ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
เปิดห้องเรียนสู้ฝุ่น เปิดชั้นเรียนภัยพิบัติศึกษา
แชร์
ฟัง
ชอบ
เปิดห้องเรียนสู้ฝุ่น เปิดชั้นเรียนภัยพิบัติศึกษา
23 ต.ค. 67 • 12.00 น. | 200 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

หลายปีที่ผ่านมาหลายจังหวัดในประเทศไทยประสบปัญหา ค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งแม้ประชาชนเริ่มมีความหวังจากการผลักดันร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด แต่หลายประเด็นยังอยู่ระหว่างการหารือแนวคิดและแนวทางแก้ปัญหา ก่อนนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายฉบับจริง  กว่าจะถึงวันนั้น การดูแลตัวเองยังเป็นหน้าที่ของประชาชน การเริ่มต้นในพื้นที่เล็ก ๆ อย่างโรงเรียนและชุมชน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น หรือภัยพิบัติศึกษา

ผศ.ดร.นิอร สิริมงคลเลิศกุล อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาวิทยาเขตเชียงราย ในฐานะประธานโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น กล่าวถึงแนวคิดการจัดกิจกรรมเรียนรู้ เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ที่มีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และเสริมสร้างทักษะชีวิตให้กับผู้เรียนเป็นการสร้างพลเมืองตื่นรู้ เพื่อให้นักเรียนเกิดความเข้าใจสถานการณ์วิกฤตและสามารถป้องกันตนเองได้อย่างปลอดภัย และสามารถส่งต่อองค์ความรู้ในโรงเรียนให้กับคนในครอบครัวได้อย่างทันทีทันใด

 

การเรียนรู้โดยที่ผู้เรียนร่วมสะท้อนจากสภาพสิ่งแวดล้อมที่เกิดการเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การสร้างความตระหนักถึงความปลอดภัยในตนเองและผู้อื่น ซึ่งผู้เรียนสามารถสร้างทางเลือก ที่จะได้รับความรู้ มีทักษะ และทัศนคติที่เหมาะสมในการเตรียมความพร้อม และการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลาย ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากบุคคลอื่น จากสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ทางธรรมชาติ และสื่อต่าง ๆ และมีความสามารถในการส่งผลการเรียนรู้สู่ชุมชน และสามารถสร้างเครือข่ายการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนใกล้เคียงเป็นฐานการเรียนรู้ และร่วมกันตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

 

“เรื่องฝุ่นเป็นที่ทราบกันดีว่าทุกคนยังหายใจอยู่ แต่เราไม่ทราบเลยว่าอากาศที่หายใจยังปลอดภัยอยู่หรือไม่ ที่ผ่านมาพยายามขับเคลื่อนจากห้องเรียนสู้ฝุ่น สู่ชั้นเรียนภัยพิบัติศึกษา ย้ำความสำคัญของการสร้างการเรียนรู้ให้แก่เด็ก เพื่อส่งต่อความรู้ไปที่ครอบครัว ชุมชน และสังคม เพื่อทุกคนปลอดภัยจากทุกภัยพิบัติ”

พื้นที่ภาคเหนือของไทยประสบปัญหามลพิษทางอากาศเป็นประจำทุกปี และได้รับผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากการตรวจวัดคุณภาพอากาศพบว่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และ PM 10 อยู่ในระดับที่สูงกว่ามาตรฐานของคุณภาพอากาศของประเทศ และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นไปอีก พื้นที่ที่มีการเผาซ้ำซาก จึงมองว่าการแก้ปัญหาเหล่านี้ควรทำงานร่วมกันเพื่อเตรียมความพร้อมรับมืออย่างปลอดภัย

 

ห้องเรียนสู้ฝุ่น เป็นหนึ่งในโมเดลสร้างความตื่นรู้ในสังคม และเป็นพื้นที่ของทุกหน่วยงานที่ต้องร่วมแสดงบทบาทหน้าที่ในระดับจังหวัด ระดับประเทศปฏิบัติการร่วมทั้งกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับสถานศึกษาในพื้นที่เสี่ยง หรือพื้นที่มีการเผาซ้ำซาก เพิ่มทักษะความรู้ให้ครูในโรงเรียน เรียนรู้เรื่องราวของฝุ่นภัยพิบัติใกล้ตัวเพื่อปรับไปสู่การเรียนการสอนในโรงเรียน

 

ฝุ่นพิษ เป็นมลพิษทางอากาศสาเหตุของการเกิดโรคเกี่ยวกับปอดและระบบทางเดินหายใจ รวมถึงทำให้โรคที่เป็นอยู่กำเริบขึ้นได้ จึงระดมความคิดถ่ายทอดเรื่องราวของฝุ่นพิษมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนให้เยาวชนได้รู้จัก ตระหนักและเฝ้าระวังรับมือ รวบรวมบทเรียนรู้ทั้งหมด 10 กิจกรรม เป็นการเรียนแบบบูรณาการผ่านสาระวิชาต่างๆ ภายในห้องเรียนสู้ฝุ่น โดยสร้างคุณครูให้มีองค์ความรู้ในฐานะเป็นหนึ่งในผู้ประสบภัย ถ่ายทอดเรื่องราวให้เด็กๆ รู้จักการป้องกันตัวเอง


ภัยพิบัติศึกษา เป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตร 10 กิจกรรม มีการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ตกผลึกผ่านผู้ทรงคุณวุฒิ ประเมินหลักสูตรกิจกรรมเหล่านี้ว่ามีความเหมาะสมและเพียงพอสำหรับการเรียนการสอน ปัจจุบันมีการแปลเป็นภาษาลาวเพื่อส่งต่อให้ประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเรากำลังร่วมกันทำให้ฝุ่นที่มองไม่เห็น เป็นสิ่งที่ทุกคนมองเห็นพิษภัยของฝุ่นว่ามีผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพ เมื่อเด็กรับทราบ พวกเขาจะเล่าเรื่องราวของฝุ่นให้กับผู้ปกครองและคนในชุมชนได้รับรู้เช่นกัน


“ห้องเรียนสู้ฝุ่นคือพื้นที่ที่ปลูกปัญญาระดับชุมชน ที่สร้างองค์ความรู้ป้องกันฝุ่นป้องกันสุขภาพของตัวเอง ไปสู่นโยบายระดับชาติ เราคาดหวังว่านโยบายนี้ต้องเป็นนโบยายที่สร้างการเปลี่ยนแปลงและลดผลกระทบได้อย่างแท้จริง”

 

คุณครู ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้ การเรียนการสอนแบบบูรณาการ บางโรงเรียนนำไปขยายผลกิจกรรมลูกเสือเนตรนารี เป็นพื้นฐานความรู้ต่าง ๆ เริ่มต้นจากกิจกรรมที่ 1 ฝุ่นคืออะไร ขยายความหมายของฝุ่นพิษ, กิจกรรมที่ 2 ฝุ่นมาจากไหน ครูจะเล่าสาเหตุฝุ่นแต่ละภูมิภาค รวมถึงฝุ่นควันข้ามแดน  ในหมวดนี้ครูและเด็ก ๆ สามารถเข้าไปค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งความรู้ทั่วไปได้

 

กิจกรรมเครื่องวัดฝุ่น เป็นกิจกรรมที่สอนให้เด็กเรียนรู้การวัดค่าคุณภาพอากาศ โดยโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นจะได้รับกล่องสีฟ้าหรือเครื่องวัดค่าฝุ่น PM 2.5 แสดงค่าฝุ่นแบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งนอกจากเด็กๆ สามารถดูได้ด้วยตนเองที่โรงเรียนแล้ว ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไปยังสามารถดูผ่านแอปพลิเคชัน Blueschool ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งโรงเรียนสังกัด กทม. ได้รับแล้วจำนวน 34 แห่ง นอกจากนี้ โรงเรียนจะใช้วิธีติดธงสีไว้บริเวณหน้าโรงเรียนเพื่อแสดงผลค่าฝุ่นแต่ละวัน หากธงเป็นสีส้มหรือสีแดง แสดงว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพ เด็ก ๆ ต้องงดกิจกรรมนอกสถานที่ และสวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน โดยการติดธงสีแสดงค่าฝุ่นที่โรงเรียน


นอกจากนี้ยังมีการบูรณาการในวิชาวิทยาศาสตร์ สอนเรื่องความเสี่ยงต่อการเผาในที่โล่ง ให้นักเรียนร่วมกันหาพิกัดจุดความร้อนในพื้นที่ชุมชนตัวเอง เพราะพื้นที่ทางการเกษตรในภาคเหนือมีการเผาซ้ำซากทุกปี เช่นเดียวกับจังหวัดอื่น ๆ  เพื่อเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีการสำรวจการติดตาม ตัวอย่างโรงเรียนเชียงรายวิทยาคม คุณครูนำภาพถ่ายทางอากาศ หรือภาพถ่ายดาวเทียม มาสอนเรื่องการติดตามจุดความร้อน และถ่ายทอดเรื่องราวเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ภายในโรงเรียน

 

กิจกรรมสุดท้าย คือการสะท้อนบทบาทหน้าที่ของเด็กและเยาวชน ห้องเรียนสู้ฝุ่นสอดคล้องกับแผน 17 ตัวชี้วัดตามการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เด็กและเยาวชนเป็นกลไกหนึ่งในการสื่อสารขับเคลื่อน เพื่อลดภาวะโลกร้อนไปถึงชุมชน เพราะการขับเคลื่อนในภาคประชาสังคมต้องไม่อยู่แค่ห้องเรียน ไม่ปล่อยให้ครูและนักเรียนเท่านั้นที่ต้องต่อสู้ แต่จะมีเครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการและภาคเอกชนมาร่วมสนับสนุน  อย่าให้ฝุ่นเป็นภัยเงียบทั้งที่เราหายใจเข้าออกทุกวัน

 

ชมย้อนหลัง "เปิดห้องเรียนสู้ฝุ่น เปิดชั้นเรียนภัยพิบัติ-ศึกษา" เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#Lifeskill, 
#ฝุ่นพิษ, 
#มลพิษทางอากาศ, 
#ภัยพิบัติศึกษา, 
#พ.ร.บ.อากาศสะอาด, 
#ห้องเรียนสู้ฝุ่น 
ผู้เขียนบทความ
avatar
กองบรรณาธิการ ALTV
ALTV CI
ข่าว ALTV
ข่าว ALTV
ALTV News
ผู้เขียนบทความ
avatar
กองบรรณาธิการ ALTV
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#Lifeskill, 
#ฝุ่นพิษ, 
#มลพิษทางอากาศ, 
#ภัยพิบัติศึกษา, 
#พ.ร.บ.อากาศสะอาด, 
#ห้องเรียนสู้ฝุ่น 
แชร์
ฟัง
ชอบ
ติดตามเรา