ถ้าหากคุณจะต้องเล่าความลับลึก ๆ ที่อยู่ในใจ คุณจะ...?
ก. คุยกับเพื่อนสนิท มีแค่แกเท่านั้นจะได้แบ่งปันความลับกับชั้น
ข. บอกแฟน เรื่องนี้มีแค่เธอคนเดียวที่จะรู้และเข้าใจ
ค. เล่าให้ที่บ้านฟัง ครอบครัวคือพื้นที่ปลอดภัย พ่อแม่คือคนที่รักเราอย่างไรข้อแม้
ง. เรื่องสำคัญขนาดนั้นจะไปบอกใครทำไม บันทึกไว้ในไดอารี่แล้วล็อคปิดตายไปจ้า
หรือ... จ. ลองแลกเปลี่ยนความลับนั้นกับคนแปลกหน้า
บ้า... ใครจะไปทำอย่างงั้น ขนาดคนรู้จักเรายังไม่อยากให้รู้เลย จะอะไรกับคนแปลกหน้า!
ไอเดีย “The Authenticity Project – โปรเจกต์แห่งความสัตย์จริง” ที่ให้เขียนความจริงเดียวเกี่ยวกับชีวิตลงสมุดก่อนจะทิ้งไว้ เพื่อรอให้ใครสักคนมารับช่วงการเล่าเรื่องส่วนตัวต่อไป คือแกนหลักของนิยายเรื่องนี้ ในแวบแรกมันขัดกับสัญชาติญาณช่างอุ๊บอิ๊บของเราอย่างมาก แต่ก็ทำให้สะดุดใจได้มากเช่นกัน
เพราะฝั่งหนึ่งที่เป็นคนหวงความเป็นส่วนตัว ก็ยังมีเราอีกฝั่งที่ช่างสงสัย (ไม่ชอบเล่าเรื่องตัวเองไม่ได้หมายความว่าไม่อยากรู้เรื่องชาวบ้านนี่นา) อยากรู้ว่าคนแบบไหนกันนะที่จะยินดีเปิดเผยมันต่อคนแปลกหน้า พวกเขาเล่าเรื่องอะไร แล้วต้องใช้วิธีใดกันถึงไขเอาความในใจนั้นออกมาได้?
“คุณรู้จักคนที่อยู่ใกล้คุณมากแค่ไหน เขารู้จักคุณดีเพียงใด คุณรู้จักชื่อเพื่อนบ้านไหม คุณจะรู้ไหมหากเขากำลังเผชิญปัญหาหรือว่าไม่ได้ออกจากบ้านมาหลายวันแล้ว ทุกคนต่างโกหกเรื่องชีวิตของตัวเอง จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณแบ่งปันความจริงแทน ความจริงเดียวที่นิยามความเป็นคุณ สิ่งที่ทำให้ทุกอย่างเกี่ยวกับคุณเข้าที่เข้าทาง ไม่ใช่บอกกล่าวในอินเทอร์เน็ตแต่บอกกันคนจริง ๆ ที่รายล้อมรอบตัวคุณ”
เป็นสองย่อหน้าแรกที่บันทึกไว้ในสมุดปกสีเขียวหน้าตาธรรมดา คำถามพวกนี้ยังไม่ใช่ยา truth serum (ยาซีรั่มที่ทำให้พูดความจริง) ที่แรงพอจะโน้มน้าวให้เราคายความลับของตัวเองออกมาได้หรอกนะ แต่มันก็มากพอจะกระตุ้นความอยากรู้ของโมนิกาคนที่บังเอิญพบสมุดเล่มนี้ได้ เธอเปิดดูด้วยความห่วงว่ามันน่าจะเป็นของสำคัญของใคร เพราะเดาว่าน่าจะมีคนลืมทิ้งไว้ที่ร้านคาเฟ่ของเธอ จึงอยากจะส่งมันคืนให้ถึงมือเจ้าของ
โมนิกาเป็นผู้หญิงที่เติบโตมาด้วยการถูกสอนว่าความรักและการแต่งงานไม่ใช่ทุกอย่าง และความโสดนั้นไม่ใช่ความผิด แม่ของเธอเคยย้ำไว้ว่าเมื่อโตขึ้นเธอต้องทำงานทำการดูแลตัวเองให้ได้ อย่าเอาชีวิตไปผูกไว้กับคู่ ก็ต้องบอกว่าเธอโตมาเป็นผู้ใหญ่แบบที่ไม่ทำให้คุณแม่ผิดหวัง เมื่อปัจจุบันเธอเป็นเธอเจ้าของกิจการผู้ฉลาด รอบคอบ ใส่ใจ มีลูกน้องมีรายได้เพียงพอกับการดำรงชีวิตด้วยตัวเองในอายุ 37 ปี
ดูเป็นสาวแกร่ง มั่นคง มั่นใจ แถมอายุเท่ากับเราพอดีเสียด้วย ถึงไม่ได้สนใจโปรเจกต์ความจริงสักเท่าไหร่ แต่โมนิกานี่น่าสนใจ
“ผมชื่อจูเลียน เจสซอป อายุเจ็ดสิบเก้า และผมเป็นศิลปิน ตลอดระยะเวลาห้าสิบเจ็ดปีที่ผ่านมา ผมอาศัยอยู่ที่เชลซีสตูดิโอบนถนนฟูลัม...”
ใครจะรู้ว่าจูเลียนที่ชวนคนอื่นเล่าความจริงนั้นพูดจริงเกี่ยวกับเรื่องของตัวเองหรือไม่ แค่ไหน แต่หลังจากติดตาม “ความจริง” ของแต่ละตัวละครไปตลอดเรื่องแล้ว เมื่อเราพลิกกลับไปต้นเล่มเพื่อย้อนอ่านข้อความที่เขียนนำไว้ในสมุดปกลีเขียวเล่มนั้นอีกครั้ง เราก็พบว่าประโยคถัดมาที่จูเลียนเขียนไว้นั้นช่างแสนจะจริง
“...เหล่านั้นเป็นข้อมูลพื้นฐาน แต่นี่คือความจริง : ผมเหงา”
นิยายเรื่องนี้เต็มไปด้วยคนเหงา ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว
แล้วคุณล่ะ กำลังรู้สึกเหงาอยู่หรือเปล่า ลองเปิดอ่านสมุดบันทึกแห่งความสัตย์จริงด้วยกันไหม เผื่อจะเจอหนทางคลายเหงา
อ่านตัวอย่าง คลิก>> “The Authenticity Project – สมุดบันทึกแห่งความสัตย์จริง” โดย แคลร์ พูลีย์ แปลโดย ณัฏฐรี ของสำนักพิมพ์ piccolo
เรื่อง : พัดชา เอนกอายุวัฒน์ // ภาพประกอบ : ณภัค ภูมิชีวิน