ต้องยอมรับเลยว่า สังคมออนไลน์เป็นสังคมแห่งการสื่อสารที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนแทบทุกด้าน ทั้งการเรียน การสอน ตลอดจนการพบปะกันในสื่อโซเชียลมีเดีย ทุกคนทั่วทุกมุมโลกสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล แชร์ประสบการณ์ ความคิดเห็นและความรู้สึก มีทั้งพฤติกรรมที่สร้างสรรค์และไม่เหมาะสม ซึ่งบางครั้งสื่อออนไลน์ก็เป็นดาบสองคม
เมื่อใคร ๆ ก็เข้าถึงสื่อออนไลน์และผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถเปิดเผยตัวตนจริงหรือไม่ก็ได้ในการแสดงความคิดเห็นต่อเรื่อง ๆ หนึ่งอย่างเต็มที่โดยไม่รู้สึกผิด จึงมักเกิดเป็นพฤติกรรมที่ไร้ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นในสังคมออนไลน์อยู่บ่อยครั้ง ผู้ใช้สื่อออนไลน์บางคนมีการสร้างบัญชีอวตารใช้โปรไฟล์ปลอมมาวิจารณ์คนอื่นโดยขาดจริยธรรม เช่น ทัวร์ลง, คอมเมนต์กัดจิก, ด่าทอกันด้วยคำหยาบคาย (Hate Speech) รวมไปถึงการส่งต่อข้อมูลส่วนตัวของผู้อื่น การกระทำเหล่านี้ล้วนสร้างความเกลียดชังทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเจ็บปวดใจ กลายเป็นการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์ หรือไซเบอร์บูลลี (Cyberbullying) อย่างที่เห็นในโลกโซเชียลในทุกวันนี้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม
ที่มา: ผลสำรวจ COSI (child online safety index) ดัชนีความปลอดภัยของเด็กบนโลกออนไลน์ปี 2563
เด็กไทย 48% เจ็บปวดบนโลกโซเชียล
มีการเก็บข้อมูลสถิติ การถูกรังแกบนโลกออนไลน์ จากเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 4.4 หมื่นคนทั่วโลก พบว่าเคยเกี่ยวข้องกับการรังแกกันบนโลกออนไลน์อยู่ที่ 33% หนึ่งในนั้นเป็นเด็กไทย 48% และพบว่าเด็กไทยเคยถูกไซเบอร์บูลลี่มากถึง 41% โดยเด็กผู้หญิงถูกกลั่นแกล้งสูงกว่าเด็กผู้ชาย และการกลั่นแกล้งส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ออนไลน์ เช่น ข้อความส่วนตัว โซเชียลมีเดีย กระทู้ เกมออนไลน์ และอื่น ๆ
จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ผู้ใช้สื่อออนไลน์ยังขาดทักษะการเอาใจเขามาใส่ใจเราในโลกดิจิทัล หรือที่เรียกว่า Digital empathy ซึ่งเป็นความสามารถในการคาดเดามุมมองและความรู้สึกของคนอื่นในสังคมออนไลน์ เพราะชาวโซเชียลเต็มไปด้วยคนแปลกหน้ามีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพศ เชื้อชาติ ทุกคนจึงมีทัศนคติและการมองโลกที่แตกต่างกัน ดังนั้นผู้ใช้สื่อออนไลน์ควรเคารพในมุมมองความคิดและความรู้สึก รวมถึงความเห็นอกเห็นใจเมื่อพวกเขากำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่แย่ หรือถูกกระทำ
ด้วยเหตุนี้ การปลูกฝังมารยาททางสังคมออนไลน์จึงควรเริ่มต้นจากครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นต้นแบบการใช้สื่อเทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม สอนให้เด็กรู้จักมารยาทและวิธีรับมือเมื่อต้องในการอยู่ในสังคมออนไลน์ รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา เข้าใจและเห็นใจผู้ที่แตกต่าง คิดต่าง รวมถึงการไม่เพิกเฉยเมื่อผู้อื่นถูกกระทำไม่ดีทางโซเชียล เด็กอาจไม่เข้าใจถึงผลของการกระทำที่จะตามมา หากผู้ใหญ่คอยปลูกฝังทีละนิด เด็กก็จะค่อย ๆ ซึมซับและนำไปประยุกต์ใช้กับสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ได้เอง
4 วิธีฝึกลูกให้มีจริยธรรมในโลกออนไลน์
แต่งเรื่อง เล่นบทบาทสมมติ
สำหรับผู้ปกครองที่ไม่ถนัดเรื่องเทคโนโลยี การเล่านิทานและสวมบทบาทสมมติก็สามารถสอนเด็กให้เข้าใจความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและนำไปใช้ในโลกออนไลน์ได้ ด้วยการจำลองสถานการณ์เพื่อฝึกให้เด็กได้คิดตามในมุมมอง ความรู้สึก และอารมณ์ของผู้อื่น เช่น นิทานเรื่องราชสีห์กับหนู ลองให้เด็กแสดงความคิดเห็นว่า หนูจะรู้สึกอย่างไรเมื่อสิงโตมองว่าหนูตัวเล็กและช่วยอะไรใครไม่ได้, สิงโตเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อหนูกลับมาช่วย ซึ่งเนื้อหาอาจปรับไปตามวัยของเด็ก
โนบิตะโดนไจแอนท์แกล้งตลอดเวลา จากภาพยนตร์ Doraemon stand by me
เมื่อเด็กคุ้นชินกับตัวละครในนิทานแล้ว ลองหยิบการ์ตูนอนิเมชันหรือซีรีส์ซักเรื่องมายกตัวอย่างให้เด็กเห็นภาพมากขึ้น เช่นการ์ตูนโดราเอมอน ที่ตัวละครโนบิตะที่มักโดนเพื่อนร่วมชั้นชื่อไจแอนท์กลั่นแกล้งอยู่ตลอดเวลา เมื่อเด็กสมบทบาทตามว่าหากเป็นโนบิตะจะรู้สึกอย่างไร จะมีวิธีตอบโต้อย่างไรเมื่อโดนแกล้ง และการตอบโต้เป็นวิธีที่ควรหรือไม่ การสวมบทบาททั้งเป็นผู้กระทำและผู้ถูกกระทำจะทำให้เด็กเข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่ายและเกิดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นโดยคิดถึงผลที่จะตามมา
สอนให้รู้ความหมายของอิโมจิ
ก่อนแสดงความรู้สึกต่อผู้อื่น ควรให้เด็กเรียนรู้และเข้าใจความรู้สึกของตนเองก่อน เพราะในโลกออนไลน์เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาความรู้สึกของผู้อื่น ต้องอาศัยประสบการณ์และการสังเกต ซึ่งเด็กยังไม่มีทักษะนี้ในระยะเริ่มใช้อินเทอร์เน็ต การสอนให้เด็กรู้จักกับตัวอิโมจิ (Emoji) เป็นการอธิบายถึงความรู้สึกในใจแทนภาษา ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ความหลากหลายของอารมณ์ แล้วให้เด็กลองบอกความรู้สึกของตัวเองผ่านอิโมจิ เช่น รู้สึกยินดีใช้อิโมจิยิ้ม, รู้สึกดีใจใช้อิโมจิหัวเราะ, รู้สึกกังวลหรือสงสาร-ใช้อิโมจิเศร้า, รู้สึกเสียใจใช้อิโมจิร้องไห้ เป็นต้น เมื่อเด็กได้เข้าใจอารมณ์ของตัวเองแล้ว ส่งนี้จะกลายทักษะแรกในการทำความเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นทั้งในชีวิตจริงและโลกโซเชียล
ฝึกให้รู้จัก"ชม"ผู้อื่น
ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ กล่าวไว้ว่าเมื่อถูกกระทำการตอบโต้ที่ดีที่สุด คือการหยุดตอบโต้ ซึ่งการตอบโต้ด้วยวิธีเดียวกันมีแนวโน้มที่จะยั่วยุและทำให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น ดังนั้นการสอนให้เด็กคิดบวกจึงเป็นวิธีที่จะสร้างความสุขในใจให้แก่เด็ก ซึ่งทำได้ด้วยการสร้างกิจกรรมเพื่อให้เด็กได้ส่งต่อความรู้สึกดี ๆ ให้ผู้อื่น เช่น การชวนให้เด็กเขียนการ์ดอวยพรหรือการเขียนสมุดเฟรนด์ชิพแลกกันอ่านกับเพื่อน ญาติ พี่น้องในโอากาสต่าง ๆ เด็กจะเรียนรู้ว่าไม่มีใครชอบความคิดเห็นเชิงลบ เมื่อต้องการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ก็จะระวังมากขึ้น
ผู้ใหญ่ไม่ด่วนสรุป
เด็กยังไม่โตพอที่จะเข้าใจโลกแห่งมุมมองและความคิดที่แตกต่างที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ภาษา ผู้ใหญ่จึงต้องเป็นต้นแบบที่ดีในการสร้างสังคมแห่งการยอมรับ เคารพในความแตกต่างของผู้อื่น ให้เด็กซึมซับการเปิดกว้างในการเรื่องที่เห็นต่าง คือการไม่ด่วนตัดสินและวิจารณ์คนอื่นโดยขาดการไตร่ตรองทั้งในชีวิตจริงและโลกโซเชียล ในห้องเรียนคุณครูอาจเปิดโอกาสให้เด็กแต่ละคนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ในข่าว เด็ก ๆ จะพบว่าในการพูดคุยเรื่องเดียวกันก็มีความคิดเห็นของเพื่อนที่แตกต่างออกไป ดังนั้นไม่มีความคิดเห็นใดผิดถูก ผู้ใหญ่จึงต้องเปิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็น สอนเด็กเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่างและให้เกียรติผู้อื่น
ทำไมลูกต้องมี “ทักษะการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นในโลกออนไลน์”
เพราะการโพสข้อความ หรือคอมเมนต์เพียงแค่ปุ่มเดียว สิ่งที่เราคิดก็เข้าไปอยู่บนโลกออนไลน์แล้ว บางครั้งความรู้สึกเหล่านั้นอาจไปทำร้ายจิตใจผู้อื่นได้โดยไม่รู้ตัว ซึ่งผลกระทบของการถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ ส่งผลต่อสุขภาพจิตและความสุขเหยื่ออย่างรุนแรงถึงขั้นทำให้เกิดความ"รู้สึกแย่กับตัวเอง"ในระยะยาว ดังนั้นเด็กจึงจำเป็นต้องนึกถึงความรู้สึกของผู้อื่นก่อน ถ้าเป็นตัวเราที่เห็นข้อความหรือโดนบูลลีแบบนั้นบ้าง เราจะรู้สึกอย่างไร ก่อนคอมเมนต์หรือแสดงรู้สึกอะไรออกไปในโลกออนไลน์
นอกจากทักษะการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นที่เป็นพื้นฐานให้เด็กแล้ว ยังมีทักษะการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ที่ผู้ปกครองควรสอนเด็กให้ใช้สื่อออนไลน์อย่างปลอดภัยอีกด้วย สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ในรายการSo เชี่ยว ตอน: สอนเด็กให้รู้เท่าทันโซเชียลมีเดีย