ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับการเลือกตั้งในปี 2566 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ วันที่ 14 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ALTV จึงอยากเชิญชวนมาย้อนอดีตไปสำรวจประวัติศาสตร์การเลือกตั้ง เพื่อเป็นเกร็ดความรู้ก่อนการได้ใช้สิทธิเลือกผู้นำประเทศ
การเลือกตั้ง (Election) ถือเป็นส่วนสำคัญของระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่มอบสิทธิ์ให้ประชาชนสามารถลงคะแนนเสียงเลือกตัวแทนมาทำหน้าที่บริหารประเทศแทนตน โดยแนวคิดดังกล่าวได้ถือกำเนิดและมีวิวัฒนาการมาหลายพันปีก่อนในดินแดนกรีกโบราณ
มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่า กระบวนการลงคะแนนเสียงโดยประชาชน เกิดขึ้นในสมัยกรีกโบราณเมื่อ 2,500 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นช่วงที่แนวคิดการปกครองระบอบประชาธิปไตยในนครรัฐเอเธนส์กำลังรุ่งเรือง ในสมัยนั้นมีการให้สิทธิและเสรีภาพกับพลเมืองเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจทางการเมืองหลายอย่าง เช่น การก่อตั้งสภาประชาชนเพื่อตัดสินคดีทางการเมือง การลงคะแนนเสียงเลือกบุคคลเข้าไปทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง หรือแม้แต่การลงคะแนนเสียงเพื่อ “เนรเทศ” นักการเมืองก็เกิดขึ้นในยุคนี้
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Smithsonian ระบุไว้ว่า มีการค้นพบกองเศษกระเบื้องที่ถูกใช้เป็น “กระดาษลงคะแนนเสียง” สำหรับขั้นตอนการขับไล่นักการเมืองออกจากดินแดน กระบวนการนี้เรียกว่า ออสตราซิสม์ (Ostracism) ที่ให้ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเฉพาะ "เพศชาย" ชาวเอเธนส์ อายุ 20 ปีขึ้นไป ไม่รวมสตรี ร่วมกันลงคะแนนเสียงขับไล่บุคคลใดก็ตาม ที่มีแนวโน้มเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เช่น ทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรม, มีพฤติกรรมสะสมอำนาจไว้ที่ตนเพียงผู้เดียว
ผู้ที่ได้เศษกระเบื้องมากที่สุด จะถูกเนรเทศออกจากเอเธนส์เป็นเวลา 10 ปี และเมื่อครบกำหนดแล้วบุคคลที่ถูกเนรเทศนั้นสามารถกลับมาอาศัยอยู่ในเอเธนส์ได้เช่นเดิม รวมถึงสามารถเข้ามารับตำแหน่งทางการเมืองได้ตามปกติ
ระบบออสตราซิสม์ถูกใช้อย่างแพร่หลาย ก่อนจะสิ้นสุดลงในช่วง 416 ปีก่อนคริสตกาล ในระหว่างนั้นมีบุคคลสำคัญหลายคน ที่ถูกเนรเทศโดยระบบออสตราซิสม์ เช่น แม่ทัพของเอเธนส์ เธมิสโตคลีส (Themistocles), นักการเมืองมีชื่อเสียงและทรงอิทธิพล อย่าง เพริคลีส (Pericles) เป็นต้น
"แมกนา คาร์ตา" (Magna Carta) หรืออีกชื่อหนึ่ง มหากฎบัตร (The Great Charter) คือข้อตกลงแรก ๆ ของโลก ที่ระบุไว้ว่าพลเมืองทุกคนล้วนมีความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย และได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นกำเนิดของ “รัฐธรรมนูญ” กฏหมายสูงสุดในหลายประเทศทั่วโลก และเป็นรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ที่ทำให้เรามี "สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) " ที่มาจากการออกเสียงเลือกตั้งได้อย่างทุกวันนี้
แมกนา คาร์ตา ถูกลงนามครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ค.ศ.1215 โดยเป็นข้อตกลงระหว่างพระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษ และบรรดาขุนนางที่ต้องการเสนอให้อำนาจของกษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมาย เนื้อหาภายในกฎบัตร กล่าวถึง การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขึ้นพื้นฐานของประชาชนชาวอังกฤษ เช่น มีสิทธิ์ได้รับการพิจารณาคดีอย่างเสรีและยุติธรรม มีสิทธิ์เสรีภาพในการพูดและพิมพ์ มีสิทธิ์ในเนื้อตัวและทรัพย์สินของตนเอง เป็นต้น
นอกจากนี้ อิทธิพลของ แมกนา คาร์ตา ยังมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาการปกครองด้วยระบบรัฐสภาที่ผู้แทนต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยแนวคิดดังกล่าวได้ถูกเผยไปสหรัฐอเมริกา รวมถึงในหลายประเทศทั่วโลก
แม้ว่าในช่วงแรกแนวคิดการปกครองระบอบประชาธิปไตยจะเริ่มพัฒนาขึ้นในยุโรปและสหรัฐอเมริกา แต่สิทธิในการเลือกตั้งยังคงถูกจำกัดไว้สำหรับคนบางกลุ่ม ในบางประเทศอย่าง อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศต้นแบบประชาธิปไตย ก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้มีสิทธิเลือกตั้งได้ในทันที
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันประเทศไทยมีการเลือกตั้งมาแล้ว 26 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 โดยเป็นการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรทางอ้อม โดยการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวมีผู้มีสิทธิออกเสียง 4,278,231 คน และผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง จำนวน 1,773,532 คน
ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับพรรคการเมืองและสาระน่ารู้ทุกมิติการเลือกตั้ง 2566 กับ Thai PBS ได้ทาง https://election66.thaipbs.or.th/
ที่มา : Thairath, Silpa-Magazine, Britannica