ที่มา : www.ourchinastory.com
วันไหว้ขนมบัวลอย หรือ ตงจื้อ (冬至) เป็นประเพณีสำคัญของชาวจีนในช่วงปลายปี ในช่วงฤดูหนาวที่เวลากลางคืนยาวนานกว่ากลางวัน โดยปกติแล้ว วันตงจื้อ จะจัดขึ้นในเดือนที่ 11 ตามปฏิทินจีน แต่ถ้ายึดตามปฏิทินสากลจะตรงกับวันที่ 21 หรือ 22 ธันวาคมของทุกปี ถือเป็น เทศกาลปีใหม่ทางดาราศาสตร์ของชาวจีน
ในยุคโบราณ ชาวจีนให้ความสำคัญกับเทศกาลไหว้ขนมบัวลอย หรือ ตงจื้อ ไม่ต่างไปจากวันตรุษจีนเลย ผู้คนในเมืองจะปิดร้านเพื่อไปทำบุญ หรือ ไหว้ขอพรให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองสัตว์เลี้ยงในช่วงฤดูหนาว และขอให้พืชผลงอกงาม ผู้คนมีสุขภาพแข็งแรง อีกทั้งยังเป็นการไหว้ขอบคุณตี่จู้เอี๊ย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเทวดาฟ้าดิน ที่ช่วยคุ้มครองให้สามารถใช้ชีวิตมาได้อย่างราบรื่นตลอดทั้งปี สมัยนั้นมักจะใช้บัวลอยที่มี “สีขาวและแดง” ในการไหว้ แทนความหมายของ “เดือนกับตะวัน” เพื่อระลึกถึงการหมุนเวียนของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ หรือสื่อถึงการขึ้นปีใหม่นั่นเอง
ในวันนี้คนจีนจะปั้นขนมที่มีลักษณะคล้ายกับบัวลอยของไทย เรียกว่า ถังหยวน (汤圆) หรือ ขนมอี๋ ที่คนไทยเชื้อสายจีนคุ้นเคย ซึ่งจะนำแป้งที่ปั้นไว้ไปต้มในน้ำเชื่อมแล้วนำมาไหว้ แต่ละภูมิภาคของจีนก็จะมีเอกลักษณ์การเฉลิมฉลองที่แตกต่างกันไป โดยพื้นที่ทางเหนือของจีนก็จะนิยมกินเกี๊ยวกันแทนบัวลอย ทางใต้จะนิยมกินบัวลอยลูกใหญ่ ส่วนคนไทยเชื้อสายจีนจะนิยมบัวลอยลูกเล็ก สีที่นิยมคือ สีขาว สีแดง สีเขียว สีเหลือง แต่ในปัจจุบันนี้มีแต่สีแดงหรือชมพู และขาวเท่านั้น
วันไหว้ขนมบัวลอย ไม่เพียงแต่เป็นวันขึ้นปีใหม่ทางดาราศาสตร์ของชาวจีน หรือวันไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น แต่ยังเป็นวันที่ทำให้คนที่ทำงานอยู่ไกลบ้านได้กลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัวในช่วงวันหยุด และการทำบัวลอยร่วมกัน ยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยสานสัมพันธ์ในครอบครัวได้เป็นอย่างดี เมื่อนำไปไหว้เสร็จแล้ว ส่วนที่เหลืออยู่ในหม้อก็จะถูกนำไปแจกจ่ายให้ทุกคนในบ้านได้ทานกัน เรียกได้ว่าอิ่มทั้งบุญ อิ่มทั้งท้องกันเลยทีเดียว
เรื่องราวน่ารู้ของขนมบัวลอยยังมีอีกเพียบ! สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมในรายการเหล่านี้
ขอบคุณข้อมูล : สำนักพิมพ์ภาษาและวัฒนธรรม / มหาวิทยาลัยหัวเฉียว / bambelle.wordpress.com