“ธงโอลิมปิก” มีผืนธงเป็นสีขาว ขนาดมาตรฐานยาว 3 เมตร กว้าง 2 เมตร ส่วนเครื่องหมายห้าห่วงคล้องกันอยู่บนกลางธง ขนาด 2 เมตร คูณ 0.60 เมตร มีสีฟ้า สีเหลือง สีดำ สีเขียว สีแดง ตามลำดับจากซ้ายไปขวา คล้องไขว้กันอยู่ตรงกลางสองแถว แถวบน 3 ห่วง แถวล่าง 2 ห่วง ห่วงสีที่คล้องกันอยู่ตรงกลางธงบนพื้นธงสีขาว รวมเป็น 6 สี
โดยแท้จริงแล้ว 5 ห่วงหมายถึง ห้าส่วนของโลกที่อยู่ในโอบอ้อมของ “โอลิมปิกนิยม” ไม่เจาะจงเป็นห้าทวีปในโลกอย่างที่เข้าใจกัน แต่บังเอิญห้าทวีปนี้ก็เป็นห้าส่วนของโลกก็เลยอนุโลมกันไปเช่นนั้น ส่วนสีที่ห่วง 5 สี ก็ไม่ได้หมายถึงสีประจำทวีป ซึ่งสีทั้งหมด 6 สี รวมทั้งสีขาวที่เป็นพื้นธงด้วยหมายความว่า ธงชาติของประเทศต่าง ๆ ในโลกประกอบด้วยสีใดสีหนึ่งหรือมากกว่านั้นในจำนวน 6 สีนั้น และไม่มีธงชาติของประเทศใดที่มีสีนอกเหนือไปจากหกสี นี่จึงเป็นเหตุผลของธงโอลิมปิกที่โบกสะบัดในมหกรรมกีฬาครั้งนี้ นั่นเอง
เหรียญรางวัลในโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ดำเนินการภายใต้แนวคิดใส่ใจสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก กรุงโตเกียว เมืองเจ้าภาพ ได้ประกาศขอรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ประชาชนไม่ใช้กันแล้ว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 เช่น โทรศัพท์มือถือเครื่องเก่า เป็นต้น
ก่อนจะรวบรวมทั้งหมดมาหลอมรวมเป็นเหรียญรางวัลกว่า 5,000 ชิ้น กลายเป็นเหรียญโอลิมปิกในแบบรีไซเคิล ในส่วนของการออกแบบเหรียญโตเกียวเกมส์ จะมีลักษณะคล้ายหินแร่ที่ถูกขัดจนมองได้เป็นอัญมณีที่เปล่งปลั่ง ซึ่งสื่อถึงพลังของเหล่านักกีฬาและกองเชียร์ ต้นแบบคัดเลือกมาจากผลงานของนักออกแบบมืออาชีพและนักศึกษาด้านการออกแบบกว่า 400 แบบ
ถือว่า เป็นอีกครั้งที่เหรียญโอลิมปิกมีกระบวนการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน โดยอาศัยเรื่องราวของวิถีชีวิตชาวญี่ปุ่น ที่แม้จะก้าวหน้าทันสมัยด้วยเทคโนโลยีล้ำหน้า แต่สุดท้ายก็ยังไม่ลืมความเป็นไปของโลกที่ยังคงใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ และคบเพลิงที่ใช้จุดเปลวเพลิงของโอลิมปิก ก็ผลิตจากอะลูมิเนียมรีไซเคิลเกรดเดียวกับที่ใช้ในรถไฟชินคันเซน ด้วยเช่นกัน
ตามกำหนดเดิมแล้ว การเลื่อนการแข่งขันโอลิมปิก 2020 จะถูกจัดขึ้นในช่วงเดือน ก.ค. ของปี 2020 ที่กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น แต่เนื่องจากไม่สามารถจัดขึ้นได้ เพราะการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ทำให้ทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) จำเป็นต้องเลื่อนการแข่งขันออกไปเป็นช่วงเดือน ก.ค. ปี 2021 ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของนักกีฬาจากหลากหลายประเทศที่เข้าร่วม
ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่ถูกเลื่อนด้วยสาเหตุจากโรคระบาด และเป็นครั้งที่ 4 ที่เกิดเหตุการณ์เลื่อนการแข่งขัน โดย 3 ครั้งก่อนหน้าเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1916 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน จากสาเหตุสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่วนครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1940 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน ด้วยสาเหตุสงครามโลกครั้งที่ 2 และการเลื่อนในครั้งที่ 3 เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1944 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งยังไม่สามารถทำการแข่งขันได้ เนื่องจากยังคงอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นเอง
“พิธีปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก” ก่อนจะมีพิธีนี้จะเป็นการแข่งขันกีฬาประเภทสุดท้ายก่อน ซึ่งจะแข่งขันในสนามกีฬาหลัก โดยมากมักจะเป็นการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศของกีฬาฟุตบอล
เมื่อการแข่งขันกีฬาประเภทสุดท้ายเสร็จสิ้น ขบวนนักกีฬาจากประเทศต่างๆ จะเดินเข้าสนามเพื่อเข้าร่วมพิธีปิด โดยประธานในพิธีกล่าวปิดการแข่งขันกีฬา แล้วไฟในกระถางคบเพลิงก็จะเริ่มดับลง บนป้ายบอกคะแนนจะมีตัวอักษรขึ้นว่า "จนกว่าเราจะพบกันใหม่ ณ เมือง..." (สถานที่ที่จะมีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งต่อไปอีก 4 ปีข้างหน้า) ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของกีฬาโอลิมปิก และไม่เหมือนใคร
และในโตเกียวโอลิมปิก 2020 ครั้งนี้จะมีการแข่งขันกีฬาด้วยกันทั้งสิ้น 33 ชนิด ประเทศไทยได้ส่งนักกีฬาทีมชาติลงแข่งขันอยู่ 42 คน ในกีฬา 14 ชนิดด้วยกัน มาเอาใจช่วยเชียร์นักกีฬาไทยในการแข่งขันกีฬาสากล พร้อมชมสดตลอดการแข่งขัน กับพิธีเปิด-ปิดสุดอลังการกับไทยพีบีเอส ถ่ายทอดสดจากประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. - 8 ส.ค. 64 เป็นต้นไป โดยสามารถรับชมการถ่ายทอดสด "โอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020" ได้ทาง Thai PBS ช่องหมายเลข 3 หรือรับชมผ่านทางออนไลน์ ได้ที่ www.thaipbs.or.th/Live มาร่วมส่งกำลังใจเชียร์นักกีฬาไทยในมหกรรมกีฬาโลกครั้งนี้ ไปด้วยกันได้เลย !!
ข้อมูลจาก : Thai PBS , Olympics.com , BBC NEWS , Olympicsworlds.com