ข้อมูล "ผลการสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญา (IQ) เด็กปฐมวัย (อายุ 1 - 6 ปี) โดยกรมสุขภาพจิต พบว่า สถานการณ์ของเด็กปฐมวัยในจังหวัดขอนแก่น มีแนวโน้มดีขึ้น คือ เพิ่มจาก 93.12% เมื่อปี 2559 เป็น 99.37% ในปี 2564 แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศไทยเมื่อปี 2564 อยู่ที่ 102.78%
นี่เป็นโจทย์แรกที่ท้าทายการทำงานพัฒนาเด็กปฐมวัยขอนแก่น ก่อนการประเมินอีกครั้งในอีก 2 ปีข้างหน้า (กรมสุขภาพจิตจะทำการประเมินทุก 5 ปี ตามรอบช่วงอายุของเด็กปฐมวัย)
กฤษณา เสมหิรัญ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น ระบุว่า ศูนย์ปราชญ์ ศาสตร์ศิลป์ ถิ่นปฐมวัย ไทเมืองขอนแก่น หรือ Academy ครูปฐมวัยขอนแก่น เป็นอีกความพยายามหนึ่งในการเดินไปให้ถึงเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กปฐมวัย พร้อมแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาตั้งแต่ต้นทาง
Academy ที่กำลังจะจัดตั้งขึ้น เป็นการต่อยอดจากต้นทุนการทำงานร่วมของภาคีเครือข่ายในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาที่เห็นความสำคัญของการมีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การฝึกฝนทักษะ พัฒนาองค์ความรู้ และเป็นแหล่งรวมทรัพยากรที่จำเป็นในการสนับสนุนครูปฐมวัยในจังหวัดขอนแก่นให้ทำงานกับเด็กๆ ได้ดีขึ้น
ตัวอย่างรูปธรรมหนึ่งที่ Academy จะสานต่อ คือ การพัฒนาศักยภาพ (Upskill) ทีม "โคชจังหวัด" ให้มีความสามารถในการนิเทศติดตาม ให้คำแนะนำ และเข้าช่วยเหลือได้ทันที หากครูปฐมวัย ต้องการ
กฤษณา บอกว่า โคชจังหวัด มีทั้งศึกษานิเทศก์จาก 8 หน่วยงานที่ทำงานร่วมกันมาก่อนหน้านี้แบบ cross function (ไม่ได้อยู่แค่หน่วยงานตนเอง แตกต่างจากแนวทางการทำงานของศึกษานิเทศก์ทั่วไป ที่มักจะนิเทศติดตามและประเมินผลเฉพาะโรงเรียนในสังกัดที่ตนเองดูแล), ผู้อำนวยการโรงเรียน, นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย และตัวแทนหน่วยงานในพื้นที่จาก 3 กระทรวงหลัก (สาธารณสุข, มหาดไทย และพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)
"ขอเรียก ทีมโคชจังหวัด ว่า กัลยาณมิตรนิเทศก์ ซึ่งรูปแบบนี้ ทำให้การทำงานเพื่อเด็กปฐมวัยขอนแก่น แตกต่างจากพื้นที่อื่น เราไม่แยกกันทำงาน เราทำงานร่วมกันทุกหน่วย และนี่ก็เป็นต้นทุนที่ทำให้เรามั่นใจว่า ด้วยวิธีการทำงานแบบนี้ เรามาถูกทาง"
หลังจากนี้ จะเน้นการทำงานเข้มข้นใน "57 สถานศึกษาปฐมวัยต้นแบบ“ ที่ทีมปฐมวัยขอนแก่นเคยลงไปก่อนหน้านี้ เพื่อสนับสนุนครู ผู้บริหาร และบุคลากรในโรงเรียนให้มีศักยภาพในการพัฒนาและยกระดับไปสู่การหนุนช่วยสถานศึกษาอื่นๆ ที่ยังเข้าไม่ถึงทรัพยากรที่จำเป็น
กฤษณา ยอมรับ การจัดตั้งและขับเคลื่อน Academy ให้เกิดขึ้นจริงและมีความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มั่นใจว่า มาถูกทางแล้ว
สมจิตร กาญจันดา ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลกาญจันดา อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น บอกว่า โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนขนาดเล็กของภาคเอกชนที่เปิดสอนเฉพาะอนุบาล 1 - 3 มีนักเรียน 30 คน การเข้าร่วมกระบวนการพัฒนาศักยภาพครูกับทีมปฐมวัยขอนแก่น สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน วัดจากเด็กๆ อยากมาโรงเรียน และเรียนกับครูแบบมีความสุขตลอดทั้งวัน
ตอนนี้ โรงเรียนขยายแนวคิด และความร่วมมือในการพัฒนาเด็กปฐมวัยไปยัง เทศบาล และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ในพื้นที่ ให้มีการปรับแผนงานและงบประมาณมาดูแลเด็กเล็กเพิ่มขึ้น แต่ที่ภูมิใจ คือ การทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง เข้ามามีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูให้สอดคล้องกับพัฒนาการ
ผู้อำนวยการสมจิตร ยืนยัน ถ้าขอนแก่นจะจัดตั้ง Academy ครูปฐมวัย โรงเรียนก็พร้อมที่จะเข้าร่วมเป็นโรงเรียนต้นแบบ เพราะเชื่อว่า ประโยชน์จะตกกับเด็กๆ ทุกคน
ด้าน ดร.ภัทรานิษฐ์ พุฒิเรืองศักดิ์ ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนบ้านพร้อมบุญ ขอนแก่น ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบทักษะสมอง EF ระบุว่า แนวคิดของ Academy ที่เน้นการพัฒนาครูปฐมวัยจะช่วยแก้ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรในการพัฒนาครูเพื่อเด็ก แต่ต้องค่อยๆ ขยายให้เป็นเหมือน ใยแมงมุม
“จุดเริ่มต้นก็ควรตั้งที่ศูนย์กลางของจังหวัดที่มีความสะดวกในการเดินทางติดต่อ แล้วในอนาคต ค่อยๆ ขยาย สร้างใยแมงมุมที่เป็นเครือข่าย ที่ไม่ทำงานเพียงลำพัง“
ขณะที่ ดร.รัตนาภรณ์ สมบูรณ์ ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนอมตวิทยา ขอนแก่น มองว่า ศูนย์ฯ หรือ Academy ต้องคิดถึงความยั่งยืนและต้องทำงานกับฝ่ายนโยบายอย่างต่อเนื่อง
“มั่นใจว่า มีผู้ใหญ่ใจดี มีหน่วยงานที่คอยสนับสนุน แต่ก็ต้องไม่ลืมคิดถึงสถานการณ์ที่ว่า ถ้าในอนาคตคนเหล่านี้ไม่ได้อยู่ที่เดิมหรือเปลี่ยนไป เราจะยืนบนขาตัวเองได้ไหม ก็เป็นโจทย์ที่ต้องคิดต่อ แต่ก็มองว่า ถ้าศูนย์ฯ นี้มีความมั่นคง ผู้ใหญ่ระดับชาติก็อาจจะมองเห็นสิ่งที่คนขอนแก่นช่วยกันทำ”
รศ.ดร.พูนสุข ศิริพูล อดีตอาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะฝ่ายวิชาการที่คอยช่วยสนับสนุนเนื้อหาและองค์ความรู้ให้กับทีมปฐมวัยขอนแก่น ระบุว่า ถ้าจะให้บรรลุเป้าหมายการจัดตั้ง Academy อย่างแท้จริง ฝ่ายนโยบายต้องสนับสนุนแผน และจัดสรรงบประมาณให้ขับเคลื่อนงานได้จริง
“ควรจะต้องเป็นแผนพัฒนาในระดับจังหวัด ไปจนถึง ระดับพื้นที่ และต้องใส่ไปในแผนประจำปี ไม่ใช่รองบประมาณมา แล้วค่อยเสนอโครงการเข้าไป ถ้านโยบายมีความชัดเจน ก็จะทำให้การทำงานง่ายขึ้น”
ส่วนคำถามที่มักถามกันว่า ในเมื่อเด็กเกิดน้อยลง ทำไมต้องลงทุนลงแรงกับเด็กปฐมวัยขนาดนี้ อาจารย์พูนสุข ย้ำชัดว่า การลงทุนกับเด็กปฐมวัย ได้ผลตอบแทนคุ้มค่า และสูงกว่าวัยอื่นถึง 17 เท่า