ใกล้เข้ามาแล้ว สำหรับวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในวันที่ 22 พ.ค. 2565 ที่จะถึงนี้ เพื่อให้การใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นเรื่องง่าย ALTV จึงอยากพาเพื่อน ๆ มาเตรียมความพร้อมก่อนออกไปใช้สิทธิกันก่อนจะได้ไม่งงทีหลัง!
ใครบ้างที่ต้องไปเลือกตั้ง ?
- ผู้มีสัญชาติไทย (หากมีการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 5 ปี)
- อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง
- มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง และคุณสมบัติอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด
ใครที่ ‘ห้าม’ ใช้สิทธิเลือกตั้ง ?
- ภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช
- ผู้ที่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่แล้วหรือไม่
- ผู้ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
- เป็นผู้วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
- มีลักษณะอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด
เตรียมตัวไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
1.ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
- ช่องทางที่ 1 ทางเว็บไซต์ ตรวจสอบผู้มีสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น <คลิก โดยกรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน
- ช่องทางที่ 2 ทางแอปพลิเคชัน ‘Smart Vote’ สามารถดาวน์โหลดได้ที่ Apple Store (IOS) และ Google Play (Android)
- ช่องทางที่ 3 เอกสารแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะแจ้งไปยังเจ้าบ้าน หรือตามสถานที่ราชการ เช่น ศาลากลางจังหวัด, ที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ที่ว่าการอำเภอ หรือที่หน่วยเลือกตั้ง
2.ลงคะแนนเลือกตั้ง
- เดินทางไปเลือกตั้งยังหน่วยเลือกตั้งที่มีรายชื่อ ได้ตั้งแต่เวลา 8.00-17.00 น. (รายงานตัวหลัง 17:00 จะไม่สามารถใช้สิทธิได้)
- ตรวจสอบรายชื่อ และลำดับที่จากบัญชีรายชื่อ ที่ติดประกาศที่หน่วยเลือกตั้ง (ตั้งแต่เวลา 08.00 น. – 17.00 น.)
- ยื่นหลักฐานแสดงตน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน หรือเอกสารที่มีรูปถ่าย และเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่หน่วยงานของรัฐออกให้
- ลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือในบัญชีรายชื่อ
- รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จากนั้นลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือที่ขั้วบัตรทั้ง 2 ใบ ได้แก่ "บัตรเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.” และ "บัตรเลือกตั้ง ส.ก."
- เดินเข้าคูหา และทำ เครื่องหมายกากบาท (X) ให้ชัดเจน ในช่องลงคะแนน
(ผู้ไม่ประสงค์เลือกผู้สมัครใดเลย ให้ทำเครื่องหมายกากบาท (X) ในช่อง ‘ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด’ แล้วพับบัตรเลือกตั้ง)
- นำบัตรเลือกตั้งที่พับแล้ว หย่อนใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง เป็นอันเสร็จสิ้น

ทำอย่างไรหากไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าไม่ได้?
คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ที่จะถึงนี้ เป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร รวมถึงนายกเมืองพัทยาและสมาชิกสภาเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งติดธุระหรือมีเหตุจำเป็น ทำให้ไม่สามารถไปเลือกตั้งได้ ต้องแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อ กกต. ก่อน-หลัง 7 วัน นั่นคือ (15-21 พ.ค. 65) หรือภายใน 7 วันหลังเลือกตั้ง (23 - 29 พ.ค.65)
3 ช่องทางง่าย ๆ ในการแจ้งเหตุหากไปเลือกตั้งไม่ได้
- ยื่นต่อนายทะเบียนท้องถิ่นที่เขตของตนด้วยตนเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นยื่นแทน
- ทำหนังสือแจ้งเหตุทางไปรษณีย์ ด้วยแบบฟอร์ม ส.ถ./ผ.ถ. 1/8แบบฟอร์ม ‘หนังสือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง’ (ส.ถ/ผ.ถ. 1/8) < คลิก
- แจ้งผ่านทางเว็บไซต์ สำนักบริหารการทะเบียน <คลิก หรือ กกต. <คลิก หรือผ่านแอปพลิเคชัน 'Smart Vote' เลือก “การแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์"
เหตุจำเป็นอะไรบ้าง ที่สามารถแจ้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
เหตุที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งต้องเป็นเหตุที่ กกต. เห็นว่าสมควร และถ้าเป็นเหตุไม่สมควรก็สามารถถูกตัดสิทธิได้ โดยมีเหตุผล ดังนี้
- มีธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
- เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
- เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
- เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
- มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
- ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง
- มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่ กกต. กำหนด
*หากธุระเสร็จสิ้นก่อนหมดเวลาเลือกตั้ง ก็ยังสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้*

สิ่งที่ต้องเสีย! ถ้าไม่ไปเลือกตั้ง
หน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายและทิศทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ซึ่งมีผลกับคุณภาพชีวิตของเราทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง ระบบขนส่งสาธารณะที่เราใช้ทุกวัน ความปลอดภัยในชีวิต ซึ่งถ้าเราไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่แจ้งเหตุในการไม่ไปใช้สิทธิ หรือเหตุที่แจ้งไม่สมควร นอกจากจะเสียสิทธิที่พึงมี ยังต้องถูกจำกัดสิทธิทางการเมืองถึง 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้งอีกด้วย
- ไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกสภาท้องถิ่น (ส.ถ.) หรือ ผู้บริหารท้องถิ่น (ผ.ถ.) หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
- ไม่สามารถสมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
- ไม่สามารถเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอน ส.ถ. หรือ ผ.ถ.
- ไม่สามารถดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
- ไม่สามารถดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
- ไม่สามารถดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น เลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น
จะไปเลือกตั้ง แต่บัตรประชาชนหมดอายุ !?
นึกขึ้นได้ว่าบัตรประชาชนหมดอายุ หรือไม่สะดวกไปทำใหม่ด้วยสถานการณ์โควิดก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะ บัตรประชาชนหมดอายุยังสามารถใช้ในการเลือกตั้งได้! นอกจากนี้เอกสารอื่น ๆ ที่ออกโดยราชการก็ยังใช้แทนได้อีกด้วย เช่น
- บัตรหรือหลักฐานของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ ที่มีรูปถ่ายและเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เช่น ใบขับขี่, หนังสือเดินทาง, บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ

‘ป่วยโควิด’ ก็ยังใช้สิทธิได้!
หากติดเชื้อ และต้องการใช้สิทธิเลือกตั้ง สามารถเดินทางมาแจ้งหน่วยเลือกตั้งซึ่งจะมีการจัดคูหาพิเศษสำหรับผู้ที่ติดเชื้อโควิด -19 โดยเฉพาะ โดยผู้ที่ติดเชื้อต้องปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด ดังนี้
- เตรียมและเอกสารแสดงตัว และอุปกรณ์ส่วนตัวที่จำเป็น เช่น บัตรประจำตัวประชาชน เจลแอลกอฮอล์ ปากกาส่วนตัว
- สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ตั้งแต่ออกจากบ้านและขณะอยู่หน่วยเลือกตั้ง
- แนะนำให้เดินเท้าหรือใช้รถยนต์ส่วนตัว แทนการใช้ขนส่งสาธารณะ
- เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร
- เข้าคูหาพิเศษที่จัดไว้สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 เท่านั้น
- หย่อนบัตรด้วยตนเอง ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่
- กลับที่พักทันทีเมื่อเสร็จจากการเลือกตั้ง
จำแล้วนำไปใช้ 'วันเลือกตั้ง' ห้ามทำเด็ดขาด!
- ห้ามลงคะแนนเลือกตั้ง หรือพยายามลงคะแนนเลือกตั้งโดยรู้อยู่แล้วว่าตน ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง หรือไม่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ในหน่วยเลือกตั้งนั้น
- ห้ามจงใจทำให้บัตรเลือกตั้งชำรุด เสียหายหรือทำให้เป็นบัตรเสีย หรือพยายามทำให้บัตรเสียเป็นบัตรที่ใช้ได้
- ห้ามนำบัตรเลือกตั้งออกจากที่เลือกตั้ง เว้นแต่เป็นการกระทำตามหน้าที่และอำนาจ
- ห้ามไม่ให้ผู้เลือกตั้ง รับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์สำหรับตน หรือผู้อื่น เพื่อลงคะแนนเลือกตั้ง หรืองดไม่ลงคะแนนให้ผู้ใด
- ห้ามเล่นการพนันเกี่ยวกับผลของการเลือกตั้ง
- ห้ามใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรเลือกตั้ง
- ห้ามขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิดในเขตเลือกตั้ง ในระหว่างเวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวัน จนถึงเวลา 18.00 น. ของวันเลือกตั้ง
- ห้ามทำเครื่องหมายโดยวิธีใดไว้ที่บัตรเลือกตั้ง นอกจากเครื่องหมายที่ลงคะแนน
- ห้ามนำบัตรเลือกตั้งที่ออกเสียงลงคะแนนแล้ว แสดงต่อผู้อื่น
การซื้อสิทธิ์ ขายเสียง มีโทษจำคุก 1-10 ปี
และปรับ 20,000-200,000 บาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี
พบการทุจริตการเลือกตั้ง แจ้งได้ที่ไหน
- แจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือส่วนกลาง
- แจ้งเรื่องกับเจ้าหน้าที่สายด่วน กกต. ที่เบอร์ 1444 กด 2
- แจ้งผ่านแอปพลิเคชัน "ตาสับปะรด" โดย กกต.
- แจ้งผ่านเว็บไซต์ กกต. ที่หัวข้อ แจ้งเบาะแสทุจริตการเลือกตั้ง <คลิก

คำถามยอดฮิตที่อาจยังไม่รู้
Q. ต้องแต่งกายยังไงไปเลือกตั้ง ใส่ขาสั้นได้ไหม ?
สามารถแต่งกายได้ตามปกติ เน้นความสบายคล่องตัว ไม่ควรสวมใส่เสื้อที่มีโลโก้หรือหมายเลข ของพรรคใดพรรคหนึ่งเข้าไปยังหน่วยเลือกตั้ง
Q. ปากกาแบบไหนที่ควรใช้ในการลงคะแนน?
กกต. ขอความร่วมมือให้ใช้ ปากกาสีน้ำเงินหรือสีดำ โดยสามารถนำติดตัวมาจากที่บ้านได้ ควรหลีกเลี่ยงปากกาลบได้ (สังเกตได้จากจะมียางลบอยู่ปลายด้าม) เพราะ หมึกอาจจางหายได้เมื่อสัมผัสกับความร้อนสูง ซึ่งอาจทำให้บัตรเสียในภายหลัง
หลีกเลี่ยง ปากกาลบได้ ปากกาเมจิก ปากกาไวท์บอร์ด ปากกาเน้นข้อความ ดินสอ
Q.ไม่ออกเสียง กับ ไม่ไปเลือกตั้งเหมือนกันหรือไม่?
การกากบาท 'ไม่ประสงค์ลงคะแนน" (Vote No) คือ การมาใช้สิทธิแต่ไม่ประสงค์ลงให้ผู้สมัครใด แตกต่างกับการ 'ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง' (No Vote) ซึ่งหากไม่แจ้งล่วงหน้าต่อ กกต. จะถูกจำกัดสิทธิทางการเมืองเป็๋นเวลา 2 ปี
Q.ในคูหาห้ามทำอะไรบ้าง
ห้ามจงใจทำบัตรชำรุด เสียหาย ห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้ว และที่สำคัญห้ามส่งเสียง การถามไถ่ว่าใครเลือกเบอร์อะไรถือเป็นความผิดด้วย
Q. จุดเลือกตั้งคนเยอะ ถ้าลงคะแนนไม่ทันเวลาปิดหีบจะเสียสิทธิหรือไม่?
เวลาปิดหีบเลือกตั้งจะอยู่ที่เวลา 17:00 ผู้ที่มาแสดงตัวกับเจ้าหน้าที่ก่อน 17.00 น. ยังมีสิทธิเลือกตั้งได้ แม้จะเลยเวลา 17.00 น.แล้ว แต่สำหรับใครที่มารายงานหลังหลัง 17:00 จะถือว่าหมดสิทธินะ
Q. เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. นับคะแนนยังไง?
นับคะแนนรวมที่มากที่สุดจากทั่วทุกเขตกรุงเทพมหานคร
Q. ผิดไหม? ถ้าไม่ยอมให้บุตรหลาน หรือ ลูกจ้างที่มีสิทธิเลือกตั้ง ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
กฏหมายกำหนดไว้ว่า การกระทำใดเพื่อไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิ หรือขัดขวาง หน่วงเหนี่ยว ไม่ให้ไปยังหน่วยเลือกตั้ง มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในส่วนของนายจ้าง หรือผู้บังคับบัญชาที่ขัดขวาง หน่วงหนี่ยว หรือไม่ให้ความสะดวก โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อีกเพียงไม่กี่วันแล้วที่คนกรุงเทพฯ จะได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในรอบ 9 ปี และอาจเป็นครั้งแรกของน้อง ๆ เยาวชนหลาย ๆ คน ที่จะได้มีโอกาสใช้สิทธิเลือกคนที่จะมาแก้ไขปัญหา และพัฒนาบ้านเมืองของเราให้น่าอยู่ขึ้น เพราะฉะนั้น #อยากเปลี่ยนกรุงเทพฯ ต้องออกไปเลือกตั้ง
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง
