มีอะไรอยู่บนดาดฟ้าของโรงหนังสกาลา?
เคยนึกกันไหมว่าโรงภาพยนตร์ที่กิจกรรมหลักสำคัญรวมกันอยู่ที่การซื้อตั๋วเข้าไปนั่งชมมหรสพยาวเป็นชั่วโมง นอกจากแอร์เย็น เบาะที่นั่ง ข้าวโพดคั่ว น้ำอัดลม ห้องฉายมืด ๆ และทางหนีไฟแล้วนั้น โรงหนังยังมีอะไรอีกบ้าง?
สำหรับสกาลา วันนี้คงไปหาคำตอบด้วยตาตัวเองไม่ได้แล้ว เพราะหลังจากภาพยนตร์รอบสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ฉายจบ โรงภาพยนตร์ stand alone แห่งสุดท้ายของกรุงเทพฯ แห่งนี้ก็ต้องอำลาปิดกิจการลง
เรื่องราวของ ‘สกาลา’ ไม่ใช่ประเด็นเด็ดในช่วงนี้แต่อย่างใด แต่จู่ ๆ เด็กสยามฯ รุ่นมิลเลนเนียมอย่างเรานึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะเปิด NETFLIX ไปเจอสารคดี “THE SCALA – สกาลา (2015)” ที่เคยเป็นหนึ่งในโปรแกรมฉายวันสุดท้ายของงาน ‘LA SCALA’ อีเวนต์ทิ้งท้ายก่อนลาโรงตามอย่างคำอ่านพ้องเสียงของชื่องานไปตลอดกาล
เราเปิดกูเกิลแมพขยายดูภาพถ่ายของสยามสแควร์จากดาวเทียมด้วยความสงสัยว่าตอนนี้หน้าตาแถวต้นสยามฯ ซอย 1 จะเป็นอย่างไร หลังจากที่เราได้ยินข่าวเกี่ยวกับพื้นที่นี้ครั้งสุดท้ายก็เมื่อปลายปีพ.ศ. 2564 ว่าในที่สุดตัวอาคารสไตล์อาร์ตเดโคหลังนี้กำลังจะถึงวันกำหนดทุบทำลายตึกจริง ๆ แล้ว จนทำให้หลายคนบ่นเสียดายสกาลาขึ้นมาอีกรอบโดยพร้อมเพรียง
ในขณะเดียวกันก็แอบมีความเห็นกระแสรองแทรกขึ้นมาเบา ๆ ว่าหากเห็นคุณค่าจริงล่ะก็ เหตุใดถึงไม่ไปอุดหนุนให้เขาประกอบกิจการต่อไปไหว อยากเซฟสกาลาว่าแต่เคยไปดูหนังที่นั่นจริง ๆ สักกี่ครั้ง?
แอปพลิเคชันแสดงภาพคอนกรีตโล่ง ๆ ไม่มีผนัง ไม่มีหลังคา ไม่มีดาดฟ้า มองเห็นเป็นเพียงพื้นที่สีเทาในกรอบรั้ว นอกจากหมุดชื่อ Scala Cinema ที่ยังคงปักอยู่จุดเดิมโดยมีคำว่า “permanently closed” สีแดงแจ้งไว้ว่าปิดกิจการถาวรกับเศษปูนประปราย ก็ไม่มีร่องรอยอะไรบ่งบอกได้เลยว่าที่ตรงนี้เคยเป็นสถานที่นัดพบและให้ความบันเทิงกับผู้คนมาหลายทศวรรษ
ความเป็นมาของกิจกรรมการ ‘ออกไปดูหนัง’ ที่เคยเป็นที่นิยมอย่างล้นหลามและประวัติของตัวโรงภาพยนตร์ที่เปิดบริการมาตั้งแต่ขึ้นปีพ.ศ. 2513 เป็นจุดนัดพบทำกิจกรรมเที่ยวเล่นของทั้งวัยรุ่นและวัยทำงานมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อคุณแม่ และเป็นหนึ่งในจุดกำเนิดของความเป็นสยามสแควร์ในรุ่นถัดมาถูกกล่าวถึงเพียงคร่าว ๆ
ตัวสารคดีใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการสะท้อนชีวิตที่ยังคงดำเนินอยู่ ณ ขณะนั้น ภายใต้ชายคาของบริษัท โรงภาพยนตร์รามา จำกัดที่เคยดูแลโรงภาพยนตร์ชั้นนำถึงสามโรงพร้อมกัน ได้แก่ โรงหนังลิโดที่ตอนนี้ถูกเปลี่ยนกิจการเป็น Lido Connect โรงหนังสยามที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของศูนย์การค้า Siam Square One ไปแล้ว
และโรงหนังสกาลาที่ในที่สุดก็หนีกระแสเชี่ยวหลากของทุนนิยมไปไม่พ้นเช่นกัน มันกำลังจะถูก “ปรับปรุง” พื้นที่เพื่อเปลี่ยนเป็น community mall อีกแห่งในปีถัดไป
ถึงแม้ระหว่างช่วงเวลาที่มีการถ่ายทำนั้น ชะตากรรมของสกาลาจะยังไม่ได้ถูกตัดสินอย่างเป็นทางการ แต่เมื่อพนักงานที่ถูกลดจำนวนจนเหลือเฉพาะที่ยังจำเป็นเพื่อกระชับต้นทุนกิจการถูกถามว่าถ้าโรงหนังต้องปิดตัวไป แล้วจะไปทำอะไร
บางคนบอกว่าคงเกษียณ บางคนบอกว่าจะกลับไปอยู่บ้านที่ต่างจังหวัดหลังจากต่างก็ใช้ชีวิตร่วมกับสถานที่แห่งนี้กันมาเกินครึ่งชีวิตทั้งนั้น
“ผมไม่เคยคิดว่า น้ำ (เปล่า) จะมากรอกขายเป็นขวดได้ และกาแฟมันจะแช่เย็น ไปอยู่ในตู้เย็นได้”
พนักงานตำแหน่งนักฉายภาพตอบเปรียบเทียบต่อคำถามเรื่องอุปกรณ์ยุคใหม่สำหรับฉายภาพยนตร์ ก่อนจะยอมรับว่าเทคโนโลยีหลายอย่างเขาก็ใช้ไม่คล่องตามไม่ทันแล้วจริง ๆ
เสริมกันกับคำบอกเล่าของผู้จัดการว่าตั้งแต่มีโรงภาพยนตร์แบบซีนีเพล็กซ์กลางห้างทยอยเปิดบริการมากขึ้นเรื่อย ๆ มาจนถึงยุคนี้ที่ทุกคนมีหน้าจอส่วนตัวพกพาไปได้ทุกที่ ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ลูกค้าจะถูกดึงดูดไปหาสิ่งที่ใหม่กว่า รู้อยู่แล้วว่าเมื่อเวลาผ่านไป โรงภาพยนตร์ขนาดพันที่นั่งที่ครั้งหนึ่งเคยแน่นจนต้องเสริมเก้าอี้ มันก็จะต้องถูกลดขนาดลงไปเช่นกัน
ถึงแม้จะตอบอย่างเข้าใจความเป็นไป แต่สายตาของพนักงานทุกคนเวลาบอกเล่าเส้นทางและวันเวลาที่ร่วมใช้กับสถานที่แห่งนี้ก็ยังคงฉายความผูกพันที่มีต่อสกาลาออกมาอย่างคมชัด
เราที่หันไปเปิดบทสนทนากับแม่ของเราผู้เคยใช้เวลาร่วมสมัยในละแวกนั้นมาตั้งแต่เมื่อสี่สิบห้าสิบปีที่แล้ว ก็แอบได้เห็นประกายตาคล้ายกันส่งออกมาเวลาที่แม่เล่าว่าเมื่อก่อนตั๋วหนังที่นั่งหนึ่งราคาแค่สิบบาท แม่ชอบดูหนังมากและเคยเป็นลูกค้าประจำระดับที่บางวันเดินเข้าออกโรงดูต่อกันหลายเรื่องในวันเดียว และสมัยก่อนฮ็อตด็อกที่โรงฯ อร่อยที่สุด!
ถึงแม้เราเองก็เคยเที่ยวเล่นอยู่ในสยามสแควร์มาแต่ไหนแต่ไร แต่ก็ไม่ได้ไปในฐานะผู้ชมภาพยนตร์สักเท่าไหร่ ถึงแม้จะเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าสกาลาเป็นมากกว่าอาคารหรูในยุคโมเดิร์นนิสม์ แต่ถึงวันนี้แล้วเราก็คงไม่มีศักดิ์และสิทธิ์มากพอจะไปทวงคืนหรือรั้งอะไร
เรื่องที่เราได้รู้จากการชมสารคดี ที่ดาดฟ้าของโรงหนังสกาลา มีผ้าคลุมเบาะที่ถูกซักด้วยมือตากอยู่เป็นแถว มีลานออกกำลัง มีศาลหลวงปู่ดำ มีไม้กระถางที่ได้รับการดูแลรดน้ำเรียงไว้เป็นกลุ่ม มีแม้กระทั่งที่อยู่อาศัยของพนักงาน
และที่สำคัญยิ่งกว่าอะไร คือสกาลามีชีวิตจิตใจไหลเวียนอยู่จริง
สารคดี “THE SCALA – สกาลา” กำกับโดย อาทิตย์ อัสสรัตน์ สร้างโดย KBS Busan Headquarters, Busan International Film Festival, Pop Pictures ภายใต้ชื่อ “Power of Asian Cinema” ซึ่งเป็นโปรแกรมพิเศษที่จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองประวัติศาสตร์ที่เฟื่องฟูของภาพยนตร์เอเชีย เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน
สามารถชมสารคดีเรื่องนี้ได้แล้ววันนี้ ทาง NETFLIX
ภาพประกอบ : Thai PBS WORLD, หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) | La Scala ลา สกาลา