ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
อินชาลา ทีเฮาส์ บ้านน้ำชาของชายหนุ่มจากสงขลา ที่พบจังหวะชีวิตของตัวเองในเชียงใหม่
แชร์
ชอบ
อินชาลา ทีเฮาส์ บ้านน้ำชาของชายหนุ่มจากสงขลา ที่พบจังหวะชีวิตของตัวเองในเชียงใหม่
18 ก.ย. 65 • 10.10 น. | 1,178 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

มีเพื่อนบอกว่าถ้ามาร้านนี้ ต้องสั่ง Chai (ชาเครื่องเทศใส่นม) แต่ประเด็นคือฉันมาในวันร้านปิด

“Chai วันนี้ของไม่ครบครับ ขิงก็หมด แต่เดี๋ยวผมทำอีกตัวให้ลองดีกว่า เป็นน้อง ๆ Chai อีกที เขาเรียก moon spice เบสหลักเป็นขมิ้น ผสมด้วยกระวานเขียว พริกไทยดำ อบเชย”

ชายหนุ่มเจ้าของร้านที่ดูเป็นคนไม่รีบร้อนอะไรเลยในชีวิตบอกฉัน เขายืนอยู่หลังบาร์ ก้มหน้าเตรียมส่วนผสมสำหรับต้ม moon spice ให้ฉันลอง ท่าทีเขานิ่งมาก

ซามมี่ย์ หนุนอนันต์ เป็นชายหนุ่มจากจังหวัดสงขลา เกิดในครอบครัวชาวมุสลิม ชื่อของเขาเป็นภาษาอาหรับ แปลได้ว่าผู้ที่ประเสริฐในหนทางของตน ส่วนชื่อของอินชาลา ทีเฮาส์ บ้านน้ำชาแห่งนี้ในจังหวัดเชียงใหม่ คำว่า อินชาลา หมายถึงพระเจ้าทรงประสงค์ หัวใจของการทำบ้านน้ำชาแห่งนี้ก็เพื่อการหมุนเวียนของพลังงาน โดยอาศัยเหตุปัจจัยที่ดึงดูดและสนับสนุนกันตามธรรมชาติ

“ที่ผมทำอินชาลาขึ้นมา แม้จะเหมือนแค่หาเลี้ยงและบำบัดตัวเองก็จริง แต่ในแง่ของการลงมือทำจริง ๆ แล้ว ทั้งผม ภรรยา และกัลยาณมิตร ต่างร่วมกันสร้างสถานที่แห่งนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นพื้นที่ให้คนที่ชอบความถี่เดียวกัน มีกรรมคล้ายๆ กัน มีสิ่งที่ต้องเรียนรู้เหมือน ๆ กัน ได้มาช่วยกันเยียวยาและรดน้ำสร้างความสดชื่นในการเติบโตทางจิตวิญญาณให้กันและกัน ซึ่งมันทำให้แก่นของศาสนาไม่ตายไปจากคนรุ่นใหม่”

เดิมทีที่ดินผืนนี้เคยถูกปล่อยร้างเป็นที่ทิ้งขยะ จนในวันที่ซามมี่ย์กับภรรยา (มิว ตรัชนันท์ พงษ์พานิช) กำลังมองหาทำเลใหม่เพื่อเริ่มต้นธุรกิจเล็ก ๆ ซึ่งตัวซามมี่ย์เองในตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นธุรกิจอะไรที่แน่ชัด จนมีเหตุบังเอิญให้เขามาเจอที่ดินผืนนี้เข้า

“จริง ๆ ไปมัดจำอีกที่ไว้แล้วครับ อยู่ตรงทางเข้าสนามบินเลย ว่าจะทำเกสต์เฮาส์ญี่ปุ่นแบบดูแลง่ายๆ จนเข้าไปทำอยู่เกือบเดือน เครียดมากเลย โทรหาแม่ บอกแม่ว่ามัดจำตึกไว้แล้วนะแต่พอเข้าไปทำ รู้สึกว่ามันไม่ใช่ แต่มีอีกที่หนึ่งเป็นที่รกร้างที่เราก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะไปตามหาเจ้าของที่ดินที่ไหน แต่เรารู้สึกถูกชะตากับพื้นที่มาก เราควรจะทำยังไงดี แม่บอก จะคิดอะไรจะทำอะไรก็ตาม เอาที่มันมีความเป็นธรรมชาติกับตัวเรา”

ซามมี่ย์เป็นคนใช้ชีวิตเรียบง่าย มีความอินกับเรื่องของจิตวิญญาณ เขามองว่าความเชื่อในศาสตร์เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องของวัตถุหรือข้าวของที่ต้องหามาจัดวางในร้านเพื่อให้คนเชื่อ แต่มันคือสิ่งที่แฝงอยู่ในไลฟ์สไตล์อย่างเป็นธรรมชาติ

และอาจเพราะ ‘พระเจ้าทรงประสงค์’ นั้นมีอยู่จริง เลยชี้ทางให้ชายหนุ่มจากจังหวัดสงขลา ที่บอกกับฉันว่า สมัยเด็ก ๆ ด้วยบุคลิกลักษณะที่เป็นคนทำให้อะไรเรื่อย ๆ เอื่อยๆ ไม่สนใจเข็มนาฬิกา พ่อเลยมักเรียกชื่อเขาด้วยคำว่า ‘เฉื่อย’ ที่เหมือนจะกลายเป็นคำสาปตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ความเป็นคนไม่สนใจเรื่องเวลาของซามมี่ย์เลยดูจะเหมาะกับการใช้ชีวิตอยู่ในบรรยากาศของเมืองเชียงใหม่มากที่สุด

ก่อนหน้าจะมาอยู่เชียงใหม่ ซามมี่ย์เคยทำงานเป็นช่างภาพอิสระอยู่ในกรุงเทพ ช่วงเข้าสู่ปีที่หกของการทำงาน ซามมี่ย์รู้สึกถึงความผิดปกติของพลังงานในการใช้ชีวิต

“หลังเลิกงานในแต่ละวัน พอช่วงโหนรถเมล์กลับบ้าน เราจะรู้สึกได้ถึงพลังงานของคนหาเช้ากินค่ำในกรุงเทพรอบตัวที่ต้องฝ่าฟันหลายอย่าง มันเหนื่อย มันกดดัน ทุกวันจะเราจะ absorb พลังงานเหล่านั้นติดตัวกลับมาบ้าน ตอนนั้นเราเองก็ยังไม่แกร่งพอที่จะเรียนรู้การเปิดปิดวาล์ว พอถึงห้องที่คอนโด ชีวิตก็มีแค่สองอย่าง คือถ้าไม่ทำงานรูป ก็นั่งจมกับตัวเองในบางโหมด ตั้งคำถามวนกับตัวเองว่านี่เรากำลังทำอะไรอยู่”

นอกจากตั้งคำถามแล้ว บางวูบ ซามมี่ย์ก็มีความคิดของการฆ่าตัวตายเข้ามาผสม มันเกิดจากความกดดันของการใช้ชีวิตที่ว่างเปล่าในเมืองหลวงซึ่งถูกสั่งสมมานานโดยไม่รู้ตัว

วันหนึ่งซามมี่ย์มีโอกาสได้ไปเทศกาลดนตรีซัมบาลาที่อำเภอเชียงดาว การทำกิจกรรมร่วมกันกับคนแปลกหน้าที่ต้องนั่งติดกันขนาดเข่าชนกัน ซึ่งควรจะทำให้คนลักษณะแบบเขาอึดอัด แต่ซามมี่ย์กลับติดใจในบรรยากาศเหล่านั้น

“ไปเจอพี่คนหนึ่งชื่อพี่แจ๊ค ถักเดดร็อกยาวมาก เขามีเวิ้งอยู่ในซัมบาลา มันเป็น section ที่ใครไป high อะไรมาจากที่ไหนก็จะต้องมา grounding ตรงนี้หมด เรารู้สึกว่าเวิ้งนี้ดึงดูดเรามาก เราเลยไปขอช่วยงานพี่เขา พอได้ไปช่วยเขาทุบขิง ได้ต้มชา เรารู้สึกว่าเออนะ จริง ๆ เราก็อยากทำอะไรแบบนี้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่แค่ทำเฉพาะในอีเวนต์ที่เปิดเฉพาะกิจ เรารู้สึกชอบที่ได้คุยกับคน ชอบฟังปัญหาคน แต่ปัญหาคือเรามักจะเก่งกับปัญหาของคนอื่น แต่พอคนแยกย้ายกลับไป เรากลับอยู่กับตัวเองไม่ได้ เอาตัวเองไม่รอด สมาธิของเราก็เป็นแบบมิจฉาสมาธิ”

ในช่วงเรียนปริญญาโทที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยความสับสนในตัวเอง ซามมี่ย์ตัดสินใจลาออกจากการเป็นนักศึกษา เขาอยากใช้เวลาในการตามหาคำตอบของการใช้ชีวิตที่ลงตัว

“คือปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ครับว่า ในระยะที่โควิดระบาด มันสร้างความป่วยไข้ทั้งกายและจิตให้กับโลกเรา แต่ก็ยังมีใครหลาย ๆ คนรวมถึงตัวผมเองด้วย ที่พลิกวิกฤตินี้ให้เป็นโอกาสในการนำความไม่แน่นอนของชีวิต มาเป็นกุศโลบายในการย้อนศึกษาเหตุแห่งทุกข์ที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจของตัวเองผ่านการทำสิ่งต่างๆ เพื่อฆ่าเวลา อย่างก่อนที่จะเริ่มทำอินชาลานี่ ผมกับมิวก็มีเพื่อนต่างชาติหลายคนมาติดล็อคดาวน์อยู่ที่บ้าน ดูแลทางกายและใจกัน ตอนนั้นเหนื่อยมากครับ จนเจ้าบ้านสองคนเริ่มมีปัญหากันเอง มันทำให้เรากดดันใส่กัน จนสุดท้ายก็ทำให้ต่างคนต่างต้องแยกไปทบทวนตัวเองกันครั้งใหญ่ ซึ่งผมเชื่อว่าคงมีชีวิตหลาย ๆ คู่ที่น่าจะเคยผ่านประสบการณ์แบบนี้มา
จนพอสถานการณ์โควิดเบาลง เพื่อนต่างชาติแยกย้ายกลับบ้านตัวเอง ผมก็ออกจากเชียงใหม่ไปอุบล เข้าปฏิบัติธรรมที่วัดป่าโพธิภาวนาวัน จนวันหนึ่งภรรยาโทรมาจากเชียงใหม่ ถามผมว่า จะเอายังไงกันแน่กับชีวิต ผมก็ตอบไปตามสายว่า ผมมาอดทนเรียนรู้ที่จะเผชิญหน้ากับตัวเองให้ได้ เพราะถ้าอยู่กับตัวเองได้จริง ๆ เราก็คงจะทำอะไร ที่ไหน และอยู่กับใครก็ได้เป็นแน่ ซึ่งตอนที่ตอบภรรยาไปแบบนั้น ผมเองก็เหมือนมีนิมิตรขึ้นมาในใจว่า อย่างเอ็งจะไปทำอะไรได้ดีกว่า เป็นอาบังขายน้ำชา ซึ่งต้องบอกเลยว่า จากเหตุการณ์ที่คุยโทรศัพท์กับภรรยาในวันนั้น เขาก็ช่วยสนับสนุน ประคับประคอง และผลักดันผม จนบ้านน้ำชาที่ฝันฟุ้งไว้มันเกิดขึ้นได้จริงอย่างที่เห็นวันนี้”

ซามมี่ย์เล่าถึงวันที่ออกตามหาพื้นที่ในการทำบ้านน้ำชา เขาปรินต์แผนที่กูเกิลที่ค้นหาจากในระยะสิบเมตรใกล้ที่พักออกมา ขับมอเตอร์ไซค์แวะดูไปเรื่อย ๆ จนมาเจอที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของอินชาลา ทีเฮาส์ ในปัจจุบัน

“เดือนแรกขนขยะออกจนหมด เดือนต่อมาก็ไปตามเก็บเศษไม้จากบ้านร้างที่ปลวกมันกิน เอามาล้างขัด ว่าง ๆ ก็ขับรถหาของรอบเชียงใหม่ เห็นโซฟาถูกทิ้งข้างทาง เอ๊ะ สภาพมันใช้ได้อยู่นะ ก็เก็บมา เจอเตียงเก่าก็เก็บมา อาคารนี้ทำเองเกือบทั้งหมดนะครับ พอทำเป็นอยู่บ้าง เพราะสมัยเรียนที่เกษตรศาสตร์ผมชอบออกค่ายสร้างห้องสมุด และมักจะต้องเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบส่วนของโครงงาน เราก็เลยพอจะมีความรู้เรื่องการก่อการฉาบ จะมีส่วนของหลังคาที่ชาวบ้านรับจ้างรายวันแถวนี้มาช่วยทำ หลัก ๆ คือเราใช้ของที่มีอยู่ ของที่หาได้ ส่วนคอนเซ็ปร้าน เราชอบความรู้สึกที่เราได้ไปช่วยงานในซัมบาลา ชอบ essence ของการที่คนมานั่งกินชาและปาฐกถาคุยกัน อาจจะความที่เราเป็นคนใต้ด้วย ซึ่งคนใต้จะผูกพันกับร้านน้ำชา เราอยากให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ ทำด้วยความจริงใจแบบไม่ต้องไปคาดหวังอะไร เราอยู่กับบริกรรมของการอินชาลาไปเรื่อย ๆ เช่น วันนี้ใครจะมาช่วยนะ .. อินชาลา .. เงินจะพอไหมนะ .. อินชาลา”

เข้าเดือนที่สี่ อินชาลา ทีเฮาส์ ค่อย ๆ เปิดให้บริการบางส่วน มีคนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามา ทั้งเพื่อนที่เป็นลูกค้า และลูกค้าใหม่ที่มาจากการบอกต่อ ไม่มีการโฆษณา ไม่มีการยิงแอดในเฟซบุ๊ก

เวลาผ่านไป โครงสร้างในส่วนของอาคารทีเฮาส์เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ จากกัลยาณมิตรที่คอยแนะนำช่วยเหลือกัน

หนึ่งปีผ่านไป เข้าสู่ฤดูฝน อาคารที่เปิดโล่งเริ่มเกิดปัญหาตามสภาพ จนได้เพื่อนอีกคนมาช่วยดูแลเรื่องต่อเติมหลังคาให้

“บอกเพื่อนว่าช่วงนี้ฝนตก เกรงใจเพื่อนมากเลย เรายังไม่มีสตางค์ แต่เราอยากทำหลังคาลอนใส ช่วยดูแบบให้หน่อยได้ไหม เพื่อนก็ทำให้ คือแต่ละคนที่เดินเข้ามาที่นี่ เขาต่างยินดีที่จะมีส่วนร่วม อย่างบางทีมีน้องจากวิจิตรศิลป์มา เป็นพวกทำงานคอนเซ็ปชวลอาร์ต เราก็จะ เฮ้ย ช่วยเพนต์ป้ายให้หน่อยนะ หลังจากนั้นเวลาที่เขามา เราสังเกตว่า เขารู้สึก belong กับที่นี่มากขึ้น”

นอกจากเครื่องดื่ม ชา กาแฟ แล้ว ที่นี่ยังมีอาหารมังสวิรัติโฮมเมดด้วย โดยในช่วงเริ่มต้นของการออกแบบเมนูนั้นอาหารถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกชาวสงขลาที่ไม่ค่อยมีโอกาสจะได้เจอหน้ากันสักเท่าไร รวมไปถึงที่นี่ยังเป็นพื้นที่จัดเวิร์กช็อปเพื่อสร้างความสมดุลย์ของชีวิต ผ่านดนตรีและศิลปะ

“ตอนแรกผมยันกับคนอื่นเต็มที่เลยว่าที่นี่ไม่ใช่ร้านอาหารนะ เรามีชา มีของว่างให้กินพอประทังหิวได้ แต่กลายเป็นว่าพอลูกค้ามา เขานั่งอยู่ตรงนี้ทั้งวัน มันก็เลยต้องมีอาหารให้เขาด้วย แต่พอจะขายก็เริ่มกังวลว่าจะขายอะไรดีล่ะ เพราะไม่อยากขายอะไรที่ตัวเองไม่ชอบ ไม่คุ้นเคย เอ๊ะ หรือเราจะใช้อาหารเป็นตัวจูนระยะทางระหว่างเรากับแม่ดีนะ ผมก็เลยโทรศัพท์คุยกับแม่เป็นภาษาใต้ บอกแม่ว่าให้แม่ช่วยปั่นเครื่องแกงส่งมาหน่อย แม่เขาก็ดีใจ กลายเป็นว่าจากเมื่อก่อนเขาอาจจะภูมิใจอยู่บ้างที่เห็นเราไปโผล่เป็นนักแสดงเอ็กซ์ตร้าตามหนังโฆษณา ซึ่งมันไม่ใช่ความภูมิใจแบบยั่งยืน เพราะลึก ๆ แกก็คงสงสัยมาตลอดว่าลูกฉันกำลังทำอะไรอยู่ คราวนี้พอเขาเห็นว่าเราคิดจะทำอาหารขายด้วย เขาก็เลยเริ่มวางใจ ปรากฏอาหารใต้ที่เราทำ เวลาฝรั่งมานั่งกิน ขนาดเผ็ดก็ยังนั่งกินกันหน้าดำหน้าแดง เป็นบรรยากาศของการกินอาหารที่ดีมากเลยครับ”

ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของบ้านน้ำชา อินชลา ทีเฮาส์ ซึ่งแม้อินชาลาจะเป็นภาษาอาหรับที่มักถูกใช้กันในกลุ่มชาวมุสลิม แต่ด้วยวิธีการแล้ว มันคือการตั้งจิตภาวนานั่นเอง

ถ้าเราแน่วแน่พอ มีจิตที่มั่นคงพอ มีเป้าหมายที่ชัดเจน ใดใดในโลกก็เกิดขึ้นได้

..อินชาลา..

 

อินชาลา ทีเฮาส์ : ซอยพระนาง ตรงข้ามประตูมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / 098 945 2442

IG : inchala.teahouse <<คลิก

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#อินชาลาทีเฮาส์, 
#inchala.teahouse, 
#Chai, 
#ชาเครื่องเทศ, 
#ที่เที่ยวเชียงใหม่, 
#ร้านน้ำชา, 
#ร้านน้ำชาเชียงใหม่, 
#ซัมบาลา, 
#เทศกาลดนตรีซัมบาลา, 
#อำเภอเชียงดาว, 
#อาหารมังสวิรัติ, 
#อาหารมังสวิรัติโฮมเมด, 
#ซามมี่ย์หนุนอนันต์, 
#บทความแนะนำ, 
#บทความน่าอ่าน, 
#บทสัมภาษณ์, 
#บทความALTV, 
#ALTV, 
#ThaiPBS, 
#พัทริกาลิปตพัลลภ, 
#แพทพัทริกา, 
#ชาติที่แล้วคงเกิดเป็นแขก, 
#ซินญอริต้าในชุดผ้ากันเปื้อน 
ผู้เขียนบทความ
avatar
พัทริกา ลิปตพัลลภ
แพท
นักเขียนอิสระ เจ้าของหนังสือชาติที่แล้วคงเกิดเป็นแขกและซินญอริต้าในชุดผ้ากันเปื้อน ที่หลงใหลการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ และการได้พบปะผู้คนใหม่ ๆ ก็มีเรื่องน่าสนใจเต็มไปหมด
ALTV CI
คิด-ออก
คิด-ออก
ALTV All Around
ผู้เขียนบทความ
avatar
พัทริกา ลิปตพัลลภ
แพท
นักเขียนอิสระ เจ้าของหนังสือชาติที่แล้วคงเกิดเป็นแขกและซินญอริต้าในชุดผ้ากันเปื้อน ที่หลงใหลการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ และการได้พบปะผู้คนใหม่ ๆ ก็มีเรื่องน่าสนใจเต็มไปหมด
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#อินชาลาทีเฮาส์, 
#inchala.teahouse, 
#Chai, 
#ชาเครื่องเทศ, 
#ที่เที่ยวเชียงใหม่, 
#ร้านน้ำชา, 
#ร้านน้ำชาเชียงใหม่, 
#ซัมบาลา, 
#เทศกาลดนตรีซัมบาลา, 
#อำเภอเชียงดาว, 
#อาหารมังสวิรัติ, 
#อาหารมังสวิรัติโฮมเมด, 
#ซามมี่ย์หนุนอนันต์, 
#บทความแนะนำ, 
#บทความน่าอ่าน, 
#บทสัมภาษณ์, 
#บทความALTV, 
#ALTV, 
#ThaiPBS, 
#พัทริกาลิปตพัลลภ, 
#แพทพัทริกา, 
#ชาติที่แล้วคงเกิดเป็นแขก, 
#ซินญอริต้าในชุดผ้ากันเปื้อน 
แชร์
ชอบ
ติดตามเรา