“The godmother of Punk has died.”
เมื่อวันที่ 29 ธันวาคมปีที่แล้ว เราเห็นพาดหัวข่าวสั้นนี้ผ่านหน้าไทม์ไลน์ของทวิตเตอร์แล้วก็รู้ทันทีว่าบุคคลที่ข่าวกล่าวถึงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก Vivienne Westwood ตัวแม่ (ตัวย่า?) แห่งวงการแฟชั่นจากประเทศอังกฤษ ผู้นำพา “ความพังค์” มาสู่โลกใบนี้
“เราสร้างพังค์ขึ้นมา”
วิเวียนเริ่มต้นการตอบคำถามด้วยประโยคสั้น ๆ เมื่อถูกถามถึงหัวข้อนี้มาไม่รู้กี่ครั้งแล้วตลอดชีวิตของเธอ ก่อนจะเล่าถึงที่มาของวง “Sex Pistols” อีกหนึ่ง Punk Icon ในตำนานที่วิเวียนและมัลคอล์ม แม็กคลาเรน (พาร์ทเนอร์ของเธอในช่วงเวลานั้น) เป็นผู้รวบรวมสมาชิกตั้งวงขึ้นมา
ดนตรีร็อกเสียงลั่นพร้อมเนื้อหาแหกคอกอย่างเพลง “God Save the Queen” (ปล่อยออกมาครั้งแรกเมื่อปี 1977) กลายเป็นประเด็นร้อนแรงเมื่อซิงเกิ้ลถูกแบนจากสื่อหลักอย่าง BBC ถึงอย่างนั้นก็ดูเหมือนจะทานกระแสไว้ไม่ได้สักเท่าไหร่ เมื่อทั้งวงทั้งเพลงได้รับความนิยมจากผู้ฟังมากจนทำให้ผลงานขึ้นไปอยู่อันดับท็อปของชาร์ตเพลงระดับประเทศ
“เราต้องการบ่อนทำลายสถาบันทางสังคม
...เราไม่ยอมรับคุณค่าที่คนรุ่นเก่าสร้างขึ้นมา
เราเป็นวัยรุ่นกบฏ นั่นแหละคือ PUNK”
ด้วยสไตล์ดนตรีและภาพลักษณ์ภายนอกที่ห่างจากคำว่ารื่นหูสบายตาแบบคนละโลกเช่นนี้ “พังค์” จึงถูก “แปะป้าย” ให้เป็นตัวแทนแห่งความห่ามความขบถและความรุนแรงไปโดยปริยาย
ระหว่างที่วิเวียนเล่าย้อนอดีตไปถึงงานออกแบบช่วงเริ่มต้นของเธอ ตัวสารคดีก็คัดฟุตเทจชุดพังค์ ชุดยาง ชุดหนังตอกหมุด และซีนการแสดงสดของวงดนตรีจากไลฟ์เฮาส์ในยุคเดียวกันมาให้เราได้เห็นความฉูดฉาดแสบสันและได้ฟังเพลงประกอบแสบหู
จู่ ๆ สารคดีก็ตัดฉับไปสู่ Victoria and Albert Museum เห็นเหล่าเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์เข็นรถลำเลียงของออกมาจากส่วนเก็บรักษาแล้วบรรจงเรียงมันลงบนโต๊ะเรียบพื้นดำขนาดกว้างทีละชิ้น
“นี่คือเสื้อยืด “DESTROY” ทำจากผ้ามัสลิน” กล้องมุมสูงโฟกัสไปที่เสื้อแขนยาวสีขาวสกรีนลายสีแดงดำชายผ้าหลุดลุ่ยตัวหนึ่ง “เป็นหนึ่งในเสื้อผ้าชิ้นสำคัญที่สุดที่เวสต์วูดและแม็กคลาเรนทำขึ้นมา...” แล้วภัณฑารักษ์ก็บรรยายลักษณะผ้าและวิธีการออกแบบพร้อมกับใช้มือที่สวมถุงมือขาวหยิบจับสาธิตวิธีการคล้องตะขออย่างบรรจง ก่อนที่จะอธิบายต่อถึงเรื่องความหมายของลายสกรีนทีละจุด
จากลูกสาวชนชั้นแรงงานที่ไม่มีตัวเลือกในชีวิตมากมายนัก เริ่มต้นเช่าร้านทำเสื้อขายด้วยทุนเพียงหนึ่งร้อยปอนด์ วิเวียนต้องผ่านการพิสูจน์ตัวเองมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ด้วยความพยายามรวมกับพรสวรรค์ที่เธอมี กิจการห้องเสื้อแห่งนี้ก็ค่อย ๆ ลงหลักปักฐานจนกลายเป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลก
“บางทีก็มีคนถามฉันว่า “คุณจะมีวันเกษียณไหม”
ฉันบอกว่า “คนที่เกษียณแล้วเขาก็จะไปทำงานที่เขาชอบกัน” แต่ฉันก็ทำงานที่ฉันชอบอยู่นี่ไง
แล้วก็ดูเหมือนว่าเธอไม่ได้หยุดการสร้างสรรค์ผลงานเลยจนตลอดชีวิต และยังได้ฝากฝังไอเดียและแนวทางการทำงานไว้ให้กับแบรนด์แล้วด้วย ก่อนที่เธอจะจากไปอย่างสงบในวัย 81 ปี
การเป็นทั้งนักออกแบบหัวดื้อและนักเคลื่อนไหวที่มุ่งมั่นผลักดันประเด็นต่าง ๆ ในสังคมทำให้เธอต้องฝ่าฟันอุปสรรคสารพัดอย่าง และมันก็ดูจะผลิดอกออกผลในที่สุด
ปัจจุบันผลงานสำคัญของวิเวียนหลายชิ้นไม่เพียงขึ้นไปโลดแล่นบนรันเวย์ แต่ยังได้ถูกหยิบไปศึกษาก่อนจะคัดเลือกเพื่อนำมาจัดเก็บในพิพิธภัณฑ์ที่เพียบพร้อมด้วยดูแลรักษาอย่างดีอีกด้วย
ชื่อ Vivienne Westwood สำหรับอังกฤษยุคนี้ เป็นหนึ่งในแบรนด์สำคัญที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เธอได้รับรางวัลสำคัญทั้งในวงการออกแบบและรางวัลทางสังคมหลายครั้งหลายคราว ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และถูกประดับยศ Dame Vivienne Westwood
สุดท้าย “ท่านผู้หญิงวิเวียน” ที่ถูกยกย่องและยอมรับให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันที่เธอเคยออกตัววิพากษ์วิจารณ์นั้น ได้ถูกทำให้อ่อนโอนไปตามระบบแล้วหรือไม่?
เราย้อนนึกถึงดนตรีคลาสสิคหรูที่ประกอบฉากในพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาแล้วก็สงสัยว่าถ้าคุณย่าวิเวียนบนสวรรค์ตอนนี้มองมาแล้วจะรู้สึกอย่างไร ที่เสื้อยืดเลอะเทอะตัวหนึ่งที่เคยถูกใช้เป็นคอสตูมสำหรับคอนเสิร์ตพังค์อันเป็นศูนย์รวมวัยรุ่นนอกคอกชุ่มเหงื่อ ได้ถูกนำมาขัดสีฉวีวรรณดูแล หากจะนำออกมาจัดแสดงจะต้องถูกหยิบจับอย่างทะนุถนอมด้วยมือของผู้เชี่ยวชาญภายในถุงมือขาวเท่านั้นเช่นเดียวกันกับของชิ้นอื่น ๆ ที่ถูกนำมาจัดเก็บ และถูกบอกว่ามันเป็นศิลปวัตถุชิ้นสำคัญทางประวัติศาสตร์
อันที่จริงก็มีความเห็นของคุณย่าวิเวียนเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ในสารคดี และเราก็อยากจะโควตมาใส่ในบทความเหลือเกิน
แต่ชวนคุณไปชมด้วยตัวเองดีกว่า เพราะเราอยากให้คุณได้เห็นสีหน้าท่าทางของเธอด้วย โดยเฉพาะใบหน้าของเธอที่มองผลงานแต่ละคอลเล็กชันที่สำเร็จออกมา มันช่างเป็นแววตาที่ระยิบระยับและมีชีวิตเสียเหลือเกิน
🎞ชม official trailer ของสารคดี คลิก>> “WESTWOOD: PUNK, ICON, ACTIVIST”
🧐บทความเพิ่มเติม
ข่าวจาก BBC “Dame Vivienne Westwood - the godmother of punk” <<คลิก
เรื่องราวเกี่ยวกับเพลง “God Save the Queen” ของ Sex Pistols จาก Wikipedia <<คลิก
บทความ “The Punk Movement” บรรยายถึงความพังค์อย่างกระชับ จาก Growthinktank <<คลิก