ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
“Hate Speech” คนพูดไม่จำ คนฟังไม่ลืม
แชร์
ชอบ
“Hate Speech” คนพูดไม่จำ คนฟังไม่ลืม
14 ธ.ค. 64 • 09.00 น. | 2,103 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

ในโลกออนไลน์ปัจจุบัน คงจะเป็นเรื่องคุ้นชินของทุกคนที่จะเห็นดราม่าต่าง ๆ ในโซเชียลเพราะเป็นโลกที่ใครก็สามารถเข้าถึงได้ง่าย แสดงความคิดเห็นได้ง่าย ข้อดีของมันคือการที่เราสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้ไว และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็มีข้อระวังในการแสดงความคิดเห็นเช่นเดียวกัน ถ้าอยากรู้ว่าคืออะไร และไม่อยากตกเป็นเหยื่อของการเกลียดชัง ต้องมาทำความเข้าใจและเรียนรู้กับ "Hate Speech"


"Hate Speech" ไม่ใช่แค่คำพูด แต่เป็นการกระทำ

Hate Speech หรือในความหมายของไทยแปลได้ว่า "วาทะสร้างความเกลียดชัง" ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่คำพูดเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการสื่อสารทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ, รูปภาพ, วิดีโอ, การ์ตูนล้อเลียน หรือสื่อต่าง ๆ ที่มีเนื้อหาในเชิงยุยง ก่อให้เกิดอคติ สร้างความเกลียดชัง ทำให้เกิดการแบ่งแยก การดูหมิ่นเหยียดหยามบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น ชาติพันธุ์ สีผิว ความพิการ เพศสภาพ หรือกลุ่มบุคคลที่มีความแตกต่างทางด้านความคิด เช่น การเมือง ศาสนา ซึ่งการกระทำเหล่านี้ไม่ว่าจะตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจ สามารถส่งผลกระทบต่อผู้ฟังได้อย่างที่เราคาดไม่ถึง

ซึ่งฟังดูแล้วคล้ายกับ Cyber Bullying แต่แตกต่างกัน

ความแตกต่างระหว่าง Cyber Bully และ Hate Speech

  • Cyber Bully มีเป้าหมายที่จะกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์
  • Hate Speech มีเป้าหมายที่สร้างความเกลียดชัง สามารถทำให้เกิดความรุนแรง และนำไปสู่อาชญากรรมได้ 

ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดในการสื่อสารทางออนไลน์ว่ามีการใช้ Hate Speech จำนวนมาก เนื่องจากสามารถกระจายออกไปได้ในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว โดยผู้ใช้ทุกคนมีส่วนในการเผยแพร่ แถมยังสามารถปิดบังตัวตนของผู้ใช้ได้อีกด้วย ทำให้หลายครั้งผู้ใช้ขาดสติและไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา ผู้ใช้อาจขาดการตรวจสอบเนื้อหาข้อมูลก่อนส่ง ก่อนแชร์ ทำให้สื่อออนไลน์ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ รวมถึงการสร้างความเกลียดชังแตกแยก

คนพูดไม่จำ คนฟังไม่ลืม

Hate Speech ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้รับสาร ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะกับเป้าที่ถูกเพ่งเล็ง ทำให้รู้สึกไม่มีความสุข ไม่มั่นคงปลอดภัย ถูกลดทอนศักดิ์ศรี รู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้งในสังคม รู้สึกเหมือนอยู่ตัวคนเดียวบนโลก ทำให้ซึมเศร้า รันทด จนถึงคิดฆ่าตัวตาย แล้วยังอาจทำให้ผู้พบเห็นเกิดความรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ สงสาร จนถึงหดหู่ตามไปด้วย

ซึ่งก็มีผลกระทบไม่ใช่แค่เพียงตัวบุคคลเท่านั้น เพราะทำให้สังคมแตกแยก มีความขัดแย้ง นำไปสู่ความรุนแรงได้ การสื่อสารที่สร้างความเกลียดชังเห็นได้ชัดเจนในเรื่องการเมือง เช่น การแบ่งแยกสีเสื้อ การแบ่งขั้วการเมือง การแบ่งแยกชนชั้น เราจะเห็นการสร้างข้อมูลโจมตี การตั้งฉายาลบ ๆ ให้ฝ่ายตรงข้าม ยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง ขยายวงกว้างมากขึ้น

 

จะรู้ได้อย่างไร ว่าแบบไหนคือ Hate Speech?

  • มีการแสดงความเกลียดชังแก่บุคคล, กลุ่มคน ทั้งคำพูด รูปภาพ วิดีโอ หรือแม้แต่เพลง! ก็จัดเป็น Hate Speech และสิ่งเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ล้วนก่อให้เกิดความเกลียดชังและแบ่งฝักฝ่ายได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ เรื่องของการเมือง
  • ใช้โจมตีเป้าหมายที่มีเอกลักษณ์อย่างชัดเจน หรือ เอกลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น เชื้อชาติ ศาสนา อุดมการณ์ ผิว เพศ เอกลักษณ์ท้องถิ่น ที่อยู่อาศัย อาชีพ
  • มีเจตนาที่ต้องการให้แบ่งแยก ใช้คำพูดคุกคาม และใช้ความรุนแรง เช่น การขับไล่ออกไป ทำให้คิดว่าการปฏิบัติแบบไม่เป็นธรรมกับคนเหล่านี้ เป็นเรื่องไม่ผิด คิดแบบเหมารวมที่แสดงความเกลียดชัง

Hate Speech กับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว



ถ้านึกภาพถึงความรุนแรงของ Hate Speech ไม่ออก ให้ลองนึกถึงเมื่อมันถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และหนึ่งในเหตุการณ์ที่สะเทือนใจมนุษยชาติที่สุด และมีการสูญเสียผู้บริสุทธิ์นับล้านชีวิต คือเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว โดยความเชื่ออย่างสุดโต่งของผู้นำนาซีที่ว่า "จำเป็นต้องกำจัดชาวยิวให้หมดไปจากโลก" ความเกลียดชังในเชื้อสายชาวยิวและยกย่องเชื้อสายอารยันที่เป็นเชื้อสายของชาวยุโรปโดยแท้ นั่นเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้นำเผด็จการในการหาเหตุผลของความเกลียดและเหยียดเชื้อสายที่คิดว่าต่ำกว่าตน ผนวกกับทฤษฎีของชาร์ลส์ ดาร์วิน ที่นำมาสนับสนุนแนวคิดของผู้นำนาซีในการพัฒนากองทัพนาซีเยอรมัน และกำจัดสิ่งที่คิดว่าทำให้ประเทศเกิดความเสื่อมถอยและอ่อนแอ นั้นคือชาวยิว แนวคิดเหล่านี้ถูกเผยแพร่และตีพิมพ์มากมาย จนทำให้หลาย ๆ คนเห็นด้วย และนี่คือหายนะ เมื่อชาวยิว "ไม่ถูกมองว่าเป็นมนุษย์" จะทำอะไรกับพวกเขาก็ได้ นั่นนำไปสู่อาชญากรรมที่ร้ายแรงและทำให้เกิดเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทั้งหมดเกิดมาจาก Hate Speech ที่ผู้นำได้สร้างขึ้น และนี่คือตัวอย่างเหตุการณ์ร้ายแรงที่ Hate Speech นำไปสู่ความเลวร้ายในสังคม

จะเห็นได้ว่าในสมัยก่อนจะใช้การโจมตีโดยการตีพิมพ์ ผลลัพธ์ออกมารุนแรงแล้ว แต่ในยุคนี้ เปลี่ยนสิ่งพิมพ์มาเป็นโซเชียลมีเดีย มีความน่ากลัวกว่ามาก ไม่ว่าจะเป็นความรวดเร็วของการแลกเปลี่ยน การเข้าถึงข้อมูล การแสดงความคิดเห็น เพราะฉะนั้น มนุษย์ควรเรียนรู้และตระหนักถึงข้อผิดพลาดในอดีตของการใช้ Hate Speech และไม่ตกเป็นเหยื่อของมันอีก ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนก็ตาม

จะจัดการอย่างไรเมื่อพบเจอ Hate Speech

  • ในเบื้องต้นเราทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกัน Hate Speech ได้ง่าย ๆ เริ่มจากการไม่แชร์ต่อ หรือไม่สนับสนุนข้อความที่มีการรุมด่า เหยียดหยามใคร ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่าเป็น การกำกับดูแลตนเอง (self-regulation) 
  • หากพบเห็นใครเขียน หรือสนับสนุน Hate Speech ควรกล่าวตักเตือน 
  •  ควรมีมาตรการให้สังคมได้มีแนวทางปฏิบัติร่วมกัน เช่น หากใน Facebook จะมีการแจ้ง หรือการลบ การปิดกั้นเนื้อหาเหล่านั้น การดำเนินการกับผู้ผลิตหรือผู้เผยแพร่ สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับ Hate Speech และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น การประชาสัมพันธ์ช่องทางการแจ้ง ส่งเสริมการแจ้ง หรือรายงานไปยังองค์กรที่ดูแล เมื่อพบเห็นข้อความหรือการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชังทางออนไลน์ เพื่อให้สามารถนำเนื้อหาดังกล่าวออกจากระบบได้ทันที ซึ่งจะเป็นการช่วยลดจำนวนผู้พบเห็นและส่งต่อเนื้อหา Hate Speech โดยเร็ว
  • ควรมีความเห็นอกเห็นใจบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เป็นเหยื่อของ Hate Speech นำใจเขามาใส่ใจเรา และหากตัวเราเองถูกทำร้ายด้วยถ้อยคำดูหมิ่น เกลียดชัง ให้ทำใจเย็น และไม่ตอบโต้ด้วยอารมณ์ เพราะอาจทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น ควรชี้แจงด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริง 
  • ใน Facebook, Twitter, Instagram และสื่อต่าง ๆ สามารถแจ้งหรือรายงานการละเมิดได้แล้ว ควรรีบดำเนินการให้ไวที่สุด
  • หากมีการข่มขู่ทำร้ายด้วยก็ให้ขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ ไว้ประกอบการแจ้งความด้วย

 

สิ่งสำคัญที่จะแก้ไขปัญหา Hate Speech ได้คือความเข้าใจ และยอมรับความแตกต่างในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ ความชอบ รสนิยม หรือเรื่องต่าง ๆ ทุกคนควรมีความเคารพซึ่งกันและกันในความแตกต่าง หากมีความเห็นที่ต่างออกไป ก็ควรที่จะถกเถียงกันด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงอย่างสร้างสรรค์ เพราะนอกจากจะทำให้เข้าใจกันและกันมากขึ้น ยังช่วยส่งเสริม ทำให้สังคมพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีสติ แล้วเราจะไม่ตกเป็นเครื่องมือของ Hate Speech

ติดตามชมได้ในรายการ So เชี่ยว ทาง ALTV ทีวีเรียนสนุก ช่องหมายเลข 4

ผู้เขียนบทความ
avatar
THANATCHA SUVIBUY
นับถือแมวเป็นศาสนา มีไอดอลเกาหลีเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
ALTV CI
LearnMore
LearnMore
ALTV All Around
ผู้เขียนบทความ
avatar
THANATCHA SUVIBUY
นับถือแมวเป็นศาสนา มีไอดอลเกาหลีเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
แชร์
ชอบ
ติดตามเรา