ในแวดวงศิลปะแขนงต่าง ๆ ล้วนมี “ครูบาอาจารย์” ไว้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ศิลปะมโนราห์ก็เช่นกัน ชาวโนราให้ความศรัทธา “ครูหมอโนรา” หรือ “ตายายโนรา”อย่างแรงกล้า หมายถึง ครูโนราและบรรพบุรุษโนราที่ล่วงลับไปแล้ว เชื่อกันว่าเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปักรักษาผู้มีเชื้อสายโนรา ลูกศิษย์ ตลอดจนศาสตร์แห่งมโนราห์ให้คงอยู่สืบไป
ครูหมอโนราและตายายโนรา ในการรับรู้ของชาวบ้านถือเป็นสิ่งที่มีพลังอำนาจ สามารถบันดาลทั้งคุณและโทษแก่ลูกหลาน ทุกช่วงสำคัญในชีวิตจึงต้องทำ “พิธีเซ่นไหว้” เพื่อเป็นการบอกกล่าวและขอบคุณตายายที่ช่วยดูแลลูกหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข หากลูกหลานเพิกเฉยไม่เคารพบูชา ไม่เซ่นไหว้ ลบหลู่ หรือทำตัวไม่เหมาะสม เช่น คบชู้ ลักขโมย เชื่อกันว่าจะ “ถูกลงโทษ” ทำให้เจ็บป่วยและไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งต้องแก้ด้วย “การบวงสรวง” ในทางกลับกันก็สามารถใช้พิธีกรรมเดียวกันนี้เพื่อ “บนบาน” ขอให้ท่านช่วยเหลือเรื่องสำคัญได้
จากความเชื่อเหล่านี้จึงทำให้เกิดพิธีกรรมสำคัญที่เรียกว่า “โนราโรงครู” หรือ “โนราลงครู” พิธีอัญเชิญครู หรือบรรพบุรุษโนรามายังโรงพิธี เพื่อ “เข้าทรง” รับเครื่องสังเวย และการรำโนราถวายครู ซึ่งเป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อครูโนราและวิญญาณบรรพบุรุษ
ร่างทรง ถือเป็นตัวกลางสำคัญในการสื่อสารกับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วตามความเชื่อของวัฒนธรรมโนรา ว่ากันว่าครูหมอและตายายโนรานั้นสามารถติดต่อกับลูกหลานผ่านศิลปินโนรา โดยเฉพาะ “โนราใหญ่” ใน “พิธีโนราโรงครู” หรือ “โนราลงครู” โดยลูกหลานจะได้พูดคุยกับปู่ย่าตายายโนราล่วงลับไปแล้วหลายชั่วคนผ่าน “ร่างทรง” ประจำตระกูล
ทุกตระกูลโนราจำเป็นต้องมี “ร่างทรง” ที่ตายายเลือกอย่างน้อย 1 คน หากร่างทรงคนเก่าตายไป ตายายจะเลือกร่างทรงคนใหม่ด้วยวิธี “เข้าฝัน” หรือทำให้ผู้นั้นป่วยไข้ บางครั้งก็มีอาการแปลก ๆ ที่ห้ามตัวเองไม่ได้ เช่น เมื่อได้ยินเสียงกลอง จะต้องลุกขึ้นไปรำทันที หากต้องการหายจากอาการเหล่านี้จะต้องเป็นโนราหรือจนกว่าจะยอมรับเป็นร่างทรงให้ตายาย
นอกจากการถูกเลือกด้วยวิธีต่าง ๆ นานา ยังมี การคัดเลือกร่างทรงในพิธีโรงครูอีกด้วย โดยลูกหลานทุกคนจะเข้ามานั่งในโรงโนรา แล้วคลุมผ้าขาวทีละคน ผู้ที่ถูกเลือกจะมีอาการสั่นเหมือนผีเข้า และต้องตอบรับการเป็นร่างทรงประจำตระกูลตลอดชีวิต ซึ่งผู้เข้าร่วมต้องได้รับอนุญาตจากพ่อแม่หรือคู่ชีวิตเสียก่อน
เมื่อถึงเวลาเข้าทรง ร่างทรงจะแต่งกายตามลักษณะเด่นของตายายที่เคยเป็นโนรา โดยนายโรงจะกล่าวเชิญตายายโนราหรือตาหลวงทีละองค์ตามลำดับชื่อที่เจ้าภาพเขียนไว้ให้ และเริ่มทำพิธีอัญเชิญประกอบกับการบรรเลงดนตรีเพื่อเชื่อมต่อระหว่างโลกวิญญาณกับโลกมนุษย์
เมื่อโลกมนุษย์กับโลกวิญญาณได้ผสานเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว นายโรงจะรีบจุดเทียนไขเพื่อให้วิญญาณตายายที่มาอาศัยร่างทรงมองเห็นสิ่งต่าง ๆ สามารถพูดคุยกับลูกหลานรวมทั้งกินเครื่องเซ่นที่เตรียมไว้
ความสำคัญของร่างทรงจึงไม่เพียงเป็นตัวกลางระหว่างพิธีกรรมเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เชื่อมสายสัมพันธ์ในเครือญาติพี่น้อง ทั้งในโลกปัจจุบันและโลกหลังความตายให้เป็นหนึ่งเดียว
เครดิตภาพ : krunora.blogspot.com
นอกจาก “โนราโรงครู” ที่จัดขึ้นเพื่อเซ่นไหว้ตายายแล้ว อีกพิธีกรรมหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับการสืบทอดเชื้อสายโนรา นั่นคือ “พิธีครอบเทริด” หรือ “ผูกผ้าใหญ่” หรือ “พิธีแต่งพอก” คล้ายกับพิธีครอบครูในแนวทางของโขน จัดขึ้นเพื่อยอมรับศิลปินโนรารุ่นใหม่ สู่การเป็นโนราโดยสมบูรณ์ เปรียบได้กับการบวชเข้าสู่การเป็นโนรา เพื่อรับรองความรู้ความสามารถของศิลปินผู้นั้น ซึ่งการครอบเทริดจะทำเฉพาะโนราผู้ชายเท่านั้น
ขั้นตอนการสวมเทริดในพิธีโรงครูจึงมีความ “พิเศษ” และถือเป็นจุดเด่นของงาน โดยโนราใหม่จะต้องนั่งบนก้นขันเงินที่คว่ำอยู่กลางโรงพิธี เหนือศีรษะจะตรงกับเทริดที่ถูกผูกเชือกไว้บนเพดาน จากนั้นจะมีคนค่อย ๆ ผ่อนเชือกให้เทริดลงครอบศีรษะโนราพอดี
เมื่อเสร็จขั้นตอน โนราใหม่ต้องร่ายรำด้วยท่าทางต่าง ๆ ที่ร่ำเรียนมาต่อหน้าครูโนราอย่างน้อย 7 คน คล้ายกับเป็นการแสดงความสามารถเพื่อขอจบหลักสูตร หากใครที่ยังไม่ผ่านพิธีกรรมนี้ ถือว่ายังไม่เป็นโนราโดยสมบูรณ์ เรียกว่า “โนราดิบ”
ผู้ที่ผ่านพิธีครอบเทริดแล้วสามารถเป็น “ราชครูโนรา” บางพื้นที่เรียกว่า “โนราใหญ่” คือผู้สืบทอดศาสตร์ของโนราอย่างเต็มตัว สามารถฝึกหัด สอน และมีสิทธิ์เต็มที่ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับโนรา เช่น พิธีกรรมโนราโรงครู, พิธีเหมรฺย (แก้บน) พิธีตั้งหิ้ง เป็นต้น คนที่จะเป็นราชครูโนรานั้นต้องถือครองความบริสุทธิ์ จนกว่าจะผ่านพิธีการผูกผ้าตัดจุกเมื่ออายุครบ 20 ปี และการอุปสมบทอย่างถูกต้อง หากโนราคนไหนชิงแต่งงานก่อนเข้าร่วมพิธีเหล่านี้จะถูกเรียกว่า “โนราหราชิก” หรือ “โนราปราชิก” ซึ่งโนราที่ไม่สมบูรณ์ทั้ง 2 แบบนี้ ไม่สามารถรำประกอบพิธีกรรมสำคัญ ๆ ของชาวบ้านได้ ยกเว้นการแสดงเพื่อความบันเทิง
เครดิตภาพ : krunora.blogspot.com
ในความเชื่อของชาวโนรา “การรำสอดเครื่อง หรือเรียกว่า “จำผ้า” เป็นพิธีกรรมสำคัญที่รับรองว่าโนราผู้นั้นได้รับการยอมรับจากครูโนราเรียบร้อยแล้ว เปรียบเสมือนการบวชเป็นสามเณรของผู้ที่ฝึกหัดรำโนรา ส่วน “การสอดกำไล” หรือ “สอดไหมรยฺ” เป็นพิธีกรรมสำหรับผู้เริ่มต้นฝึกรำโนราหรือผู้ที่ไม่เคยฝึกรำมาก่อน เพื่อฝากตัวเป็นลูกศิษย์ลูกหาก่อนรับวิชาจากครู
ขั้นตอน “การรำสอดกำไล” ผู้ปกครองจะนำบุตรหลาน พร้อมพานดอกไม้ธูป เทียน และเงิน 12 บาท ไปกราบครูโนรา โดยโนราใหญ่เป็นผู้รับมอบเครื่องบูชาแล้วสอบถามการยินยอมจากผู้ปกครองโดยสมัครใจ จากนั้นครูโนราจะนำ “กำไล” มาสวมให้ลูกศิษย์ข้างละ 3 วง แล้วประคองมือทั้งสองของเด็กขึ้นตั้งวงเพื่อเอาเคล็ดในการรำถือเป็นการเสร็จสิ้นพิธีกรรม
สำหรับ “การรำสอดเครื่อง” มีขั้นตอนที่พิเศษขึ้นมาอีกนิด ผู้เข้าพิธีจะต้องเตรียม พานดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู และเงิน 12 บาท หลังจากกราบครูและสอบถามความสมัครใจเรียบร้อยแล้ว โนราใหญ่กล่าวอวยพร พรมน้ำมนตร์ และเป่าคาถา พร้อมมอบเครื่องแต่งกายโนราที่เรียกว่า “เครื่องต้น” ให้ผู้เข้าพิธีนำไปแต่งตัว จากนั้นจึงออกรำถวายครูด้วยการรำและขับบทครูสอน บทสอนรำ ตามเวลาอันสมควร
ทั้งนี้ การรำสอดเครื่อง สอดกำไล ถือได้ว่าเป็นพิธีกรรมที่ทำเพื่อความเป็นสิริมงคลกับตนเองทำให้ความก้าวหน้าและมั่นคงในอาชีพศิลปิน
เครดิตภาพ : krunora.blogspot.com
สืบเนื่องมาจากความเชื่อเกี่ยวกับ “ครูหมอโนรา” ที่ต้องการหาผู้สืบทอดโนราหรือร่างทรงคนต่อไป ชาวบ้านและคณะโนราบางแห่งเชื่อว่าคนที่มี “ผมผีช่อ” หรือผมที่จับตัวเป็นก้อนเหมือนถูกมัดเกลียวมาตั้งแต่กำเนิด เป็นเพราะครูหมอโนราผูกผมทำสัญลักษณ์เอาไว้ว่าเป็นผู้ถูกเลือก คนใต้ส่วนใหญ่จึงมักให้ลูกหลานไว้ผมผีช่อตามประเพณี
ชาวบ้านเชื่อว่าหากใครตัดผมนี้ด้วยตัวเองจะเกิดโทษภัย แต่สามารถแก้ได้ด้วย “พิธีตัดผมผีช่อ” โดยให้โนราใหญ่เป็นผู้ตัดออกให้ในพิธีกรรมโนราโรงครู ซึ่งจำเป็นต้องทำพิธีขออนุญาตจากครูหมอโนราเสียก่อน หากไม่ผ่านพิธีนี้ผมที่งอกครั้งต่อไปก็จะถูกผูกใหม่อยู่ดี
ผู้เข้าพิธีต้องเตรียมพานดอกไม้ธูป เทียน และเงิน 12 บาทมามอบให้โนราใหญ่ คณะโนราจะเตรียมกรรไกร มีดหมอหรือพระขรรค์เอาไว้ โนราใหญ่จะเริ่มพิธีด้วยการร่ายคาถา ส่วนผู้เข้าพิธีจะปูผ้าขาวเอาไว้รองรับผมของตนเอง จากนั้นโนราใหญ่ทำน้ำมนต์รดหัวผู้เข้าพิธี แล้วรำ “ท่าสามย่าง” หรือ “ท่าย่างสามขุม” ตัดผมผีช่อ 3 ครั้ง แล้วเก็บผมที่ตัดออกแล้ว 3 ครั้ง เรียกว่า “สามหยิบ” มอบให้แก่เจ้าของหรือผู้ปกครองไปเก็บรักษาไว้ที่บ้าน เชื่อว่าผมที่ถูกตัดออกถือเป็น “ของขลัง” สามารถป้องกันอันตรายได้
เครดิตภาพ : พิธีกรรมผูกผ้าปล่อย คณะโนราห์ภัทรพงษ์ (เจ) เสน่ห์ศิลป์
ผู้ที่เป็นโนราหรือเชื้อสายโนรา หากไม่ต้องการรำโนราหรือตัดขาดจากเชื้อสายโนราโดยไม่ถูกลงโทษ สามารถทำได้ด้วยการเข้าสู่ “พิธีผูกผ้าปล่อย” เพื่อเป็นการบอกกล่าวและขอขมาต่อครูหมอโนรา
เหตุผลของการเข้าพิธีผูกผ้าปล่อยเพื่อตัดขาดจากการเป็นโนรานั้นมีหลายสาเหตุ เช่น สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง หรือแก่ชรา เมื่อเข้าทำพิธีนี้แล้วเชื่อกันว่าจะไม่ถูกลงโทษหรือพบเจอกับเรื่องไม่ดี พิธีกรรมนี้จะจัดขึ้นในช่วงที่มีพิธีกรรมโนราโรงครู “ในช่วงกลางคืนของวันพฤหัสบดี”
ขั้นตอนการผูกผ้าปล่อย ผู้เข้าร่วมพิธีต้องจัดเตรียมพานดอกไม้ ธูปเทียนและเงิน 12 บาท มอบให้แก่โนราใหญ่ พร้อมบอกเหตุผลของการเลิกรำโนรา จากนั้นโนราใหญ่จะมอบชุดโนราให้ไปแต่งตัวแล้วออกมารำโนราเป็นครั้งสุดท้ายอย่างเต็มความสามารถ
เมื่อรำเสร็จแล้ว โนราใหญ่จะถามการตัดสินใจอีกครั้งเพื่อเป็นการยืนยันครั้งสุดท้าย ก่อนจะร่ายคาถาเพื่อตัดขาดการเป็นโนรา จากนั้นให้ผู้เข้าร่วมพิธีออกไปนอกโรงโนราและถอดเครื่องแต่งกายโนราทั้งหมดส่งคืนให้โนราใหญ่ ซึ่งต้องส่งจากทางด้านหลังของตัวเองและไม่ให้หันไปมองโรงโนราอีก เป็นอันเสร็จพิธีกรรม
มโนราห์ เขียนอย่างไรให้ถูกต้อง?
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานปีล่าสุด ระบุว่า “มโนราห์” หรือ “มโนห์รา” เขียนได้ทั้ง 2 แบบโดยมีความหมายเดียวกัน หมายถึง ศิลปะการแสดงพื้นเมืองอย่างหนึ่งของภาคใต้ มีแม่บทท่ารำอย่างเดียวกับละครชาตรี อาจเขียนโดยย่อว่า “โนรา” ก็ได้เช่นกัน
พิธีตัดเหมรฺย และ พิธีสอดไหมรยฺ แตกต่างกันอย่างไร?
แม้การออกเสียงของสองพิธีนี้จะดูคล้ายกัน แต่ความหมายและวัตถุประสงค์ของพิธีกรรมแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ปัจจุบันวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่อาจต่างจากคนรุ่นปู่ย่าตายายไปบ้าง แต่ความเชื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับโนราก็ยังคงอยู่ พิสูจน์ได้จากพิธีกรรมโนราโรงครู และการแสดงโนราที่ยังมีให้เห็น สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ในงาน #โนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน โดยศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม ไทยพีบีเอส ร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
ขอบคุณข้อมูล : สารคดีชุด โนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน โดย ไทยพีบีเอส, ศาสตร์แห่งครูหมอโนรา, ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, หนังตะลุงโนรา วัฒนธรรมปักษ์ใต้, http://krunora.blogspot.com/