ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
สัตว์ป่า - คน ในวิกฤตความขัดแย้ง
แชร์
ชอบ
สัตว์ป่า - คน ในวิกฤตความขัดแย้ง
19 ก.ค. 67 • 12.00 น. | 501 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในโลก ที่มาพร้อมกับความต้องการทั้งการบริโภคและใช้ทรัพยากรธรรมชาติ จากการขยายเมืองจำเป็นต้องใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร การคมนาคม และเทคโนโลยี แน่นอนว่าการพัฒนาของมนุษย์  กระทบกับความสมบูรณ์ของป่าไม้ ความเป็นอยู่ แหล่งที่อยู่ และประชากรสัตว์ป่า เกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่าที่ขยายวงกว้าง ที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า



"การอยู่ร่วม คือแนวทางหนึ่งของการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า ไม่ใช่การขจัดความขัดแย้งทั้งหมดลง แต่เป็นการอยู่ร่วมที่ยังมีความขัดแย้ง ซึ่งแนวทางนี้ต้องมีเครื่องมือมาช่วยจัดการ”  ดร.พิเชฐ นุ่นโต  หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาระบบเพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่าอย่างสันติ (สกว.)

ปัจจุบันปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า   ในระดับโลกถือป็นวาระสำคัญ เพราะส่งผลกระทบทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่อยู่อย่างอุดมสมบูรณ์และมีสัตว์ป่าอยู่ใกล้ชิดกับพื้นที่อาศัยของมนุษย์  เป็นปัญหาใหญ่ที่ขยายผลกระทบกับทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีช้างป่าหรือสัตว์ป่าขนาดใหญ่ ย่อมส่งผลกระทบกับชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์   ไม่ใช่ปัญหาใหม่แต่ฝังรากลึกมายาวนาน 

จากหลักฐานตั้งแต่สมัยอยุธยา รัชกาลที่ 5  ระบุแหล่งอาศัยช้างป่าในพื้นที่ที่ราบลุ่มภาคกลางของไทย โดยเฉพาะทุ่งรังสิตที่บันทึกการพบของช้างป่า เมื่อสัตว์ป่าออกมาหากินใกล้ชุมชนกินผลผลิตการเกษตรของชาวบ้าน ย่อมเกิดความเสียหาย  รวมถึงเกิดการตอบโต้เพื่อปกป้องพื้นที่  บางชุมชนใช้วิธีการรุนแรง เช่น การยิงช้างหรือสัตว์ป่า  การวางยาพิษ   ขณะที่อีกกลุ่มมองว่าต้องค่อยๆ คลี่คลายปัญหา  จนเกิดความขัดแย้งทางวิธีการ และความคิด กระทั่งปี  2020 มีการนิยามความขัดแย้งส่งผลกระทบต่อคนและสัตว์ป่า การแก้ปัญหาระหว่างคนกับสัตว์ป่าจนนำไปสู่ความขัดแย้งเรื่องการบริหารจัดการ

 

 

ความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่ามีหลายรูปแบบ  กรณีศึกษาของ FIO รวบรวมข้อมูลแต่ละปี ประเทศแถบอเมริกาที่ได้รับผลกระทบสูญเสียอาหารพืชผลทางการเกษตร 800 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือประมาณ 20,000 กว่าบาท  หากเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความยากจนภาครัฐต้องสูญเสียรายได้เพื่อใช้เยียวยาผลกระทบค่อนข้างสูงมาก   ขณะที่ประเทศอินเดีย  ปัญหาช้างป่าระหว่างปี 2015-2018  พบผู้เสียชีวิตจากช้างจำนวน 1,713 คน  และมีช้างเสียชีวิตจากความขัดแย้งประมาณ 373 ตัว  ถือเป็นตัวเลขที่สูง เช่นเดียวกับที่อเมริกา เกิดอุบัติเหตุทางถนน  มูลค่าความเสียหาย 8,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนประเทศไทย  ข้อมูลงานวิจัยในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ระบุ พืชผลทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหายมีหลากหลาย  ส่วนใหญ่เป็นพืชเพาะปลูกเพื่อจำหน่าย เช่น มัน กล้วย ข้าวโพด ปาล์ม เต่าร้าง ดาวเรือง ผักกาด ยูคาลิปตัส มะพร้าวและพริก  พืชที่ปลูกใช้ในครัวเรือน  เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์  ประกอบอาชีพเกษตรกรมีรายได้น้อย ยังไม่รวมมูลค่าทรัพย์สินบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย

สาเหตุความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า มีความหลากหลาย  กรณีประเทศไทย สาเหตุหลักเกิดจากพื้นที่อาศัยหรือพื้นที่ป่าลดลง คุณภาพแหล่งอาศัยเสื่อมโทรมหลังผืนป่าถูกตัดขาด  เมืองขยายพื้นที่ พืชผลทางการเกษตรอยู่ติดป่าใกล้เส้นทางที่โขลงช้างเดินผ่าน  รวมถึงการถูกไล่ล่าและการคุกคามจากช้างป่าด้วยกันเอง ทำให้ช้างออกมานอกพื้นที่มากขึ้น

 

 

สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง  ถือเป็นประเด็นใหม่ที่นักวิทยาศาตร์จับตามองว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change)  เป็นสาเหตุที่สัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ป่าหรือไม่  จากข้อมูลพบการกระจายตัวของช้างอยู่ทั่วเอเชีย  ด้วยทางชีวะวิทยาของช้างกินอาหารมากถึงวันละ 200 กิโลกรัม  น้ำวันละ 200 ลิตร ออกหากินถึง 18 ชั่วโมง  และมีอายุเฉลี่ยเหมือนคนประมาณ  60-70 ปี  ลักษณะทางชีวะวิทยาของช้างป่ากินอาหารปริมาณมากต่อวัน  มากจึงต้องเดินหากินแต่ละวันเฉลี่ย 6 กิโลเมตรต่อวัน   

“แม้ในอดีตทวีปเอเชียพบการกระจายตัวของช้างค่อนข้างสูง โดยเฉพาะประเทศอินเดีย บังกะลาเทศ เมียนมา ปัจจุบันมีการประเมินอยู่ที่ 3,000-4,000 ตัว  ซึ่งมีอัตราการเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ส่วนประเทศอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ไทยมีแนวโน้มที่ลดลง เช่นเดียวกับเวียดนาม จีนเหลือประมาณร้อยกว่าตัว  ในภาพรวมช่างป่าในเอเชียยังเป็นช้างที่ใกล้สูญพันธุ์อยู่”

สาเหตุใกล้สูญพันธุ์ของช้างป่า  ส่วนหนึ่งเนื่องจากพื้นที่ที่เหมาะสมของช้างป่าลดลง  เปรียบเทียบปี 1700 และปี 2015  พื้นที่เหมาะสมกับช้างป่าลดลงถึง 67%  ภาพรวมพื้นที่เหมาะสมในประเทศไทยลดลงเป็นอันดับ 4 เมื่อเทียบในประเทศต่างๆของเอเชีย จากภาพจะเห็นว่าพื้นที่สีแดง เริ่มมีช้างป่าออกมาและส่งผลกระทบกับไทย  ขณะนี้ทุกภูมิภาคของไทยแถบติดชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน  พบความเคลื่อนไหวของช้างป่าเข้ามาพื้นที่  หรือมีการโยกย้ายตามฤดูกาล

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลและเครือข่ายเสียงคนเสียงช้าง  ระบุ ข้อมูลการเคลื่อนที่ของช้างช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา  มีการติดตามช้างในพื้นที่ป่าตะวันตก ปี 2548 พบว่าช้างยังเกาะกลุ่มอยู่บริเวณทางตอนใต้ของอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ   ปี 2560 เริ่มขยับออกมาใกล้ชุมชนมากขึ้น ปี 2554 – 2556  ช้างมีการข้ามฝั่งไปทุ่งใหญ่นเรศวร  รวมระยะทางที่โขลงช้างป่าเดินขึ้นไปทางเหนือ  ประมาณ 20-30  กิโลเมตร   สอดคล้องกับงานศึกษาวิจัยของต่างประเทศ  เปรียบเทียบพฤติกรรมช้างเปลี่ยนแปลงไป ชอบมาอาศัยในพื้นที่ชุมชนมากขึ้น  การจดจำเส้นทางต่างๆ ทำให้ช้างเดินกลับไปใช้เส้นทางเดิม 

 

 

ส่วนปัญหาพื้นที่เหมาะสมลดลง  ยังเป็นประเด็นหลักของหลายงานวิจัย ชี้เป้าที่พื้นที่อาศัยช้างลดลง  ยกตัวอย่างพื้นที่กลุ่มป่าตะวันออก  ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ สีเหลืองเป็นพื้นที่เกษตรกรรมมีความเหมาะสม จุดแดง คือจุดการกระจายของช้างที่ออกมาหากินในเขตชุมชน  จะเห็นว่าช้างป่าส่วนใหญ่อาศัยตามขอบพื้นที่ลาดชัน ราบเรียบมีแหล่งน้ำใกล้ชุมชน พบการเคลื่อนที่ของช้างป่าออกมามากขึ้น เพราะพื้นที่เหมาะสมของช้างอาจไม่ได้อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ แต่กลับเป็นพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชนที่อยู่ติดชายป่า  

กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช  ซึ่งรับผิดชอบต้องปกป้องถิ่นอาศัยพื้นที่เชื่อมผืนป่า กำหนดทิศทางยุทธศาสตร์ลดความสูญเสียพื้นที่ป่า เพื่อลดผลกระทบความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่าในระยะยาวแนวทางการดูแลพื้นที่อนุรักษ์ช้างป่า ของประเทศอย่างแอฟริกา  มีการเพิ่มแหล่งอาหารและแหล่งน้ำในพื้นที่อนุรักษ์ ช้างจะมาใช้บริเวณที่ขุดบ่อน้ำอย่างหนาแน่น รวมถึงการทำรั้วกั้นบริเวณขอบป่ากับชุมชน

ส่วนงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับเครือข่ายชุมชน ทดลองการเสริมแหล่งอาหารในป่า เสริมโป่ง  ขุดบ่อน้ำ ปลูกพืชอาหารเช่นกล้วย หรือเสริมอาหารที่เป็นธรรมชาติในพื้นที่ป่าตะวันตก ปรากกฏว่ามีช้างฝูงเข้ามาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิและอุทยานแห่งชาติไทรโยก  เราจะเห็นว่าเมื่อสร้างแหล่งอาหารจูงใจให้ช้างกลับเข้าไปในป่า ช้างกลับเข้ามาและช่วยลดปริมาณการออกมาข้างนอกได้ในระดับหนึ่ง ประสิทธิภาพอาจไม่เต็มร้อยหรือดึงช้างกลับมาได้ทั้งหมด  จะเห็นว่าช้างที่เข้ามาส่วนใหญ่จะเป็นช้างเพศเมียที่มีลูก แต่ช้างเพศผู้หลังเข้ามาใช้ ก็จะออกไปเดินกินของชาวบ้านต่อซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ต่างกัน ดังนั้นเครื่องมือในการจัดการลดความขัดแย้งอาจต้องผสมผสานว่าเราดูแลป่าแล้ว มีการสร้างแหล่งอาหาร แต่ช้างตัวผู้หลุดไปได้อาจจะต้องใช้วิธีการอื่นๆ เข้ามาช่วยเสริมในการลดผลกระทบ  

“อยากชวนมองเรื่องการเสริมแหล่งอาหาร เพราะเมื่อเราขุดแหล่งน้ำมากขึ้นหรือเสริมแหล่งอาหารมากขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์  อาจกระทบการเพิ่มอัตราเกิดของลูกช้างมากขึ้น  สอดคล้องงานวิจัยประเทศแอฟริกาเมื่อมีฝนตกปริมาณเยอะลูกช้างเกิดเยอะขึ้นด้วย แต่เมื่อถึงฤดูร้อนอัตราการตายของลูกช้างมากขึ้น เป็นการควบคุมโดยธรรมชาติ  ดังนั้นการควบคุมประชากรพื้นที่อนุรักษ์ จะทำอย่างไรให้การแก้ปัญหานี้มีความเหมาะสม”

ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างและสัตว์ป่า  แบ่งเป็น 3 ระดับ  ระดับที่ 1 มีการสูญเสียพืช สัตว์ ความปลอดภัย  ระดับที่ 2 ความขัดแย้งที่หยั่งรากลึก การกระทบกระทั่งกระหว่างชุมชนกับรัฐ  และระดับที่ 3 บทบาทนักวิจัยสังคมศาสตร์ นักสันติวิธีเข้ามาสังเกตการณ์เรื่องอัตลักษณ์ตัวตนทางสังคม  เสียงสะท้อนจากหลายเวที  ระบุ บางกลุ่มอยู่ร่วมกับช้างไม่ได้  หรือบางกลุ่มจะอยู่ร่วมกับช้างได้อย่างไร เพื่อออกแบบการมีส่วนร่วมให้ชุมชนมีอัตลักษณ์ไม่ได้รังเกียจช้าง ช่วยลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่าในทิศทางที่ยั่งยืน 

 

 

 

สำหรับทางออกความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง หรือสัตว์ป่า ด้วยสันติวิธีเริ่มต้นจากการสร้างความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่กับชุมชน  สร้างเครือข่ายของชุมชนเจ้าของพื้นให้มีส่วนร่วมในการเข้าถึงข้อมูล เรียนรู้พฤติกรรมช้างเพราะแต่ละชุมชนมีอัตลักษณ์ทางสังคม  วัฒนธรรมท้องถิ่น ที่มองปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่าแตกต่างกัน  ตลอดจนการปรับปรุงหลักเกณฑ์การเยียวยา  จัดตั้งกองทุนท้องถิ่นเพื่อจัดสรรงบประมาณพัฒนาชุมชน  

ด้านบทบาทหน้าที่รัฐบาลต้องเร่งสำรวจจำนวนช้างป่า และศึกษาศักยภาพในการรองรับช้างป่าให้ครบทุกกลุ่ม  ควบคุมจำนวนช้างป่าโดยให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศึกษาหาแนวทาง วิธีการควบคุมประชากรช้างป่า   สร้างและปรับปรุงทุ่งหญ้าสำหรับเป็นแหล่งอาหารช้างป่า  ปลูกพืชที่เป็นอาหารของช้างป่าเร่งสร้างและปรับปรุงแหล่งน้ำ แหล่งเกลือแร่ โป่งเทียม โดยเน้นให้จัดสร้างบริเวณที่ ลึกเข้าไปในป่าอนุรักษ์ แทนที่จะสร้างตามแนวขอบป่าอนุรักษ์เพื่อรองรับการผลักดันช้างป่าที่บุกรุกพื้นที่ทำกินของราษฎรทั้งหมดกลับสู่ป่าอนุรักษ์โดยเร็ว

 

หมายเหตุ : เรียบเรียงจาก DxC Talk ตอน สัตว์ป่า คน ในวิกฤตความขัดแย้ง

แท็กที่เกี่ยวข้อง
##ป่า, 
##สัตว์ป่า 
ผู้เขียนบทความ
avatar
กองบรรณาธิการ ALTV
ALTV CI
ข่าว ALTV
ข่าว ALTV
ALTV News
ผู้เขียนบทความ
avatar
กองบรรณาธิการ ALTV
แท็กที่เกี่ยวข้อง
##ป่า, 
##สัตว์ป่า 
แชร์
ชอบ
ติดตามเรา