หากพูดถึงเรื่องราวศิลปวัฒนธรรมอย่าง “โนรา” ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น และเป็นศาสตร์และศิลป์จากถิ่นแดนใต้ สู่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดย องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) โดยคนรุ่นใหม่อาจไม่เคยได้ออกไปสัมผัสและเรียนรู้กับความเชื่อและประเพณีเก่าแก่ที่มีมาอย่างยาวนานหากไม่ใช่คนท้องถิ่นอย่างแท้จริง
และในวันนี้ ALTV ได้มีโอกาสได้ออกเดินทางไปสัมผัสงาน “โนรา ภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน” โดยจะขออาสาพาทุกคนไปดูความน่าสนใจผ่านหลากหลายเรื่องราวของโนราที่ถ่ายทอดมาทุกยุคสมัย ให้เสมือนว่าทุกคนได้เดินทางมาสัมผัสกลิ่นไอโนราภายในงานไปพร้อมกัน
งาน “โนรา ภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน” จัดใหญ่จัดเต็ม ตลอด 3 คืน 3 วัน ที่วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ซึ่งนับว่าเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในพัทลุง มีอายุมานานกว่า 1,000 ปี มีความเชื่อกันว่าโคกเมืองเก่าบริเวณนั้นในอดีต คือ เวียงกลางบางแก้ว ซึ่งเป็นจุดกำเนิดตำนานครูต้นโนรา ทั้ง 4 พระองค์ ได้แก่ พญาสายฟ้าฟาด พระแม่ศรีมาลา พระนางนวลทองสำลี และ ขุนศรีศรัทธา ที่เป็นต้นกำเนิดโนรา และท่ารำขึ้นนั่นเอง บรรยากาศการจัดงานที่วัดนี้ อบอวลไปด้วยบรรยากาศที่ขลัง ศักดิ์สิทธิ์ กับพิธี และประเพณีวัฒนธรรมแห่งความเชื่อ ความศรัทธาของลูกหลานที่มีเชื้อสายโนราที่ถูกสืบทอดจากบรรพบุรุษต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนาน ทำให้เป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ และเป็นที่รู้จักกันทั้งประเทศและทั่วโลก ไปดูกันว่าก่อนจะเกิดงานที่ยิ่งใหญ่ขึ้นต้องเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้าง กับ 5 ไฮไลท์ในงานที่คนดู และให้ความสนใจมากที่สุด
ตามประเพณีแล้วนั้นก่อนจะมีการจัดงานโนราครั้งใหญ่นี้ขึ้น จะต้องมีพิธีไหว้ภูมิโนราและเหยียบโรง เสมือนเป็นการบอกกล่าวครูบาอาจารย์ว่าจะมีโรงครูเกิดขึ้น และต้องขึ้นพิธีในวันพุธตามภาษิต หรือ คำโบราณที่เกี่ยวกับโนรานี้ว่า “พุธคือตุ้ง หัสคือสนุก ศุกร์คือกลับ” นั่นหมายถึง วันพุธคือการเข้าโรงบรรเลงดนตรี วันพฤหัสบดี มีการแสดงสนุกสนาน และวันศุกร์ คือวันลาโรง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อเกี่ยวกับพิธีกรรมโนราโรงครูก่อนจะเริ่มงานนั่นเอง
แม้ว่าวันนั้นจะอากาศร้อนเพียงใด ลูกหลานโนรา 160 กว่าชีวิต ซึ่งเป็นตัวแทนจากสถาบันต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดพัทลุงก็พร้อมที่จะรวมตัวโชว์ลีลาร่ายรำครั้งใหญ่ เพื่อบวงสรวงพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว และสี่ครูต้นโนรา ซึ่งถือว่าเป็นความภาคภูมิใจครั้งหนึ่งที่ได้มารำในพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกเล่าขานกันมาว่าเป็นต้นกำเนิดของโนรา เป็นต้นทางวัฒนธรรมก่อนเผยแพร่ไปต่อไป จึงเป็นที่มาในการตั้งรูปเคารพครูต้นโนราทั้ง 4 พระองค์ ได้แก่ พญาสายฟ้าฟาด พระแม่ศรีมาลา พระนางนวลทองสำลี และ ขุนศรีศรัทธา
ซึ่งกว่าจะมาถึงวันงานโนราที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ น้อง ๆ นักเรียน นักศึกษาตั้งใจฝึกซ้อมกันอย่างหนักเพื่อความงดงาม และความพร้อมเพรียง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับนักท่องเที่ยวที่ได้เห็นภาพที่หาดูได้ยาก และเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เรียกได้ว่าเป็นการรวมลูกหลาน ครูบาอาจารย์หลากหลายรุ่นที่ล้วนมีจุดเชื่อมโยงเดียวกันนั่นก็คือ “จิตวิญญาณของโนรา”
เป็นอีกหนึ่งพิธีกรรมแทงเข้ที่สำคัญในวันลาโรงครู โดยก่อนจะเริ่มพิธีต้องเกริ่นด้วยเรื่องราวที่นิยมใช้เล่นกันตามท้องเรื่องนั่นก็คือ “ไกรทอง” โดยหมอจระเข้ผู้ปราบพญาชาละวัน จะต้องร่ายรำโดยใช้หอกแทง หรือซัดเข้าใส่จระเข้ นอกจากเป็นพิธีกรรมความเชื่อ ยังเป็นการอวดทักษะร่ายรำของนายโรง รวมทั้งทักษะการแสดง เพราะต้องมีการเคลื่อนไหว และการแสดงสีหน้าอารมณ์ ที่สามารถสะกดผู้ร่วมพิธีโรงครู โดยจุดสังหารจระเข้มีทั้งบริเวณหัว รักแร้ตรงจุดหัวใจ กลางกระหม่อม ฯลฯ ตามแต่สายตระกูลโนราที่สืบทอดกันมา
ส่วนหอกที่ใช้แทงในพิธีนั้นมี 7 เล่ม มีชื่อเรียกและมีพลังต่างกันไป เช่น จตุโรโลหิตรายแทงศิลาได้ไม่วิ่นแหว่ง และมหาชัยด้ามไม้ไผ่รวกแทงเข้เหมือนแทงหยวกตายนัยแสน ซึ่งไม่เพียงแต่คนแสดงที่รู้สึกสนุกสนาน ผู้ชมที่เป็นชาวบ้านและนักท่องเที่ยวก็รู้สึกสนุกไปพร้อม ๆ กัน เพราะการแสดงที่ให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน
นับว่าเป็นพิธีกรรมที่สำคัญของชาวบ้านในภาคใต้ที่ต้องมีการรำถวายเพื่อบูชาครู ซึ่งจะมีโนราแต่งพอกมารำ 12 กำพรัด รำ 12 ท่า จับบท 12 บท ที่มีทั้งสาระความรู้ต่าง ๆ รวมทั้งเป็นคำสอนเกี่ยวกับครูบาอาจารย์กับลูกศิษย์ การคบเพื่อน บอกเล่าเรื่องราวของวิถีชีวิต เล่าเรื่องราวในโรงครู ที่เป็นศีลธรรม และข้อปฏิบัติในการใช้ชีวิต สรุปออกมาเป็นบทกลอน โดยมีโนราใหญ่เป็นคนประกอบพิธีต่าง ๆ โดยในแต่ละพื้นที่อาจจะใช้เวลาทำพิธีกรรมในโรงครูไม่เหมือนกัน แล้วแต่การยืดหยุ่นของเวลา แต่โนราโรงครูในครั้งนี้ที่วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว ใช้เวลาต่อเนื่องไปถึง 5-6 ชั่วโมง เพราะเป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นไม่บ่อยมากนัก จึงถือว่าเป็นโอกาสในการถ่ายทอดประเพณีวัฒนธรรมสู่โนราคนรุ่นหลังต่อไป
สำหรับพื้นที่ในโรงครูนั้น ถือว่าเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้สื่อสารกับบรรพบุรุษ โดยมีโนราเป็นตัวเชื่อมโยงจิตวิญญาณ รวมถึงเป็นพื้นที่ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโนรา ถ่ายทอดให้โนรารุ่นใหม่ได้เข้ามาเรียนรู้ มาสังเกตการณ์เพื่อที่จะใช้โรงครูในการถ่ายทอดวิชาต่าง ๆ สู่โอกาสในการเป็นโนราใหญ่ และราชครูที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับหน้าถือตา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะจะต้องมีการบวชพระทางพระพุทธศาสนา บวชโนรา และต้องทำพิธีขึ้นกราบ 3 วัด 3 บ้านอีกด้วย รวมถึงจะต้องเป็นคนที่รอบรู้ทั้งเรื่องราวโนรา และเรื่องอื่น ๆ รอบด้าน ต้องปฏิบัติตนให้อยู่ในศีลธรรม มีความซื่อสัตย์ มีวิชาว่าด้วยคาถาอาคมต่าง ๆ เพราะจะต้องเป็นที่พึ่งให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี
ถือว่าเป็นกิมมิคในงานที่น่าสนใจที่สุดกับประเพณีการประชันโรงนาราที่หลายคน ๆ ให้ความสนใจอย่างมาก เพราะในช่วงเวลาการประชันโรงแบบโบราณ บรรยากาศในงานคึกคักไปด้วยผู้คนที่มาเฝ้ารอดูในรอบเกือบ 100 ปี เรียกว่าชาวบ้านบางกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ มารอคอยอย่างใจจดใจจ่อกับการแข่งขันประชันโนราแบบโบราณ ที่เป็นทั้งศักดิ์ศรี และโอกาสในการสร้างชื่อเสียงให้กับคณะของตัวเอง โดยสมัยโบราณนอกจากการแข่งขันกันด้วยฝีมือการร่ายรำ และว่ากลอนมุตโต หรือกลอนสด ๆ แล้วนั้น เรื่องทางไสยศาสตร์ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมเพื่อชัยชนะ แสดงให้เห็นถึงความรู้ และอำนาจเชิงไสยเวทที่เข้มข้นของโนราใหญ่ที่คอยทำพิธีอยู่หลังเวที
การประชันโรงแบบโบราณที่หมายถึง การจัดตั้งโรงประชันทั้ง 2 โรง ให้หันหน้าเข้าหากันในพื้นที่ราบระดับเดียวกับผู้ชม โดยครั้งนี้ได้โรงประชันจากคณะภาคินน้อย ศ. รื่นเติม โบราณศิลป์" และ "คณะเดชา วาทะศิลป์" มาประลองฝีมือเรียกเสียงเชียร์จากการแสดง ทั้งโนราตัวอ่อน การรำชุด และการรำเดี่ยวของโนราใหญ่ ซึ่งมีอีกบุคคลที่สำคัญนั่นคือ "หมอกบโรง" ที่คอยทำหน้าที่บริกรรมคาถา ทั้งร่ายเวทย์ป้องกันคุณไสยจากฝ่ายตรงข้าม และร่ายเวทย์ใส่เพื่อโจมตี ข่มขวัญกันด้วยวิชารำเฆี่ยนพราย หรือการเรียกจิตวิญญาณของฝ่ายตรงข้ามเข้าหาตัวพราย ซึ่งพรายมักทำจากผ้า หรือใบตอง แล้วใช้หวายเฆี่ยน และรำเหยียบลูกมะนาว สมมติให้ลูกมะนาวเป็นหัวใจฝ่ายตรงข้าม แล้วเหยียบให้แตก ซึ่งท่ารำทั้งหมดจะแสดงออกด้วยความดุดัน เสมือนเป็นการอวดทักษะเฉพาะตัวได้อีกด้วย ส่วนผลการแข่งขันนั้นวัดจากจำนวนคนที่มานั่งดู ฝ่ายไหนที่ร้องรำได้สนุกกว่าก็จะมีชาวบ้านมานั่งดูโรงนั้น และส่งเสียงเชียร์สนั่นให้อารมณ์เหมือนกับการเชียร์มวยนั่นเอง
นอกจากนี้ในงานยังมีบูธกิจกรรมจากพื้นที่ให้ชาวบ้าน และเหล่านักเรียนตามโรงเรียนต่าง ๆ ได้มาเข้าร่วมชมนิทรรศการเรื่องราวของโนรา และกิจกรรม Workshop อีกมากมาย ได้แก่
ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นเพียงกิจกรรมที่เลือกมานำเสนอให้ทุกคนได้สัมผัสกับเรื่องราวความเชื่อ ความศรัทธาของผู้คน เพื่ออนุรักษ์สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่เคียงคู่ลูกหลานโนรา รวมถึงทุกคนที่สนใจเรื่องราวสำคัญทางมรดกโลกนี้ต่อไป
นอกจากนี้ สามารถติดตามบรรยากาศในงาน “โนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน” จัดต่อเนื่องตลอด 3 วัน 3 คืน ย้อนหลังผ่านทาง Fanpage Facebook : ไทยบันเทิง (คลิก) และสามารถติดตาม เทปพิเศษ “โนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน” ได้ทาง ไทยพีบีเอส รับชมอีกครั้ง ทาง www.VIPA.me