ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
5 ดอกไม้และความหมายลับที่ซ่อนอยู่ในประวัติศาสตร์ LGBTQ+
แชร์
ฟัง
ชอบ
5 ดอกไม้และความหมายลับที่ซ่อนอยู่ในประวัติศาสตร์ LGBTQ+
21 มิ.ย. 65 • 15.00 น. | 8,116 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

ย้อนกลับไปในอดีตก่อนที่ธงสีรุ้ง (Pride Flag) จะกลายเป็นสัญลักษณ์แทนกลุ่ม LGBTQ+ "ดอกไม้" ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม LGBTQ+ เพื่อแสดงถึงตัวตน ความรัก ความสูญเสีย และการต่อต้านการกดขี่มาหลายยุคสมัย วันนี้ ALTV ขอพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักกับบทบาทของ 5 ดอกไม้ที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้มีความหลากหลายทางเพศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไปพร้อมกัน

🌈 ดอกคาร์เนชันสีเขียว

ครั้งหนึ่งในอดีต "ดอกคาร์เนชันสีเขียว" ถือเป็นสัญลักษณ์แทนความรักระหว่างเพศเดียวกัน หรือ เกย์ (Gay) อันเริ่มมาจากเรื่องราวของ “ออสการ์ ไวล์ด” นักกวีคนสำคัญของโลกที่มักติดดอกคาร์เนชันสีเขียวบนปกเสื้อ ซึ่งภายหลังเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มรักร่วมเพศ และถูกตัดสินจำคุกในข้อหากระทำการสังวาสผิดธรรมชาติ

 

ไวล์ด เกิดวันที่ 16 ตุลาคม 1854 ที่เมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเขียนที่มีคารมคมคาย หาตัวจับได้ยาก แต่เพราะงานเขียนส่วนใหญ่ของเขามักเป็นงานเชิงวิพากษ์สังคม แหวกขนบธรรมเนียมในยุควิกตอเรีย ทำให้ตัวเขาเองมีชื่อเสียไม่แพ้กัน

 

นวนิยายเรื่อง 'The picture of dorian gray' เป็นหนึ่งในผลงานสร้างชื่อของไวล์ด จากการมีตัวละครรักร่วมเพศอยู่ในเนื้อเรื่องด้วย ซึ่งนี่เป็นชนวนแรกที่ทำให้ในปี 1895 ไวลด์ถูกฟ้องร้องข้อหากระทำการสังวาสอย่างผิดธรรมชาติ ซึ่งในขณะนั้นเป็นสิ่งผิดกฏหมาย

 

ไม่เพียงเท่านี้ การที่ไวล์ดติดดอกคาร์เนชันบนปกเสื้อไปออกงานสังคมอยู่บ่อยครั้ง ยังถูกตีความว่าเป็นการแสดงออกถึงความสนใจในเพศเดียวกัน ทั้งที่จนถึงปัจจุบันไม่มีใครรู้ว่าดอกคาร์เนชันสีเขียวมีความอย่างไรกับเขากันแน่ นอกจากนี้ยังมีการยก The Green Carnation นวนิยายที่มีเนื้อหาเสียดสีชีวิตความสัมพันธ์ระหว่างไวลด์กับลอร์ดอัลเฟรด ดักลาส (Lord Alfred Douglas) ขึ้นมาเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องไวล์ดในชั้นศาลอีกด้วย แม้ว่าหลักฐานแทบไม่ได้มีน้ำหนักพอให้รับฟัง หากเทียบกับกฏหมายสมัยนี้ แต่สำหรับสมัยนั้นก็มากพอที่ทำให้ไวล์ดถูกจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ก่อนที่จะถูกเนรเทศไปฝรั่งเศสและเสียชีวิตลงในวัย 46 ปี

ดอกคาร์เนชันสีเขียวกลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ในการแสดงถึงคนรักเพศเดียวกันมานับตั้งแต่นั้น ในงาน Met gala ปี 2021 เอลเลียต เพจ (Elliot page) เปิดตัวต่อหน้าสื่อและแฟน ๆ ด้วยชุดสูททักซิโด้สีดำเรียบง่าย กลัดด้วยดอกไม้สีเขียวบนปกเสื้อด้านซ้าย ซึ่งเหล่าแฟน ๆ และสื่อมวลชน คาดเดาว่าดอกไม้ดังกล่าวแฝงนัยยะซ่อนเร้นถึง  ‘ดอกคาร์เนชันสีเขียว’ สัญลักษณ์ประจำตัวของ “ออสการ์ ไวล์ด” นั่นเอง

ความหมายดอกคาร์เนชันสีเขียว 

  • ความอ่อนโยน 
  • การมีสุขภาพดี 
  • ความหลากหลายทางเพศ (Gay Pride) 
  • ธรรมชาติ  

🌈 ดอกลาเวนเดอร์

ดอกไม้สีม่วงส่งกลิ่นหอมที่ใคร ๆ ก็ชอบนี้ เป็นตัวแทนของความอ่อนโยน การรอคอยอย่างมีหวัง และความทรงจำอันงดงาม แต่อีกด้านหนึ่งของเรื่องราวของดอกไม้นี้กลับไม่ได้สวยงามเท่าไหร่นัก เพราะครั้งหนึ่งคำว่า 'ลาเวนเดอร์' เคยถูกใช้เป็นถ้อยคำเชิงเหยียดเพศ ไปจนถึง Buzzword ในการปราบปรามกลุ่มคนรักร่วมเพศในอดีตอีกด้วย

 

ย้อนกลับไปในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ของอังกฤษ คำว่า ‘Lavender lads' (หนุ่มลาเวนเดอร์) เป็นคำที่ใช้กล่าวถึงผู้ที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ ที่ในสมัยนั้นถูกมองว่าผิดศีลธรรม นอกจากนี้ยังมีคำว่า 'Streak of Lavender' โดยระบุไว้ในหนังสือชีวประวัติของ อับราฮัม ลินคอล์น ในปี 1926 โดย คาร์ล แซนด์เบิร์ก ว่าเป็นคำใช้เรียก 'ผู้ชายที่มีบุคลิกท่าทางนุ่มนิ่มเหมือนผู้หญิง' ซึ่งถ้อยคำเหล่านี้ล้วนนี้มีนัยที่แสดงออกถึงการเหยียดเพศ จนปัจจุบันมีการรณรงค์ไม่ใช่คำเหล่านี้แล้ว

 

เวลาล่วงเลยมาในปี 1950 ความหวาดกลัวต่อภัยคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ออกล่าแม่มดกลุ่มคนรักร่วมเพศ โดยใช้ชื่อว่า 'ความหวาดกลัวลาเวนเดอร์' (Lavender scare) โดยมี โจเซฟ แม็คคาร์ธี (Joseph McCarthy) สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐเป็นผู้ริเริ่ม การพุ่งเป้าไปที่กลุ่มรักร่วมเพศในครั้งนี้ รัฐบาลใช้ข้ออ้างว่าเเพราะเป็นกลุ่มที่อาจถูกใช้ต่อรองง่ายกว่าคนทั่วไป เขากลัวว่ากลุ่มคนร่วมเพศจะถูกบีบให้เปิดเผยข้อมูลราชการเพื่อแลกกับกับการปกปิดรสนิยมทางเพศของพวกเขา

 

ด้วยเหตุนี้เอง พนักงานของรัฐที่ถูกกล่าวหาว่าอยู่ในกลุ่มรักร่วมเพศต้องถูกไล่ออกกว่า 5,000 คน มีคนตกงานจากข้อจำกัดทางเพศอีกราว 10,000 คน และอีกหลายคนที่ตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเอง เพราะถูกบังคับให้ออกจากงานกลางคัน เกิดเป็นกระแสความไม่พอใจในกลุ่มคนรักร่วมเพศ และนำไปสู่การประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมที่กินเวลายาวนานเกือบ 50 ปี กว่าจะมีการยกเลิกคำสั่งห้ามคนที่รักร่วมเพศเข้าทำงาน ในปี 1998

ความหมายของดอกลาเวนเดอร์

  • ความจงรักภักดี
  • ความสง่างาม
  • ความบริสุทธิ์

🌈 ดอกไวโอเลต

‘ดอกไวโอเลต’ เป็นดอกไม้ที่แสดงถึงความศรัทธา ความจริงใจ และรักนิรันดร์ กล่าวกันว่าหากได้รับดอกไวโอเลตจากใคร นั่นหมายความว่าเขาคนนั้นกำลังแสดงความมจริงใจต่อคุณ ในช่วงศตวรรษที่ 20 ดอกไวโอเลตถูกเชื่อมโยงเข้ากับความรักความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิง หรือ 'เลสเบี้ยน' ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากตำนานรักร่วมเพศของ ‘แซฟโฟ (Suppho)’ กวีหญิงยุคกรีกโบราณ

 

‘แซฟโฟ (Suppho)’ คือกวีหญิงที่อาศัยอยู่บนเกาะเลบอส ประเทศกรีก บทกวีของแซฟโฟลึกซึ้งกินใจ จนได้รับการยกย่องจากเพลโต ซึ่งในบางช่วงของบทกวีจะมีการพรรณาถึงผู้หญิงสวมหรีดดอกไวโอเลต ที่ในภายหลังถูกตีความว่าเป็นการแสดงความลุ่มหลงในหญิงสาวคนรัก แต่ก็เป็นเพียงการตีความเท่านั้นเพราะงานเขียนของแซฟโฟไม่มีน้ำหนักพอที่สามารถบ่งบอกเพศวิถีของเธอ แต่อย่างไรก็ตามในช่วงศตวรรษที่ 20 แซฟโฟและดอกไวโอเลต ได้ถูกหยิบยกมาใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มเกย์และเลสเบี้ยนในเวลาต่อมา

 

นอกจากนี้ ในปี 1926 บทละครเรื่อง The Captive ที่คาดว่าเป็นละครแนวเลสเบี้ยนเรื่องแรกในสหรัฐอเมริกา โดยนักเขียนบทละคร เอดัวร์ บูร์แด (Edouard Bourdet) มีฉากหนึ่งที่นักแสดงหญิงมอบช่อดอกไวโอเลตให้แก่กัน เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์ในเชิงชู้สาวของพวกเธอ ซึ่งหลังจากที่เปิดตัวได้ไม่นานก็ต้องถูกงดฉาย เพราะถูกร้องเรียนว่ามีเนื้อหา “ขัดต่อศีลธรรม” ซึ่งการเซ็นเซอร์ในครั้งนี้ ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจในกลุ่มหญิงรักหญิง มีผู้หญิงหลายคนสวมเสื้อผ้าสีม่วง และติดดอกไวโอเลตที่ปกเสื้อ และเข็มขัด เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าไม่เห็นด้วยต่อการเซ็นเซอร์ในครั้งนี้

ความหมายของดอกไวโอเลต

  • ความสุภาพเรียบร้อย
  • จิตวิญญาณ 
  • ความซื่อสัตย์
  • ความถ่อมตน 

🌈 ดอกแพนซี

ดอกแพนซี หรืออีกชื่อหนึ่งดอกหน้าแมวที่มีสีสันสดใสนี้ เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแดร็กควีน ไปจนถึงสัญลักษณ์ต่อต้านความเกลียดชังคนรักเพศเดียวกัน (Homophobia)

 

สหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1950-1960 ก่อนเกิดเหตุการณ์ปราบปรามกลุ่ม LGBTQ+ ครั้งใหญ่ที่บาร์ 'สโตนวอลล์ อินน์’ วัฒนธรรมการสร้างความบินเทิงด้วยแดร็กควีน (Drag Queen) เป็นที่นิยมตามคลับใต้ดินหรือบาร์เกย์อย่างมาก ซึ่งรูปแบบการแสดงรู้จักกันในชื่อ "Pansy Caze" ที่ได้อินสไปร์มาจาก "ดอกแพนซี" นี่เอง

 

อ้างอิงวารสาร FLOWERS OF MANHOOD: Race, sex and floriculture โดย Christopher Looby ระบุไว้ว่าช่วงต้นศตวรรษที่ 20 กลุ่มรักร่วมเพศในสหรัฐฯ มีการใช้ชื่อของ "ดอกไม้" เรียกแทนกัน เปรียบเสมือนชื่อในวงการที่จะรู้กันในกลุ่มเล็ก ๆ เช่น แพนซี (Pansy) เดซี่ (Daisy) หรือบัตเตอร์คัพ (ฺButtercup) เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ในปี 2005 Paul Harfleet ศิลปินชาวอังกฤษ ได้ริเริ่ม The Pansy project แคมเปญต่อต้านกระแสความเกลียดชังคนรักเพศเดียวกัน และคนข้ามเพศ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์การปราบปรามกลุ่มคนรักร่วมเพศในอดีต ที่ครั้งหนึ่งพอลกล่าวว่าเขาเองก็เคยเป็นเหยื่อมาก่อน ซึ่งการที่เขาเลือกดอกแพนซี มาจากในวัยเด็กที่พอลมักถูกเรียกว่า "Big Pansy" เป็นคำแสลงที่หมายถึงเกย์ออกสาว

 

พอลเลือกปลูกดอกแพนซีทั่วเมืองหลวงที่มีการปราบปรามกลุ่มคนรักร่วมเพศตั้งแต่สหราชอาณาจักร ยุโรป และสหรัฐอเมริกา เช่น ปารีส กรุงเบอร์ลิน วอชิงตันดีซี นิวยอร์ก ฯลฯ ซึ่งแคมเปญในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสื่อและคนทั่วไปอย่างมาก

ความหมายของดอกแพนซี

  • ความรักแบบเสน่หา
  • ความเห็นอกเห็นใจ
  • การมีอิสระทางความคิด

🌈 ดอกกุหลาบ

ดอกกุหลาบ สัญลักษณ์แห่งความรักที่หลายคนคุ้นเคยนี้ ยังถือเป็นสัญลักษณ์แทนกลุ่มคนข้ามเพศ (Trans-People) ด้วยเช่นกัน

 

“โปรดมอบกุหลาบแก่เราขณะยังมีชีวิต” (Give us our roses while we’re still here) คือประโยคที่ใช้ระลึกถึงกลุ่มคนข้ามเพศที่ต้องจบชีวิตลงจากการะแสความเกลียดชัง ในทุกวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันสนับสนุนสิทธิของกลุ่มคนข้ามเพศสากล หรือ International Transgender Day of Visibility

 

ประโยคดังกล่าวเริ่มมาจาก Artist-activist นามว่า B Parker และ Micah Bazant โดยพวกเขาใส่ไว้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานภาพวาด "Forward Together" ที่ภายหลังได้นำมาใช้ต่อกันอย่างแพร่หลายในทรานส์คอมมูนิตี้

 

ศิลปินทั้งสองให้เหตุผลต่อสำนักข่าว HuffPost ว่าการเลือกใช้ดอกกุกลาบในประโยคนั้น เพราะพวกเขาคิดว่า ดอกกุหลาบเป็นได้ทั้งสัญลักษณ์แห่งความรักที่ผู้คนจะมอบให้แก่กัน ในขณะเดียวกันก็เป็นดอกไม้ที่เกี่ยวของกับ ความตาย หรือการไว้อาลัยต่อการสูญเสีย อย่างที่เรามักเห็นภาพของผู้คนโยนดอกกุหลาบลงไปในหลุมศพเพื่อแสดงความเคารพต่อผู้ที่จากไป ซึ่งเราอาจเห็นได้จากภาพยนตร์ต่างประเทศหลายเรื่อง

ความหมายของดอกกุหลาบ

  • ความสง่างาม
  • ความรัก
  • ความอ่อนเยาว์
  • ความยินดีและความเสน่หา

 

เคยมีคำกล่าวว่า "คนเราก็เหมือนกับดอกไม้" (People are like flower) ที่ต่างมีสีสัน ขนาด รูปร่างต่างกัน บางดอกหายาก บางดอกสามารถพบเห็นได้ทั่วไป ซึ่งในความแตกต่างกันนี้ ล้วนมีความสวยงามในแบบของตัวเอง และไม่มีแบบไหนที่ผิดหรือถูก เช่นเดียวกับความหลากหลายทางเพศที่ไม่ใช่ความผิดปกติทางจิตใจ ไม่ว่าหญิง ชาย หรือ LGBTQ+ ทุกคนล้วนเป็นมนุษย์เหมือนกัน คงจะดีไม่น้อยหากเราสามารถเคารพในความหลากหลายของกันและกันได้ เพื่อหนทางที่จะนำไปสู่สังคมที่น่าอยู่ขึ้น

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#Pridemonth, 
#LGBTPrideMonth, 
#Transgender, 
#Queer, 
#Lesbian, 
#กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ, 
#LGBTQ+., 
#ThePansyproject, 
#ความเท่าเทียมทางเพศ, 
#ชุมชนLGBTQ+, 
#ดอกไม้, 
#ความหมายของดอกไม้, 
#PrideFlower, 
#ธงไพร์ด 
ผู้เขียนบทความ
avatar
THANATCHA SUVIBUY
นับถือแมวเป็นศาสนา มีไอดอลเกาหลีเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
ALTV CI
Interest Thing
Interest Thing
ALTV All Around
ผู้เขียนบทความ
avatar
THANATCHA SUVIBUY
นับถือแมวเป็นศาสนา มีไอดอลเกาหลีเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#Pridemonth, 
#LGBTPrideMonth, 
#Transgender, 
#Queer, 
#Lesbian, 
#กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ, 
#LGBTQ+., 
#ThePansyproject, 
#ความเท่าเทียมทางเพศ, 
#ชุมชนLGBTQ+, 
#ดอกไม้, 
#ความหมายของดอกไม้, 
#PrideFlower, 
#ธงไพร์ด 
แชร์
ฟัง
ชอบ
ติดตามเรา