ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
ความทรงจำในลมหนาวจาง วิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วย ‘กลิ่นฤดูหนาว’
แชร์
ชอบ
ความทรงจำในลมหนาวจาง วิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วย ‘กลิ่นฤดูหนาว’
22 ต.ค. 65 • 19.15 น. | 4,125 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

นอกจากกลิ่นฉุนของต้นตีนเป็ด สายลมเย็น และท้องฟ้าสีสวยตอนใกล้ค่ำ อีกหนึ่งสัญญาณของการเข้าสู่ฤดูหนาวที่หลายคนสัมผัสได้ คงหนีไม่พ้นกลิ่นหอมเย็นสดชื่น ที่ใคร ๆ เรียกกันติดปากว่า “กลิ่นฤดูหนาว” จริงอยู่ว่าอาจไม่ใช่ทุกคน ที่รู้สึกถึงการมีอยู่ของกลิ่นฤดูกาลนี้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกสักทีเดียวที่จะบอกว่า คนเราสามารถสัมผัสถึง ‘กลิ่น’ ของฤดูกาลได้

ในทางวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายเกี่ยวกับกลิ่นเฉพาะของฤดูหนาวได้ว่า เกิดจากอากาศแห้งและเย็นส่งผลต่อกลไกการรับกลิ่นของจมูก ทำให้เราต่างสัมผัสได้ถึงกลิ่นที่มี 'ความเฉพาะ' และ 'แตกต่าง' ไปจากเดิม ไม่เพียงเท่านั้น กลิ่นฤดูหนาวยังเป็นเรื่องของความรู้สึกทางใจ ที่เชื่อมโยงเข้ากับความทรงจำในช่วงท้ายปี ที่ทุกอย่างรอบตัวดูจะอบอุ่นเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น แสงไฟ ดนตรี เสียงหัวเราะ และบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลอง จึงทำให้กลิ่นในฤดูหนาวพิเศษจนใครหลายคนตกหลุมรัก

'กลิ่นฤดูหนาว' คือเรื่องของโมเลกุลในอากาศ

คนเราจะได้กลิ่นก็ต่อเมื่อหายใจเอาโมเลกุลของสารที่อยู่รอบตัวเข้าไปสัมผัสกับเซลล์ประสาทรับกลิ่นภายในจมูก (Olfactory receptor cell) ซึ่งโดยปกติแล้วโมเลกุลเหล่านี้ มีคุณสมบัติกระจายตัวได้ดีในสภาพ 'อากาศร้อน' และ 'อากาศชื้น' ทำให้เราได้กลิ่นสิ่งต่าง ๆ ชัดเจนมากในสภาพอากาศปกติ หรือในช่วงหน้าร้อนที่มีอากาศอบอ้าว

 

ในทางกลับกันเมื่ออากาศแห้งและหนาวเย็น โมเลกุลจะกระจายตัวได้ไม่ดีเท่า ผลคือเราจะได้กลิ่นสิ่งต่าง ๆ น้อยลง ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นควันรถ อาหารปิ้งย่างข้างทาง และอีกสารพัดที่ปะปนอยู่ในอากาศที่ใช้หายใจทุกวัน เปรียบเทียบได้กับการที่คุณนำอาหารแช่แข็งออกจากตู้เย็นที่บ้านคุณ จะสังเกตได้ว่าเราแทบไม่ได้กลิ่นอาหารเลย แต่เมื่อใดที่นำไปอุ่นให้ร้อนกลิ่นอาหารก็จะเริ่มฟุ้งกระจายมากขึ้นนั่นเอง

 

กลิ่นสดชื่นในฤดูหนาวจึงมาจากการที่เรารับรู้กลิ่นน้อยลง ผสมผสานกับไอเย็นที่ผ่านเข้าไปในจมูก ซึ่งตามที่ Pamela Dalton นักวิทยาศาสตร์ประจำ Monell Chemical Senses Center กล่าวไว้ ตามธรรมชาติของมนุษย์จะตีความทันที ว่ามันคือ 'กลิ่น' แบบหนึ่ง แม้ในทางหลักการแล้วจะเป็นการผสมผสานระหว่างกลิ่น และความรู้สึกเย็น ๆ ชา ๆ ในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ความไม่มีกลิ่นแปลกปลอมในอากาศ ยังสามารถดึงกลิ่นไอของพื้นดิน กลิ่นต้นไม้หญ้า ออกมาชัดขึ้น ทำให้เรารู้สึกถึงอากาศสดชื่นได้มากกว่าปกติ

 

ความทรงจำ ทำให้กลิ่นฤดูหนาวพิเศษ 

ในบรรดาประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของมนุษย์ ‘การได้กลิ่น’ มีอิทธิพลต่อสมองมากที่สุด โดยเฉพาะกับส่วน 'ความทรงจำระยะยาว' กลิ่นสามารถทำให้หวนนึกถึงเรื่องราวเก่า ๆ ในอดีตที่สัมพันธ์กับ ภาพ เสียง อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น เป็นคำตอบว่าทำไมกลิ่นบางกลิ่นทำให้รู้สึกสบายใจราวกับได้รับการปลอบประโลม ไปจนถึงรู้สึกคิดถึงใครบางคน สถานที่ที่เคยไป หรือช่วงเวลาสำคัญ

 

นั่นเป็นเพราะประสาทรับกลิ่นของเราเชื่อมต่ออย่างใกล้ชิดกับสมอง 2 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) สมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมความทรงจำ โดยเฉพาะความทรงจำระยะยาว และ สมองส่วน อมิกดาลา (Amygdala) ที่คอยควบคุมอารมณ์ความรู้สึกพื้นฐานของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความเศร้า ความโกรธ ฯลฯ เมื่อใดที่เราได้กลิ่น สมองจะบันทึกกลิ่นนั้น เข้ากับสิ่งที่ตาเห็น เสียงที่ได้ยิน รสชาติที่ได้สัมผัส เรียงร้อยเป็นชุดความทรงจำ และเมื่อได้กลิ่นเดิมอีกครั้ง ความทรงจำนั้นจะถูกดึงขึ้นมาอัตโนมัติ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วความทรงจำที่เชื่อมโยงกับกลิ่น มักจะเกี่ยวข้องกับ 'เหตุการณ์ชีวิตเชิงบวก' ในอดีต หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นเหตุการณ์หรือช่วงเวลาใดก็ตาม ที่เรารู้สึกมีความสุขนั่นเอง

 

ความทรงจำในฤดูหนาวที่เราต่างคุ้นเคย หากไม่นับลมเย็นที่นาน ๆ ทีจะได้สัมผัส ฤดูหนาวเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง การกลับบ้าน อ้อมกอดจากคนรัก แสงจากไฟประดับ ต้นคริสต์มาส และอากาศเย็น ๆ ในจมูก ทั้งหมดนี้เป็นมวลแห่งความสุข ที่เราต่างสัมผัสได้จากฤดูหนาวเท่านั้น จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กลิ่นฤดูหนาวนั้นแสนพิเศษสำหรับใครบางคน และเมื่อได้กลิ่นอีกกี่ครั้งก็ยังรู้สึกดี และนอกจากบทความที่เรานำมาฝากยังมีสาระดี ๆ เกี่ยวกับการเกิดของฤดูกาลให้รับชมต่อที่รายการ สังคมสนุกคิด ตอน ฤดูกาลในไทย ได้ทางเว็บไซต์ ALTV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก

 

คำศัพท์น่าสน

  • ต้นตีนเป็ด ต้นตีนเป็ด หรือ พญาสัตบรรณ ไม้ยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดียและแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนไทยนิยมปลูกเนื่องจากมีความเชื่อว่าเป็นต้นไม้มงคล มีจุดเด่นคือส่วนดอกที่มีกลิ่นแรง ซึ่งเกิดจากสารหอมระเหยชนิดหนึ่ง ในกลุ่มลินาโลออล
  • โมเลกุล (Molecule) คือ อนุภาคขนาดเล็กที่สุดของสาร ที่เกิดจากอะตอมจำนวนมากกว่า 1 ขึ้นไป มารวมกันด้วยพันธะเคมี 
  • อมิกดาลา (Amygdala) คือ สมองส่วนควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ ซึ่งส่งผลต่อการแสดงออกทางพฤติกรรม มีลักษณะเหมือนเมล็ดอัลมอนด์ อยู่ในบริเวณสมองส่วนกลีบขมับ (Temporal lobe)

 

 

ที่มา: Business insider The atlantic CBC News

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#ฤดูหนาว, 
#กลิ่นฤดูกาล, 
#กลิ่น, 
#ความรู้รอบตัว, 
#การเกิดฤดูกาล, 
#กลิ่นฤดูหนาว, 
#กลไกลการรับกลิ่น, 
#วิทยาศาสตร์, 
#ลมหนาว, 
#อากาศหนาว, 
#ฤดูหนาวของไทย 
ALTV CI
LearnMore
LearnMore
ALTV All Around
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#ฤดูหนาว, 
#กลิ่นฤดูกาล, 
#กลิ่น, 
#ความรู้รอบตัว, 
#การเกิดฤดูกาล, 
#กลิ่นฤดูหนาว, 
#กลไกลการรับกลิ่น, 
#วิทยาศาสตร์, 
#ลมหนาว, 
#อากาศหนาว, 
#ฤดูหนาวของไทย 
แชร์
ชอบ
ติดตามเรา