เคยสังเกตหรือไม่…ว่าเวลาที่เรากำลังฟังคนอื่น เราตั้งใจฟังจริง ๆ หรือแค่ฟังให้จบเท่านั้น? การเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่ใช่แค่เงียบฟังเฉย ๆ แต่เราต้องเข้าใจเรื่องราวที่คน ๆ นั้น มาระบายให้เราฟังด้วย ว่าจริง ๆ แล้วที่เขามาระบายเขาต้องการคำตอบแบบไหน
มนุษย์คนเราล้วนอยากพูด อยากแสดงความคิดเห็น หรืออยากระบายความในใจออกมา การเป็นผู้ฟังที่ดีย่อมเป็นที่รักของทุกคนเสมอ
เมื่ออยู่ใกล้ใคร คน ๆ นั้นก็จะรู้สึกสบายใจ อยากพูดคุย อยากจะอยู่ด้วย และที่สำคัญข้อดีของการเป็นผู้ฟัง ทำให้เราได้รับมุมมองใหม่ ๆ ที่สามารถ นำไปเป็นแนวทางชีวิตของเราได้ดีอีกด้วย
วันนี้ขอแนะนำเคล็ดลับของการเป็นผู้ฟังที่ดี เผื่อจะนำไปใช้กับคนรอบข้างที่ชอบมาระบายให้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นแฟน เพื่อน คนในครอบครัว จะได้มีวิธีรับมือ และคุณเองจะกลายเป็นผู้ฟังที่ไม่ใช่แค่ “รับฟัง” อย่างเดียว
1.ไม่วอกแวกเวลาฟัง
การผู้ฟังที่ดีควรตั้งใจฟัง มีสมาธิ จับประเด็นเนื้อหาที่เขาจะเล่า อย่างน้อยต้องรู้จักให้ความสำคัญกับคู่สนทนา อย่าเพิ่งจับโทรศัพท์ขึ้นมา การหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาตอนพูดคุยนั้น นอกจากจะทำให้ดูเสียมารยาทแล้ว ยังเป็นสิ่งรบกวนในการสนทนาและทำให้เสียสมาธิอีกด้วย
2.สังเกตภาษากายและโทนเสียง
ข้อนี้จะทำให้เราสังเกตสีหน้าท่าทางและอารมณ์การเล่าของเขา อีกทั้งยังทำให้เราได้เข้าใจความรู้สึกเขาได้มากขึ้น เชื่อว่าการโต้ตอบที่ดีสิ่งหนึ่งคือ “การสบตากับคู่สนทนา” เพราะจะทำให้เขารู้ว่าเรากำลังใจฟัง และพร้อมที่จะรับฟังได้จริงจัง
3.รู้จักเห็นอกเห็นใจ
“เรื่องเล็กของเรา อาจเป็นเรื่องใหญ่ของเขาก็ได้นะ” อย่างไรก็ตามทักษะการเห็นอกเห็นใจเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน บางคนก็อาจจะเรียนรู้เข้าใจได้ แต่สำหรับคนที่ไม่ค่อยได้เข้าสังคมมากนัก ขอแนะนำลองเปิดใจให้กว้าง และยอมรับความคิด มุมมองคนอื่น ๆ โดยไม่มีอคติ
แล้วจะเข้าใจความรู้สึกของคู่สนทนาได้มากขึ้น
4.โต้ตอบตามความเหมาะสม
การที่เรานิ่งฟังอย่างเดียวไม่ได้ตอบโต้อะไรเลย อาจทำให้คู่สนทนารู้สึกหมดความมั่นใจ และไม่รู้ว่าจะเล่ายังไงต่อ ทางที่ดีเราควรมีการโต้ตอบกับคู่สนทนาบ้าง เพื่อให้เขารับรู้ว่า เราฟังอยู่นะ เช่น สบตาเวลาคุย แสดงความเห็นเมื่อเขาพูดจบ หรือซักถามประเด็นรู้สึกสงสัย เพื่อเราและคู่สนทนาให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันอีกด้วย
5.อย่าเพิ่งชิงเล่าเรื่องของตัวเอง
หลายคนพอได้ฟังเรื่องราวจากอีกฝ่ายแล้ว เราจะนึกถึงเรื่องตัวเองโดยอัตโมมัติ เพราะฉะนั้นระหว่างการสนทนา เราควรให้เกียรติคู่สนทนา โดยที่ให้เขาได้เล่าเรื่องของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ขืนเราชิงเล่าเรื่องของตัวเองก่อน อาจทำให้คู่สนทนาของเราพูดน้อยลง พาลทำให้บรรยากาศของการสนทนาติดขัดเสียเปล่า ๆ
6.คิดก่อนพูด
แน่นอนว่าเมื่อเราฟังเรื่องราวอย่างเปิดใจแล้ว เรามีปฏิกิริยาตอบสนองทันที เช่น พูดแทรก ถามไปตรง ๆ โดยยังไม่ทันฟังเรื่องราวให้จบก่อน ดังนั้น ก่อนจะถามอะไรตั้งสติ ฟังให้ครบ แล้วค่อยออกความคิดเห็นที่เดียวอาจจะดีกว่า แถมจะดูว่าเราเป็นผู้ฟังที่ดีอีกด้วยนะ
-ได้พัฒนาชีวิต ในวันที่เราโตขึ้น หรือวัยทำงาน เรื่องการเป็นผู้ฟังที่ดีคือสิ่งสำคัญที่เราควรมีติดตัว มันจะช่วยให้เรามีชีวิตที่ดี มองโลกแง่บวกมากขึ้น และเปิดรับประสบการณ์ใหม่ ๆ ไว้เป็นบทเรียนอีกด้วย
-ได้พัฒนาตัวเอง การเปิดใจรับฟังเรื่องราวต่าง ๆ
จากคนอื่น สามารถทำให้เราได้กลับมาเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้น
และมีทักษะในการโต้ตอบ รับฟัง แสดงความคิดเห็น
อีกทั้งยังเสริมสร้างบุคลิกให้เรามีความน่าเชื่อถือได้อีกด้วย
-ได้ความสัมพันธ์ที่ดี ถ้าเราเป็นผู้ฟังที่ดี การสื่อสาร
การบอกข้อมูล การถ่ายทอดประสบการณ์จะพาไปเจอความสัมพันธ์ที่ดีได้ เช่น การปลอบใจ
การแนะนำสิ่งดี ๆ การช่วยเหลือ เป็นที่พึ่งทางใจ
-ได้สร้างความน่าเชื่อถือ เป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยที่เราควรจะเป็นผู้ฟังที่ดี เพราะจะช่วยสร้างบุคลิกภาพที่ดูมีความน่าเชื่อถือ ไว้ใจ เช่น ถ้าเราได้ไปฟังข้อมูลเรื่องบางเรื่องมา และตั้งใจฟังจนจบ อยากแนะนำข้อมูลนั้นไปแชร์ต่อคนอื่น ๆ สิ่ง ๆ นี้อาจทำให้เรามีความน่าเชื่อได้อีกด้วย
เชื่อว่าทุกคนต้องเคยเป็นทั้งผู้พูดและผู้ฟัง บางทีการที่เราอยากระบายให้ใครฟังสักคน เพียงขอแค่ รับฟัง ก็รู้สึกได้ปลดปล่อยความในใจ
ทักษะการเป็นผู้ฟังที่ดีก็เป็นหนึ่งสิ่งที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิต ถ้าเรามีคุณสมบัติการรับฟังที่ดี สังคมของเราจะน่าอยู่ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้เราได้รับรู้เรื่องราวใหม่ ๆ และช่วยให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย
เปิดเวทีของรายการ The Speech ให้เป็นเวทีของคนที่จะมาพูดส่งต่อแรงบันดาลใจ หรือใช้การพูดเป็นช่องทางการส่ือสาร ให้ทุกคนและเยาวชนได้ประโยชน์และได้ความรู้เพื่อเป็นนักพูดที่ดีในวันข้างหน้า
รับชมได้แล้วคลิกเลย! www.ALTV.tv/TheSpeechIdol