ถ้าหากวันหนึ่งคุณกลายเป็น “ออเจ้า” ที่หลุดเข้าไปในอดีตกาลแห่งสยาม สักช่วงปีสองพันสี่ร้อยนิด ๆ และถูกเชิญให้ “ฉายภาพ” อย่างเป็นทางการ คุณควรยิ้มให้กล้องหรือไม่?
หลายคนอาจจะรู้คำตอบว่า “ไม่ยิ้ม” เพราะในกล้องถ่ายภาพรุ่นแรก ๆ นั้นยังไม่อำนวยให้เราถ่ายรูปได้ร้อยโพสต์รัว ๆ อย่างการเอามือถือเซลฟี่แบบทุกวันนี้ คนสมัยโน้นต้องนั่งอยู่หน้าเลนส์กันทีละหลายสิบนาทีกว่าจะบันทึกภาพสำเร็จแต่ละเฟรม ถ้าออเจ้าจะเป็นนางแบบยิ้มแฉ่ง สุดท้ายออเจ้าอาจจะได้รูปยิ้มแห้งมาแทน
แต่นอกจากเรื่องความขัดข้องทางเทคนิคแล้วก็ยังมีเหตุผลอื่นอีกหลายอย่าง ว่าทำไมเขาถึงไม่ยิ้มกัน?
คุณโต๊ด นักรบ มูลมานัส ศิลปินสไตล์คอลลาจซึ่งเป็นงานศิลปะที่เกิดจากการนำ “รูปภาพ” มาตัดแปะประกอบเข้าด้วยกันให้เกิดเรื่องราวหรือความหมายใหม่ เมื่อต้องคลุกคลีอยู่กับรูป ความสนใจและความสงสัยก็เริ่มขยายวงออกไปเรื่อย ๆ โดยเริ่มต้นออกมาเป็นตัวหนังสือผ่านเว็บไซต์ readthecloud.co ในรูปแบบของคอลัมน์ จนถูกเพิ่มเติมและปรับปรุงเนื้อหาออกมาเป็นรูปเล่มสมบูรณ์ในที่สุด
ด้วยงานคอลลาจภาพจากอดีตที่ถูกวางประกอบกันบนปกสีขาว (ซึ่งแน่นอนว่าเป็นฝีมือของคุณโต๊ดเอง) หากมองเผิน ๆ ก็คือภาพโบราณกลุ่มหนึ่ง แต่ถ้าลองซูมดูใกล้ ๆ แล้วจะพบว่าแต่ละรูปมีความไม่น่าจะเข้ากันได้อย่างน่าสนใจ และก็ทำให้เราสงสัยตามไปด้วย เช่น ทำไมตากล้องจึงเป็นหญิงนุ่งโจง เกี่ยวอะไรกับอาคารอลังการแบบยุโรป จั่วหัวไว้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยทำไมถึงมีภาพวาดกลุ่มทาสแบบแอฟริกัน ไปจนถึงรูปนายแบบคนแรกแห่งสยามที่ได้รับค่าจ้างจากการถูกถ่ายภาพ (เดากันถูกไหมว่าคือคนไหน?)
ไม่รู้ว่าบังเอิญหรือตั้งใจ แต่ภาพ “เบื้องหลัง” ที่เลือกมาพูดถึงในบทนำก็เป็นคำใบ้ได้อย่างดี ว่าเนื้อหาในเล่มจะไม่หยุดอยู่แค่ผลลัพธ์ภาพสำเร็จแน่ ๆ แต่จะพาเราออกไปดูและไปคิดนอกกรอบกันอย่างเพลิดเพลิน
คุณโต๊ดให้สัมภาษณ์ไว้ว่าเรื่องราวในเล่มถูกผูกโยงเข้าด้วยกันในสไตล์คล้ายกันกับงานคอลลาจ พลิกดูรวดเดียวอาจไม่ทันเก็ต แต่พอเริ่มลงมืออ่านก็ลื่นไหลเหมือนมีคุณโต๊ดมาคอยเปิดอัลบั้มรูปพร้อมชวนคุยถึงที่มาที่ไปแบบรอบโลก
ในยุคนี้ที่เต็มไปด้วยโปรแกรมรีทัช ไม่ถึงกับต้องเก่งคอมพิวเตอร์ด้วยซ้ำไป หัดใช้แอปซะหน่อยก็แต่งรูปออกมาได้สวยเว่อร์ตามใจแล้ว ช็อตเมื่อกี๊ไม่ทันยิ้มใช่มั้ย ไม่ใช่ปัญหาเพราะว่าเรามี ฟิลเตอร์เติมยิ้มมม (น้ำเสียงแบบของโชว์ของวิเศษของโดราเอม่อน) นี่แหนะ!
ภาพยิ้มสวยเนี้ยบกริบที่เห็นผ่านตาในโซเชียลมีเดียจึงให้ความรู้สึกถึงการแต่งเติมจนล้นเกินอยู่บ่อย ๆ ไม่เหมือนกับยุคที่การถ่ายรูปไม่มีอะไรมากไปกว่าการ “ชักภาพ” ให้แสงตกกระทบผ่านเลนส์ลงสู่ฟิล์มมันช่างแสนออเธนทิค (เน้นคำสำเนียงบริติช)
จริงเหรอ?
คุณแน่ใจได้อย่างไรว่าภาพโบราณเหล่านั้นสะท้อนความจริงออกมาได้มากกว่าภาพในปัจจุบัน?
ที่บอกว่าคนสมัยนี้หน้าชื่นอกตรมก็ไม่มีทางรู้ เพราะล้วนแต่งหน้าออนไลน์อวด “ชีวิตดีๆ” กันทั้งนั้น...
แต่เมื่อความนิยมในสมัยก่อนคือถ่ายรูปเค้าไม่ยิ้มกัน ต่างจากสมัยนี้ที่การ “say cheese” กลายมาเป็นมาตรฐาน
ก็เท่ากับว่าเราไม่รู้ความในใจของคนในภาพเช่นกันหรือเปล่า? แล้วจะรู้ได้ไงว่าคนสมัยก่อนเค้าไม่ได้ถ่ายรูปเพื่ออวดชีวิตดีๆ?
หรือคนที่อยู่ในรูปนั้นจริง ๆ แล้ว...สามารถยิ้มได้หรือไม่??
สามารถอ่านคำโปรยของหนังสือ “เล่นแร่แปลภาพ ประวัติศาสตร์สยามจากเบื้องหลังภาพถ่าย” << คลิก โดย นักรบ มูลมานัส
ขอบคุณภาพประกอบ GQ THAILAND // TODAY LINE ME