ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
"ดอกไม้หน้าร้อน" ริมถนนเมืองไทย พร้อมความหมายมงคล
แชร์
ชอบ
"ดอกไม้หน้าร้อน" ริมถนนเมืองไทย พร้อมความหมายมงคล
13 เม.ย. 66 • 12.00 น. | 7,208 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

ถนนในเมืองไทยหลายจุดเต็มไปด้วย ดอกไม้ฤดูร้อน ที่น่าดึงดูดใจ ด้วยสีสันสดใสและกลิ่นหอมนั้นช่วยพาความสุข ความสดชื่น มาสู่ผู้คนที่กำลังพักผ่อนในอากาศร้อนระอุ ดอกไม้ประจำถิ่นที่บานสะพรั่งอยู่สองข้างทาง ไม่ว่าสีใด ล้วนมีชื่อและความหมายชวนหลงใหล และเพื่อเป็นการต้อนรับเทศกาลแห่งการท่องเที่ยวไทย ALTV ขอชวนทุกคนมาทำความรู้จัก ดอกไม้หน้าร้อน ที่ซ่อนอยู่บนถนนสวยของเมืองไทย พร้อมกับความหมายมงคล

ราชพฤกษ์ สง่างาม นำพาความโชคดี

ดอกสีเหลืองอร่าม บานเป็นช่อห้อยลงคล้ายโคมระย้า ใน 1 ดอกมี 5 กลีบ

ความหมายมงคล : สัญลักษณ์แห่งความอุมดสมบูรณ์และความโชคดี

ฤดูกาลออกดอก : กลางเดือนมีนาคม - พฤษภาคม

 

ราชพฤกษ์ แปลความหมายตรงตัวว่า 'ดอกไม้ของพระราชา' ชาวบ้านมักเรียกว่า “คูน” เป็นดอกไม้ฤดูร้อนที่ได้รับฉายาว่าเป็น “ดอกไม้ประจำชาติไทย” อย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2544 เนื่องจากมี “ดอกสีเหลือง” ลักษณะเป็นช่อระย้า ดูสง่างาม ตรงกับ “สีประจำวันพระราชสมภพ” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงนิยมปลูกกันมากตามสถานที่ราชการรวมถึงถนนสายต่าง ๆ นอกจากนี้ยังถูกกำหนดให้เป็น ดอกไม้ประจำจังหวัดขอนแก่นและนครศรีธรรมราช อีกด้วย 

 

ดอกไม้งามในประเทศไทยมีอยู่มากมาย แต่ด้วยเหตุผลที่ “ราชพฤกษ์” รับการยกย่องให้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทยเหนือพันธุ์ไม้อื่น ๆ ได้นั้น เพราะคุณสมบัติที่ “ไม่ธรรมดา” เหล่านี้

  • ราชพฤกษ์ เป็นต้นไม้พื้นเมืองที่นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
  • ทุกส่วนของราชพฤกษ์มีประโยชน์หลายด้าน เช่น “ฝัก” มีสรรพคุณทางยาใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ, ยาระบาย, แก้ไข้มาลาเรีย และแก้ปวดข้อ ส่วน “แก่น” มีความแข็งแรง ใช้ทำเสาเรือนได้ดี ส่วน “เปลือก เนื้อไม้ ผล” คนภาคเหนือและอีสานนิยมนำมาทำ “สีย้อมผ้า” ที่ให้สีเหลืองธรรมชาติ
  • มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและประเพณีสำคัญของคนไทย 
  • มีดอกสีเหลืองอร่าม เป็นช่องามเต็มต้น เปรียบเป็นสัญลักษณ์แห่งพุทธศาสนา
  • เป็นพันธุ์ไม้ที่มีอายุยืนนานและทนทาน แม้ในยามฤดูร้อน แห้งแล้ง ก็สามารถยืนต้น มีดอกเบ่งบาน

🌺ความหมายมงคลของ “ต้นราชพฤกษ์”🌺

คนไทยสมัยก่อนเชื่อว่า ต้นราชพฤกษ์ หรือ คูน เป็นไม้มงคล บ้านใดปลูกไว้ถือว่ามีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ส่งเสริมให้ผู้อยู่อาศัยมีความเจริญรุ่งเรืองเป็น “ทวีคูณ” นอกจากความหมายดีแล้ว ทุกส่วนของต้นราชพฤกษ์ยังถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ มักถูกนำมาใช้ในพิธีกรรมสำคัญและเป็นวัตถุมงคลต่าง ๆ เช่น

  • แก่นไม้ ใช้ในพิธีลงเสาหลักเมืองและเป็น “เสาเอก” ในการก่อสร้างพระตำหนักของพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ชั้นสูง อีกทั้งยังเป็นส่วนประกอบของ “คฑาจอมพลและยอดธงชัยเฉลิมพล” ของกองทหาร ในทางไสยศาสตร์ นิยมนำ แก่นคูน มาทำแกะเป็นเครื่องรางอย่าง “ปลัดขิก” ตามความเชื่อเรื่องการปกป้องคุ้มครอง
  • ตาต้นคูน ของขลังจากธรรมชาติโดยไม่ต้องปลุกเสก ถือเป็นของหายาก นิยมพกติดกระเป๋าเพื่อหวังผลด้านเมตตามหานิยมและเสริมโชคลาภ
  • ใบ ใช้ในพิธีปลุกเสกน้ำพุทธมนต์สะเดาะเคราะห์ที่ให้ผลดี ชาวอีสานนำ “ใบคูน” มาประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญ

ยามที่ดอกราชพฤกษ์เริ่มเบ่งบาน ถือเป็นสัญญาณแห่งการเริ่มต้นฤดูร้อน ในช่วงกลางเดือนมีนาคมจนถึงพฤษภาคม ช่อระย้าสีเหลืองสดใสจะพริ้วไปตามแรงลมสร้างสีสันตลอดสองฟากถนนสุดตราตรึงใจ สำหรับ “ถนนสายดอกราชพฤกษ์” ที่สามารถหาชมเพียงปีละครั้ง ได้แก่

  • ทางหลวงหมายเลข 117 จ.อุตรดิตถ์ : ตอนไร่อ้อย-พญาแมน ตลอดเส้นทางยาว 3 กม. บริเวณสถานีตำรวจภูธรพญาแมน ต.พญาแมน อ.พิชัย ไปจนถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ต.ท่ามะเฟือง 
  • ถนนสายดอกคูน จ.ขอนแก่น : ตั้งแต่ถนนมะลิวัลย์ทางเข้าออก สนามบินขอนแก่นทั้งขาเข้าและออก ทอดยาวตลอด 3 กม.ไปจนถึงถนนกัลปพฤกษ์ ข้างมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • อุโมงค์ดอกคูน จ.ปทุมธานี : ในพื้นที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ตลอดระยะทางประมาณ 1 กม.

ทองอุไร ร่ำรวย มั่งคั่ง ดอกดกตลอดปี 

ดอกไม้สีเหลือง เมื่อบานจะคล้ายระฆังหรือแตร ปลายกลีบดอกแยกเป็น 5 กลีบรับกัน

ความหมายมงคล : สีเหลืองดั่งทองคำ เสริมความร่ำรวย มีเงินมีทองไม่ขาดสาย

ฤดูกาลออกดอก : ออกดอกทั้งปี ดอกดกในฤดูร้อน

 

ทองอุไร ดอกไม้มงคลที่ให้กลิ่นหอมอ่อน ๆ ออกดอกเป็นพุ่ม กระจุกอยู่หลายช่อตามซอกใบ มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของประเทศสหรัฐอเมริกา แพร่พันธุ์ไปยังพื้นที่เขตร้อนทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เมื่อดอกบานสะพรั่งพร้อมกันทั้งต้น สีเหลืองของทองอุไรช่วยปรับทิวทัศน์ให้มีสีสันสวยงาม จึงนิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้าน สำนักงาน สวนสาธารณะ และริมถนน อีกทั้งยังถูกกำหนดให้เป็น “ดอกไม้ประจำจังหวัดสิงห์บุรี”

🌺ความหมายมงคลของ “ทองอุไร”🌺

ทองอุไร ในอดีตถูกเรียกว่า “ดอกทองอโศก” ซึ่งคนมักเข้าใจผิดโดยโยงไปถึงความโศกเศร้า ภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อใหม่ตามความเชื่อของคนโบราณ ที่เมื่อนึกถึง สีเหลือง จะหมายถึงทองคำ ดังนั้น ทองอุไร จึงถือเป็นต้นไม้มงคลที่ช่วยเสริมในเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ให้แก่ผู้ปลูก นำพาความร่ำรวย มั่งคั่ง สมดั่งชื่อทองอุไรที่ออกดอกในทุกฤดู 

 

ต้นทองอุไรเป็นพืชล้มลุกที่ปลูกง่าย โตง่าย แผ่กิ่งก้านสาขากว้างไกล สามารถขึ้นเองได้ตามธรรมชาติ ทนแดด ทนฝน ไม่ค่อยมีแมลงรบกวน และไม่ต้องรดน้ำบ่อย ชอบแดดจัด ยิ่งเป็นอากาศร้อนแบบเมืองไทยก็ยิ่งเจริญเติบโตได้ดีและมีดอกดก แต่ก็ร่วงง่ายเช่นกัน โดยดอกจะออกตลอดทั้งปี และในช่วงฤดูหนาวดอกจะบานเป็นประปราย

นอกจากทองอุไรดอกสีเหลืองสดใสแล้ว ยังมีสายพันธุ์อื่นที่ออกดอกสีสันแปลกตา เช่น ทองอุไรสีชมพู, ทองอุไรสีส้ม, ทองอุไรสีแดง และทองอุไรสีม่วง ถนนสายทองอุไร ที่ขึ้นชื่อในประเทศไทย ได้แก่

  • ถนนสายบ้านหนองจอก - หนองขี้ตุ่น อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา : ถนนเส้นนี้ถือว่าเป็น Unseen การท่องเที่ยวเขาใหญ่ สามารถแวะถ่ายรูป เช็คอินได้ตลอดเส้นทาง 9 กม.
  • ถนนสายทองอุไร 1,700 ต้น จ.ตรัง : ถือว่าเป็นถนนสายดอกไม้ที่สวยที่สุดในจังหวัดตรัง ทอดยาวทั้งสองฝั่งถนนสายเขาไพร-ศาลาบ้านหลวงด้วง เชื่อมต่อระหว่างหมู่ที่ 2 ถึงหมู่ที่ 3 ต.เขาไพร อ.รัษฎา จ.ตรัง ตลอดระยะทางไปกลับ 7 กม.

ชมพูพันธุ์ทิพย์ เบ่งบานความรัก ชุ่มฉ่ำหัวใจ

มีสีชมพูสด สีชมพูอ่อนไปจนถึงขาว กลางดอกสีเหลือง ลักษณะคล้ายปากแตร โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นกรวย ปลายแยกเป็น 5 แฉก บานเป็นกระจุกรวมช่อที่ปลายกิ่ง

ความหมายมงคล : ความงามเป็นของเทวดา ความรัก ความมีชีวิตชีวา

ฤดูกาลออกดอก : ปลายเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน

 

ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นมีเทศกาลชมซากุระ เมืองไทยเองก็ไม่น้อยหน้า เพราะเป็นช่วงเวลาของ “ดอกชมพูพันธุ์ทิพย์” ที่กำลังเบ่งบานส่งท้ายลมหนาวเพื่อต้อนรับฤดูร้อนที่มาถึง ด้วยดอกสีชมพูแสนหวาน ฟูฟ่องไปทั้งต้น เมื่อดอกร่วงโรยลงพื้นหญ้าหรือคูคลองนานวันเข้าก็จะคล้ายกับพรมสีชมพู ช่วยสร้างบรรยากาศสุดโรแมนติกในทุกพื้นที่

 

ชมพูพันธุ์ทิพย์ บางครั้งเรียกว่า ตาเบบูย่าสีชมพู หรือ ชมพูอินเดีย มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ และเป็นต้นไม้ประจำชาติของประเทศเอลซัลวาดอร์ ชาวต่างชาติมักเรียกดอกไม้ชนิดนี้ว่า “ทรัมเป็ตชมพู” (Pink Trumpet Tree) ตามลักษณะของดอก

 

ชื่อภาษาไทยนั้นได้มาจาก หม่อมราชวงศ์ พันธุ์ทิพย์ บริพัตร หม่อมในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต เป็นผู้นำเข้ามาจากอินโดนีเซียและปลูกในไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2500

 

ดอกชมพูพันธุ์ทิพย์เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ เหมาะปลูกบริเวณชานบ้าน ริมถนน หรือสวนสาธารณะ เพื่อให้ร่มเงาและความสวยงาม ส่วนดอกจะมีสีชมพูอ่อน ชมพูสดไปจนถึงสีขาว ตรงกลางเป็นสีเหลือง ดอกบานเป็นกระจุกรวมช่อที่ปลายกิ่ง โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นกรวย ปลายแยกเป็น 5 แฉก มองดูคล้ายปากแตร จึงมีชื่อเรียกว่า Pink Trumpet 

🌺ความหมายมงคลเกี่ยวกับ “ชมพูพันธุ์ทิพย์”🌺

ดอกไม้สายพันธุ์ Tabebuia มีหลากหลายสี เช่น สีขาว, สีเหลือง, สีชมพู หรือแดง แต่ละสีก็สื่อความหมายที่แตกต่างกันไป เช่น ตาเบบูย่าสีขาวมักสื่อถึงความบริสุทธิ์และความไร้เดียงสา ในขณะที่ตาเบบูย่าสีชมพูมักเกี่ยวข้องกับความรัก ความโรแมนติกและความเสน่หา

 

ในมุมมองของชาวตะวันตก ดอกไม้ชนิดนี้เป็น สัญลักษณ์แห่งความมีชีวิตชีวา คอยเติมสีสันให้กับชีวิตอันเร่งรีบของคนเมือง สำหรับมุมมองของคนไทยถ้าพิจารณาตามชื่อ คำว่า พันธุ์ทิพย์ แปลว่า ความงามเป็นของเทวดา ก็นับว่ามีความหมายที่เป็นมงคลอยู่มาก

ในระหว่างเดือนธันวาคมและต้นมกราคม ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์จะสลัดใบจนโกร๋นทั้งต้น ก่อนจะผลิดอกเป็นสีชมพู บานพร้อมกันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปีไหนที่สภาพอากาศเป็นใจ ดอกอาจบานจนถึงเดือนเมษายน ใครที่ได้เที่ยวชมก็สดชื่นเบิกบานไปตามกัน สำหรับ “ถนนสายชมพูพันธุ์ทิพย์” ที่น่าตื่นตาตื่นใจ ได้แก่

  • ถนนชมพูพันธุ์ทิพย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม บริเวณริมถนนวัฒนาเสถียรสวัสดิ์ (ถนนโรงเรียนสาธิต) มีต้นชมพูพันธ์ุทิพย์ จำนวนกว่า 600 ต้นอยู่สองข้างทาง ความยาว 3.5 กม.
  • ชมพูพันธุ์ทิพย์ สวนจตุจักร กรุงเทพฯ : ริมถนนพหลโยธินใกล้ทางเชื่อม BTS หมอชิตและสวนรถไฟ

เหลืองปรีดียาธร ยิ่งดอกดก ยิ่งเพิ่มพูนเงินทอง

ดอกเป็นสีเหลืองทอง ลักษณะคล้ายปากแตร โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นกรวย ปลายแยกเป็น 5 แฉก บานเป็นกระจุกรวมช่อที่ปลายกิ่ง

ความหมายมงคล : เงินทองไหลมาเทมาและมอบความรุ่งเรือง

ฤดูกาลออกดอก : กลางเดือนกุมภาพันธ์-ต้นเดือนเมษายน

 

เหลืองปรีดียาธร เป็นพันธุ์ไม้สกุลเดียวกันกับชมพูพันธ์ทิพย์ เป็นไม้ประดับที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้น มีดอกเป็นช่อกระจุกสีเหลืองอร่าม แม้จะมีถิ่นกำเนิดในเมืองนอกอย่างทวีปอเมริกาใต้ แถบประเทศซูรินาม, เปรู, ปารากวัย และบราซิล แต่สามารถเติบโตและออกดอกชูช่ออย่างงดงามในเมืองไทย

 

เหลืองปรีดียาธร เป็น 1 ใน 5 สายพันธุ์ “ตาเบบูย่า” (Tabebuia) ที่นำเข้ามาจากประเทศเม็กซิโก โดย คุณวิชัย อภัยสุวรรณ เจ้าของหนังสือ “ดอกไม้เเละประวัติไม้ดอกเมืองไทย” เป็นผู้นำเข้าและขึ้นทะเบียนพันธุ์ไม้เป็นภาษาไทย แต่ละต้นจะถูกตั้งชื่อใหม่ อิงตามชื่อของหม่อมราชวงศ์ท่านต่าง ๆ เช่น

  • สีชมพู - ชมพูพันธุ์ทิพย์ ตั้งตามชื่อ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร
  • สีเหลืองอีก 3 พันธุ์ ได้แก่ เหลืองคึกฤทธิ์, เหลืองถนัดสี, เหลืองถวัลภากร ตั้งตามชื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์, ม.ร.ว.ถวัลภากร วรวรรณ 

ส่วน เหลืองปรีดียาธร สายพันธุ์นี้มีลำต้นสูง “ดอกดก” เหมือน “ดอกเบี้ย” คุณวิชัยจึงตั้งตามชื่อ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ในขณะนั้นท่านทำงานอยู่ที่ธนาคารกสิกรไทย ชื่อนี้จึงสอดคล้องกัน

🌺ความหมายมงคลของ "เหลืองปรีดียาธร"🌺

เนื่องจากเป็นต้นไม้มงคลที่มีดอกสีเหลืองสดและดอกดกเต็มต้น คนไทยจึงเชื่อว่าเมื่อปลูกแล้วจะช่วยให้เงินทองไหลมาเทมาและมอบความรุ่งเรืองแก่ทุกคนในบ้าน อีกทั้งยังมีชื่อที่เป็นมงคล มาจากคำศัพท์ 2 คำ คือ ปรีดี แปลว่า ความยินดี ปลื้มใจ อิ่มใจ ส่วน อาธร หมายถึงเพศชาย ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า อาทร แปลว่า ความเอื้อเฟื้อ ต้นไม้สายพันธุ์นี้จึงถือได้ว่านำความสิริมงคลมาสู่ผู้ปลูก 

เหลืองปรีดียาธร ช่วยสร้างสีสันให้กับฤดูร้อนในเมืองไทยได้อย่างดีทีเดียว ช่วงที่ดอกเหลืองปรีดียาธรเริ่มบานประมาณกลางเดือนมีนาคมของทุกปี ถนนสายเหลืองปรีดียาธร ที่คนไทยไม่ควรพลาด ได้แก่

  • ถนนสายดอกเหลืองปรีดียาธร จ.สุพรรณบุรี : ทางหลวงหมายเลข 3502 ดอนไร่-อ่างเก็บน้ำกระเสียว หรือทางไปอุทยานแห่งชาติพุเตย จ.สุพรรณบุรี ระยะทางกว่า 11 กิโลเมตร 
  • ถนนบายพาสดอกเหลืองปรีดียาธร จ.สุโขทัย : กลางถนนบายพาส สายตาก-สุโขทัย ตั้งแต่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ใกล้แยกบ้านวังวน ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัย ไปจนถึงแยกโค้งตานก รวมระยะทาง 34 กิโลเมตร

หางนกยูงฝรั่ง สีสันร้อนแรง แต่ให้ความร่มเย็น

ประกอบด้วย 2 สี คือแดงและเหลือง เมื่อผสมรวมกันจึงมองเห็นเป็น “สีแสด” มีกลีบดอก 5 กลีบ เกสรตัวผู้ยาวงอนออกมาเหนือกลีบดอก คล้ายกับหางนกยูง

ความหมายมงคล : นำพาความสุข ความร่มเย็น และความเงียบสงบ

ฤดูกาลออกดอก : ช่วงเมษายน-พฤษภาคม

 

เสน่ห์ของ “ดอกหางนกยูงฝรั่ง” คือสีสันจัดจ้านดุจเปลวเพลิง ชูช่อท้าลมแดดอยู่สองข้างถนนเมืองไทย ฝรั่งจึงเรียกว่า The Flame Tree ต่างจากคนไทยที่เรียกว่า หางนกยูงฝรั่ง ตามลักษณะที่อ่อนช้อยของดอกนั่นเอง

 

หางนกยูงฝรั่งเป็นต้นไม้มงคลที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานให้เป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากดอกมีสีเหลืองแดง (สีประจำมหาวิทยาลัย) นิสิตลูกแม่โดมเรียกว่า "ยูงทอง"

 

พันธุ์ไม้ดอกสีแสดชนิดนี้นิยมปลูกในเขตร้อนทั่วโลก เช่น อินเดีย, พม่า, มาเลเซีย และสำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีต้นหางนกยูงอยู่ 2 ชนิด นอกจากหางนกยูงฝรั่งที่เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่แล้ว ยังมี “หางนกยูงไทย” ลักษณะเป็นไม้พุ่ม มีดอกสีแดงสดใส น่าดึงดูดใจไม่แพ้กัน 

 

หางนกยูงฝรั่งออกดอกดกและทิ้งใบทั้งต้น เหลือแต่ดอกบานสะพรั่งดูงดงามเป็นช่อตามปลายกิ่งและตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง มีกลีบดอก 5 กลีบ เกสรตัวผู้ยาวงอนออกมาเหนือกลีบดอก คล้ายกับหางนกยูง ในหนึ่งดอกประกอบไปด้วย 2 สี คือแดงและเหลือง เมื่อผสมรวมกันจึงมองเห็นเป็น “สีแสด” ตามที่พบเห็นได้ทั่วไป หายากมากที่จะเห็นเป็นดอกสีแดงแท้ ๆ

🌺ความหมายมงคลของ "หางนกยูงฝรั่ง"🌺

ในภาคเหนือต้นหางนกยูงมักถูกใช้ประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ โดยเชื่อว่าจะมอบความสุขความเจริญและนำพาข่าวดีมาให้ ร่มเงาที่กว้างใหญ่จากกิ่งก้านของหางนกยูงฝรั่ง เชื่อว่าช่วยให้คนในบ้านมีความสงบสุขและร่มเย็น ในทางกลับกันหากต้นหางนกยูงไม่ได้รับการตัดแต่งกิ่งให้ดี และปล่อยให้รกรุงรัง เชื่อว่าคนในบ้านจะมีแต่ความวุ่นวาย มีแต่ปัญหา

 

สอดคล้องกับความเชื่อของ ชาวเปอร์โตริโก ในดินแดนแถบทะเลแคริบเบียน ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้นของหางนกยูงฝรั่ง มีลำต้นสูงใหญ่และแข็งแรง เป็นร่มเงาที่ดีช่วยให้ผู้คนเพลิดเพลินกับการพักผ่อนในฤดูร้อน ต้นไม้ชนิดนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของการพักผ่อนและความเงียบสงบ ส่วนสีสันของดอกไม้ สื่อถึงความภาคภูมิใจ และความหวัง

 

นอกจากนี้ หางนกยูงยังเป็นไม้มงคลประจำคนเกิดวันอาทิตย์ หากปลูกในทิศตะวันออกหรือตะวันออกเฉียงเหนือของตัวบ้าน จะช่วยส่งเสริมอำนาจบารมี

ในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ช่วงอากาศร้อนและแห้งแล้ง ปีใดอากาศร้อนและแห้งแล้งมากจะยิ่งออก ดอกดกและทิ้งใบทั้งต้น เหลือแต่ดอกบานสะพรั่งดูงดงามเป็นพิเศษ “ถนนดอกหางนกยูง” ที่เหมาะแก่การถ่ายรูปเช็คอิน ได้แก่

  • ถนนสายดอกหางนกยูง จ.ชลบุรี : ถนนหมายเลข 3127 จากอำเภอพานทอง จ.ชลบุรี เชื่อมต่อกับ จ.ฉะเชิงเทรา
  • อุโมงค์ดอกหางนกยูง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา : บริเวณเส้นทางซึ่งไม่มีชื่อถนน ดอกจะบานพร้อมกันและสวยที่สุดในช่วงเดือนพฤษภาคม 📍พิกัด (คลิก)

ดอกไม้หน้าร้อนเข้ากับอากาศบ้านเราได้ดี หากใครสงสัยว่า ทำไมฤดูร้อนเมืองไทยยาวนานกว่าฤดูอื่น สามารถหาคำตอบได้ในรายการ Lab Zaa ท้าทดลอง คลิก



 

ขอบคุณข้อมูล : Unseen Tour Thailand, สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ , 77kaoded.com, FM91 Trafficpro

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#ดอกไม้หน้าร้อน, 
#ถนนสวยๆถ่ายรูป, 
#ที่เที่ยวเทศกาลสงสกรานต์, 
#ถนนสายดอกไม้, 
#ต้นราชพฤกษ์, 
#ทองอุไร, 
#ชมพูพันธุ์ทิพย์, 
#เหลืองปรีดียาธร, 
#หางนกยูงฝรั่ง, 
#ดอกคูน 
ผู้เขียนบทความ
avatar
H. ARIGATO
หงส์ฟ้า
ทาสแมวผู้ Enjoy กับชีวิตเรียบง่าย มีความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ
ALTV CI
Interest Thing
Interest Thing
ALTV All Around
ผู้เขียนบทความ
avatar
H. ARIGATO
หงส์ฟ้า
ทาสแมวผู้ Enjoy กับชีวิตเรียบง่าย มีความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#ดอกไม้หน้าร้อน, 
#ถนนสวยๆถ่ายรูป, 
#ที่เที่ยวเทศกาลสงสกรานต์, 
#ถนนสายดอกไม้, 
#ต้นราชพฤกษ์, 
#ทองอุไร, 
#ชมพูพันธุ์ทิพย์, 
#เหลืองปรีดียาธร, 
#หางนกยูงฝรั่ง, 
#ดอกคูน 
แชร์
ชอบ
ติดตามเรา