ไม่นานมานี้มีโอกาสได้ดูคลิปตีกลองของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง เป็นอีเวนต์ที่จัดขึ้นที่สยามสแควร์ ไม่ว่าจะจังหวะการตีกระแทกกระทั้นที่ต้องเรียกความรู้สึกที่เกิดขึ้นว่ามันส์หยด การโยนไม้กลองโชว์ลูกเล่น หรือจังหวะของสีหน้าท่าทางที่แสดงอารมณ์ไปกับความรักที่เธอมีต่อเครื่องดนตรีที่กำลังเล่นอยู่ โดยภาพรวมทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นมันทรงพลังมาก มากถึงขั้นที่ฉันอยากรู้จักในทันทีว่ามือกลองคนนี้โตมาแบบไหน อะไรทำให้วิญญาณความเป็นนักดนตรีของเธอมันชัดทะลุจอได้มากขนาดนี้
รู้ตัวอีกที ฉันมานั่งอยู่ที่ห้องซ้อมดนตรี Tempo by Tingper ในย่านอ่อนนุชเสียแล้ว ห้องที่ฉันนั่งคุยกับน้องออมเล็ต นันท์ทากานต์ วีระพันธุ์ และคุณแม่ องค์อร วีระพันธุ์ เป็นห้องว่างซึ่งอยู่ติดกับห้องซ้อมตีกลองที่มีนักเรียนกำลังใช้งานอยู่ ระหว่างการพูดคุยของเรา จะมีเสียงตีกลองดังสนั่นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งฉันต้องใช้สมาธิสูงมากในช่วงของการตั้งคำถามเพื่อจะไม่ให้ตัวเองหลุดโฟกัสจากบทสนทนา เลยได้เข้าใจกับตัวเองว่า เออนะ แล้วพวกนักดนตรีที่เป็นมือกลองเขาต้องใช้สมาธิกันมากมายขนาดไหน ไหนจะเหยียบกระเดื่อง ไหนจะมือซ้ายตีแบบหนึ่ง มือขวาตีแบบหนึ่ง ไหนจะต้องแยกโสตประสาทความดังเบาของส่วนประกอบของกลองซึ่งมีหลายชิ้น และเสียงดังเบาเหล่านั้นที่เกิดขึ้นล้วนมีความเชื่อมโยงกันหมด
น้องออมเล็ต มือกลองวัย 14 ปี เป็นเด็กที่มีความมั่นใจในตัวเองสูง แต่ขณะเดียวกัน ก็มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นคนไม่กลัวความผิดพลาด ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะเธอเริ่มฝึกตีกลองจากการอิมโพรไวส์ ไม่ใช่จากตัวโน้ต ตั้งแต่หกขวบ เธอได้เข้าร่วมวงร็อกแบนด์ของโรงเรียนตั้งแต่อายุ 7 ขวบ และล่าสุด เธอได้ตำแหน่งแชมป์ตีกลองระดับโลกจากรายการ Hit like a girl ซึ่งเป็นการแข่งขันทางออนไลน์โดยประเทศสหรัฐอเมริกา
การเดินทางบนเส้นทางดนตรีในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับเด็กในวัยเรียนที่ต้องแบ่งเวลาให้ถูก วินัยคือเรื่องสำคัญ ที่สำคัญไม่แพ้กันคือสติ เพราะโลกทุกวันนี้มันง่ายเหลือเกินที่เราจะเผลอสูญเสียความเป็นตัวตนไปกับยอดไลก์ยอดวิว ทั้ง ๆ ที่เราก็มีจุดยืนในความเป็นตัวตนที่แข็งแรงอยู่แล้ว
ออมเล็ตโตมาในครอบครัวที่คุณแม่เป็นคนรักเสียงเพลงมาก เธอเลยได้ฟังเพลงของพี่เบิร์ด ธงไชย พี่มิ้นท์ มาลีวัลย์ รวมไปถึงโมสาร์ตมาตั้งแต่อยู่ในท้องคุณแม่ ด้วยความที่คุณแม่อยากให้ลูกสาวได้มีทักษะทางดนตรีติดตัว และถือเป็นการฝึกสมองสองข้างของเด็ก คุณแม่เลยเริ่มจากส่งออมเล็ตไปเรียนเปียโน จนเมื่อเรียนไปได้สักระยะหนึ่ง ด้วยความที่ห้องเรียนเปียโนอยู่ใกล้กับกับห้องเรียนตีกลอง พอได้ยินเสียงกลองดังแว่วมาบ่อยครั้งเข้า ออมเล็ตในวัย 6 ขวบ ก็มักอยากจะลุกขึ้นมาเต้นตามเสียงกลองนั่น จนวันหนึ่ง เธอตัดสินใจด้วยตัวเองว่าเธออยากเรียนตีกลอง
“ตอนนั้นนั่งเรียนเปียโนอยู่ พี่ที่ตีกลองเขาตีจังหวะที่มันส์มากเลยค่ะ ตอนนั้นหนูกำลังเรียนเปียโนอยู่ หนูก็โยกตามไปด้วย ครูสอนเปียโนบอกตั้งใจหน่อยค่ะนักเรียนตั้งใจ แต่วันนั้นมันตั้งใจยากมากเลยค่ะเพราะจังหวะมันมาแล้ว ก็ต้องเต้นตาม หนูเลยบอกคุณพ่อคุณแม่ว่า หนูขอเปลี่ยนไปเรียนตีกลองนะ”
ออมเล็ตเริ่มเรียนตีกลองที่โรงเรียนสอนดนตรีใกล้บ้าน คุณแม่บอกเหตุผลที่เลือกโรงเรียนใกล้บ้านว่าเป็นเพราะคุณตา คุณตาของออมเล็ตเคยพูดไว้ว่า โรงเรียนที่ดีที่สุดคือโรงเรียนใกล้บ้าน ลูกจะได้ไม่ต้องไปโตบนถนน เอาเวลาโตบนถนนไปวิ่งเล่นดีกว่า
“เปียโนมันเป็นดนตรีที่ช่วยผ่อนคลาย แต่พอลองเล่นกลองแล้วหนูรู้สึกว่าหนูมีความสุขกว่า และหนูว่ามัน challenging ด้วยค่ะ เพราะการตีกลองต้องใช้การทำงานประสานกันระหว่างตากับมือเยอะมาก หนูเลยรู้สึกว่าอยากลอง เพราะถ้าไม่ลองเราก็ไม่รู้”
นี่ละค่ะ ข้อสำคัญของเด็กในวัยกำลังเติบโตซึ่งตอนนั้นออมเล็ตอายุหกขวบ เด็กวัยนี้เริ่มแยกแยะออกแล้วว่าสิ่งไหนที่เธอทำแล้วมีความสุข ซึ่งถ้าได้รับการสนับสนุนจากคนใกล้ชิดด้วยแล้ว สิ่ง ๆ นั้นอาจจะพัฒนาไปเป็นความสามาถพิเศษติดตัวที่กลายเป็นอาชีพในอนาคตเลยก็ได้ เพราะแรงขับเคลื่อนชีวิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์คือความสุข
ย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปีก่อน คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่คนเป็นพ่อแม่จะยอมให้ลูกสาวเรียนตีกลอง เพราะส่วนใหญ่ถ้าเป็นเด็กผู้หญิงก็มักจะถูกส่งไปเรียนบัลเลต์ในชุดเสื้อผ้าสีชมพูพองฟู ยิมนาสติก หรือไม่ก็ดนตรีประเภทเปียโน หรือไวโอลิน ส่วนกลองนั้นดูจะเป็นเครื่องดนตรีที่เหมาะกับเด็กผู้ชายเสียมากกว่า แต่ความโชคดีของลูกสาวบ้านนี้คือคุณพ่อคุณแม่ค่อนข้างเปิดกว้าง ไม่ยึดติดกับบรรทัดฐานใด ๆ ลูกชอบก็เอาเลย เพราะขึ้นชื่อว่าดนตรีแล้ว มันดีหมดล่ะ
“ตอนเริ่มเล่นกลองใหม่ ๆ หนูมีความรู้สึกว่ามันสนุก หนูเล่นแบบสบาย ๆ ไม่เคยถูกกดดันไม่เคยต้องเครียด ก็เลยทำให้หนูอยากเรียนต่อไปเรื่อย ๆ ช่วงเรียนตีกลองใหม่ ๆ ก็อาจจะยากหน่อยค่ะ แต่ครูก็ไม่ได้พุชมาก ครูจะให้เล่นแบบง่าย ๆ หลัก ๆ คือครูจะให้ฟังเพลงเยอะ หนูเริ่มต้นจากการคัฟเวอร์เพลงก่อน ตอนนั้นครูเขายังไม่สอนตัวโน้ตให้ หนูคิดว่าครูคงกลัวด้วยล่ะว่าการให้เด็กเล็กเรียนตัวโน้ตอาจจะยังยากเกินไป เดี๋ยวเด็กจะท้อเสียก่อน ซึ่งการที่หนูเริ่มต้นแบบนั้นมันเลยกลายเป็นเรื่องดีไป กลายเป็นว่าหนูเป็นคนที่ตีกลองแบบอิมโพรไวส์ได้ ไม่ยึดติดกับอะไรที่เป็นแบบแผนมากนัก”
มีคนเคยบอกว่าการเรียนโน้ตก่อนทำให้เด็กสามารถพัฒนาศักยภาพทางดนตรีได้ไว แต่ฉันกลับมองว่าออมเล็ตที่กำลังใช้เวลาในช่วงหนึ่งจากการพักเบรคสัมภาษณ์เพื่อตีกลองให้เราดูแบบสนุกสุดเหวี่ยง เธอกลับมีจุดเด่นของความเป็นมือกลองที่ไม่เหมือนใครทั้ง ๆ ที่เธอไม่ได้เริ่มเรียนโน้ตมาก่อนด้วยซ้ำ เธอเป็นคนไม่กลัวที่จะเล่นผิด เมื่อไหร่ผิดเมื่อไหร่พลาด ก็แค่ด้นสดหาทางออกในแบบของตัวเอง
ตีมัน ตีอร่อย คือคำศัพท์ที่ใช้เรียกมือกลองในลักษณะของออมเล็ต
ขณะเดียวกัน ด้วยความที่เธอไม่คล่องโน้ต แผลจากความผิดพลาดในช่วงระหว่างการตีกลองก็อาจจะมีเยอะหน่อย
“การมีแผลมันดีนะคะ เพราะหนูจะได้เรียนจากความผิดพลาด มันอาจจะเป็นแผลที่เห็นชัดแต่มันก็สามารถแก้ได้ หนูอ่อนเรื่องโน้ตจริง แต่หนูรู้ว่าหนูทำให้มันดีขึ้นได้ถ้าหนูซ้อมเยอะขึ้น หรือเวลาที่หนูตีกลองแบบอินเกิน โอกาสพลาดในเรื่องของจังหวะมันก็จะสูงมาก ทุกวันนี้ก็เลยพยายามจะโฟกัสให้มากขึ้น”
ออมเล็ตเล่าให้ฟังว่า ในวันแสดงที่สยามสแควร์ร่วมกับวงดนตรีที่เธอไม่เคยร่วมเล่นด้วยมาก่อนเลย เธอได้รับเพลงเพื่อมาทำการบ้านในการฝึกซ้อมจำนวนสิบเพลง มีเวลาเตรียมตัวเพียงสี่วัน โดยสามเพลงเป็นเพลงที่เธอคุ้นเคยดีอยู่แล้ว แต่อีกเจ็ดเพลงคือเพลงที่เธอต้องทำความรู้จักใหม่ ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกกับสถานการณ์แบบนี้ เพราะงานส่วนใหญ่ที่ออมเล็ตได้รับมักจะเป็นงานเร่ง แต่เธอก็ทำมันออกมาได้ดีเสมอ
ครั้งหนึ่งเธอได้รับโจทย์เป็นการตีกลองแนวเพลงเร็กเก้ เธอมีเวลาฝึกซ้อมเพียงเจ็ดวันเท่านั้นก่อนการบันทึกเทปรายการ หน้าที่หลักของเธอคือตีกลองในช่วงโซโล่ คำถามคือซ้อมตีกลองแทบตายตั้งเจ็ดวัน ใช้พลังการซ้อมต่อวัน 4- 6 ชั่วโมง มันคุ้นไหมนะ กับการได้แสดงหรือได้ออกสื่อในช่วงระยะเวลาเพียงสั้นๆ
“มันอาจจะเป็นแค่โชว์ ๆ เดียวก็จริง แต่ใครจะรู้ว่ามันอาจจะเป็นโชว์สุดท้ายที่หนูได้ไปเล่นก็ได้นะคะ ฉะนั้นเราต้องพุชตัวเอง ถ้ามันออกมาดี เราก็จะรู้สึกดีกับตัวเอง ภูมิใจกับตัวเอง มีครูคนหนึ่งเคยบอกหนูว่า เวลาทำอะไรก็ตามให้ทำเหมือนว่ามันคือโอกาสสุดท้ายที่จะได้ทำ ถ้าเราทำมันออกมาได้ดี เราจะเป็นคนที่ภูมิใจกับมัน หรืออย่างล่าสุดตอนที่หนูได้งานที่สยามสแควร์ ทีแรกก็แอบกลัวเหมือนกัน เพราะเรามีเวลาเตรียมตัวค่อนข้างน้อย ถ้าเราเกิดไปทำอะไรผิดพลาดขึ้นมา เราอาจจะทำให้วงล่มได้ แต่หนูก็เลือกที่จะตัดความคิดแบบนั้นออกไปก่อน แต่เปลี่ยนมาคิดว่านี่มันคือโอกาส เราโชคดีมากที่มีโอกาสวิ่งเข้ามาหา เราจะต้องมีความสุขกับมันให้เต็มที่ กับโอกาสนี้ที่จะได้ไปโชว์”
สำหรับยอดวิวคลิปการแสดงสดที่สยามสแควร์ซึ่งเป็นคลิปที่ซูมภาพไปที่การตีกลองของออมเล็ต ปัจจุบัน มียอดวิวกว่าเก้าแสนวิวแล้ว
ถึงตรงนี้ คุณแม่เสริมในเรื่องความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกการแสดงของลูกสาวว่า มันไม่ได้สำคัญว่าคนเราจะล้มกี่ครั้ง แต่มันสำคัญว่าล้มแล้วต้องลุก
“เคยบอกลูกค่ะ ล้มร้อยครั้ง ล้มไปเลย หรือจะล้มกี่ครั้งก็ได้ลูก มันสำคัญที่ออมเล็ตรู้วิธีลุกได้อย่างแข็งแรง ก็พอแล้ว เพราะคนเราเวลาล้ม เมื่อล้มครั้งที่สองครั้งที่สามมันจะไม่เจ็บเหมือนล้มในครั้งแรก”
ปัจจุบันออมเล็ตเรียนอยู่ระดับ Year 10 ที่ Heathfield International School ครั้งหนึ่งสมัย 7 ขวบ เธอเดินเข้าไปหาครูเพื่อขอร่วมวงดนตรีร็อกแบนด์ของโรงเรียนกับตำแหน่งมือกลองที่ว่างอยู่ แต่ด้วยความที่ในตอนนั้นตัวเธอเล็กเกินไป ครูบอกให้กลับไปก่อน อีกปีค่อยมาใหม่ แต่ไม่นานนักครูคนนี้ก็ลาออกไป มีครูคนใหม่เข้ามา ออมเล็ตเลยมีโอกาสได้เขาร่วมออดิชัน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเป็นสมาชิกวงร็อกแบนด์ประจำโรงเรียนตลอด 7 ปีที่ผ่านมา
ทุกวันนี้ที่บ้านของออมเล็ตจะมีกลองไฟฟ้าตั้งอยู่ ทุกวันเธอจะรู้หน้าที่ของตัวเอง กลับจากโรงเรียนปุ๊บ ออมเล็ตจะเข้ามุมประจำซ้อมตีกลองเพื่อแกะเพลงที่ตัวเองจะต้องใช้เตรียมเล่นในงานต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายมา ในทุกวันเธอจะใช้เวลาซ้อมตีกลองที่บ้านประมาณหนึ่งชั่วโมง
“ที่หมู่บ้านเขาไม่ให้ทำเสียงดังเกินห้าโมงเย็นค่ะ และหนูกับแม่ก็คุยกันมานานแล้วว่า เราไม่อยากอัดซ้อมเยอะมากเกินไปจนกลายเป็นไม่มีความสุข แต่ถ้าช่วงไหนมีแข่ง ก็ต้องไปซ้อมที่ห้องซ้อมวันละประมาณห้าถึงหกชั่วโมง เพราะอย่างที่บอก งานที่เข้ามาหาหนูส่วนใหญ่มักจะเป็นงานเร่งทั้งนั้นเลย พอเป็นงานเร่ง เราก็ต้องเพิ่มเวลาในการซ้อม”
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา (2565) ออมเล็ตเพิ่งคว้าแชมป์จากรายการ Hit like a girl ในรุ่นอายุ 13-17 ปี ซึ่งเป็นรายการแข่งขันตีกลองระดับโลก จัดโดยประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยวิถีแบบนิวนอมอลคือแข่งขันทางออนไลน์ โดยเธอเลือกเพลง I will survive ในเวอร์ชันของ Demi Lovato เข้าร่วมแข่งขัน ในช่วงนี้เธอกำลังซ้อมเพลงอย่างหนักหน่วงเพื่อร่วมแสดง Collaboration กับแชมป์ในรุ่นอื่น ๆ จากรายการเดียวกัน
ในวัย 14 ปีของเด็กวัยรุ่นหลายคนคือช่วงเวลาของการไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนในวันหยุด แต่งตัวสวยไปเช็กอินตามคาเฟเปิดใหม่ หรือไม่ก็ซ้อมเต้นเพื่อเตรียมโพสต์คลิปบนติ๊กต๊อก แต่สำหรับออมเล็ต สิ่งที่เธอทำ สถานที่ที่เธอไป คือกิจกรรมและโลเคชันซ้ำ ๆ ระหว่างบ้านและห้องซ้อมดนตรี
“หนูคิดว่าเวลาเมื่อมีโอกาสต่าง ๆ เข้ามาหา ถ้าหนูทำทุกอย่างให้ดีที่สุด หนูก็จะภูมิใจกับมัน แต่ถ้าหนูปฏิเสธที่จะรับงาน เอาเวลาไปนั่งเล่นเกม หนูก็จะไม่ได้พัฒนาอะไรในตัวเองเลย ขณะเดียวกันการรับงานที่มัน challenge เรามาก ๆ ก็เป็นบททดสอบให้เราได้ทำความรู้จักตัวเองด้วยว่าเราสามารถพุชตัวเองไปได้มากขนาดไหน บางครั้งถึงจะอยากปฏิเสธในการรับงานบ้างแต่หนูก็ทำตรงกันข้าม คือบอกตัวเองว่า เอาเถอะ ยอม ๆ ไป ทำ ๆ ไป งานยาก ๆ อะไรเข้ามาก็จงรับไว้ เพราะถ้ามันออกมาดี หนูก็จะเป็นคนที่ภูมิใจในตัวเองที่สุด”
ติดตามน้องออมเล็ต<< คลิก
เรื่อง // ถ่ายภาพ : พัทริกา ลิปตพัลลภ
ภาพประกอบ : ณภัค ภูมิชีวิน