พระราชโอรส พระองค์ที่ 14 ในรัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ
โดยพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมาย เนื่องจากช่วงเวลานั้น เมืองไทยมีศาลกงสุลฝรั่ง ชาวยุโรปและอเมริกันมีอำนาจในประเทศไทยอย่างมาก ซึ่งยากแก่การปกครอง จึงมีพระทัยตั้งมั่นที่จะพยายามขอยกเลิกอำนาจศาลกงสุลต่าง ๆ ที่มาตั้งพิจารณาพิพากษาคดีชนชาติของตนเสีย เพื่อที่ประเทศไทยของเราจะได้มีเอกราชทางการศาล
บทบาทในการปรับปรุงกฎหมาย
เบื้องต้นประเทศไทยมีการนำกฎหมายอังกฤษมาใช้ โดยใช้กฎหมายวิธีสบัญญัติก่อน ทีแรกมีข้อถกเถียงกันว่าจะใช้ระบบกฎหมายแบบอังกฤษ หรือจะใช้ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ แบบประเทศยุโรปแล้ว
รัชกาลที่ 5 ก็ทรงตัดสินพระราชหฤทัยปฏิรูประบบกฎหมายไทยให้เป็นไปตามแบบประเทศภาคพื้นยุโรป คือ ใช้ระบบ "ประมวลธรรม" แต่อย่างไรก็ดี ก็ยังนำแนวคิดหลักกฎหมายอังกฤษบางเรื่องมาใช้ด้วย
ประมวลกฎหมายของไทยฉบับแรก คือ ประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ใช้เวลาร่างทั้งสิ้น 11 ปี โดยสำเร็จลงในปี 2451 พระองค์เจ้ารพีฯ ทรงช่วยแปลต้นร่างที่เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษมาเป็นภาษาไทย ส่วนประมวลกฎหมายฉบับต่อ ๆ มา ไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง วิธีพิจารณาความอาญา และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพต่าง ๆ พระองค์ก็ทรงมีบทบาทสำคัญในการยกร่างด้วย
ในปีเดียวกันนี้ พระองค์เจ้ารพีฯ มีพระดำริว่า "การที่จะยังราชการศาลยุติธรรมให้เป็นไปด้วยดีนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีผู้รู้กฎหมายมากขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยการเปิดให้มีการสอนกฎหมายขึ้นเป็นที่แพร่หลาย" จึงทรงสถาปนาโรงเรียนสอนกฎหมายขึ้น สังกัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้โอกาสแก่ประชาชนทั้งหลายมีโอกาสรับการศึกษากฎหมาย
ปลายปี 2440 พระองค์ทรงเปิดให้มีการสอบไล่เนติบัณฑิต โดยใช้ศาลาการเปรียญใหญ่ วัดมหาธาตุ เป็นสถานที่สอบ ผู้สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตรุ่นแรกมีทั้งสิ้น 9 คน ผู้สอบได้ลำดับที่ 1 ในครั้งนั้น คือ เจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นเนติบัณฑิตไทยคนแรก
ปี 2441 พระองค์เจ้ารพีฯ ทรงเป็นกรรมการตรวจตัดสินความฎีกาในคณะกรรมการ มีชื่อว่า "ศาลกรรมการฎีกา" ทำหน้าที่เป็นศาลสูงสุดของประเทศ แต่ไม่สังกัดกระทรวงยุติธรรม และต่อมาได้กลายมาเป็นศาลฎีกาในปัจจุบัน
ปี 2443 ทรงดำริจัดตั้งกองพิมพ์ลายมือขึ้น ทรงสอนวิธีตรวจเส้นลายมือ และวิธีเก็บพิมพ์ลายมือ สำหรับตรวจพิมพ์ผู้ต้องหาในคดีอาญา เพื่อใช้เป็นหลักฐานเพิ่มโทษผู้กระทำความผิดหลายครั้ง
เนติบัณฑิตยสภาถวายการยกย่องพระองค์เจ้ารพีฯ เป็น "พระบิดาแห่งกฎหมายไทย" เมื่อปี 2497 และเริ่มต้นเรียก วันที่ 7 ส.ค. ของทุกปี เป็น "วันรพี" เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ พร้อมทั้งมีการจัดงานบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายเป็นประจำทุกปี
ที่มา : สถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์