เนื่องในเดือนมิถุนายนเป็น Pride Month
เรามีหัวข้อที่อยากเขียนถึงอยู่ในใจ เพื่อให้สมกับเป็นเดือนที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลกต่างรวมตัวกันจัดกิจกรรมแสดงออกถึงความเท่าเทียม และเรียกร้องว่าเราควรมีเกียรติและสิทธิเคียงกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศใด โดยไม่ถูกจำกัดง่าย ๆ ไว้ด้วยคำว่า “หญิงและชาย”
ก็เลยตั้งใจมองหาคอนเทนต์เกี่ยวกับ LGBTQIAN+ โดยเฉพาะ
จริง ๆ ก็นึกถึงรายการและหนังสือได้หลายเล่มถ้าหากจะให้หยิบมาเล่า แต่คราวนี้ขอเลือก “Coming to You” สารคดีเรื่องล่าสุดที่เราได้กดเข้าไปชมทาง VIPA.me มาคุยกันค่ะ
ถึงแม้ว่าเรื่องราวจะไม่ได้ให้ความรู้ระดับตำราว่า “เพศหลากหลาย” นั้นมีคำจำกัดความว่าอะไร หรือ Pride Month และการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศนั้นมีที่มาอย่างไร แต่เพราะเป็นผลงานที่เพิ่งถ่ายทำเมื่อปี ค.ศ. 2021 เราก็คิดว่ามันค่อนข้างจะร่วมสมัย และเพราะมันโฟกัสไปที่หน่วยเล็กที่สุดของสังคมอย่างครอบครัว โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกสองคู่ ทำให้เราได้เฝ้ามองความเป็นไปเท่าที่แต่ละคนพอจะทำและคิดออกได้จริง
“ออต๊อกเค...?” คุณแม่กล่าวระบายความกังวล เมื่อต้องเล่าย้อนไปถึงช่วงเวลาที่ได้ทราบเป็นครั้งแรกว่าลูกของตัวเองนั้นเป็นเพศ non-binary
คนที่ดูซีรีส์เกาหลีบ่อย ๆ น่าจะรู้ว่าประโยคนี้มักจะใช้กันเวลาที่ตัวละครในเรื่องเกิดปัญหา ว้าวุ่นใจไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร จนต้องพูดออกมาว่า “จะทำยังไงดี?”
ในสังคมที่ความกดดันสูงจัด ๆ ไม่แปลกเลยที่ผู้ปกครองจะคิดหนักเมื่อพบว่าเด็กที่เลี้ยงมากับมือ โตมาเป็น “คนกลุ่มน้อยทางเพศ” เพราะนั่นหมายถึงการถูกต่อต้านจากสังคมที่ยังไม่ค่อยเปิดรับเพศสภาพที่หลากหลายอย่างประเทศเกาหลีใต้ ไม่ต้องว่ากันไปไกลถึงนอกบ้าน เพียงแค่คิดว่าจะทำอย่างไรให้คนในครอบครัวเดียวกันเข้าใจก็เครียดแล้ว
“...ฉันไม่เคยคิดถึงเรื่องพวกนี้มาก่อน ฉันมืดแปดด้าน ความจริงคือ ฉันไม่รู้จักลูกตัวเอง”
...แต่อย่างน้อย การรู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไรนั่นก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
สารคดีเรื่องนี้มีฉากหลักอยู่ที่กลุ่ม PFLAG องค์กรอิสระที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก ตั้งขึ้นมาโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัย และ “สร้างโลกที่เอื้ออาธร ยุติธรรมและรับรองสิทธิของ LGBTQIAN+ รวมไปถึงผู้คนอันเป็นที่รักของพวกเขา”
และอย่างที่น่าจะเดากันได้ว่าคุณแม่ทั้งสองต่างก็สู้เพื่อลูกของตัวเองเต็มที่แบบไม่มีถอดใจ ประกอบกับความช่วยเหลือของ PFLAG สาขาเกาหลี และกลุ่มครอบครัวมากหน้าหลายตาที่มาร่วมแบ่งบันประสบการณ์และแลกกำลังใจให้กันและกัน
จากวันแรกที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องทำหรือไม่ควรทำอะไร
จากครั้งแรกที่ได้เอ่ยปากแนะนำตัวอย่างประดักประเดิดใน support group ว่าพวกเขาและลูก ๆ “เป็น” ใคร
แม่ลูกสองคู่นี้ได้ออกเดินทางไปพบกับประสบการณ์อีกหลายอย่างผ่านการสร้างสายใย ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากจะกลับมาทำความรู้จักกับลูกของตัวเองอีกครั้งหนึ่ง
“ที่น่าสนใจคือ การเห็นคนมากมายเกลียดเรา แทนที่จะห้ามไม่ให้ฮันกยอลเปิดตัวเพราะมันอันตราย ฉันกลับไม่ห้าม แต่ฉันหันมาสู้เพื่อเขา ลูก ๆ ของเราอาศัยอยู่ในโลกอันบ้าคลั่ง เราพ่อแม่ต้องสู้เพื่อพวกเขา”
ในช่วงสุดท้ายของสารคดีเป็นคลิปแนะนำตัวสั้น ๆ ของผู้ปกครองในโครงการ P FLAG เรียงร้อยต่อกัน ประกอบกับ end credit บรรดาพ่อแม่บ้างก็พูดอย่างคล่องแคล่วเพราะมีประสบการณ์ในการแสดงออกเช่นนี้มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็มีบางบ้านที่ยังติดอาการเคอะเขินและพูดกระท่อนกระแท่น อาจจะเกิดจากความตื่นเต้นเพราะอยู่หน้ากล้อง หรือความที่ยังไม่เคยชินที่เพิ่งได้ทำความรู้จักกับเพศสภาพใหม่ของสมาชิกในบ้าน หรืออาจจะเกิดจากความไม่มั่นใจว่าตนเองมีความรู้ดีพอจะเอ่ยถึงเพศของลูกได้อย่างถูกต้องหรือไม่
แต่ไม่ว่าคำที่เหล่านั้นจะเป๊ะหรือเหมาะควรหรือไม่เพียงใด สิ่งหนึ่งที่ผู้ปกครองทุกท่านสื่อออกมาอย่างชัดเจนเหมือนกัน นั่นคือความเปิดใจที่จะรับและรักลูกอย่างที่เขาเป็นและพวกเขาล้วนเอ่ยทุกชื่อออกมาด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจ
สามารถชมสารคดีเกี่ยวกับชีวิตส่วนหนึ่งของ LGBTQIA+ ในประเทศเกาหลีใต้ คลิก>> “COMING to You” ได้แล้ววันนี้ทาง vipa.me
เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของกลุ่ม PFLAG <<คลิก
และหากคุณกำลังมองหาพื้นที่ปลอดภัยในประเทศไทย ทดลองเข้าไปพูดคุยในเพจและกรุ๊ปเฟซบุ๊กเหล่านี้คลิกดูได้ค่ะ
Showyourspectrum / NonbinaryTH / NonbinaryThailand
ขอบคุณภาพประกอบจาก VIPA.ME
เรื่อง : พัดชา เอนกอายุวัฒน์ // ภาพประกอบ : ณภัค ภูมิชีวิน