ปาโบล ปีกัสโซ หรือ ปาโบล รุยซ์ ปีกัสโซ (Pablo Ruiz Picasso) เกิดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1881 ที่เมืองมาลากา ประเทศสเปน ในครอบครัวของ โฆเซ รุยซ์ อี บลัสโก (José Ruizy Blasco) ผู้เป็นทั้งบิดาและครูสอนศิลปะในมหาวิทยาลัย และมารดา มาเรีย ปีกัสโซโลเปซ (Maria Picasso Lopez) เพราะการเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีพ่อเป็นจิตรกร ทำให้ปีกัสโซซึมซับศิลปะมาตั้งแต่เด็ก และได้รับการสนับสนุนให้วาดภาพเรื่อยมา
ความเป็นจิตรกรเอกของปีกัสโซฉายแววตั้งแต่จำความได้ ตามคำบอกเล่าของมารดา คำพูดแรกของปีกัสโซคือคำว่า “ปิซ ปิซ” (Piz Piz) ที่มาจาก คำว่า “ลาปิซ” ที่แปลได้ว่า “ดินสอ” ในภาษาสเปน
นอกจากนี้ ฝีมือการวาดภาพของเขาถือว่าเข้าขั้นอัจฉริยะตั้งแต่ยังเด็ก เมื่ออายุได้ 13 ปี ครั้งหนึ่งในขณะที่พ่อของเขากำลังวาดภาพนกพิราบอยู่นั้น ปีกัสโซได้วาดนกพิราบของเขาต่อจากภาพวาดนกพิราบของพ่อ ที่ยังวาดไม่เสร็จ ซึ่งผลงานของปีกัสโซออกมาเหนือชั้นกว่าผลงานของพ่อเขาเสียอีก
นับแต่นั้นมานกพิราบได้กลายเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจหลักที่ปีกัสโซใช้สร้างสรรค์ผลงานในตลอดช่วงชีวิตของเขา
เมื่ออายุได้ 16 ปี ปีกัสโซได้เข้าเรียนที่ San Fernando Fine Art Royal Academy โรงเรียนวิจิตรศิลป์เก่าแก่ ในกรุงมาดริด แต่เพราะแนวทางศิลปะของปีกัสโซมักขัดแย้งกับวิธีการสอนแบบดั้งเดิมในโรงเรียน ทำให้ปีกัสโซตัดสินใจลาออก และย้ายมาที่ปารีส ในปี ค.ศ. 1904 ซึ่งในขณะนั้นถือเป็นเมืองหลวงที่มีความรุ่มรวยทางด้านศิลปะ ทำให้ปีกัสโซสามารถพัฒนาผลงานของเขาได้อย่างเต็มที่ โดยในช่วงชีวิตของปีกัสโซได้สร้างผลงานไปกว่า 5,000 ชิ้น สามารถแบ่งเป็น ยุคสมัยคร่าว ๆ ได้ดังนี้
ช่วงเวลาสีน้ำเงิน (Blue Period) คือคำเรียกผลงานในช่วงแรกของการเป็นศิลปิน ที่เขาต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้าและความยากลำบากทางการเงิน ผลงานในช่วงนี้มักใช้ "สีน้ำเงิน" เป็นหลัก เพื่อสะท้อนถึงความโดดเดี่ยวและเศร้าโศก เนื้อหาในภาพมักเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวกับการจากลา ความเจ็บป่วย และความยากจน ซึ่งสอดคล้องกับชีวิตของปีกัสโซในเวลานั้น
ช่วงเวลาสีชมพู (Rose Period) เป็นช่วงที่สภาพจิตใจของเขาดีขึ้น เพราะได้พบรักกับ Fernande Olivier คนรักคนแรกของเขา ผลงานในยุคสีชมพูนี้มักใช้สีชมพูอ่อน สีแดง สีส้ม ดูสดใสและสนุกสนานมากขึ้น บอกเล่าเรื่องราวของชีวิตนักกายกรรม นักแสดง ตัวตลก
ยุคบาศกนิยม (Cubism) ถือเป็นช่วงเวลาที่สร้างชื่อเสียงให้กับปีกัสโซมากที่สุด โดยศิลปะแบบบากศนิยมนี้ เป็นขบวนการศิลปะที่เขาร่วมกันพัฒนากับ จอร์จส์ บราค (Georges Braque) ศิลปินในลัทธิโฟวิสม์ (Fauvism) ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของเขา
เอกลักษณ์ของงานศิลปะในยุคนี้ คือการใช้รูปทรงเรขาคณิต เช่น ลูกบากศ์ รูปทรงสี่เหลี่ยม รูปทรงประบอก มาสร้างเป็นรูปคนหรือสิ่งต่าง ๆ โดยเน้นการจัดวางให้เกิดการทับซ้อนเพื่อให้ได้มุมมองที่แปลกใหม่ แทนการวาดลงรายละเอียดตามธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นการท้าทายกฎเกณฑ์ทางศิลปะแบบดั้งเดิม และสะท้อนให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์และความไม่ยึดติดกับกรอบความคิดใด ๆ ของปีกัสโซ
ลัทธิคลาสสิกใหม่ (Neo classicism) และลัทธิเหนือจริง (Surrealism) หลังสงครามโลก ครั้งที่ 1 เป็นช่วงที่กระแสของศิลปะแนวคลาสสิกใหม่ (Neo classicism) เข้ามามีอิทธิพลในงานศิลปะอีกครั้ง ซึ่งในช่วงเวลานี้เองที่ปิกัสโซเริ่มหันมาสนใจทำงานศิลปะแบบคลาสสิก ซึ่งมีความเรียบง่ายและสงบมากขึ้น แต่เพราะปีกัสโซไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่กับสไตล์งานแบบใดแบบหนึ่ง
เขายังคงนำองค์ประกอบของคิวบิสม์มาผสมผสานกับงานรูปแบบคลาสสิก จนเกิดผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ตามแบบฉบับของตัวเอง
และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ในปี ค.ศ. 1930 ปิกัสโซเริ่มสนใจงานศิลปะในสไตล์เหนือจริง (Surrealism) ซึ่งเป็นสไตล์งานศิลปะที่เน้นจินตนาการ และสิ่งที่อยู่เหนือความเป็นจริง งานในช่วงนี้ของปีกัสโซ่เป็นการแรงบันดาลใจจากความฝัน ภาพลวงตา และจินตนาการของตนเสียส่วนใหญ่ ในขณะเดียวกันช่วงชีวิตนี้เขาได้รับการวิพากษืวิจารณ์ถึงความเจ้าชู้ และพฤติกรรมที่เป็นอคติกับผู้หญิง
ภาพที่โด่งดังมากในยุคนี้ คือ "เกอร์นิคา" (Guernica) ภาพที่บอกเล่าถึงความเจ็บปวดและความโกรธแค้นที่มีต่อสงคราม ด้วยเทคนิคที่ผสมผสานระหว่างสไตล์ศิลปะแบบคิวบิสม์และลัทธิเหนือจริง
ในช่วงสุดท้ายของชีวิต ปาโบล ปีกัสโซ ยังคงสร้างสรรค์ผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ ที่รวมไปถึงภาพพิมพ์ จิตรกรรม ประติมากรรม งานฉากละคร และเซรามิก เรียกได้ว่าเป็นศิลปินที่ไม่ยอมจำกัดตัวเองอยู่ภายในกรอบใด ๆ และนี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ปีกัสโซ กลายเป็นหนึ่งในศิลปินที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก