“เพราะธรรมชาติโดดเด่น ทำให้ทะเลอันดามันถูกผลักดันให้พิจารณาเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ อีกหนึ่งแห่งของไทย เมื่อเป็นมรดกโลกแล้วการดูแลพื้นที่จะถูกยกระดับขึ้นมาตามมาตรฐานสากล อาจมี SMART Patrol ทางทะเลหรือการตรวจสอบและการจัดการที่ดีขึ้น และแน่นอนว่าพื้นที่ตรงนี้จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ดีที่สุดของโลกอีกแห่งหนึ่ง”
ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การนำเสนอพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก คือหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญทั้งมิติของการอนุรักษ์และการพัฒนาของประเทศ ไม่ใช่แค่เรื่องมิติของการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างเดียว แต่หากพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจะเป็นเหมือนแม่เหล็กที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกให้อยากเข้ามาสัมผัสความสวยงามมากขึ้น และเป็นโอกาสสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจประเทศ
ย้อนไปปี 2547 จุดเริ่มต้นการศึกษาพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันเพื่อเป็นมรดกโลก ขณะนั้นคณะกรรมการมรดกโลกของไทยเห็นชอบ ว่าควรมีการนำเสนอพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน สอดคล้องกับแนวคิดขององค์กรระหว่างประเทศ ที่ระบุว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการนำเสนอเป็นแหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันเพื่อเป็นมรดกโลก กระบวนการทำงานระยะเริ่มต้นมีการศึกษาพื้นที่ตลอดแนวชายฝั่งทะเลอันดามัน พื้นที่ทางอันดามันตอนเหนือตั้งแต่ระนองถึงภูเก็ตควรเป็นพื้นที่นำร่องที่มีศักยภาพก่อน หากตรงนี้ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก ประชาชนเห็นด้วยในอนาคตมีโอกาสขยายเพิ่มเติมตั้งแต่อ่าวพังงาถึงตะรุเตา
การนำเสนอพื้นที่อนุรักษ์ทะเลอันดามันได้รวม 6 อุทยานแห่งชาติ และ 1 ป่าชายเลน ใน 3 จังหวัดได้แก่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง อุทยานแห่งชาติแหลมสน พื้นที่ป่าชายเลนไบโอสเฟียร์ จ.ระนอง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต รวมพื้นที่เกือบ 2,900 ตร.กม. แบ่งเป็นพื้นที่อุทยาน 1,150 ตร.กม. และพื้นที่กันชน 1,750 ตร.กม. ซึ่งพื้นที่กันชนส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทางทะเล
“ปี 2561 เริ่มมีการพิจารณาพื้นที่อันดามันตอนเหนือก่อน น่าจะมีโอกาสเสนอพื้นที่ป่าชายเลนระนองให้เป็นมรดกโลก ซึ่งเป็นข้อเสนอจากทั้งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ทางฝั่งอันดามันตอนเหนือร่วมกับทางกรมทรัพยากรทางชายฝั่ง ซึ่งมีพื้นที่ป่าชายเลนนอกเขตอุทยานส่วนหนึ่งในจังหวัดระนอง เกิดแนวนี้ขึ้นจนมีการพิจารณาพื้นที่ร่วมกันเพื่อนำเสนอ”
กระทั่งปลายปี 2564 การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดกระบี่ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบส่งหนังสือแสดงเจตจำนงค์หรือบัญชีรายชื่อเอกสารฉบับย่อ เพื่อบอกว่าประเทศไทยแสดงเจตจำนงค์เสนอพื้นที่เขตอนุรักษ์ทะเลอันดามัน เพื่อขอรับการประเมินเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ โดยศูนย์มรดกโลกได้รับข้อเสนอของประเทศไทยบรรจุในบัญชีรายชื่อในวันที่ 18 ธันวาคม 2564 โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำงานร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกของไทย ซึ่งผ่านการเห็นชอบ จนถึงขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะรัฐมนตรี
ประเด็นสำคัญของการเสนอพื้นที่มรดกโลกของแหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน แตกต่างจากพื้นที่มรดกโลกทางบกของไทย โดยเฉพาะมรดกโลกธรรมชาติ เช่น ป่ามรดกห้วยขาแข้ง ดงพญาเย็นเขาใหญ่และแก่งกระจาน ที่เน้นมิติการอนุรักษ์สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่ 10 คือพบสิ่งมีชีวิตที่สำคัญ เป็นพื้นที่อาศัยของสัตว์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพ ขณะที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันเข้าเกณฑ์ที่ 10 เป็นพื้นที่ๆ มีเรื่องราวทางชีวภูมิศาสตร์ตามเกณฑ์ที่ 9 ระบบนิเวศชายฝั่งทะเลเขตร้อนทุกรูปแบบของระบบนิเวศทางทะเล แนวประการัง ป่าชายเลน หญ้าทะเลรวมถึงพื้นที่ป่าสันทรายชายฝั่งของอุทยานแห่งชาติหาดลำปีฝั่งท้ายเหมือง ตลอดจนเป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลโบราณที่บอกเล่าเรื่องราววิวัฒนาการที่อ้างอิงประวัติศาสตร์ย้อนหลังมานานกว่า 4,000-6,000 ปี
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญข้อคือหลักเกณฑ์ที่ 7 ชี้ให้เห็นว่าพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน มีความสวยงามเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกมีทรัพยากรธรรมชาติที่โดดเด่น เอื้อประโยชน์สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่และเชิงเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งหมดคือหลักเกณฑ์ของการนำเสนอมรดกโลก เป็นพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์โดดเด่น เป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล แหล่งแนวประการังน้ำตื้นและน้ำลึก เป็นความสวยงามที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกต้องการมาสัมผัสความสวยงามและความสมบูรณ์ของทรัพยากร
“อย่าลืมว่ามรดกโลกของเราเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญ โครงการพัฒนาต่างๆ กับมรดกโลกต้องอยู่ด้วยกันได้ โดยเฉพาะโครงการสำคัญที่กำลังเกิดใหม่อย่างการสร้างท่าเรือ ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจมีผลกระทบบ้างไม่มากก็น้อย สิ่งที่น่ากังวลคือโครงสร้างเหล่านี้จะส่งผลกระทบอะไรกับระบบนิเวศทางทะเลหรือไม่ เป็นเรื่องที่คณะทำงานต้องมีการศึกษาอย่างละเอียด โดยต้องไม่ลืมว่าพื้นที่มรดกโลกไม่จำเป็นต้องห้ามการพัฒนาทุกอย่าง แต่จะทำอย่างไรให้สามารถดำเนินการพัฒนาได้โดยไม่ทำลายระบบนิเวศ”
อาจารย์ศักดิ์อนันต์ กล่าวว่า เราต้องไม่ปฏิเสธโครงการต่างๆ ที่จะเข้ามาพัฒนาพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นโครงการการขนส่งทางทะเล การพัฒนารถไฟ ถนน ท่าเรือสำราญ แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ หรือสนามบิน เพราะเราสามารถดำเนินโครงการเหล่านี้โดยไม่ทำลายระบบนิเวศได้ เพราะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้คนเข้าถึงหรือเป็นเสมือนประตูสู่เส้นทางมรดกโลก ที่ผ่านมาพื้นที่มรดกโลกสามารถทำให้การอนุรักษ์กับการพัฒนาอยู่ร่วมกันได้ ภายใต้การศึกษาอย่างละเอียดเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ เพราะข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์จะนำไปสู่ผลการศึกษาที่ไม่ถูกต้อง
นอกจากนี้สิ่งที่ต้องคำนึงคือ ระบบนิเวศ ซึ่งไม่ได้หมายถึงป่าชายเลนเพียงอย่างเดียว แต่ครอบคลุมถึงระบบนิเวศทางทะเลทั้งหมด การรั่วไหลของน้ำมันที่เกิดจากการขนส่งสินค้า หรือน้ำมันทางทะเล เส้นทางขนส่งทางบก ถนนที่ไปท่าเรือผ่านป่าชายเลนจะส่งผลกระทบต่อป่าชายเลนอย่างไร สุดท้ายหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ วิถีชีวิตชุมชนตลอดชายฝั่งตั้งแต่จังหวัดระนองถึงพังงา เป็นชุมชนที่พึ่งพาธรรมชาติเพราะยังประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ทั้งหมดเป็นโจทย์ที่ต้องกลับมาคิดว่าโครงการต่างๆ ส่งผลกระทบต่อพื้นที่มากน้อยเพียงใด
ยุทธศาสตร์สำคัญของการขับเคลื่อนไปสู่มรดกโลก อย่างแรก 1.ต้องปกป้องและพื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ 2.ลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนในพื้นที่กับหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ดูแล 3. ทำอย่างไรให้พื้นที่เหล่านี้กระจายรายได้สู่ชุมชน และ 4.การพัฒนาบุคลากรและการจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ เพื่อรองรับการจัดการพื้นที่มรดกโลก ทั้งนี้ข้อดีของการเป็นพื้นที่มรดกโลก คือโอกาสการเพิ่มคุณค่าในพื้นที่ เมื่อเป็นเขตอนุรักษ์ ภาครัฐจะจัดสรรงบประมาณดูแล เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้อย่างยั่งยืน เป็นความภาคภูมิใจของคนในพื้นที่
“ข้อเสียที่อาจเกิดขึ้น หลังจากมีการประกาศเป็นมรดกโลก คือมิติตัวบุคคลและชุมชน การท่องเที่ยวคึกคักนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเกินขีดความสามารถในการรองรับ ความเสื่อมโทรมของพื้นที่จะตามมา วิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมชุมชนชายฝั่งอาจเปลี่ยนไป ด้านเศรษฐกิจนายทุนอาจรุกเข้ามาลงทุนเพื่อครอบครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินสูงขึ้น ค่าครองชีพในพื้นที่สูง”
หากจะขับเคลื่อนสู่การเป็นมรดกโลก สิ่งสำคัญที่ภาครัฐต้องเตรียมรับมือ คือ 1. การสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างประชาชนในพื้นที่ถึงข้อดีข้อเสียและผลกระทบ 2. เส้นทางมรดกโลก เอื้อต่อการวางแผนการท่องเที่ยว 3. ศักยภาพพื้นที่ทางทะเลนอกเขตมรดกโลก ให้ตลอดเส้นทางเชื่อมโยงกัน 4.การสำรวจข้อมูลที่จะเสนอเป็นมรดกโลกต้องทำการสำรวจอย่างละเอียด และ 5.การประเมินองค์กร หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลแหล่งมรดกโลกมีคน งบประมาณ เครื่องมือเพียงพอหรือไม่ ไปประเมินในการจัดการพื้นที่มรดกโลก
ทะเลอันดามัน ถือว่ามีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติมาก ทั้งพื้นที่ป่าชายเลนไบโอสเฟียร์ จ.ระนอง อันเป็นป่าชายเลนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และมีความสำคัญในแง่การเก็บกักคาร์บอน และเป็นแหล่งหญ้าทะเล อีกทั้งแนวปะการังโบราณที่ใหญ่ที่สุดของอันดามัน บริเวณอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ที่เกิดขึ้นมานานกว่า 8,000 ปี และแถบอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันยังอยู่ในบริเวณที่เรียกว่าไหล่ทวีป มีจุดน้ำตื้นและจุดทะเลลึก เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลมากมาย ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเล ล้วนมีความสำคัญที่จะผลักดันให้ทะเลฝั่งอันดามันของไทย เป็นมรดกโลกได้เพื่อเอื้อประโยชน์ในการคุ้มครอง ดูแล และอนุรักษ์พื้นที่ รวมถึงสัตว์ทะเล ให้ได้รับการคุ้มครองมากขึ้น มีการตรวจสอบและมีระบบการจัดการที่ดีขึ้น ทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน
หมายเหตุ : ถอดความจาก DxC Talk 24 Experts ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง "อันดามัน ทะเลไทย สู่มรดกโลก"