ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
 'ภาษาดอกไม้' สื่อกลางแทนใจในยุควิกตอเรียน
แชร์
ฟัง
ชอบ
'ภาษาดอกไม้' สื่อกลางแทนใจในยุควิกตอเรียน
30 ก.ค. 66 • 19.00 น. | 1,456 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

มากกว่าการใช้ประดับประดาเพื่อความสวยงาม 'ดอกไม้' ยังเป็นสื่อกลางแทนความรู้สึกในใจมาทุกยุคสมัย ALTV ขอพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับ 'ภาษาดอกไม้' วิธีสื่อสารความในใจของคนยุควิกตอเรียน

 

ดอกไม้ มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตมนุษย์มาตั้งแต่อดีต ในสมัยอียีปต์และกรีกโบราณดอกไม้ถูกใช้เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์และเทพเจ้า มีการนำมาใช้เพื่อบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อแสดงความไว้อาลัยต่อผู้ล่วงลับ และสิ่งที่ยังปฏิบัติกันมาทุกยุคสมัยนั่นคือการมอบดอกไม้ให้กันแทนความรู้สึก

'ภาษาดอกไม้' สื่อกลางแทนความในใจที่มิอาจเอื้อนเอ่ย

นอกจากถ้อยคำแล้ว ‘ดอกไม้’ เป็นสิ่งที่เราใช้เป็นสื่อกลางแทนความในใจและความรู้สึกดี ๆ ต่อคนพิเศษ แนวคิดการใช้ดอกไม้แทนคำพูดนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เกิดขึ้นมาแล้วหลายร้อยปีรู้จักกันในชื่อว่า 'ภาษาดอกไม้' หรือ 'Floriography'

 

ภาษาดอกไม้มีจุดเริ่มต้นมาจากเรื่องราวของ 'Lady Mary Wortley Montagu' นักเขียนหญิงชาวอังกฤษที่ได้เดินทางไปยังประเทศตุรกี และค้นพบเข้ากับ 'ภาษาดอกไม้' วิธีสื่อสารลับของหญิงสาวที่อาศัยในฮาเร็ม ด้วยเหตุนี้เธอจึงเริ่มใช้ดอกไม้สื่อสารในเชิงสัญลักษณ์กับจดหมายของเธอ จนกระทั่งจดหมายของเธอถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ ทำให้แนวคิดการให้ดอกไม้แทนความในใจ กลายเป็นเทรนด์ยอดนิยมเรื่อยมาจนเฟื่องฟูที่สุดในสังคมยุควิกตอเรียน (Victorian era)  

 

ยุควิกตอเรียน (1837 – 1901) เป็นยุคสมัยที่มีกฎเกณฑ์ทางจริยธรรมเคร่งครัด การติดต่อสื่อสารระหว่างหนุ่มสาว หรือการแสดงความรู้สึกรักใครเป็นเรื่องทำได้ยาก การส่งดอกไม้แทนความในใจจึงเป็นวิธีหลักในการแสดงความรู้สึกของคนยุคนั้น รวมไปถึงการแสดงคำขอบคุณ แสดงความยินดี ไปจนถึงการว่าร้ายศัตรูที่ไม่ชอบหน้าผ่านความหมายของดอกไม้ 

ความนิยมของภาษาดอกไม้แพร่หลายไปทั่วทุกพื้นที่ของสังคมยุควิกตอเรียน บ้านทุกหลังต้องมี ‘พจนานุกรมดอกไม้’ อย่างน้อยหนึ่งเล่ม เพื่อใช้เปิดหาความหมายที่แฝงมากับดอกไม้ โดยพจนานุกรมภาษาดอกไม้เล่มแรกมีชื่อว่า The Language of Flowers ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1884 โดย Jean Marsh นักเขียนชาวอังกฤษในยุควิกตอเรียน

 

ภายในหนังสือมีการแบ่งแยกดอกไม้ไว้เป็นหมวดหมู่ เช่น หมวดดอกไม้เพื่อแสดงความยินดี การแสดงความรัก การปฏิเสธหรือขอโทษและความหมายของดอกไม้แต่ละดอก เช่น ดอกเจอราเนียม (Geranium) หมายถึง ‘การพบเจอกันแบบไม่คาดคิด’ ดอกสวีตพี (Sweetpea) แทนคำขอบคุณ ดอกทานตะวัน (Sunflower) หมายถึงความหยิ่งยโส ซึ่งในภายหลังพจนานุกรเล่มดังกล่าว ก็ได้กลายเป็นมาตรฐานของภาษาดอกไม้ที่ใช้กันทุกวันนี้อีกด้วย

 

ภาษาดอกไม้ในงานศิลป์

นอกจากจะเป็นสื่อกลางแทนความรู้สึกของผู้คน ภาษาดอกไม้ยังมักปรากฏในผลงานภาพเขียนและบทกวีอีกมากมาย หนึ่งในนั้นคือบทละคร เรื่อง แฮมเลต (Hamlet) ผลงานประพันธ์ของ วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) กวีชาวอังกฤษผู้โด่งดัง

 

เชกสเปียร์เลือกใช้ดอกไม้เป็นสัญลักษณ์แทนความโศกเศร้าของ โอฟิลเลีย (Ophelia) ที่ต้องสูญเสียพ่อจากการลอบสังหารโดยแฮมเลตชายผู้เป็นที่รัก ด้วยหัวใจที่แตกสลายแต่ก็ไม่อาจแสดงความรู้สึกของตนออกมาได้ โอฟิลเลียจึงได้รวบรวมดอกไม้หลากหลายชนิดมอบให้คนใกล้ชิด และผู้ที่อยู่เบื้องหลังการสังหารพ่อของเธอ ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละดอกล้วนมีข้อความแฝงอยู่ ก่อนที่เธอจะจบชีวิตลงที่ลำธาร

นอกจากงานวรรณกรรมแล้ว เรื่องราวของโอฟิลเลียยังถูกถ่ายทอดเป็นภาพวาดสีน้ำมัน ที่รู้จักกันในชื่อ ‘Ophelia' ผลงานเลื่องชื่อของ จอห์น เอเวอร์เรตต์ มิลเลส (John Everett Millais) จิตรกรชาวอังกฤษ ที่นำเสนอภาพวาระสุดท้ายของโอฟิลเลียลอยอยู่ในลำธารพร้อมดอกไม้นานาชนิด

 

มิลเลสตั้งใจซ่อนความหมายลงดอกไม้แต่ละดอก ประกอบด้วย ดอกฟอร์เก็ทมีนอท (Forget-me-not) สื่อถึงการระลึกถึง, ดอกป๊อปปี้ (Poppy) หมายถึงความตาย, ดอกเดซี่ (Daisy) หมายถึง ความไร้เดียงสา และดอกแพนซี (Pansy) หมายถึง ความผิดหวัง

ความหมายของดอกไม้ตามพจนานุกรม

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าในยุควิกตอเรียนมีการตีพิมพ์พจนานุกรมดอกไม้ เพื่อให้เข้าใจเจตนาของผู้ส่ง ซึ่งการให้ความหมายดอกไม้แต่ละดอกนั้น มักอิงจากผลงานวรรณกรรมหรือลักษณะทางธรรมชาติของดอกไม้นั้น ๆ เช่น ดอกกะหล่ำมีรูปร่างคล้ายเงิน จึงสื่อได้ถึงความร่ำรวย ความมั่งคั่ง เป็นต้น

  • ดอกไฮเดรนเยีย (Hydrangea) หมายถึง การตัดพ้อผู้รับว่าเขาหรือเธอเป็นคนที่ไร้หัวใจ มีจิตใจด้านชา
  • ดอกอาซาเลีย (Azalea) หมายถึง การแสดงความห่วงใย แทนได้กับคำว่า 'ดูแลตัวเองด้วยนะ'
  • ดอกบัตเตอร์คัพ (Buttercup) หมายถึง ความร่าเริงแจ่มใส และสามารถแทนความรู้สึกว่าผู้ให้มีความรู้สึกดีด้วย
  • ดอกกะหล่ำ (Cabbage) หมายถึง ความมั่งคั่ง ร่ำรวย
  • ดอกโหระพา (ฺBasil) หมายถึง ความเกลียดชัง
  • ดอกทานตะวัน (Sunflower) หมายถึง ความหยิ่งยโส ความทะนงตน
  • ดอกลาเวนเดอร์ (Lavender) หมายถึง การรอคอยและความไม่ไว้วางใจ
  • ดอกยี่โถ (Oleander) หมายถึง เตือนให้ระมัดระวังอันตรายหรืออุปสรรคต่าง ๆ
  • ดอกคาร์เนชันมีลวดลาย (Stripped Carnation) แสดงถึงความเสียใจ และการปฏิเสธ

 

 

ที่มา Planterrevent, สำนักข่าว บีบีซี (BBC) ,

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#ดอกไม้, 
#ความของดอกไม้, 
#บ้านและสวน, 
#ปลูกต้นไม้, 
#ภาษาดอกไม้, 
#ประวัติศาสตร์ดอกไม้ 
ผู้เขียนบทความ
avatar
THANATCHA SUVIBUY
นับถือแมวเป็นศาสนา มีไอดอลเกาหลีเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
ALTV CI
LearnMore
LearnMore
ALTV All Around
ผู้เขียนบทความ
avatar
THANATCHA SUVIBUY
นับถือแมวเป็นศาสนา มีไอดอลเกาหลีเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#ดอกไม้, 
#ความของดอกไม้, 
#บ้านและสวน, 
#ปลูกต้นไม้, 
#ภาษาดอกไม้, 
#ประวัติศาสตร์ดอกไม้ 
แชร์
ฟัง
ชอบ
ติดตามเรา