วันนี้ (17 ก.ค.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และภาคี ชวนตัวแทนหน่วยงานต่าง ๆ ใน 25 จังหวัดนำร่องจัดทำแผนปฏิบัติการเร่งด่วน 6 เดือน ขณะที่ ผู้ช่วยรัฐมนตรี ศธ. พรรคภูมิใจไทย เตรียมแปรญัตติ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 หนุนการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริง
เกือบ 2 เดือนที่ คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2567 เห็นชอบมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Dropout โดยมี 4 แนวทางหลัก คือ การค้นหา-ช่วยเหลือ-ส่งต่อ-ดูแล เด็กและเยาวชนนอกระบบให้กลับสู่ระบบการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น
จากนั้น มีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU ระหว่าง 11 หน่วยงานเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2567 ที่นำไปสู่การประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อน Thailand Zero Dropout 25 จังหวัดนำร่องในวันนี้
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวถึง Roadmap บันได 5 ขั้นตามมาตรการ Thailand Zero Dropout ได้แก่ บันไดขั้นที่ 1 การสำรวจข้อมูลเด็กและเยาวชนเพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลรายบุคคลและรายพื้นที่, บันไดขั้นที่ 2 การติดตามช่วยเหลือเป็นรายบุคคลผ่านเครือข่ายความร่วมมือสหวิชาชีพ, บันไดขั้นที่ 3 เด็กและเยาวชนกลับเข้าสู่การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น มีทางเลือก ตอบโจทย์ชีวิตโดยมีนวัตกรรมการศึกษารูปแบบต่าง ๆ, บันไดขั้นที่ 4 การส่งต่อเด็กและเยาวชนผ่านหุ้นส่วนการศึกษาตามแนวคิด All for Education และสุดท้าย คือ บันไดขั้นที่ 5 เด็กและเยาวชนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตต่อไป
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีตัวแทนภาครัฐ ท้องถิ่นและประชาสังคมจาก 25 จังหวัดนำร่องทั่วประเทศ มาร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการเร่งด่วนครอบคลุม 4 มาตรการหลัก จากนั้น จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ระดับจังหวัด และตำบลเพื่อดำเนินการตามมาตรการ ก่อนจะมีการทบทวนและตรวจสอบสถานการณ์ของเด็กและเยาวชนที่ไม่มีชื่อในระบบการศึกษาอีกครั้งในวันที่ 10 พ.ย. 2567 ซึ่งเป็นช่วงการเปิดภาคเรียนที่ 2/2567
ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับนโยบาย Thailand Zero Dropout เป็นอย่างมาก มีการประชุมความคืบหน้าเรื่องนี้ทุกสัปดาห์ โดยมี พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นั่งเป็นประธานคณะทำงานเรื่องนี้ด้วยตัวเอง และ 25 จังหวัดที่มาในวันนี้ เป็นกลุ่มแรกที่จะเริ่มต้นกระบวนการ
“ถ้าเราสามารถดึงเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ให้กลับเข้าสู่การเรียนรู้จนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานจะส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 3 ของ GDP อีกทั้ง ยังสามารถป้องกันปัญหาสังคมและอาชญกรรมที่เป็นผลพวงมาจากความยากจนได้”
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ถามถึงร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พุทธศักราช 2568 ได้มีการจัดสรรงบประมาณในการขับเคลื่อนมาตรการ Thailand Zero Dropout ตามมติ ครม. หรือไม่ ผู้ช่วยรัฐมนตรี ศธ. ระบุว่า อาจต้องมีการแปรญัตติขอเพิ่มงบประมาณ
“ตอนทำ ร่าง พ.ร.บ.ปี 68 เรายังไม่ได้บรรจุเรื่องนี้ไว้ เนื่องจาก มติ ครม. มาทีหลังการทำร่าง พ.ร.บ.ปี 68 เราก็กำลังดูว่า ถ้าเราจะขอแปรญัตติเพิ่ม ได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้เราก็คงใช้เงินบริหารจัดการส่วนอื่นเข้ามาช่วยเหลือ ก็ต้องย้ำว่า เป็นเรื่องที่รัฐมนตรีให้ความสำคัญอย่างไรเราก็ต้องให้การสนับสนุน” ผู้ช่วยรัฐมนตรี ศธ. กล่าว
ล่าสุด มีการเปิดเผยข้อมูลว่า มีเด็กและเยาวชนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้ว จำนวน139,690 คน หรือร้อยละ 13.6 จากตัวเลขเดิมเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2566 ที่มีมากถึง 1,025,514 คน จากตัวเลขเดิมเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2566 ที่มีเด็กอยู่นอกระบบมากถึง 1,025,514 คน