ข้อดีของหนังสือเล่มบาง: ราคาไม่แรง น้ำหนักน้อย ไม่เกะกะ ถืออ่านบนรถไฟฟ้าก็ได้ หรือว่าจะพาไปเข้าห้องน้ำด้วยก็สะดวกสมกับที่ถูกเรียกว่าพ็อกเก็ตบุ๊ค
เราเห็นหนังสือเล่มน้อยนี้ที่โซนแนะนำหน้าเคาน์เตอร์แคชเชียร์ แทรกตัวอยู่ท่ามกลางหนังสือขายดีติดอันดับมากมาย เหมือนเด็กวัยรุ่นยืนอยู่ในหมู่เซเลบริตีสุดฮอต เราจะไม่เคยได้ยินนักเขียนชื่อ “วัน รมณีย์” มาก่อน ส่วนสำนักพิมพ์แซลมอนนี่รู้จักมาเป็นสิบปี จึงทำให้ไม่ลังเลใจที่จะแวะหยิบมาพลิกดูก่อนเดินเอาเล่มอื่นที่หอบมาเต็มตะกร้าไปจ่ายตัง
แม้เจ้าตัวจะตั้งชื่อเอาไว้ว่า “#หลงยุคหลุดสมัย” ตามบทของเรื่องสั้นในเล่ม แต่เล่นเอาแฮชแท็กมาใส่นำหน้าขนาดนี้ก็ทำให้เราไม่เชื่อว่าเนื้อหาจะเชยเฉิ่มไปได้ ปกหนังสือที่พิมพ์รูปหูโทรศัพท์สาธารณะจากยุคที่แล้วห้อยตัดกับพื้นหลังสีชมพูสลับฟ้าฉูดฉาดกลับทำให้เรารู้สึกสนใจมากกว่าเดิม
บรรณาธิการเรียกหนังสือเล่มเล็กบรรจุไว้เพียงสามเรื่องสั้นนี้ว่า “แซลมอนซาชิมิ” เพราะเป็นชิ้นงานสุดสดจากมือนักเขียน จัดรูปเล่มเสร็จส่งแท่นพิมพ์ออกมาสู่สายตานักอ่านโดยไร้การปรับแก้ ด้วยความเชื่อว่างานบางแบบก็เหมาะจะให้ผู้อ่านได้ชิมแบบไม่ต้องปรุง
ไม่ใช่แค่เราที่ไม่รู้จักคุณวัน รมณีย์ ตัวสำนักพิมพ์เองก็ยังแทบไม่ได้สื่อสารอะไรกันมากไปกว่าเรื่องจำเป็นเกี่ยวกับต้นฉบับและสิ่งที่เจ้าของผลงานได้ตั้งข้อแม้ไว้ว่า การตีพิมพ์ต้องคงเนื้อหาทุกตัวอักษรที่เขียนไว้โดยไม่ปรับการเว้นวรรคและตัวสะกดที่ตั้งใจกำหนดเช่นนั้นแม้จะไม่ตรงกันกับที่กำหนดในพจนานุกรม และบอกว่า “ไม่ต้องพยายามสืบหาว่าวัน รมณีย์ คือใคร” ด้วย
วาววว... ชอบเลยลึกลับแบบนี้
จ๊ะเอ๋ / บุษบา / หลงยุคหลุดสมัย
ความยาวของแต่ละบทนั้นไม่เกิน 20 หน้า แต่เราใช้เวลาไปเกือบชั่วโมงสำหรับแต่ละเรื่อง ไม่ใช่เพราะกลัวหนังสือจะจบไวไม่คุ้ม 85 บาท เมื่อรู้อยู่แล้วว่ามันจะจบลงอย่างไม่เยิ่นเย้อ ทำให้สบายใจที่จะค่อย ๆ คิดตามจังหวะจะโคนที่ผู้แต่งกำกับให้สมกับที่แซลมอนบอกว่างานดีจัดไม่ต้องตัดต่อ เพราะนอกจากตัวหนังสือจะพาเราล่องไปในเนื้อเรื่องแล้ว ระหว่างบรรทัดที่คุณวัน รมณีย์แทรกไว้ก็มีทั้งรสหวานขมเปรี้ยวแซ่บ ทำเอาเราหัวเราะ “หึ” ออกมาด้วยหลายอารมณ์
ข้อดีของหนังสือเล่มบาง: ไม่มีความหนาหนักมาตัดกำลังใจ พอหนังสือเล่มเล็กปุ๊กปิ๊กก็ดูไม่น่ากลัวสำหรับคนที่ไม่ใช่นักอ่านสายอึด
และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ถ้าหากจะลองชวนให้ใครเข้าสู่โลกของหนังสือ เพราะกลิ่นความลึกลับจากตัวผู้เขียนที่ตามมาถึงในเรื่องเล่าที่พลิกไปมาบ่อยพอกับที่เราพลิกหน้ากระดาษ จะหลอกล่อให้คุณอ่านไปจนจบอย่างไม่ทันรู้ตัวเลยทีเดียว
ถึง “#หลงยุคหลุดสมัย” ของวัน รมณีย์จะเป็นหนังสือเรื่องสั้นเล่มเล็ก สำนักพิมพ์แซลมอนก็ยังแอบแง้มตัวอย่างไว้ให้อ่านกันก่อนที่
คลิก >> #หลงยุคหลุดสมัย
เรื่อง : พัดชา เอนกอายุวัฒน์ // ภาพประกอบ : ณภัค ภูมิชีวิน