“เทคนิคหรือทักษะการขี่จักรยานบนท้องถนนร่วมกับผู้ใช้ถนนอื่นๆ จะช่วยให้ผู้ใช้รถจักรยานมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งควรหมั่นทำประจำจนเกิดเป็นนิสัย หรือสัญชาตญาณ คือทำไปเองโดยอัตโนมัติ เพื่อการขี่จักรยานด้วยความปลอดภัยบนท้องถนน”
อัถร ไชยมาโย ผู้ฝึกสอนจักรยานบีเอ็กซ์ทีมชาติไทย กล่าวว่า ปัจจุบันรถจักรยาน เป็นยานพาหนะที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ทั้งการเดินทางในชีวิตประจำวัน การท่องเที่ยว และการออกกำลังกาย ซึ่งการใช้รถจักรยานในช่องทางเดินรถที่มีปริมาณการจราจรคับคั่ง ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นเราควรมีทักษะการขี่รถจักรยานให้ปลอดภัย แม้จะเป็นจักรยานก็ต้องเคารพกฎจราจร เพราะเราทุกคนต้องใช้ถนนร่วมกัน
ผู้ขับขี่รถจักรยาน เคารพและปฏิบัติตามกฎจราจร เพราะจักรยานก็อยู่ภายใต้กฎหมาย ที่กำกับการใช้ถนนให้เป็นระเบียบฉบับเดียวกับยานพาหนะอื่น มีทั้งกฎทั่วไป เช่น การปฏิบัติตามป้ายและไฟสัญญาณจราจรอย่างเคร่งครัด ดังนั้นคนที่ใช้จักรยานก็ต้องหยุดเมื่อมีสัญญาณไฟแดงเช่นเดียวกับพาหนะอื่นๆ และจอดหยุดอยู่หลังเส้นขาวหนาที่ทาไว้บนพื้นด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนที่ข้ามถนน และให้ปลอดภัยจากรถที่แล่นในทิศทางที่ตัดกัน และกฎเฉพาะสำหรับจักรยาน
ขี่ตามทิศทางจราจรร่วมไปกับพาหนะอื่นๆ ยกเว้นแต่เป็นถนนที่มีการอนุญาต ให้ขี่จักรยานย้อนทิศทางจราจร หรือที่เรียกกันว่า “ย้อนศร” ได้ เช่น ถนนที่ให้เดินรถทางเดียวบางสายอนุญาตให้ขี่จักรยานย้อนทิศทางได้ ในกรณีนี้ควรขี่สวนไปชิดขอบถนนทางด้านคนขับรถ เพื่อให้คนขับรถเห็นชัดๆ สามารถกะระยะเมื่อสวนกันได้ดี
จักรยานควรมีไฟส่องสว่าง ทั้งด้านหน้าและหลัง ในเวลากลางคืนจะทำให้มองเห็นจักรยานและคนขี่ได้ยาก จึงต้องมีไฟหรือแถบสะท้อนแสง พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ระบุว่า รถจักรยานต้องติดไฟส่องสว่างสีขาวด้านหน้า และไฟสีแดงหรือกระจกสะท้อนแสงสีแดงด้านหลัง นอกจากนี้ การสวมใส่สายคาดหรือเสื้อกั๊กที่มีแถบสะท้อนแสงจะช่วยทำให้คนขับรถเห็นผู้ขี่จักรยานได้ชัดจากระยะไกลในยามค่ำคืน
อุปกรณ์ให้สัญญาณที่เหมาะสม ตามพ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ระบุว่า รถจักรยานต้องมีกระดิ่งเพื่อให้สัญญาณบอกว่าจักรยานกำลังเคลื่อนเข้าไปในทิศทางนั้น หรือการใช้แตรที่ไม่ส่งเสียงดังเกินไป เป็น มลพิษทางเสียง รวมถึงการใช้กระดิ่ง
ให้สิทธิในการใช้ทางเท้าแก่คนเดินเท้า กฎจราจรไทยห้ามขี่จักรยานบนทางเท้า แต่เจ้าหน้าที่มักอนุโลมให้ เนื่องจากรถจักรยาน เป็นพาหนะขนาดเล็กและมีความเร็วไม่มาก แต่ไม่ว่าจะในกรณีใด เราต้องระมัดระวังเป็นพิเศษและใช้ความเร็วต่ำ เมื่อขึ้นไปขี่บนทางเท้า หากตกอยู่ในสภาพที่หลีกกันไม่ได้ก็ต้องให้คนเดินเท้าได้สิทธิใช้เดินไปก่อนเสมอ และในกรณีที่มีคนเดินเท้าหนาแน่น ควรลงจากจักรยานและจูงเดินบนทางเท้า
ควรระวังรถที่จอดอยู่ สังเกตและระมัดระวังรถที่จอดอยู่ คนที่นั่งอยู่ในรถอาจเปิดประตูออกมาหรือคนขับอาจจะขับรถพุ่งออกมาอย่างฉับพลัน ดังนั้นควรขี่ห่างจากแถวรถจอด ออกมาอย่างน้อย 1 เมตร
อย่าเกาะรถที่กำลังแล่นอยู่ข้างหน้า เพราะการใช้มือเกาะรถที่แล่นอยู่ข้างหน้าให้ช่วยลากเรากับจักรยานไปด้วยเพื่อผ่อนแรง เป็นสิ่งที่อันตรายมาก ทั้งผิดกฎจราจร
อย่าบรรทุกน้ำหนักมากเกินไป ต้องตระหนักว่า การใช้จักรยานบรรทุกของหนักจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย ทั้งนี้ สิ่งที่ควรทำทุกครั้งก่อนขี่จักรยาน คือ การตรวจลมยางว่ามีเพียงพอ และการตรวจเบรกว่าจะใช้การได้ดีทั้งเบรกหน้าและเบรกหลัง โดยเฉพาะเมื่อเส้นทางที่ขี่ไม่ราบเรียบ มีหลุมบ่อ เนินหรือสะพาน และใช้ความระมัดระวังมากขึ้นเป็นพิเศษเมื่อถนนเปียก เพราะถนนจะลื่นมากขึ้น เบรกได้ยากขึ้น รถจักรยานอาจปัดหรือลื่นไถลได้ ควรใช้เบรกทั้งสองควบคู่กันไปเสมอ
ระมัดระวังเมื่อถึงทางแยก ไม่ว่าจะเป็นจุดที่ซอยหรือถนนรองมาพบถนนใหญ่ สามแยก สี่แยก หรือห้าแยก ให้ระมัดระวังเพิ่มขึ้น เพราะมีรถมาก การจราจรวุ่นวาย หากจัดช่องจราจรไม่ดีหรือคนขับไร้วินัย เห็นแก่ตัว ไม่เอื้ออาทร ไม่เคารพระบบจราจร ยิ่งทำให้โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการชนกันสูงขึ้นมาก ควรมองรอบด้านให้ดีก่อนเปลี่ยนทิศทางหรือย้ายช่องจราจร หากไม่มั่นใจและพิจารณาว่ามีความเสี่ยงสูง ลงจากจักรยานและเข็นข้ามในแบบเดียวกับคนเดินเท้าจะปลอดภัยกว่า
เรียนรู้สัญญาณมือ ในการบอกให้ผู้ใช้ถนนอื่นรู้ว่าเราจะเคลื่อนที่ไปอย่างไร และฝึกทักษะให้สามารถขี่จักรยานโดยใช้มือเดียวจับแฮนด์และอีกมือให้สัญญาณได้ถูกต้องอย่างคล่องแคล่ว โดยที่รถจักรยานทรงตัวได้ดี ใช้สัญญาณมือให้เป็นนิสัย ข้อห้ามในการขับขี่รถจักรยาน คืออย่าขี่ฉวัดเฉวียน หรือขี่เปลี่ยนทิศทางอย่างกะทันหันเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการชนเป็นอันตราย
“การขี่จักรยานในเมืองควรใช้ความเร็วพอสมควรอย่าขี่เร็วมาก ยิ่งขี่เร็วก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะมีอันตราย ในขณะที่เราพยายามผลักดันให้มีการจำกัดความเร็วรถยนต์ในเมือง โดยเฉพาะในย่านชุมชน ลงมาอยู่ที่ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตามมาตรฐานความปลอดภัยที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในยุโรป เราก็ไม่ควรขี่จักรยานเร็วกว่านั้นเช่นกัน ความเร็ว 20-25 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็เพียงพอแล้ว”
การเรียนรู้ “สัญญาณมือ” เป็นสิ่งที่สำคัญในการปั่นจักรยานเป็นกลุ่ม เพื่อช่วยให้การสื่อสารที่ระหว่างนักปั่นถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัย รวมถึงช่วยลดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ด้วย โดย 7 สัญญาณมือของคนขี่จักรยาน คือ 1. ชะลอความเร็ว ยื่นแขนขวาไปเสมอไหล่และโบกมือขึ้น-ลง ทำซ้ำหลายๆ ครั้ง 2. เลี้ยวซ้ายหรือเบี่ยงซ้าย ยื่นแขนซ้ายออกไปเสมอไหล่ ทำค้างไว้สักระยะ 3. เลี้ยวขวาหรือเบี่ยงขวา ยื่นแขนขวาออกไปเสมอไหล่ ทำค้างไว้สักระยะ 4. ให้รถคันอื่นแซง ยื่นแขนขวาออกไปเสมอไหล่ แล้วโบกมือไปข้างหน้าและหลังหลายๆ ครั้ง 5. หลบสิ่งกีดขวาง ใช้มือข้างที่มีสิ่งกีดขวางไขว้หลัง 6. ระวังหลุม ใช้มือข้างที่มีหลุมแล้วชี้ลงไปที่พื้น และ 7. หยุดรถ ยกแขนขวาขึ้นตั้งฉาก ให้แขนเสมอไหล่ หรือจะยกให้สูงขึ้นเล็กน้อยได้