– 99 problems but the money ain’t one.
อาหารหนึ่งมื้อในวันธรรมดาของคุณราคาประมาณกี่บาท?
ทุกวันนี้เดินเข้าศูนย์อาหาร สั่งข้าวสั่งน้ำ บวกกับแวะซื้อขนมหรือกาแฟกินปิดท้ายเดาว่าแบงก์ร้อยใบเดียวอาจจะเอาไม่อยู่ สมมติว่าอยู่มาวันหนึ่งคุณได้รับรางวัลลูกค้าผู้โชคดีให้คุณได้กินมื้อกลางวันฟรีไปตลอดทั้งเดือนจะเป็นอย่างไร อาจจะเบื่อนิดหน่อยที่ต้องกินข้าวที่เดิมไปอีก 30 วัน แต่มันก็ดีไม่ใช่เหรอที่จะประหยัดเงินค่าข้าวไปได้อย่างน้อยตั้งเดือนละสามพันบาท
แล้วจะเอาสามพันที่ไม่ต้องใช้นั้นไปทำอะไรดีน้า?
แล้วถ้ามันไม่ใช่แค่เรื่องโชคดีล่ะ... ถ้าหากประเทศของคุณโอนเงินให้คุณทุกเดือนฟรี ๆ คุณจะเอาเงินไปทำอะไร?
ถ้ามีคนมาช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทุกเดือน ชีวิตน่าจะดีขึ้นนะคุณว่าไหม แทนที่จะต้องอยู่กับการทำงานสัปดาห์ละห้าหกวัน วันละเกินแปดชั่วโมงเพื่อหารายได้มาเลี้ยงชีพ ทีนี้ไม่ต้องทำงานหนักขนาดนั้น แล้วคุณจะเอาเวลาไปทำอะไร?
พอไม่จำเป็นต้องทำงานเพื่อหาเงินอีกต่อไป จะลาออกเลยดีมั้ย... หรือยังยินดีจะทำงานที่เรารัก ถ้าอย่างนั้นคุณจะเอาค่าตอบแทนที่เพิ่มมาไปทำอะไรต่อ?
ต้องขออภัยคนอ่านที่รัวคำถามใส่ไม่หยุด แต่พอพูดว่าประเทศจะให้เงินเรา หรือนโยบายที่จะให้ทุกคนมี “unconditional basic income – รายได้พื้นฐานแบบไร้เงื่อนไข” (...เอ๊ย! ไร้เงื่อนไขเลยเหรอ นี่มันนโยบายหรือความรัก!?) มันจะเป็นไปได้ยังไง สมมติว่าประเทศไทยจะออกค่าข้าวให้คนไทยทั้งประเทศพร้อมกัน แค่มื้อเดียววันเดียวคนละร้อยนะ คูณคนไทยแบบคร่าวหกสิบหกล้านคน ก็เท่ากับหกพันหกร้อยล้านบาทเข้าไปแล้ว การให้รายได้พื้นฐานเป็นเรื่องใหญ่กว่าเลี้ยงอาหารกลางวันไปอีกไกลลิบจนจินตนาการภาพไม่ออก ก็เงินไม่ได้หล่นมาจากฟ้าเสียหน่อย แล้วจะเอาเงินมาให้ประชาชนฟรี ๆ ได้ยังไง ไม่มีทาง
สารคดี “FREE LUNCH SOCIETY” บอกเราว่าจริง ๆ แล้วมันมีทางนะ ที่จะทำให้ประชากรมีรายได้พื้นฐานกันอย่างถ้วนหน้า เพราะอันที่จริงแล้วเรามีวิธีหาเงินจากประเทศที่เราเป็นเจ้าของร่วมกันได้อีกหลายวิธี
แต่ถ้าเอาเงินมาแจก จนทุกคนมีเงินเดือนแล้วจะเหลือใครอยากทำงานกันล่ะ แล้วเค้าจะเอาเงินไปกินเหล้าเมายารึเปล่า สังคมเราจะไม่แย่เอาเหรอ...?
คุณอาจมีความคิดทำนองนี้อยู่ในใจ ไม่แปลกเลยเพราะแม้แต่มิกาเอล บอห์เมเยอร์ หนึ่งในอาสาสมัครของกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านรายได้ขั้นพื้นฐานในเบอร์ลินเองก็อดคิดแบบนี้ไม่ได้เช่นกัน
“ผมถามตัวเองมาสักพักแล้วว่า ทำไมเราถึงไม่มีความเชื่อใจแบบนี้ ทำไมลึก ๆ แล้วเราถึงสงสัยแรงจูงใจของคนอื่นในทางลบ และผมเพิ่งพบคำตอบว่าการไม่พอใจคนอื่นน่ะ เป็นปัญหาของผมเองต่างหาก”
มิกาเอลบอกว่าเป็นเพราะเขาเติบโตมาอย่างขาดแคลน จึงไว้ใจมนุษย์ได้ยาก และยังคงมีความกลัวว่าในที่สุดหากแบ่งเงินให้คนอื่นไปเรื่อย ๆ มันจะเหลือมาไม่ถึงเขา
สารคดีหยิบเอาทั้งกรณีตัวอย่างมาโชว์ให้เราเห็นว่าจริง ๆ แล้ว เงินที่จะให้ทุกคนน่ะหาได้ และรวบรวมการทดลองจากหลายประเทศมาให้ดูด้วยว่าการให้คนในชุมชนมีรายได้พื้นฐานอย่างเป็นระบบนั้นไม่ได้นำพาสังคมไปสู่ความล้มเหลวอย่างที่หลายคนคิด
ในเมื่อปัจเจกบุคคลไม่ใช่ประเด็น และเงินก็ไม่เป็นปัญหา แล้วทำไมแนวคิด basic income จึงยังเกิดขึ้นจริงอย่างกว้างขวางไม่ได้เสียที?
เราเปิดสารคดีดูเพื่อเทียบเนื้อหากับบทความที่ร่างไปอีกรอบ...
“มันไม่เคยเป็นเรื่องของการครอบครอง มันเป็นเรื่องของอำนาจ”
ประโยคคมจากซีรีส์ไซไฟในตำนานอย่าง STARTREK ถูกยกขึ้นมาเปิดหัวสารคดี “FREE LUNCH SOCIETY” แถมด้วยเสียงจิงเกิ้ลดนตรี ‘ผ่ามพามพ้าม’ อย่างเล่นใหญ่ในทุกครั้งที่ขึ้นหัวข้อใหม่ เราแอบคิดในใจว่าตกลงนี่กำลังดูสารคดีจริงจังหรือหนังตลกร้ายกันแน่
สามารถชมสารคดี “FREE LUNCH SOCIETY” << คลิก ได้แล้ววันนี้ทาง VIPA.me
เรื่อง : พัดชา เอนกอายุวัฒน์ // ภาพประกอบ : ณภัค ภูมิชีวิน