วันนี้ ALTV จึงพาทุกคนมาส่อง 5 อาหารแห่งอนาคต ขั้นกว่าของการปรุงอาหาร ที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง
เนื้อจากพืชอาจไม่ใช่อาหารแปลกใหม่ ใครผ่านช่วงกินเจมาจะเข้าใจในส่วนของเนื้อสัตว์ที่ทำมาจากพืช อร่อยแต่ก็มีราคาที่แพงกว่าเนื้อสัตว์จริง ๆ แต่วันนี้มาแอบกระซิบว่าในอนาคตโปรตีนที่มาจากพืชอาจจะไม่ได้มีรสสัมผัสเหมือนโปรตีนเกษตรที่คุ้นเคย แต่ทว่ามีหลากหลายรสชาติมากกว่าเดิม สมจริงกว่าเดิม แถมราคายังจับต้องได้
ในอเมริกามีหลายบริษัทกำลังแข่งขันกันพัฒนาเนื้อจากพืชให้ออกมาเสมือนจริงและถูกปากผู้บริโภค โดยส่วนประกอบจะแตกต่างกันไปแต่ที่น่าสนใจบางบริษัทมีการดัดแปลงพันธุกรรมของ ฮีม (Heme) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เนื้อจากพืชมีรสชาติเหมือนเนื้อวัวของจริง แม้ฮีมจะพบได้ทั้งพืซและสัตว์แต่ก็ยังมีความแตกต่างกัน ดังนั้นจึงมีการดัดแปลงเพื่อให้ได้รสที่สมจริงยิ่งขึ้น
แม้จะดูน่ากลัวไปสำหรับบางคน แต่บอกได้เลยว่านี่คือแหล่งโปรตีนชั้นเยี่ยมที่หาได้จากธรรมชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารเชื่อว่าในอนาคตเราจะต้องหาแหล่งโปรตีนใหม่ๆ เพื่อมาทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ทางออกแรกคือการลดโปรตีนที่ไม่จำเป็นออกไป และอีกทางเลือกหนึ่งคือหันไปหาแหล่งโปรตีนทางเลือก เช่น แมลง เพราะในแมลงอุดมไปด้วยโปรตีน อีกทั้งยังมีไขมัน โปรตีน วิตามิน ไฟเบอร์ และแร่ธาตุสูง นอกจากนี้แมลงยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าเนื้อสัตว์ในอุตสาหกรรม
อาจเป็นของโปรดของใครหลายคน สำหรับสาหร่าย พืชใต้น้ำใบเขียว แถมเต็มไปด้วยแคลเซียม โปรตีน เหล็ก วิตามิน แร่ธาตุ ไฟเบอร์ และสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าผลไม้หรือผักชนิดอื่น ๆ ถือเป็นอาหารชั้นดีทั้งกับคนและสัตว์ อีกทั้งสาหร่ายยังเติบโตได้ง่ายในน้ำจืด และน้ำเค็ม ทำให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการกิน หรือเพาะปลูก เพราะมีต้นทุนการเพาะเลี้ยงที่ถูก แถมยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันทั้งน้ำจืดและท้องทะเลมีสารพิษอยู่มาจึงทำให้ปลาถือเป็นสัตว์กลุ่มแรกที่มีสารพิษตกค้างในตัวมากที่สุด Terramino Foods สตาร์ตอัพในซานฟรานซิสโกจึงได้พัฒนากระบวนการที่สามารถเปลี่ยนสาหร่ายให้เป็น ‘เบอร์เกอร์ปลาแซลมอน’ ที่มีหน้าตา รสชาติและกลิ่นเหมือนปลาจริง ๆ ถือเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ช่วยให้มนุษย์เรายังคงมีอาหารกินอิ่ม และได้สารอาหารครบถ้วน
สายเนื้อย่าพึ่งร้องไห้ ในอนาคตยังมีเนื้อให้กินกันอยู่ แต่อาจเป็นเนื้อที่เพาะมาจากห้องแลป เนื้อที่เพาะในห้องแลป ที่ใช้ตัวอย่างเนื้อเยื่อของสัตว์เพียงไม่กี่เซลล์มาเพาะให้ได้เนื้อปริมาณหลายสิบตัน
นวัตกรรมนี้เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2013 โดย มาร์ค โพสต์ (Mark Post) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย มาสทริชต์ ในเนเธอร์แลนด์ เขาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากสเตมเซลล์ของวัวจนกลายเป็นเนื้อบดสำหรับทำแฮมเบอร์เกอร์
ต่อมาบริษัท Eat Just จากอเมริกาก็ผลิตเนื้อไก่จากห้องแลปขายเป็นครั้งแรกที่ร้านอาหารในสิงคโปร์เมื่อปี 2020 โดยได้ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานอาหารแห่งสิงคโปร์แล้วว่าปลอดภัย ไร้การปนเปื้อน และมีคุณค่าทางสารอาหารเหมือนกับเนื้อสัตว์ทั่วไป
ทั้งนี้การกินเนื้อที่มาจากห้องแลปยังช่วยหยุดวงจรการทรมานสัตว์ที่เกิดขึ้นในการผลิตแบบอุตสาหกรรม จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าจับตามอง
ใครว่าเครื่องพิมพ์จะผลิตอาหารไม่ได้! แม้จะเคยได้ยินข่าวมาสักพักแล้วกับเทคโนโลยี 3D printing แต่ก็ยังถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าจับตามองนอกจากจะทำให้ได้เนื้อเสมือนจริงแล้ว การพิมพ์แบบ 3 มิติยังเป็นอีกส่วนที่ช่วยลดปริมาณเศษอาหารอีกด้วย เพราะในเศษอาหารบางชนิดเต็มไปด้วยสารอาหารที่จำเป็น สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการพิมพ์ได้ นี่จึงเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและลดของเสียอันเป็นปัจจัยที่ทำให้โลกร้อน อีกทั้งยังช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาทางระบบย่อยอาหาร ให้ได้มีอาหารที่ย่อยง่ายขึ้น สัมผัสนุ่มขึ้นอีกด้วย
สิ่งที่เราหยิบยกมาในวันนี้อาจไม่ใช่นวัตกรรมทั้งหมดบนโลก เพราะวิทยาศาสตร์ยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อตอบสนองความต้องการ และเพื่อช่วยเหลือให้มนุษย์เรายังคงมีชีวิตที่ปกติ แม้โลกจะเปลี่ยนไป สิ่งที่เราทำได้มีเพียงการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าทั้งอาหาร และธรรมชาติ เพื่อให้โลกยังคงอุดมสมบูรณ์ไปอีกนาน