เมื่อช่วงกลางคืนของวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมาตามเวลาไทย มีข่าวใหญ่ที่ทำให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องของ “การทำแท้ง” ถูกยกขึ้นมาพูดถึงกันอย่างร้อนแรงอีกครั้ง เมื่อคำวินิจฉัยของศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกามีผลเปลี่ยนแปลงสิทธิการทำแท้งของผู้หญิงทั่วประเทศ
จากเดิมที่การยุติการตั้งครรภ์นั้นเป็นสิทธิที่ถูกรับรองตามรัฐธรรมนูญไม่ว่ารัฐไหนก็ต้องเคารพกติกานี้อย่างเท่าเทียมกัน
การลงมติของคณะตุลาการในครั้งนี้ตัดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ นั่นหมายความว่าอำนาจดังกล่าวตกไปอยู่ที่การพิจารณาและการตัดสินใจของรัฐบาลท้องถิ่น ถึงแม้ว่าบางรัฐจะออกมาประกาศว่าจะยังคงปกป้องสิทธิการทำแท้งของผู้หญิงให้มีอยู่ต่อไป แต่หลังจากมีคำตัดสินจากศาลสูงสุดออกมาเพียงไม่นาน หลายพื้นที่ก็ได้เริ่มดำเนินการบังคับใช้กฎหมายที่จำกัดสิทธิการทำแท้งทันที และเริ่มมีคลินิกที่ให้คำปรึกษาด้านการวางแผนครอบครัวที่รับทำแท้งถูกบีบให้ต้องปิดตัวหรือย้ายกิจการแล้ว
ในอเมริกา ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมาย โดยเป็นผลจากคดี “Roe V. Wade” เมื่อ ปี ค.ศ. 1973 ซึ่งศาลสูงสุดตัดสินว่ากฎหมายห้ามการทำแท้งของรัฐเทกซัสและรัฐจอร์เจียขัดต่อรัฐธรรมนูญของประเทศ เพราะละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของสตรี เป็นผลให้สิทธิยุติการตั้งครรภ์ของผู้หญิงนั้นได้รับการคุ้มครองโดยชอบจากกฎหมายในรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะเห็นดีเห็นด้วยไปในทางเดียวกันทุกฝ่าย มีคนออกมาคัดค้านและถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องนี้กันมากมายจนกลายเป็นกลุ่มชัดเจนระหว่าง กลุ่ม pro choice ที่คิดว่าในเมื่อเราเลือกที่จะมีบุตรได้ เราก็ควรมีสิทธิ์เลือกว่าจะไม่มีบุตรได้เช่นกัน กับอีกด้านคือกลุ่ม pro life ที่คิดว่าการทำแท้งเป็นการทำลายชีวิตโดยที่ทารกไม่ได้มีสิทธิ์เลือก และมองว่านี่คือการฆาตกรรมคนบริสุทธิ์
ที่เขียนเล่ามาทั้งหมดนี้เราเองก็เพิ่งได้มาตั้งใจค้นอ่านเมื่อตอนเห็นข่าวล่าสุดนี่เอง ถึงแม้ว่าจะเคยเห็นการชุมนุมเรียกร้องของทั้งกลุ่ม pro life และ pro choice ผ่านตามาบ้าง แต่หลายครั้งมันก็ถูกนำเสนอออกมาในแง่ของเกมการเมือง จนทำให้เราเองก็มองข้ามใจความสำคัญของปัญหาไปด้วย
...แล้วการยุติการตั้งครรภ์กลายเป็นเรื่องของการเมืองได้อย่างไร?
ความสงสัยของเราตรงกันกับคำถามในสารคดีเรื่อง “REVERSING ROE – แท้ง/ท้อง: พลิกกฎหมายทางเลือก” ที่นำเสนอเรื่องราวการคัดง้างกันระหว่างผู้สนับสนุนและต่อต้านการทำแท้งในอเมริกา ตั้งแต่ยุค 1950’s - 60’s ที่ผู้หญิงที่ตั้งท้องแต่ไม่ต้องการมีลูกยังแทบไม่มีทางเลือกนอกจากการทำแท้งอย่างผิดกฎหมาย ผ่านมุมมองของผู้คนหลากหลาย ทั้งนักกิจกรรม แพทย์เฉพาะทาง นักวิชาการ ผู้มีบทบาททางด้านศาสนา นักกฎหมาย ไปจนถึงประชาชน และแน่นอน... นักการเมือง
สารคดีเล่ามุมมองของคนอเมริกันที่มีต่อการมีบุตร การคุมกำเนิด การทำแท้ง และสิทธิสตรี ที่เปลี่ยนแปลงไป ผ่านเหตุการณ์สำคัญอย่างเช่นคดี Roe V. Vade ไปจนถึงการใช้วิธีการต่าง ๆ นานา ที่จะโน้มน้าวและสร้างอิทธิพลต่อสังคมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในอุดมคติของฝ่ายตนเอง
“คำถามทางศีลธรรมที่สำคัญที่สุดในการโต้เถียงเรื่องการทำแท้ง คือ ในครรภ์มีอะไรอยู่?
ใช่คนหรือเปล่า ควรค่าแก่การให้ความสนใจ ให้การปกป้องตามหลักศีลธรรมหรือไม่? ชีวิตเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่? จุดไหนที่เราจะเรียกตัวอ่อนในครรภ์ว่าเป็นมนุษย์?
...แล้วใครควรได้เป็นคนตัดสิน?”
“Who gets to decide?”
คือประโยคสั้น ๆ ที่โปรยไว้บนโปสเตอร์ของ “REVERSING ROE – แท้ง/ท้อง: พลิกกฎหมายทางเลือก”
REVERSING ROE ออกฉายเมื่อปี ค.ศ. 2018 ซึ่งในขณะนั้นก็มีการลงมติของศาลสูงสุดสหรัฐฯ เกี่ยวกับสิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ของผู้หญิงเช่นกัน
ในช่วงท้ายสารคดีชี้ให้เห็นถึงกระบวนการของศาลฯ ที่ยกการตัดสินใจสุดท้ายไว้กับคนเก้าคน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าที่มาของทีมผู้พิพากษาทั้งเก้านั้นเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างมาก แม้การโหวตครั้งนั้นจะไม่ได้ทำให้สิทธิในการทำแท้งเป็นโมฆะ
แต่เมื่อเวลาผ่านมาอีกสี่ปี สิ่งที่หลายคนเคยคาดไว้ก็เกิดขึ้นจริงแล้วในที่สุดในปัจจุบัน...
“ถ้าคุณไม่มีสิทธิควบคุมร่างกายของตัวเอง คุณก็ไม่แน่ใจว่าจะเรียกร้องสิทธิอะไรได้” – Eleanor Holmes Norton (สมาชิกสภาคองเกรส)
"มันเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยที่คุณมีสิทธิควบคุมร่างกายตัวเองได้ และเป็นพื้นฐานของการปกครองแบบแบ่งชนชั้นและเผด็จการที่คุณไม่มีสิทธินั้น” – Gloria Steinem (นักกิจกรรมสตรีนิยม)
ถึงแม้การกลับคำตัดสินคดีประวัติศาสตร์อย่าง Roe V. Wade จะเกิดขึ้นและเริ่มสร้างผลกระทบแก่สังคมอีกครั้ง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ามติที่เป็นผลลัพธ์จากระบบจะเป็นสิ่งถาวร ตราบใดที่ประชาชนยังไม่หยุดเรียกร้องปกป้องสิทธิของตนเอง กฎเกณฑ์ของสังคมก็ย่อมเปลี่ยนแปลงได้เสมอ
สามารถเข้าไปดูตัวอย่างของสารคดี คลิก>> “REVERSING ROE – แท้ง/ท้อง: พลิกกฎหมายทางเลือก”
และบทความที่พูดถึงระบบการคัดเลือกคณะตุลาการของ The Supreme Court of the United States << คลิก โดยเฉพาะในสมัยของประธานาธิบดีไบเดนและอดีตประธานาธิบดีทรัมป์อย่างเข้าใจง่าย
เรื่อง : พัดชา เอนกอายุวัฒน์
ภาพประกอบ : ณภัค ภูมิชีวิน