ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
3 การละเล่นไทยกับเรื่องราวที่ไม่ธรรมดา
แชร์
ชอบ
3 การละเล่นไทยกับเรื่องราวที่ไม่ธรรมดา
09 มี.ค. 66 • 13.00 น. | 4,418 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

การละเล่นพื้นบ้านไทยถือเป็นกิจกรรมสันทนาการที่มีมาอย่างยาวนาน แต่ปัจจุบันนี้การละเล่นไทยเหล่านี้ค่อย ๆ ถูกลืมเลือนไปตามยุคสมัย ALTV จึงขอนำเรื่องราวที่น่าสนใจที่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวเกี่ยวกับการละเล่นพื้นบ้าน 3 ชนิด มาฝากกัน

มอญซ่อนผ้า 

  • กติกาการเล่น: ผู้เล่นจำนวน 10 คนขึ้นไป นั่งล้อมวงกัน โดยมีผู้เล่น 1 คนสวมบทเป็น “มอญ” คอยถือตุ๊กตา หรือ ผ้าที่มัดเป็นปมคลายตุ๊กตาเดินรอบวงในขณะที่เพลง “มอญซ่อนผ้า” ดังขึ้น ผู้รับบทเป็นมอญจะต้องซ่อนผ้าไว้ด้านหลังของคนใดคนหนึ่ง และต้องรีบเดินวนมานั่งในตำแหน่งผู้ถูกซ่อนผ้า ผู้ถูกซ่อนผ้าต้องหยิบผ้านั้นขึ้นมาไล่ตีมอญก่อนที่มอญจะมานั่งในตำแหน่งของตนสำเร็จ หากตีไม่ทันผู้ถูกซ่อนผ้าจะต้องรับบทเป็นมอญแทนในตาถัดไป 

 

เหตุผลที่มอญต้องซ่อนผ้า

“มอญซ่อนผ้า” คือการละเล่นพื้นบ้านของเด็กไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ คาดว่ามีต้นกำเนิดมาจากกลุ่มชาวมอญที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี และมักนิยมเล่นกันในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาวันหยุดพักผ่อนของคนไทย 

 

แม้จะได้ชื่อว่า ‘มอญซ่อนผ้า’ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานที่ยืนยันว่าเป็นการละเล่นในวัฒนธรรมของคนมอญ ตามคำกล่าวของ องค์ บรรจุน จากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2548 กล่าวไว้ว่า มอญซ่อนผ้า เป็นการละเล่นที่คนไทยคิดขึ้นเพื่อความสนุกสนาน และเป็นการหยอกล้อกับเพื่อนชาวมอญที่จะ ‘ไม่เล่นตุ๊กตา" ตามความเชื่อทางศาสนาที่สืบทอดต่อกันมาในกลุ่มชาวมอญนั่นเอง

 

ในครอบครัวคนเชื้อสายมอญในสมัยก่อนมักสั่งห้ามไม่ให้ลูกหลานเล่นหรือนำตุ๊กตาเข้าบ้าน โดยเฉพาะตุ๊กตาที่มีลักษณะรูปร่างเหมือนคน เพราะมีความเชื่อกันว่า ตุ๊กตาเป็นที่สิ่งสถิตย์ของวิญญาณและสิ่งไม่ดี นอกจากนี้ตุ๊กตายังเป็นสิ่งของที่ใช้ประกอบพิธีปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายตามความเชื่อของชาวมอญ จะมีการใช้ตุ๊กตาลักษณะเหมือนคนมาเป็นตัวแทนรับเคราะห์และโรคภัยไข้เจ็บแทนตนเองหรือคนในครอบครัว ในปัจจุบันเราเรียกตุ๊กตาประเภทนี้ว่า ‘ตุ๊กตาเสียกบาล’ นั่นเอง จึงเป็นความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมาว่า ตุ๊กตาเป็นสิ่งไม่เป็นมงคล การเข้าไปแตะต้องหรือนำเข้าบ้าน อาจเป็นการนำความโชคร้าย โรคภัยไข้เจ็บเข้าสู่ตัวเองได้นั่นเอง 

ตี่จับ 

  • กติกาการเล่น: เริ่มจากแบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย ในจำนวนเท่ากัน ตกลงว่าใครจะเป็นฝ่ายรุกก่อนโดยอาจใช้การจับไม้สั้นไม้ยาว จากนั้นกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนโดยใช้เชือกหรือวาดเส้นแบ่งลงบนพื้น ฝ่ายรุกจะต้องข้ามเอามือไปแตะคนของฝ่ายตรงข้าม พร้อมออกเสียง “ตี่” โดยไม่ให้เสียงขาด หากแตะอีกฝ่ายได้แล้วกลับไปยังเขตของตนเองได้โดยที่เสียงตี่ยังไม่ขาดหายไป ผู้เล่นที่โดนแตะจะต้องกลายมาเป็นเชลยของอีกฝ่าย 

 

‘ตี่จับ’ สู่ ‘กีฬาระดับโลก’ 

ตี่จับ เป็นการละเล่นที่นิยมในภาคเหนือของไทย แม้ว่าต้นกำเนิดยังไม่แน่ชัด แต่เมื่อ 4,000 ปีที่แล้วห่างออกไปในดินแดนเอเชียใต้ พบว่ามีการละเล่นในลักษณะเดียวกันเรียกว่า ‘กาบัดดี้ (Kabaddi)’ โดยผู้เล่นฝ่ายรุกต้องพยายามแตะตัวอีกฝ่ายพร้อมเปล่งเสียงร้องว่า “กาบัดดี้” ลากยาวไม่ให้ขาด เรียกได้ว่าเหมือนการละเล่นตี่จับในไทยไม่ผิดเพี้ยน 

 

แต่เดิมกาบัดดี้มีไว้เพื่อทดสอบพละกำลังและการชิงไหวพริบภายในกองทัพ จนภายหลังได้แพร่หลายมากขึ้นในหมุ่คนทั่วไปจนกลายเป็นกีฬายอดนิยมชนิดหนึ่งที่พบได้ในประเทศ อินเดีย เนปาล บังคลาเทศ ปากีสถาน และศรีลังกา ปัจจุบันสามารถแบ่งแยกกาบัดดี้ได้อีกหลายประเภท เช่น กาบัดดี้ในร่ม (Indoor kabbadi) กาบัดดี้กลางแจ้ง (Outdoor kabaddi) บีชกาบัดดี้ (ฺBeach Kabaddi) 

 

ในปี 1990 ได้มีการบรรจุกาบัดดี้ไว้ในกีฬาเอเชียนเกมเป็นครั้งแรก ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้นานาประเทศได้รู้จักกีฬาชนิดนี้ รวมถึงประเทศไทยที่ได้ส่งทีมนักกีฬาเข้าแข่งขันในกีฬาเอเชียนเกม ครั้งที่ 13 และครองตำแหน่งชนะเลิศมาได้อีกด้วย

ตั้งเต

  • กติกาการเล่น: ผู้เล่นต้องกระโดดขาเดียวภายในช่องสี่เหลี่ยมที่ขีดบนพื้น โดยทั่วไปจะมีทั้งหมด 5 แถว คูณ 2 คอลัมน์ รวมกันเป็น 10 ช่อง โดยผู้เล่นต้องห้ามให้เท้าทั้งสองข้างสัมผัสพื้นพร้อมกันยกเว้นในช่องที่ออกแบบไว้ให้มี 2 ช่องอยู่คู่ ไม่เช่นนั้นจะถือว่าแพ้ 

 

การทดสอบทางทหาร สู่การละเล่นที่ใครก็รู้จัก

แม้ว่าว่าเราจะรู้จัก 'ตั้งเต' ในฐานะเป็นการละเล่นพื้นบ้านของไทย แต่แท้จริงแล้วตั้งเตเป็นการละเล่นที่แพร่หลายไปทั่วโลก รู้จักกันในชื่อว่า ‘Hop-scotch’ ในประเทศญี่ปุ่นเรียกว่า Ken-ken-pa หรือในประเทศจีนจะเรียกว่า Tiào fáng zi

 

โดยต้นกำเนิดของตั้งเตมีอยู่หลายทฤษฏี บ้างก็ว่าเป็นการละเล่นที่ถือกำเนิดในประเทศจีน และอีกความเชื่อหนึ่งคือเกิดขึ้นในยุคจักรวรรดิโรมัน มีไว้ใช้ฝึกซ้อมทางทหาร โดยการให้กระโดดเป็นระยะทางมากกว่า 100 ฟุต พร้อมกับใส่เสื้อเกราะที่มีน้ำหนักมากเอาไว้ ทั้งนีก็เพื่อ เป็นการทดสอบความแข็งแรงนั่นเอง  

 

เมื่อได้อ่านเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการละเล่นไทยไปแล้ว สามารถรับชมเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชาวมอญที่น่าสนใจได้ต่อในรายการ สังคมสนุกคิด ตอน ชาวมอญคือใคร ทำไมต้องซ่อนผ้า ทางเว็บไซต์ ALTV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก

 

 

 

แหล่งที่มา: นิตยสารศิลปวัฒนธรรม

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#การละเล่นพื้นบ้านไทย, 
#มอญซ่อนผ้า, 
#ตั้งเต, 
#ตี่จับ, 
#วัฒนธรรมไทย, 
#ประวัติศาสตร์ 
ผู้เขียนบทความ
avatar
THANATCHA SUVIBUY
นับถือแมวเป็นศาสนา มีไอดอลเกาหลีเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
ALTV CI
LearnMore
LearnMore
ALTV All Around
ผู้เขียนบทความ
avatar
THANATCHA SUVIBUY
นับถือแมวเป็นศาสนา มีไอดอลเกาหลีเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#การละเล่นพื้นบ้านไทย, 
#มอญซ่อนผ้า, 
#ตั้งเต, 
#ตี่จับ, 
#วัฒนธรรมไทย, 
#ประวัติศาสตร์ 
แชร์
ชอบ
ติดตามเรา