“ครูไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด แต่ครูก็อยากให้เด็กทุกคนมีความสุขที่สุด เพราะครูเชื่อว่าความสุข เป็นสารตั้งต้นของทุกสิ่ง ศิลปะ มีเพื่อให้คนมีความสุข เราปฏิเสธไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นสารตั้งต้นของครูก็คือความสุข”
ไม่บ่อยนักที่เราจะได้ยินใครนิยามศิลปะว่า ความสุข เพราะเมื่อพูดถึงคำนี้ สิ่งแรกที่เรามักจะนึกถึงคือ ความสวย ความงาม เช่น ภาพศิลปะนี้สวยงาม หรือท่ารำนี้มีความงดงามอ่อนช้อย แต่สำหรับ ครูเอ็ม “วนารี เที่ยงอ่ำ” ครูสอนวิชานาฏศิลป์ระดับประถมศึกษา โรงเรียนผาสุกมณีจักรมิตรภาพที่ 116 ปากเกร็ด 2 จ.นนทบุรี ทั้ง 2 คำนี้ มีความหมายเหมือนกัน
เพื่อยืนยันความหมายนี้ ครูเอ็ม พาไปดูห้องเรียนวิชานาฏศิลป์ที่ถูกเปลี่ยนเป็น โรงละครหุ่นเงาสร้างสรรค์ ชั่วคราว และให้นักเรียนเล่นบทบาทสมมุติเป็นผู้จัดการแสดงจาก คณะมิตรภาพบันเทิงศิลป์ ที่กำลังเริ่มเปิดการแสดงเรื่อง มดกับนกเขา ขณะที่ฝั่งผู้ชมตัวน้อยก็พร้อมสนุกกับละครหุ่นเงาแล้ว
“วันหนึ่งขณะที่เจ้ามดน้อยกำลังดื่มน้ำในลำธาร เกิดมีลมพายุพัดกระหน่ำอย่างแรง เจ้ามดน้อยลอยปลิวละลิ่วตกลงไปในน้ำ เจ้ามดพยายามกระเสือกกระสนว่ายน้ำเข้าหาฝั่ง แต่มันก็ไม่สามารถต้านแรงลมที่พัดตีน้ำจนกระเพื่อมอยู่ได้...”
เสียงพากย์เปิดเรื่องที่หนักแน่น ถ่ายทอดผ่านถ้อยคำที่ไม่ยากเกินไปสำหรับผู้ชมตัวน้อยที่จะจินตนาการตามได้ ทำให้เสียงเจี๊ยวจ๊าวแทบจะเงียบในทันทีตั้งแต่เริ่มเปิดการแสดง แต่กว่าจะทำแบบนี้ได้ นักพากย์ประจำโรงละครบอกว่าต้องฝึกฝนอย่างหนัก
“ผู้พากย์ต้องเน้นออกเสียงแต่ละระดับจากต่ำไปสูงหรือสูงไปต่ำ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้ชมให้หันมามองเรามากขึ้น” ธิดารัตน์ ใจคำ นักเรียนหญิงผู้รับหน้าที่พากย์เสียงบอกเทคนิคดึงความสนใจของคนดู เช่นเดียวกับ ธนโชติ บุญพิพิธ ที่ย้ำความสำคัญการใช้เสียงของผู้พากย์ “ผมคิดว่าสำคัญที่สุดเป็นการพากย์และการเชิด เพราะการพากย์ต้องใช้เสียง ส่วนการเชิดที่ยากเพราะต้องใช้ 2 มือเชิด”
บทละคร เป็นอีกหน้าที่ๆ เด็กๆ ต้องฝึกฝน และยังต่อเนื่องไปถึงการต้องฝึกวาดภาพและตกแต่งตัวละครให้ได้ตามบทบาทที่วางไว้ จากนั้นก็เอาตะปูมาเชื่อมเป็นสลักข้อต่อแต่ละชิ้นส่วนเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก็จะได้ตัวละครที่พร้อมเชิดในโรงละครแล้ว
ใช้เวลาไม่นาน ละครหุ่นเงาเรื่องมดกับนกเขาก็จบลง ความสนุกที่เกิดขึ้นตลอดเรื่องทำให้ผู้ชมตัวน้อยต่างให้คะแนนรุ่นพี่คณะละครเกินร้อย แถมด้วยรอยยิ้มที่ยังค้างอยู่บนใบหน้าของผู้ชมทุกคน เพียงแค่นี้ ก็ทำให้คณะละครมีความสุขและภูมิใจในตัวเอง อย่างที่ ภาคิน ถวิลไพร กำลังรู้สึก “ภูมิใจในตัวเองมาก เพราะได้ทำอะไรที่แตกต่างจากที่ตัวเองทำได้ แล้วได้ทำให้คนอื่นดูด้วย”
แล้วละครหุ่นเงา อยู่ใน วิชานาฏศิลป์ ได้อย่างไร เพื่อเมื่อพูดถึงวิชานี้ เชื่อว่าภาพแรกที่หลายคนนึกถึงคือ การฝึกฟ้อนรำ หรือเล่นดนตรีไทย แต่สำหรับครูเอ็ม มองว่า ไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะชอบแบบนั้น
“เด็กบางคนไม่ได้ชอบการรำ เพียงแค่พูดว่านาฏศิลป์ก็ร้องเฮ้ยแล้ว เราจึงแค่สอนให้เขารู้เบื้องต้นว่านาฏศิลป์ไทยเป็นอย่างไร แล้วจากนั้นก็หากิจกรรมการแสดงที่สะท้อนการเล่นของเขาและอยู่ในชีวิตเขาอย่างกิจกรรมละครหุ่นเงา ซึ่งได้รับการตอบรับดีจากเด็กๆ เพราะพวกเขารู้สึกสนุก แล้วยังได้เล่นกับเพื่อนด้วย”
จากกิจกรรมนี้ ไม่เพียงแค่ทักษะด้านศิลปะหลายแขนงที่เด็กๆ ได้เรียนรู้ ทั้งการเขียนบทเรียบเรียงถ้อยคำ การออกแบบ วาด และตกแต่งตัวละคร การประดิษฐ์งานศิลปะ การขยับเขยื้อนร่างกายในขณะเคลื่อนไหวตัวละคร ไปจนถึงการใช้เสียง
ไม่เพียงแค่นั้น ในกิจกรรมนี้ยังแฝงการฝึกความอดทน ฝึกทำงานร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งฝึกใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นรากฐานสำคัญของทักษะชีวิตที่เด็กๆ ต้องเรียนรู้เพื่ออยู่รอดได้ในวันที่พวกเขาเติบโตขึ้น
แต่สำหรับครูเอ็ม ทั้งหมดนี้ยังไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย เพราะสิ่งสุดท้ายที่ครูอยากเห็นจากเด็กๆ ที่ผ่านการเรียนวิชานาฏศิลป์กับครูเอ็มคือ ความสุข
“อยากให้เด็กเข้าเรียนกับครูแล้วมีความสุข เพราะการจะทำอะไรต้องมีความสุขก่อน กิจกรรมอะไรก็ตามที่จะให้เขาทำต้องให้เขามีความสุขที่ได้ทำ”
เพราะความสุข คือสารตั้งต้นของทุกสิ่ง ครูเอ็มกล่าวทิ้งท้าย