเครื่องสำอาง ใช้เป็นโปรตีนราคาถูกเพื่อสร้างเนื้อสัมผัสที่น่าพอใจ แต่ไม่ต้องกังวลไปเพราะส่วนผสมนี้ได้รับรองจาก อย.ของจีนแล้วว่าปลอดภัย

 

  • เป็นต้นแบบแขนขาเทียม นักวิทยาศาสตร์มองเห็นความสามารถของ “ขาแมลงสาบ”จึงเริ่มศึกษาหน้าที่และรูปแบบการเคลื่อนไหวเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์อวัยวะเทียม งานวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สูญเสียแขนขา รวมทั้งทหารผ่านศึกจากสงคราม

 

  • เป็นสุดยอดอาหารในอนาคต (super food) ผลิตภัณฑ์จากแมลงสาบเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีและกำลังมาแรง หนึ่งในนั้นคือ “นมแมลงสาบ” ผลิตจากผลึกน้ำนมของ “แมลงสาบด้วงแปซิฟิก” (Diploptera punctata) ที่นำมาเลี้ยงตัวอ่อนขณะอยู่ในท้อง อุดมไปด้วยโปรตีนมากกว่านมควายถึง 3 เท่าและให้พลังงานสูง อาจเป็นทางเลือกในอนาคตสำหรับคนที่แพ้นมหรือแพ้แล็กโทส

ไม่นานมานี้ บริษัท Gourmet Grubb ในแอฟริกาใต้ได้ผลิตไอศกรีมจากแมลงโดยใช้นมทางเลือกที่มาจากแมลงสาบ ทดแทนนมวัวที่ได้จากการทำฟาร์มโคนมแบบดั้งเดิมเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม การผลิตน้ำนมแมลงสาบอาจทำได้ยาก เนื่องจากต้องใช้แมลงสาบจำนวนมาก รวมถึงเหตุผลด้านความสะอาดด้วย

แม้ว่าแมลงสาบจะเป็นนักก่อกวน แต่กลับกลายเป็นว่าพวกมันเป็นแมลงที่น่าสนใจชนิดหนึ่งในโลก สำหรับใครที่อยากทำความรู้จักเจ้าแมลงสาบและเรียนรู้ชีวิต “สัตว์แปลก” มากกว่านี้ สามารถติดตามได้ในรายการ “เกิดมาไม... สัตว์” (คลิก)

 

💡คำศัพท์น่าสน 💡

  • แมลงสาบ (cockroach)  = คือแมลงชนิดหนึ่ง จัดเป็นสัตว์ประเภทศัตรูพืชเช่นเดียวกับปลวก เหตุผลที่เรียกว่า "แมลง" เพราะอยู่ในหมวดสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ที่มี 6 ขา ร่างกายแบ่งเป็น 3 ส่วนชัดเจน ได้แก่ ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง บางคนมักเรียกผิดว่า "แมงสาบ" ความจริงแล้ว "แมง" ใช้เรียกสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ที่มีขา 8 หรือ 10 ขา ไม่มีหนวด ร่างกายมี 2 ส่วน คือ ส่วนหัวรวมกับอกและส่วนท้อง / คำว่า "แมลงสาบ" ที่ถูกต้องลงท้ายด้วย บ. บางคนมักเขียนผิดลงท้ายตัวสะกดด้วย ป. หรือซึ่งไม่ตรงตามหลักภาษาไทย
  • นักกีฏวิทยา (Entomology) = ผู้ที่ศึกษาสัตว์ในกลุ่มของแมลง และปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวงจรชีวิตและระบบนิเวศของแมลง
  • วงจรชีวิตที่เกิดมาไม่สมบูรณ์ (incomplete metamovphosis) = แมลงที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างไม่ครบขั้น มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างเพียง 3 ขั้น คือ ไข่>ตัวอ่อนในน้ำ>ตัวเต็มวัย เช่น แมลงปอ ชีปะขาว จิงโจ้น้ำ
  • ช่องหายใจ (Spiracle) = รูเปิดที่อยู่ที่บริเวณหน้าอกและปล้องท้องของแมลงใช้เพื่อหายใจ
  • สัตว์เลือดเย็น (poikilothermic animal) = สัตว์ที่มีอุณหภูมิภายในร่างกายไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม

 

ขอบคุณแหล่งข้อมูล:scientificamerican.com, thestandard.co, thebuginator.com, cockroachzone.com, bbc.com,

คลังความรู้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)scimath.org

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#ชีวิตแมลงสาบ, 
#ซากฟอสซิลแมลงสาบ, 
#ยุคคาร์บอนิเฟอรัส, 
#IncompleteMetamorphosis, 
#วงจรชีวิตแมลง, 
#แมลงสาบอเมริกัน(AmericanHoseCockroach), 
#แมลงสาบออสเตรเลีย(AustralianCockroach), 
#แมลงสาบเยอรมัน(GermanCockroach), 
#แมลงสาบเอเชีย(Asiancockroach), 
#แมลงสาบอาซาฮิไน(Blattellaasahinai), 
#แมลงสาบไทย, 
#ทำไมแมลงสาบชอบบินมาหาคน, 
#ทำไมคนกลัวแมลงสาบ, 
#JosephKunkel, 
#Spiracle, 
#NCState, 
#Katsaridaphobia, 
#โรคกลัวแมลง, 
#JeffreyLockwood, 
#ScienceCenterSingapore, 
#Phobia:TheScienceofFear, 
#ฟาร์มแมลงสาบ, 
#แมลงสาบดูเบีย, 
#แมลงสาบเรดรันเนอร์, 
#superfood, 
#แมลงสาบด้วงแปซิฟิก, 
#Diplopterapunctata, 
#GourmetGrubb, 
#เกิดมาไม...สัตว์, 
#นักกีฏวิทยา, 
#สัตว์เลือดเย็น 
ผู้เขียนบทความ
avatar
H. ARIGATO
หงส์ฟ้า
ทาสแมวผู้ Enjoy กับชีวิตเรียบง่าย มีความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ
ALTV CI
LearnMore
LearnMore
ALTV All Around
ผู้เขียนบทความ
avatar
H. ARIGATO
หงส์ฟ้า
ทาสแมวผู้ Enjoy กับชีวิตเรียบง่าย มีความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#ชีวิตแมลงสาบ, 
#ซากฟอสซิลแมลงสาบ, 
#ยุคคาร์บอนิเฟอรัส, 
#IncompleteMetamorphosis, 
#วงจรชีวิตแมลง, 
#แมลงสาบอเมริกัน(AmericanHoseCockroach), 
#แมลงสาบออสเตรเลีย(AustralianCockroach), 
#แมลงสาบเยอรมัน(GermanCockroach), 
#แมลงสาบเอเชีย(Asiancockroach), 
#แมลงสาบอาซาฮิไน(Blattellaasahinai), 
#แมลงสาบไทย, 
#ทำไมแมลงสาบชอบบินมาหาคน, 
#ทำไมคนกลัวแมลงสาบ, 
#JosephKunkel, 
#Spiracle, 
#NCState, 
#Katsaridaphobia, 
#โรคกลัวแมลง, 
#JeffreyLockwood, 
#ScienceCenterSingapore, 
#Phobia:TheScienceofFear, 
#ฟาร์มแมลงสาบ, 
#แมลงสาบดูเบีย, 
#แมลงสาบเรดรันเนอร์, 
#superfood, 
#แมลงสาบด้วงแปซิฟิก, 
#Diplopterapunctata, 
#GourmetGrubb, 
#เกิดมาไม...สัตว์, 
#นักกีฏวิทยา, 
#สัตว์เลือดเย็น 
แชร์
ชอบ
ติดตามเรา