สัญญาใจวัยเจนฯ Z ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา
คือที่มาของหนังสือรูปอุนจิใส่แว่นดำถ่ายเซลฟี่เล่มนี้ พร้อมกับชื่อที่เล่นกับคำว่า Hashtag ที่กูเกิ้ลเค้าบอกว่าหมายถึง คำหรือวลีที่นำหน้าด้วยเครื่องหมาย # ซึ่งจะใช้ในโพสต์บนโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ที่สนใจหัวข้อนั้นเจอโพสต์ของคุณ เอามาบิดเป็นคำว่า harsh ที่แปลว่า แข็งกระด้าง รุนแรง
เพื่อสื่อว่า # ที่เป็นที่นิยมบนหน้าโซเชียลมีเดียทุกวันนี้ ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องยอดนิยม แต่เทรนด์เหล่านั้นยังนำพาเอาความหยาบคายโหดร้ายมาสู่จุดสนใจพร้อม ๆ กันด้วย จากเรื่องไวรัลโดดเด่นจึงกลายเป็นน้องอุนจิโปรยหัวใจแตกสลายตามรูปบนปก (จริง ๆ หนังสือเล่มนี้พิมพ์ออกมาสองแบบ อีกปกเป็นรูปน้องหมูหน้าสิวที่ถูกเหล่านิ้วโป้งคว่ำตัดสินด้วยวการกด dislike อยู่ล้อมรอบ)
สัญญาใจฯ ที่ว่านั้นต้นเล่มเค้าเกริ่นไว้ว่ามันคือข้อตกลงที่เขียนขึ้นมาเพื่อสร้างขอบเขตให้กับการรณรงค์เพื่อลดการระรานกันทางไซเบอร์ มีอยู่ทั้งหมด 23 ข้อ
ตั้ง 23 ข้อเลยเหรอ? สงสัยว่าแจกแจงอะไรไว้ก็เลยแอบพลิกไปดูท้ายเล่มที่เค้ามีรวบรวมเอาไว้ให้แบบครบถ้วน
เพื่อที่จะพบกับการจัดหน้าสไตล์ราชการ เล่มที่ ๑ ตอนที่ ๑ ก ตามด้วยการแบ่งหมวด ๑. บทนิยาม ๒. หลักทั่วไป ๓. บทเฉพาะ ๔. มาตรการป้องกันไซเบอร์บูลลี่ บรรจุคำนิยามคำแปลเต็มเพียบต่อด้วยรายละเอียดแบบภาษาเขียนสุด ๆ
ห้ามมิให้บุคคลใด...ห้ามใครอะไรยังไง? จะกระทำมิได้...ตกลงทำได้ไหมหรือไม่ได้ทำ? มูลเหตุ เจตนา ข้อเท็จจริง...ฮะ? ไอ้ต้าวยืนหนึ่ง...ฮะ? เดี๋ยวนะ! ระวางโทษ ลดโทษ...เฮ้ย มีลงโทษอะไรกันด้วย
ยิ่งอ่านยิ่งมึน แล้วไหนจะเลขไทยเอยอะไรเอยที่ตามมาย้ำความเป็นทางการไปอีก (อย่ามาบูลลี่เลขไทยนะ!)
ไล่อ่านไปจนครบทุกข้อแบบเหมือนจะเข้าใจ แต่กำแพงภาษาสุภาพก็ยังคงบังตาทำให้เรายังเห็นภาพของคำว่า “ไซเบอร์บูลลี่” ได้ไม่ชัดเจนเท่าไหร่
อันที่จริงเราก็พอจะเข้าใจอยู่หรอก เพราะการเหยียดล้อด่าทอกันบนโลกออนไลน์มันก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ (มันน่าจะเกิดมาพร้อมกันกับอินเทอร์เน็ตนั่นแหละ) คิดว่าหลายคนก็คงเคยได้ยินคำนี้ได้เห็นคำนี้กันมาสักพักแล้ว แต่เราจะพูดได้ครอบคลุมมั้ยนะ ถ้าสมมติว่าต้องอธิบายให้ใครสักคนฟังว่าไซเบอร์บูลลี่มันคืออะไร ทำไมมันถึงกลายเป็นเรื่องสำคัญจนต้องมาตั้งกติกากันเป็นจริงเป็นจัง
...ก็แค่คอมเมนต์ของใครก็ไม่รู้บนเว็บ ทำไมต้องเล่นใหญ่อย่างกับเป็นปัญหาระดับชาติ?
โอโห! ใช่เลยค่า เพราะอะไรแบบนี้แหละค่ะ ถึงจำเป็นจะต้องมีโครงการที่สร้างความตระหนักรู้ว่านี่มันไม่ใช่แค่ตัวหนังสือไร้ความหมายบนจอ แต่มันเป็นข้อความที่ส่งผลกับคนจริง ๆ และที่สำคัญมันทำร้ายจิตใจได้ถึงชีวิต
ทั้ง 9 บทในเล่มล้วนเป็นเหตุการณ์สมมติ แต่ก็ย่อทั้งโลกออฟไลน์และออนไลน์เข้าไปอยู่ในเรื่องสั้นได้อย่างดี วิธีถ่ายทอดที่แตกต่างกันไปของ 9 นักเขียนนักวาดทำให้เราสัมผัสความรู้สึกของคนโดนบูลลี่ได้แจ่มชัดแบบต้องเบ้ปากตามอยู่หลายครั้งอย่างเช่นประโยค
...เด็กสมัยนี้ ความอดทนต่ำ พูดอะไรก็ไม่ได้ ...เมื่อก่อนเค้าก็เล่นกันมาแบบนี้ไม่เห็นจะเป็นไรเลย
เฮ่อ... ถ้าไม่รู้จะทำให้ “คนสมัยนั้น” เข้าใจได้ยังไงก็ลองส่งหนังสือเล่มนี้ให้อ่านแทนก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีค่ะ
หนังสือ “# HARSHTAG - #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา” เป็นการต่อยอดจากโครงการ STOP CYBERBULLYING PLAYBOOK คู่มือที่จัดทำขึ้นโดย dtac Safe Internet มี “สัญญาใจฯ 23 ข้อ” ฉบับเต็มให้เข้าไปค้นหาได้ที่เว็บไซต์ https://www.safeinternetlab.com/brave
สามารถอ่านคำโปรย คลิก >>> # HARSHTAG - #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา
และเราอยากชวนให้ไปดูอีกหนึ่งซีรีส์ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการไซเบอร์บูลลี่ได้อย่างมีลูกเล่น คือรายการ “Try not to bully – ลองไหม..ไม่บูลลี่” โดยทีม POPมั้ย จากช่องยูทูบ MASS MUSIC
ในแต่ละตอนเราจะชมผู้คนหลากหลายบนโลกออนไลน์ที่เคยโดนทำร้ายใจมาพูดคุยไปพร้อม ๆ กับทีมงานและศิลปินรับเชิญ โดยทุกเอพิโสดเรื่องราวของพวกเขาจะถูกนำมาร้อยเรียงเข้าเป็นผลงานที่สะท้อนประสบการณ์จริง ด้วยความตั้งใจของชาว POPมั้ยที่อยากให้เสียงดนตรีเป็นอีกหนึ่งสื่อกลางสำหรับถ่ายทอดสารดี ๆ ออกไปอย่างเข้าถึงได้ง่าย และเข้าใจความรู้สึกกันได้มากขึ้น
ตัวอย่างรายการ “Try not to bully - ลองไหม.. ไม่บูลลี่” << คลิก
เรื่อง : พัดชา เอนกอายุวัฒน์ // ภาพประกอบ : ณภัค ภูมิชีวิน