ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
แบบนี้ก็มีด้วย! 5 ระบบการเขียนน่าทึ่งที่มีอยู่จริง
แชร์
ชอบ
แบบนี้ก็มีด้วย! 5 ระบบการเขียนน่าทึ่งที่มีอยู่จริง
30 ธ.ค. 64 • 18.00 น. | 1,531 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

นอกจากลักษณะทางกายภาพที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่นแล้ว ระดับสติปัญญาและความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้น คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์คงอยู่มาได้จนถึงปัจจุบัน หนึ่งในสิ่งประดิษฐ์สำคัญคือ"ตัวอักษรและระบบการเขียน" ที่ช่วยให้เราได้ย้อนไปเรียนรู้อดีต สำรวจร่องรอยในประวัติศาสตร์ได้โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องย้อนเวลา ALTV จึงอยากพาไปสำรวจระบบการเขียนที่น่าทึ่งจากสมองและสองมือของมนุษย์ว่ามีอะไรบ้าง

“คูนิฟอร์ม” ต้นกำเนิดระบบการเขียนของโลก 

ย้อนไปเมื่อ 3,500 ปีก่อน ในยุคเมโสโปเตเมีย “คูนิฟอร์ม” หรือ “อักษรลิ่ม” ได้ถือกำเนิดขึ้นจากมันสมองและสองมือของชาวสุเมเรียน และได้กลายเป็นต้นกำเนิดระบบการเขียนของโลก 

คำว่า “Cuneiform” มีรากศัพท์มาจากคำว่า Cuneus ในภาษาละติน แปลว่า “ลิ่ม” มีรูปทรงอักขระคล้ายลิ่มจอบไม้จารึกอยู่บนแผ่นดินเหนียวขนาดพอดีมือ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงขนานนามว่าอักษรลิ่ม โดยวิธีการจารึกอักษรลิ่มก็ไม่ง่าย ต้องใช้ก้านอ้อค่อย ๆ กดลงบนแผ่นดินเหนียวที่ยังไม่แห้งดีให้เกิดเป็นตัวอักษรทีละตัว ซึ่งแต่ละครั้งต้องอาศัยความประณีตและฝีมือ หากกดเบาไปก็ไม่เกิดเป็นรูปอักขระ ตรงกันข้ามถ้ากดลึกไปก็ทำให้มองผิดเพี้ยนได้

เมื่อขั้นตอนการจารึกเสร็จสิ้น ก็ต้องทำให้แผ่นดินเหนียวแห้งด้วยการนำไปตากแดดเรียกได้กว่าจะได้งานเขียนสักชิ้น ต้องใช้ความพยายามและความอดทนมากทีเดียว แตกต่างจากยุคสมัยนี้ที่การจดบันทึกเป็นเรื่องง่ายเพียงแค่มีกระดาษกับปากกา หรือแท็บเล็ตหนึ่งเครื่องก็พอแล้ว ด้วยความยากในการบันทึกนี้ งานวรรณกรรมของชาวสุเมเรียนจึงมีจำนวนน้อยมาก หากเทียบกับในยุคอียิปต์โบราณ โดยทั่วไปแล้วมีไว้บันทึกเรื่องราวในชีวิตประจำวัน หรือผลผลิตทางการค้ามากกว่า   

ที่มา: พิพิธภัณฑ์บริติช (The British Museum)

"แผ่นดินเหนียวคูนิฟอร์ม" มีหลายไซส์หลายรูปร่าง 

มีการค้นพบว่านอกจากแผ่นดินเหนียวแบบสี่เหลี่ยมอันเท่าฝ่ามือแล้ว ยังมีรูปแบบอื่นอีก ตั้งแต่ทรงแคบโค้งมนไปจนถึงรูปร่างคล้ายฝ่ามือของคน โดยขนาดแผ่นดินเหนียวแต่ละชิ้น จะมีขนาดตั้งแต่เล็กจิ๋ว 2x2 ซ.ม. ไปจนถึง 18x9 ซ.ม. แต่ส่วนใหญ่มักทำให้พอดีกับมือ รูปร่างทรงเหลี่ยมขอบมนคล้ายแท็บเล็ตในปัจจุบัน เปรียบเทียบได้กับขนาดของกระดาษในสมัยนี้ที่แตกต่างกันออกไปตามการใช้งาน

“เฮียโรกลิฟิก ” ชุดอักษรภาพแทนเสียงแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์  

ในปี ค.ศ. 1799 นโปเลียน โบนาปาร์ต นายพลชาวฝรั่งเศส หนึ่งในบรรดาบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์โลก ได้นำกองกำลังทหารขึ้นฝั่งที่ดินแดนลุ่มแม่น้ำไนล์หรืออียิปต์ หลังจากรบพ่ายแพ้ให้กับกองทัพอังกฤษ เขาได้สั่งการให้พลทหาร และนักวิชาการจำนวนหนึ่งเดินทางสำรวจให้ทั่วดินแดนอียิปต์ ซึ่งทำให้พบเข้ากับร่องรอยอารยธรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สมบัติ พีระมิด สุสาน และหนึ่งในนั้นคือ “ศิลาโรเซตตา”

ตัวอักษรโบราณเล็กใหญ่หลากหลายรูปแบบ ถูกเขียนเรียงร้อยไว้บนแผ่นศิลาโรเซตตา โดยนักวิชาการใช้เวลากว่า 400 ปี กว่าจะถอดรหัสอักษรเหล่านี้ได้ว่า เป็นการบันทึกกฤษฎีกา ที่ตราขึ้นในพระนามาภิไธยพระเจ้าทอเลมีที่ 5 ประกอบด้วยอักษรทั้งสามชนิด ตอนต้นเขียนด้วยอักษรเฮียโรกลิฟิกของอียิปต์ ตอนกลางเขียนด้วยอักษรเดมอติก และตอนท้ายเขียนด้วยอักษรกรีกโบราณ 

อักษรเฮียโรกลิฟิกถือเป็นอักษรยุคโบราณถัดจากอักษรลิ่ม มีลักษณะเป็นอักษรภาพ แทนเสียงหรือคำ ตัวอย่างเช่น หากต้องการกล่าวถึง “จระเข้” จะใช้ภาพสัญลักษณ์ของจระเข้ร่วมกับอักขระแทนเสียง ได้เป็นเสียง “msH” มีความหมายว่าจระเข้นั่นเอง

ชาวอียิปต์ทุกคนไม่สามารถอ่านเฮียโรกลิฟิกได้

อักษรภาพเฮียโรกลิฟิกมักใช้สลักเรื่องราวเกี่ยวกับองค์ฟาโรห์ ราชวงศ์ กิจกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับการปกครองแผ่นดิน รวมไปถึงเรื่องราวทางศาสนา ซึ่งมักจะเห็นได้กำแพงในวิหาร หลุมฝังศพของราชวงศ์ รองลงมาจะมีเพียงนักบวชเท่านั้นที่สามารถอ่านอักษรเฮียโรกราฟิกได้ James P. Allen ชาวอียิปต์-อเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและศาสนา กล่าวไว้ในหนังสือ Middle Egyptian: An Introduction to the Language and Culture of Hieroglyphs ไว้ว่า "ศิลาจารึกใดที่ตั้งใจให้มีผู้ชมในวงกว้าง มักจะถูกแกะสลักไว้ในตัวอักษรเดมอติก แทนเฮียโรกลิฟิก"  

“รูนส์” ชุดอักษรของจอมเทพโอดิน

หากใครเป็นคอเกมออนไลน์ หรือภาพยนตร์แฟนตาซีแนวเวทมนตร์ลี้ลับ อาจเคยเห็นตัวอักษรรูนส์ผ่านตามาบ้าง ซึ่งตัวอักษรเหล่านี้มีที่มา และอยู่จริงบนโลกไม่ได้โมเมขึ้นมาเองแต่อย่างใด!  

“รูนส์” (Runes) หรืออีกชื่อหนึ่ง “ฟูทาร์ก” (Futhark) เป็นระบบการเขียนของชนชาติดั้งเดิมในดินแดนยุโรปเหนือ อาทิ ชนเผ่ากอธ ชนเผ่านอร์ส หรือที่รู้จักอีกชื่อหนึ่งว่าชนเผ่าไวกิ้งนั่นเอง มีการค้นพบตั้งแต่ราว ๆ 2,000 ปีก่อน ในภาษานอร์สโบราณคำว่า rune หมายถึง “จารึก” และ “ความลึกลับ” นิยมสลักลงบนกระดูกสัตว์ แผ่นไม้ หรือ แผ่นหิน มีบทบาทสำคัญในพิธีกรรมและเวทมนตร์ ตามความเชื่อว่าตัวอักษรเหล่านี้ซุกซ่อนพลังเหนือธรรมชาติเอาไว้ สามารถทำนายอนาคต ขับไล่ความชั่วร้าย ในทางกลับกันก็สามารถใช้ในศาสตร์มืดอย่างคำสาปแช่งได้เช่นกัน 

  • บนเกาะ Funen ในประเทศเดนมาร์ก มีการค้นพบก้อนหินขนาดใหญ่ คาดว่ามีอายุตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 100 เรียกว่า The Glavendrup stone จัดเป็นหินที่มีการจารึกอักษรรูนส์ยาวที่สุดในโลก สลักไว้ถึงข้อความแสดงความระลึกถึงบาทหลวงนามว่า Alle และลงท้ายด้วยคำสาปแช่งที่ว่าถ้าหากใครทำให้เสียหาย หรือเคลื่อนย้าย จะต้องมีอันเป็นไป 

ตัวอักษรของเทพเจ้าสูงสุด  

ตามตำนานของชนเผ่าไวกิ้งที่เล่าสืบต่อกันมา เชื่อว่าผู้ที่ประดิษฐ์อักษรรูนส์เป็นคนแรก คือเทพเจ้าโอดิน (Odin) ซึ่งชนเผ่าไวกิ้งนั้นได้นับถือเป็นเทพเจ้าสูงสุด เทพเจ้าโอดินได้ห้อยหัวอยู่บนต้นไม้อิกดราซิล เป็นระยะเวลา 9 วัน 9 คืน ซึ่งในการทรมาณสังขารนี้ ทำให้พระองค์เกิดญานทิพย์จนสามารถล่วงรู้เรื่องราวต่าง ๆ ในโลก หนึ่งในนั้นคือสัจจะธรรมที่ว่า “สรรพสิ่งล้วนไม่เที่ยง” เมื่อคนเรามีความรู้มากมายจนจำไม่หมด ก็เป็นธรรมดาที่ต้องจดบันทึกเอาไว้กันลืม เช่นเดียวกันกับเทพเจ้าโอดินที่ต้องจดบันทึกสิ่งที่ตนล่วงรู้ จึงได้ประดิษฐ์ชุดตัวอักษรของตนขึ้น เกิดเป็นชุดอักษรรูนส์นั่นเอง

“ทีปส์” ชุดอักษรของแม่มด  

ตั้งแต่จำความได้ที่เราคุ้นเคยกับ "แม่มด" จากหนังสือนิทานหรือการ์ตูนแนวเทพนิยาย ซึ่งนอกจากคาถา ตำรา และของทำพิธีกรรมต่าง ๆ ที่บ่งบอกความเป็นแม่มดแล้วยังมี "ตัวอักษรทีปส์" ที่เป็นรูปแบบการเขียนของเหล่าแม่มดอีกด้วย  

ตัวอักษรทีปส์ (Thebas) มักปรากฏอยู่ในตำราพิธีกรรมและประเพณีของศาสนาวิคคา (Wicca) หรือกลุ่มคนลัทธินอกศาสนาที่มีการเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า แม่มดหรือพ่อมด

ที่มาที่ไปของรูปแบบการเขียนและตัวอักษรยังคงคลุมเครือ พบเพียงหลักฐานการจารึกที่หลงเหลืออยู่ในตำราช่วงยุคกลาง โดยนักโหราศาสตร์ นามว่า Johannes Trithemius ได้รวมไว้ในหนังสือเกี่ยวกับพิธีกรรมและไสยเวท ชื่อว่า Polygraphia

อักษรทีปส์ ยังมักปรากฏอยู่ตาม ป้ายสลักชื่อ ของใช้ในพิธีกรรมไสยเวท บทคาถา อย่างที่กล่าวมาว่าไม่ทราบแน่ชัดถึงที่มาของตัวอักษรเหล่านี้ แต่มีการสันนิษฐานไว้ว่า เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการซ่อนความหมายที่แท้จริงหรือหลบเลี่ยงงานเขียนที่เกี่ยวกับเวทมนตร์คาถาจากคนภายนอกนั่นเอง เนื่องจากในความเป็นจริงแล้วแม่มดถูกกล่าวหาว่าเป็นศัตรูคู่ตรงข้ามกับศาสนาและพระเจ้า ดังที่เราจะเห็นได้จากการล่าแม่มดในช่วงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) หรือการล่าแม่มดแห่งซาเลมที่พรั่นพรึงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา 

"คีปู" ปมสื่อสาร

ใครว่าการบันทึกจะต้องมาในรูปแบบการเขียนเสมอไป เพราะชาวอินคา (Incas) เขามีระบบการบันทึกข้อมูลอันเป็นเอกลักษณ์ ที่เรียกว่า "Khipus" หรืออีกชื่อหนึ่ง "Talking knot" ซึ่งนักวิชาการสมัยใหม่กล่าวว่า เป็นระบบการบันทึกข้อมูลสุดล้ำ เปรียบได้กับระบบคอมพิวเตอร์ในสมัยโบราณ 

คีปู หรือ กี่ปู เป็นระบบการบันทึกและถ่ายทอดข้อมูลดั้งเดิมของชาวอินคาที่อาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ด้วยการนำเชือกจากผ้าฝ้ายหรือเส้นใยจากขนอูฐควิปัส นำมาย้อมสี ผูกมัดกันเป็นปม และเมื่อนำปมเชือกแต่ละเส้นมาเรียงต่อกัน จะเกิดการเข้ารหัสกลายเป็นข้อความต่าง ๆ โดยความหมายที่ได้จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสีของเส้นเชือกที่ใช้ โครงสร้างของปม และทิศทางที่ผูกปม 

เนื่องจากชาวอินคาไม่มีภาษาเขียน คีปูจึงถูกใช้แทนระบบการเขียนในสมัยนั้น ด้วยรูปแบบที่เป็นปมเชือก จึงทำให้ซับซ้อนในทางกลับกันก็แม่นยำอย่างยิ่ง สามารถสื่อสารได้แทบทุกอย่างตั้งแต่การบัญชีไปจนถึงลำดับวงศ์ตระกูล

คีปูใช้สำหรับอะไร 

ใช้ในการจัดเก็บข้อมูลตัวเลขเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นข้อมูลสินค้าคงคลัง ข้อมูลสำมะโนครัว ข้อมูลบัญชี รายละเอียดปฏิทิน ข้อมูลภาษี อย่างไรก็ตามงานศึกษาบางชิ้นลงความเห็นว่า ชุดอักษรคีปูยังสามารถใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางศิลปะและวรรณกรรม อย่างการแสดงโน้ตเพลงได้อีกด้วย

 

 

เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับเรื่องราวน่าทึ่งของระบบการเขียนที่เรานำมาฝากกัน นอกจากความพิเศษของแต่ละชุดตัวอักษรแล้ว ยังเห็นได้ถึงความสำคัญของการจดบันทึก ที่ช่วยให้เราได้ล่วงรู้เรื่องราวในประวัติศาสตร์ สาระสำคัญที่คนรุ่นหลังทิ้งไว้ให้ และหากใครคนไหนอยากเรียนรู้เกี่ยวกับสังคมโลกและประวิติศาสตร์ ก็สามารถเรียนรู้ได้ง่าย ๆ ที่รายการ ห้องเรียนติวเข้ม วิชา สังคมศึกษา ทางเว็บไซต์ ALTV

 

 

ที่มา: พิพิธภัณฑ์บริติช (The British Museum) The Gypsy Thread New Scientist History Extra

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#คูนิฟอร์ม, 
#เฮียโรกลิฟิก, 
#ทีปส์, 
#รูนส์, 
#ระบบการเขียน, 
#Writingsystem, 
#ชนเผ่านอร์ส, 
#ประวัติศาสตร์, 
#LearnMore 
ALTV CI
LearnMore
LearnMore
ALTV All Around
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#คูนิฟอร์ม, 
#เฮียโรกลิฟิก, 
#ทีปส์, 
#รูนส์, 
#ระบบการเขียน, 
#Writingsystem, 
#ชนเผ่านอร์ส, 
#ประวัติศาสตร์, 
#LearnMore 
แชร์
ชอบ
ติดตามเรา