เมื่อพูดถึง ‘การติดถ้ำ’ อาจทำให้นึกถึงเหตุการณ์การติดถ้ำที่โลกต้องจดจำ อย่างปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน
ในปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกาที่ได้อนุญาตให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็ม ไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัยเมื่อทำกิจกรรมนอกบ้าน และล่าสุดได้ให้ร้านอาหารจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้แล้ว
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผู้คนออกมาใช้ชีวิตในโลกภายนอกมากขึ้น แต่ทว่ามีชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยเลย ที่ยังคงหวาดกลัวการใช้ชีวิตนอกบ้าน และเลือกที่จะล็อกดาวน์ตัวเองต่อไป ถึงแม้ว่าจะฉีดวัคซีนครบสองเข็มแล้วก็ตาม ซึ่งนักจิตวิทยาได้นิยามปรากฏการณ์นี้ไว้ว่า อาการติดถ้ำ (Cave Syndrome) ซึ่งในประเทศไทยเองสถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้นถึงแม้ว่าจะเล็กน้อย แต่ก็เป็นไปได้ว่า ในอนาคตเราอาจต้องเผชิญกับอาการติดถ้ำเช่นเดียวกัน
อาการติดถ้ำ (Cave syndrome) ไม่ได้ถูกระบุว่าเป็นความป่วยไข้ แต่เป็นศัพท์ใหม่ในแวดวงจิตวิทยา ที่ใช้นิยาม ภาวะการปฏิเสธการเข้าสังคมและเลือกที่จะเก็บตัวอยู่แต่ในเคหสถาน ภายหลังการสิ้นสุดการแพร่ระบาด รวมไปถึงความรู้สึกหวาดกลัวในการกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน
ดูเผิน ๆ สิ่งนี้ดูเหมือนเป็นเพียงปฏิกิริยาทางร่างกายของคนเราที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์อันตราย ที่ไม่ว่าใครต่างก็เป็นกันในช่วงการแพร่ระบาด เพียงแต่ ‘อาการติดถ้ำ’ จะเป็นความวิตกกังวล ในระดับมากเกินกว่าปกติ คล้ายคลึงกันกับ ฮิคิโคโมริ (กลุ่มอาการปิดกั้นตัวเอง) ของประเทศญี่ปุ่น ที่มีลักษณะพฤติกรรมปฏิเสธการเข้าสังคม และเก็บตัวเป็นระยะเวลา 6 เดือนหรือมากกว่า แต่มีความแตกต่างกันตรงที่ อาการติดถ้ำ จะถูกกระตุ้นโดยการแพร่ระบาด ซึ่งกลุ่มอาการติดถ้ำ พบเห็นได้มากขึ้นในประชากรแถบทวีปอเมริกา
อันเดรีย คิง คอลลีเออร์ (Andrea King Collier) นักเขียนรางวัลชาวอเมริกัน หนึ่งในผู้ที่เผชิญอยู่กับอาการติดถ้ำ ได้ให้สัมภาษณ์กับ Scientific American ว่า ตนเคยผ่านการติดเชื้อโควิดจนปัจจุบันหายเป็นปกติ และยังได้รับวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 เข็มแล้ว แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดในสหรัฐฯ ทุเลาลง ขนาดที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ ได้ประกาศให้กลุ่มคนที่ได้รับวัคซีนครบ ออกไปใช้ชีวิตข้างนอกได้ โดยไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยแล้ว เธอกลับวิตกกังวลเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในโลกภายนอกมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเวลาที่พบเห็นผู้คนรอบตัว พูดคุยกันโดยปราศจากการสวมใส่หน้ากากอนามัย สวนทางกับใครหลายคนที่ไว้วางใจ และเริ่มออกไปใช้ชีวิตข้างนอกตามปกติ
สาเหตุของอาการติดถ้ำ เกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ความกลัว การรับรู้ความเสี่ยง และความเคยชินกับการอยู่ติดบ้านเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับเราทุกคน
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายแก่เราในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ หรือ วิถีชีวิต นอกจากนี้ยังสร้างความกลัวและความวิตกกังวลให้กับใครหลายคนอย่างมาก ถึงแม้ว่าควากลัวจะเป็นเพียงกลไกลทางธรรมชาติของสมองที่ช่วยให้เราระมัดระวังตัวมากขึ้น แต่ในทางกลับกันความกลัว ก็ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจเราโดยตรง และทรงพลังมากกว่าที่เราคิด
เราอาจประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจได้เป็นตัวเลข แต่ในส่วนผลกระทบจากความกลัวนั้น ยังถือว่าเป็นเรื่องยาก ที่จะประเมินหรือทำความเข้าใจว่ารุนแรงเพียงใด สังเกตได้จากมีคนจำนวนไม่น้อยเลย ที่เลือกตัดขาดจากสังคมเพราะความหวาดกลัวต่อเชื้อไวรัส ทั้งที่ผลของการอยู่ติดบ้านเป็นเวลานาน ก็ส่งผลร้ายไม่แพ้กัน ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด
ศาสตราจารย์ Jacqueline Gollan ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา กล่าวถึงอาการติดถ้ำ ไว้ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเราอย่างคาดไม่ถึง ในทุกวันเราต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิต หรือร้ายแรงที่สุดอย่างการสูญเสียคนใกล้ชิด ยิ่งไปกว่านั้น เราอยู่กับสิ่งเหล่านี้มาเป็นเวลานานนับปี ซึ่งไม่ใช่วิถีชีวิตของมนุษย์เราแม้แต่นิด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครสักคน จะไม่สามารถละทิ้งความกลัวไปได้ง่าย ๆ และเป็นเหตุผลว่าทำไมบางคนยังต้องการกักตัวอยู่แต่ในบ้าน ที่เปรียบเสมือนพื้นที่ปลอดภัย (Comfort Zone) แม้ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงมากแล้วก็ตาม
การรับรู้ความเสี่ยง คือ การตัดสินลักษณะและความรุนแรงที่คาดว่าจะเกิด อิงจากมุมมองหรือความคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น อารมณ์ ความรู้ความเข้าใจในบริบท และปัจจัยส่วนบุคคล การรับรู้ความเสี่ยงของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน และไม่สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่แท้จริง
Alan Tao (อลัน เทา) ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้กล่าวไว้ว่า หนึ่งในหลายสาเหตุที่ทำให้ใครหลายคนติดถ้ำ เป็นผลมาจากความไม่สัมพันธ์กันระหว่าง ‘ความเสี่ยงที่ผู้คนตัดสินว่าเสี่ยง’ กับ ‘ความเสี่ยงที่แท้จริง’
ในช่วงโควิดผู้คนจะตัดสินความเสี่ยงว่า มีมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ความสูญเสีย ความกลัว ความใกล้ หรือความคุ้นเคย ซึ่งส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่แตกต่างกันไปด้วย
ในบางคนที่เสพข่าวสารการแพร่ระบาดในปริมาณมาก หรือสูญเสียคนใกล้ตัวจากโควิด-19 อาจรับรู้ได้ถึงความเสี่ยงมากกว่า ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการป้องกันตัวเองที่มากกว่า ผู้ที่เข้าไม่ถึงแหล่งข้อมูลการแพร่ระบาด
หลายคนอาจเคยได้ยินประโยคที่ว่า หากเราต้องการสร้างนิสัยใหม่ ต้องเริ่มจากการทำอะไรซ้ำ ๆ เป็นเวลา 21 วัน เพื่อให้พฤติกรรมนั้นฝังรากลึกจนกลายเป็นนิสัย ประโยคข้างต้นมาจากทฤษฎี กฏ 21 วัน โดย แมคเวล มอลท์ (Dr.Maxwell Maltz) นายแพทย์ชื่อดังของชาวสหรัฐผู้เขียนหนังสือ “Psycho Cybernetics”
หากลองเปรียบเทียบกับสถานการณ์โควิดจะพบว่า ในช่วงแรกเราต่างรู้สึกไม่คุ้นชินกับการออกจากบ้านพร้อมกับหน้ากากอนามัย แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับกลายเป็นสิ่งที่เราคุ้นชิน จนในบางครั้งเราเผลอหยิบหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้าน โดยที่ยังไม่ทันได้รู้ตัวด้วยซ้ำ ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่การกักตัวเป็นระยะเวลานาน จะทำให้บางคนรู้สึกคุ้นชินกับชีวิตติดบ้าน จนไม่ต้องการที่จะออกไปไหน ประกอบกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย ช่วยให้เราสามารถทำอะไรหลาย ๆ อย่างได้ที่บ้าน แต่ในทางกลับกันก็ยิ่งส่งเสริมให้เราตัดขาดจากโลกภายนอกได้ง่ายขึ้น
ศาสตราจารย์ อลัน เทา ยังได้กล่าวไว้อีกว่า เพราะเราทุกคนล้วนถูกฝึกฝนให้สวมหน้ากากอนามัยเวลาออกจากบ้าน แม้กระทั่งเว้นระยะห่างจากผู้คน หรือแยกตัวออกจากสังคม อยู่เป็นประจำ สำหรับบางคนการจะเลิกพฤติกรรมเหล่านี้ในทันทีจึงกลายเป็นเรื่องยาก
หากรู้ว่าตัวเองมีอาการเข้าข่ายติดถ้ำ ก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนกไป เพราะเราได้รวบรวมวิธีการลดความวิตกกังวล เมื่อต้องออกนอกบ้านไว้แล้ว
ทุกความสำเร็จเริ่มจากก้าวเล็ก ๆ เสมอ ในช่วงแรกของการก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซน เป็นเรื่องยาก สำหรับเราทุกคน แน่นอนว่าไม่สำเร็จภายในวันเดียว เพียงแค่เริ่มปรับเปลี่ยนไปทีละน้อย โดยเริ่มจากกิจกรรมง่าย ๆ อย่างการออกไปเดินสูดอากาศนอกบ้าน แทนการนอนอยู่บนเตียง ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี
การเริ่มต้นออกไปพบเจอกับผู้คนมากหน้าหลายตา โดยเฉพาะสถานที่แออัดอย่าง ห้างสรรพสินค้า อาจเพิ่มความวิตกกังวลให้คุณได้ อาจลองเริ่มทำความคุ้นชินโลกภายนอก โดยเริ่มจากสถานที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก เช่น สวนสาธารณะ จะช่วยลดความวิตกกังวลลงได้บ้าง
แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือจะช่วยให้คุณระมัดระวังตัวได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ต่อการประเมินความเสี่ยงก่อนออกจากบ้านอีกด้วย
หากความกลัวและความวิตกกังวลรุนแรงในระดับที่ตัวคุณไม่สามารถเอาชนะได้ จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน อย่าได้กลัวที่จะขอความช่วยเหลือ อาจเริ่มจากการพบจิตแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำ ซึ่งสามารถขอเข้าพบได้ที่โรงพยาบาลรัฐ และเอกชนที่มีแผนกจิตเวช
หรือติดต่อสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชม. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ในปัจจุบันการแพร่ระบาดในประเทศไทยคลายความตึงเครียดลงบ้าง พอที่จะให้เราสามารถออกไปใช้ชีวิตข้างนอกได้ แต่ถ้าหากใครรู้สึกว่ายังคงหวาดกลัวและมีความวิตกกังวลอย่างรุนแรง เข้าข่ายอาการติดถ้ำ ถึงขั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ก็อย่าได้นิ่งนอนใจ ควรขอเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อชีวิตที่ราบรื่นไร้กังวล
ที่มา: NBCNews The New York Times Scientific American Psychology Today