ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
เตือนภัยขนมอันตราย
แชร์
ฟัง
ชอบ
เตือนภัยขนมอันตราย
29 พ.ย. 67 • 12.27 น. | 51 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

ขนมสำหรับเด็ก มีทั้งขนมกรุบกรอบ เค้ก มันฝรั่งทอด คุกกี้ หรือขนมสีสันต่างๆ รวมถึงขนมที่มีรสหวานเคลือบน้ำตาล  เช่น ลูกอม  ซึ่งมักเป็นขนมที่เด็ก ๆ ชื่นชอบเป็นชีวิตจิตใจ แต่คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่ว่า  เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรกินขนมประเภทขนมปรุงรส หรือขนมกรุบกรอบเคลือบน้ำตาล เพราะนอกจากไม่ให้สารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเด็กแล้ว  ยังเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพในระยะยาวจากการสะสมไขมันและน้ำตาลเกินปริมาณ  เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน

ขนมเด็ก จัดเป็นอาหารว่างชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับอาหารหลักที่มี 3 มื้อต่อวันที่ประกอบด้วยสารอาหารครบ 5 หมู่    ขณะที่ขนมคืออาหารว่างเข้ามาชดเชยระหว่างมื้อ เพราะแต่ละวันเด็กมีการใช้พลังงานทำกิจกรรมอยู่ตลอดเวลา  จึงจำเป็นต้องมีอาหารว่างเข้ามาเสริมสร้างพลังงานที่สูญเสียไปหลังการออกกำลังกาย   แต่อาหารว่างที่ดีที่สุดสำหรับเด็กควรเป็นผลไม้สด มากกว่าผลไม้แปรรูปและขนมปรุงรส 

ขนมเด็ก แบ่งออกได้หลายประเภท อาทิ ขนมธรรมดาที่ไม่เคลือบน้ำตาล เช่น ขนมปังแครกเกอร์ มันฝรั่งทอด ขนมกรอบเคลือบน้ำตาล และปรุงแต่งรสชาติต่างๆ เช่น ช็อกโกแลตเคลือบน้ำตาล  คุกกี้  ลูกอมน้ำตาล หรือขนมเหนียวติดฟัน เช่น หมากฝรั่ง ลูกอมชนิดต่างๆ หรือเยลลี  ขนมโปรตีนอบแห้ง  หรืออาจจะเป็นเมล็ดธัญพืช เมล็ดทานตะวัน เมล็ดแตงโม และขนมไทยต่างๆ 

ปัจจุบันมีการใช้สารเคมีผสมลงในอาหารหรือขนมของเด็ก  และสารเคมีบางตัวมีอันตราย จึงทำให้ขนมบางชนิดกลายเป็น “ขนมอันตราย”สำหรับเด็ก  ผู้ปกครองต้องเพิ่มความระมัดระวังใส่ใจขนมที่ลูกชอบกินให้มากขึ้น  เช่นขนมเด็กทารก ที่แม้จะระบุว่าทารกกินได้ แต่ควรระวัง เพราะสำหรับเด็กทารกที่อายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ขนมหรือของว่างควรจะมีแค่ผักหรือผลไม้ต้มสุก หรือบดให้นิ่มแล้วเท่านั้น ส่วนขนมอบกรอบ ขนมเคลือบน้ำตาล ขนมที่แต่งกลิ่นและเลียนแบบรสชาติ ควรหลีกเลี่ยงทั้งหมดจนกว่าลูกจะมีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปจึงสามารถกินได้

วิธีการเลือกขนมสำหรับเด็กให้เหมาะสมกับช่วงวัยและความต้องการมีความสำคัญ   เพราะเด็กแต่ละช่วงวัยต่างกัน ควรได้รับขนมเด็กที่แตกต่างกัน เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่พอเพียงต่อการเจริญเติบโต และไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจและพิถีพิถันในการเลือกขนมมาเป็นของว่างให้เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพเรื้อรังในระยะยาว   ผู้ปกครองจึงต้องจำกัดปริมาณการบริโภคอย่างเหมาะสม หากปล่อยให้กินขนมเกินความพอดี อาจมีปัญหาต่อสุขภาพตามมา เช่น ฟันผุ น้ำหนักเกิน โรคอ้วน ไขมันอุดตัน ความดันโลหิตสูง เบาหวานในเด็ก 

“พยายามไม่ซื้อขนมติดบ้าน เพราะถ้าเด็กเห็นก็จะยิ่งอยากกิน  พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างให้ลูกเห็นว่าขนมที่มีประโยชน์ เช่น ผลไม้สด ผลไม้อบแห้ง ก็อร่อยได้เหมือนกัน   ไม่จำเป็นต้องห้ามลูกกินขนม เพราะจะทำให้ลูกงอแงจนเสียสุขภาพจิต   แต่อาจเปลี่ยนจากการห้าม มาเป็นการจำกัดปริมาณการกินขนม เช่น กินได้แค่วันละครั้ง หรือสัปดาห์ละ 3 ครั้ง”

สำหรับขนมยอดนิยมของเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยง เช่น   ช็อกโกแลตเคลือบน้ำตาลหลากสี  มีความเสี่ยงทำให้เกิดเนื้องอกในสมองและกระเพาะปัสสาวะ และอาจยับยั้งการพัฒนาของเซลล์ประสาท เนื่องจากสีผสมอาหารเหล่านี้ทำมาจากปิโตรเลียม   ขนมอบพวกนี้มีน้ำเชื่อมข้าวโพด น้ำตาลฟรุกโตสสูงจากน้ำเชื่อมข้าวโพด เดกซ์โทรส ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลเหล่านี้ทำให้เกิดโรคเบาหวานในเด็ก ปัญหาตับ และอาการติดน้ำตาล 

ขนมที่มีส่วนผสมของแยมผลไม้เทียม ขนมขบเคี้ยวหลายชนิด เช่น ซีเรียลบาร์ที่มีส่วนผสมของแยมผลไม้ที่เติมสีผสมอาหารเพื่อให้มีสีสัน มักใช้สีแดง 3 ที่ก่อให้เกิดเนื้องอกที่ต่อมไทรอยด์    ขนมข้าวโพดอบกรอบปรุงรส ขนมประเภทนี้มีการแต่งรสเทียมก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหาร โรคกระเพาะ และอาการเสพติดเหมือนกันทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

นอกจากนี้ หากเด็กทานขนมที่มีรสหวานหรือมีส่วนผสมของน้ำตาลมากเกินไป ย่อมมีความเสี่ยงเกิดฟันผุ เนื่องจากขนมมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก  เป็นแหล่งอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ที่ผิวฟันนำไปใช้สร้างกรดกัดกร่อนฟัน   รวมทั้งขนมชนิดนี้ยังมีกรดรสเปรี้ยว ซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อนผิวฟัน โดยเฉพาะในฟันน้ำนมที่เพิ่งขึ้นมาในช่องปาก  อาจทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพช่องปากเด็กในระยะยาว   ผู้ปกครองจึงควรใส่ใจในการเลือกซื้อขนมที่เหมาะสมกับเด็กอย่างใกล้ชิด รวมถึงดูแลสุขภาพช่องปาก ที่ถูกวิธี เพื่อให้เด็กมีฟันที่แข็งแรงตามวัย

ขนมที่มีประโยชน์สำหรับเด็ก ควรเป็นขนมหวานน้อย ไม่เหนียวติดฟัน โดยแนะนำให้กินขนมในมื้ออาหารไม่เกิน 2 ครั้งต่อวัน ที่สำคัญภายหลังกินขนมควรแปรงฟันด้วยสูตร 2 - 2 – 2  คือต้องแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอนด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์  แปรงฟันนานครั้งละ 2 นาทีขึ้นไป เพื่อให้มั่นใจว่าแปรงฟันได้สะอาดทั่วทั้งปาก และเป็นการให้เวลาฟลูออไรด์ในยาสีฟันจับกับผิวเคลือบฟันเพื่อป้องกันฟันผุ   รวมถึงการงดกินอาหารและเครื่องดื่มหลังแปรงฟัน 2 ชั่วโมง เพื่อให้ช่องปากสะอาดนานที่สุด ส่งผลต่อสุขภาวะของฟันและเหงือกที่ดี

ทั้งนี้  เด็กที่อายุตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไป สามารถกินขนมได้  แต่ควรกินแต่พอดี ไม่บริโภคมากเกินไปจนส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยผู้ปกครองต้องดูแลการให้ลูกกินอาหารครบทั้ง 3 มื้อ เพื่อจะไม่มีอาการหิวระหว่างวัน และต้องการที่จะกินขนมแทนข้าว  เพิ่มผลไม้สด หรือธัญพืชลงในมื้ออาหาร เพื่อเป็นทางเลือกของว่างที่ดีต่อสุขภาพ   เวลาเลือกขนมให้ลูก อ่านฉลากโภชนาการก่อนทุกครั้ง พยายามเลือกขนมที่มีการใส่สารปรุงรสในปริมาณที่น้อยลงมาหน่อย เพื่อลดความเสี่ยงของการบริโภคโซเดียม น้ำตาล และไขมันเกินพิกัด   

“การเลือกซื้อขนม ต้องไม่ใส่สีเยอะเกิน  น้ำอัดลมมีสารฟอสฟอรัสทำให้เด็กเจริญเติบโตช้าไม่สูง เนื่องจากดึงแคลเซียมออกจากกระดูก รวมถึง ขนมอบกรอบ  ของทอดที่มีส่วนผสมของโซเดียมความเค็มของขนมทำให้ไตทำงานหนัก  การทานอาหารแต่ละมื้อที่มีส่วนผสมของโซเดียมเด็กควรกินควบคู่กับผัก เพราะใยอาหารจะป้องกันการดูดซึมโซเดียมเข้าสู่ร่างกาย”

โภชนาการอาหารสำหรับเด็กที่ดี ถือเป็นพื้นฐานของการเจริญเติบโตที่สมวัย  ผู้ปกครองจึงควรใส่ใจการเลือกอาหารของลูกในแต่ละมื้อให้เหมาะสมกับช่วงวัย การจัดเตรียมอาหารต้องมีโอเมก้า 3  และโอเมก้า 6 เพราะมีในอาหารเท่านั้น ร่างกายสร้างเองไม่ได้ พบมากในปลาและเนื้อสัตว์ เน้นปลาทะเล ไขมันมีความสำคัญต่อระบบสมอง ควรเลือกไขมันที่ดีต่อสุขภาพ  การที่เด็กได้รับโภชนาการที่ดีเพียงพอ สามารถดูได้จากส่วนสูง น้ำหนักที่สมดุล อยู่ในระดับปกติของกราฟวัดการเจริญเติบโต มีความร่าเริง สดใส ไม่เจ็บป่วยบ่อย แต่ต้องให้ในปริมาณที่เพียงพอ  เพราะการให้เด็กรับประทานอาหารมากเกินไป อาจเสี่ยงให้เด็กเกิดภาวะอ้วนได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#Lifeskill, 
#ภัย, 
#ขนม 
ผู้เขียนบทความ
avatar
กองบรรณาธิการ ALTV
ALTV CI
ข่าว ALTV
ข่าว ALTV
ALTV News
ผู้เขียนบทความ
avatar
กองบรรณาธิการ ALTV
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#Lifeskill, 
#ภัย, 
#ขนม 
แชร์
ฟัง
ชอบ
ติดตามเรา